เริ่มต้นที่ ‘ทุจริตอำนาจ’

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

หากวิเคราะห์การเมืองด้วยผลโพล หรือกระทั่งประเมินจากความรู้สึกในกระแสการช่วงชิงอำนาจรัฐด้วยผลการเลือกตั้งระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” กับ “ฝ่ายอนุรักษ์อำนาจนิยม” แทบไม่เหลืออะไรให้กังขาแล้วว่าฝ่ายไหนจะชนะ

ทุกผลโพลไม่ว่าจะถือกันว่าน่าเชื่อถือ หรือยังคลางแคลงวิธีการสำรวจ หรือกระทั่งผลสำรวจของหน่วยข่าวราชการที่ถูกปล่อยหลุดออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้ ส่วนใหญ่ หรือจะว่าไปคือเกือบทั้งหมด ยกเว้นก็แต่สำนักที่ใครเห็นก็ต้องหัวเราะว่าไปสำรวจจากประชาชนของโลกไหน ออกมาในทางเดียวกันคือ “เพื่อไทย” มาเป็นอันดับหนึ่ง “ก้าวไกล” มาเป็นอันดับสอง โดยทิ้งห่าง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่มาเป็นที่ 3 แบบไม่เห็นฝุ่น

และยิ่งเป็นผลสำรวจที่ใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไร ผลยิ่งตอกย้ำว่า “อำนาจนิยม” ไม่มีวันที่จะมีชัยเหนือ “เสรีนิยม” ได้

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “คน กทม.เลือกพรรคไหน”

ผลที่ออกมาคือ ส.ส.แบบแบ่งเขต 5 อันดับแรก ร้อยละ 34.93 เลือกเพื่อไทย, ร้อยละ 27.72 ก้าวไกล, ร้อยละ 14.32 รวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 6.76 ประชาธิปไตย, ร้อยละ 3.32 ชาติพัฒนากล้า

เช่นกันใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 34.40 เลือกเพื่อไทย, ร้อยละ 28.76 ก้าวไกล, ร้อยละ 14.68 รวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 6.08 ประชาธิปัตย์, ร้อยละ 3.48 ชาติพัฒนากล้า

หรือ “สวนดุสิตโพล” ล่าสุดซึ่งสำรวจจากทั่วประเทศก็ไม่ต่างกันคือ พรรคที่คนไทยนิยมเป็นอันดับ 1 คือ “เพื่อไทย” ร้อยละ 46.16 รองลงมาคือ “ก้าวไกล” ร้อยละ 15.43, “ภูมิใจไทย” ร้อยละ 11.12, “รวมไทยสร้างชาติ” ร้อยละ 8.73, “ประชาธิปัตย์” ร้อยละ 7.71

 

นั่นหมายความว่าหากตั้งรัฐบาลตามการตัดสินใจของประชาชน ความชอบธรรมจะเป็นของ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย”

ทว่า นั่นดูเหมือนจะเป็นความหวานของอดีตที่การเมืองยึดมั่นในหลักการ พรรคไหนได้รับเลือกตั้งมามากกว่าได้สิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคอื่นพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อรักษาหลักการ “อำนาจเป็นของประชาชน” ร่วมกันไว้

ที่สะท้อนให้เห็นในวันนี้คือ “หลักการที่ดีงาม” เช่นนั้นดูจะลบเลือนไปแล้วจาก “จิตสำนึกของนักการเมืองไทย” โดยเฉพาะใน “เหล่าผู้นำพรรคการเมือง” ทั้งหลาย

การเมืองถูกทำให้เป็นการช่วงชิง และแข่งขันเพื่อยึดครองอำนาจไม่ต้องคำถึงถึงหลักการใด

พรรคที่แพ้การเมืองยังมีสิทธิเต็มที่จะใช้กลไกที่ออกแบบเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” กดดันพรรคการเมืองต่างๆ ให้ร่วมกันละเมิดหลักยึดที่ดีงาม ด้วยเหตุผลว่า “ใครรวมเสียงได้มากกว่า คนนั้นคือผู้ชนะ” ไม่เกี่ยวกับ “การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่” ว่าเลือกให้พรรคใดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น กติกาที่ “ดีไซน์เพื่อสืบทอดอำนาจ” เปิดโอกาสแม้กระทั่งให้ “นักการเมืองทรยศต่อพรรคที่สังกัด” รับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการพลิกข้างมาโหวตช่วย “การสืบทอดอำนาจ” โดยไม่เว้นแม้แต่ “ส.ส.ระดับบัญชีรายชื่อ” ที่หมายถึงประชาชนเลือกพรรคไม่ใช่เลือกตัวบุคคล

อาจจะเป็นเพราะเกมช่วงชิงอำนาจที่ไม่เห็นหัวประชาชนเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปด้วยกติกาและกลไกการสืบทอดอยู่อำนาจที่ยังเข้มแข็งในขณะนี้

ทำให้ “กูรูการเมือง” ทั้งหลาย ยังให้ราคาพรรคที่หากประเมินด้วยผลโพลและกระแสความนิยมแล้ว ถูกทิ้งห่างหลุดลุ่ยว่ายังมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นั่นหมายถึง การยอมรับข้ออ้างและการดีไซน์ที่ละเมิดอำนาจการตัดสินในของประชาชนส่วนใหญ่

ที่ผ่านมาต่างหวังกันว่า “การเลือกตั้ง” จะเป็นทางออกนำประเทศฝ่าวิกฤตต่างๆ ไปได้ จะได้รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่

แต่หากฟังการประเมินจาก “ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย” แล้ว จะพบว่า “หนทางที่จะทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมหาทางคลี่คลายนำการเมืองไทยออกจากวงจรอุบาทว์เพื่อร่วมพัฒนาให้ประเทศสู่อนาคตที่ดีงาม” นั้น

ยังอีกยาวไกลนัก