นโยบายรัฐสวัสดิการ VS. นโยบายอภิสิทธิ์ชน (1) นโยบายภาษีอัตราก้าวหน้า และนโยบายลดหย่อนภาษีคนรวย

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมเคยได้รับคำถามในลักษณะที่ว่า “คนรวยไม่เห็นได้สวัสดิการอะไรบ้างจากประเทศนี้เลย”

ในทำนองว่า ทุกสวัสดิการมักพูดถึงแต่การช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย

หรือแม้แต่สวัสดิการถ้วนหน้ายกระดับการรักษาพยาบาล ขนส่งสาธารณะ การศึกษา ก็อาจเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์

“คนรวย” กลุ่มหนึ่ง จึงเริ่มตั้งคำถามว่าพวกเขาเสียภาษีเพื่อสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ใช้

และคิดไปว่า ในเมื่อพวกเขาก็ใช้โรงเรียนราคาแพงส่วนตัว รถส่วนตัวที่จ่ายเงินเองราคาแพง โรงพยาบาลก็มีโรงพยาบาลส่วนตัว แล้วพวกเขามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเสียภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณมากกว่ากลุ่มคนอื่น

ดังนั้น พวกเขาจึงเรียกร้องนโยบายที่ส่งเสริมการลดภาษีภายใต้เงื่อนไขต่างๆ โดยเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นธรรมสำหรับพวกเขา

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงว่า คนรวยล้วนได้ผลประโยชน์มากมายจากโครงการของรัฐทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และจำเป็นต้องรับผิดชอบร่วมกันผ่านระบบภาษีอัตราก้าวหน้า

 

ในเบื้องต้นอะไรคือจุดกำเนิดความมั่งคั่งของคนรวยในสังคม

ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือต่างประเทศ ก็ล้วนมีจุดร่วมเดียวกันคือพวกเขาสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นของส่วนรวมได้มากกว่ากลุ่มอื่น

และพวกเขาก็สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง

ทรัพยากรที่พวกเขาใช้ประโยชน์จำแนกได้ดังนี้

1. แรงงาน ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของนายทุนมาจากระบบแรงงานแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงานโดยตรง หรือการจ้างในงานบริการ หรือการเหมาช่วงแรงงาน

ระบบการซื้อขายแรงงานล้วนเป็นบ่อเกิดความมั่งคั่งของชนชั้นนายทุน และกลุ่มคนรวยในสังคม

แรงงานสร้างสินค้าให้นายทุน แรงงานสร้างงานบริการให้แก่นายทุน แรงงานยังเป็นผู้บริโภคอันเป็นการสะสมความมั่งคั่งของนายทุนในท้ายสุด

แต่คำถามสำคัญคือแรงงานมาจากไหน?

นายทุนไม่ได้เสกแรงงานขึ้นมาอย่างแน่นอน

แรงงานมาจากกการเลี้ยงดูของพ่อแม่ของผู้ใช้แรงงาน

แรงงานมาจากการกินข้าวที่ชาวนาปลูก

แรงงานเรียนหนังสือ สะสมความฝันและประสบการณ์จากโรงเรียน กลุ่มเพื่อน ความฝันที่สะสมจากผู้คนในชุมชน แรงงานคนหนึ่งถูกสร้างร่วมกันทั้งสังคม

แต่นายทุนสามารถใช้เงินเพียงแค่สามร้อยกว่าบาท ซื้อชีวิตของพวกเขาหนึ่งวัน และสร้างกำไรมหาศาล

พวกเขาได้ประโยชน์จากแรงงานหนึ่งคนมากกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาร่วมกัน

2. ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม กว่าธารน้ำจะกลายเป็นแม่น้ำ กว่าดินหินจะทับกันหลายพันปีจนกลายเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ กว่าทุ่งหญ้าจะกลายเป็นผืนป่า กว่าต้นกล้าต้นเล็กจะกลายเป็นผืนป่า ล้วนใช้เวลามากมาย ใช้การดูแลของผู้คนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

แต่ชนชั้นนายทุนใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการสร้างความมั่งคั่งส่วนตัวในทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

พวกเขาใช้น้ำ ใช้ไฟ ใช้ดิน ใช้มหาสมุทร และสร้างมลภาวะทางอากาศ มากกว่าผู้คนส่วนมากแน่นอน

และได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าคนส่วนใหญ่ ที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่พวกเขา

3. เทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ในสังคม ล้วนถูกสร้างขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนในสังคม การลองผิดลองถูกมากมายจนเกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่แน่นอนว่ากลุ่มธุรกิจหยิบมือเดียวได้ใช้ประโยชน์ด้านความมั่งคั่งมากกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมแน่นอน

แต่บ่อยครั้งพวกเขาผูกขาดเทคโนโลยี นวัตกรรมผ่านระบบลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งส่วนมากแล้วเป็นการส่งเสริมให้พวกเขามั่งคั่งมากขึ้นไป

 

หากพิจารณาเพียงสามข้อเราจะพบว่าคนรวยในสังคมมีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพยากรส่วนรวมในสังคมมากกว่าคนจน หรือคนส่วนใหญ่ในสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาส่วนมากส่งเสริมนโยบาย “ลดหย่อน” หรือ “ยกเว้นภาษี” โดยใช้ความเชื่อที่ว่า เมื่อลดหย่อน หรือยกเว้นภาษี จะจูงใจให้พวกเขาทำธุรกิจ และสามารถสร้างความมั่งคั่งกลับคืนสู่สังคมได้มากขึ้น

แต่จากประสบการณ์ทั้งในกรณีไทยและต่างประเทศ การลดหย่อนหรือิยกเว้นภาษีให้กลุ่มทุน มีแนวโน้มสร้างเงื่อนไขผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ และดอกผลที่ตกสู่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีมูลค่าเทียบเท่ากับมูลค่าภาษีที่เสียไป หรือทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไป

ดังนั้น นโยบายลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีส่วนมากที่เกิดขึ้นจึงนำสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น และไม่ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น เรื่องพื้นฐานที่สุดคือ ในเมื่อคนรวยใช้ทรัพยากรมากกว่า ทั้งจากแรงงาน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี สร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองจากการใช้ทรัพยากรส่วนรวม

จึงเป็นเรื่องพื้นฐานมากที่พวกเขาควรเสียภาษีกลับคืนในลักษณะภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อจัดกลับคืนสู่การเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับประชาชน

และมันคือเครื่องยืนยันความเป็นมนุษย์

ความรวย ความมั่งคั่งมหาศาลของพวกเขาจะมีค่าอะไร ถ้าพวกเขาสามารถโอบกอดได้เพียงคนรอบตัวที่ให้ประโยชน์และสำคัญกับพวกเขา

เพราะเราเป็นมนุษย์เราจึงสามารถที่จะโอบกอดผู้อื่นจากความั่งคั่งของตนเองโดยไม่มีเงื่อนไข กับคนอื่นที่ห่างไกล

สละส่วนที่ล้นเหลือ เพื่อให้สังคมที่ขาดแคลนก้าวหน้าและเป็นธรรมมากขึ้น