สายลับยุคดิจิทัล : Open-source intelligence (OSINT) เมื่อข่าวกรองมาจากแหล่งข่าวเปิด

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

สายลับยุคดิจิทัล

: Open-source intelligence (OSINT)

เมื่อข่าวกรองมาจากแหล่งข่าวเปิด

 

ผมติดตามข่าวสงครามยูเครนมากว่าหนึ่งปี สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือแม้แต่วงการ “ข่าวกรองทางทหาร” ก็กำลังถูก “ป่วน” ด้วยเทคโนโลยี

สงครามข่าวกรองและการ “จารกรรม” ที่เคยเป็นกิจกรรมหลักของทั้งโลกเสรีและคอมมิวนิสต์กำลังจะถูก “เขย่า” ด้วย “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI อย่างน่าตกใจยิ่ง

ในสมัย “สงครามเย็น” ระหว่าง 1945 ถึง 1991 การหาข่าวกรองของฝ่ายตรงกันข้ามใช้วิธีพื้นๆ ในการ “ดักฟัง” หรือขโมยเอกสารลับของฝ่ายตรงกันข้าม

หรือไม่ก็ใช้ “แหล่งข่าวมนุษย์” ที่เรียกว่า human intelligence จนกลายเป็นเรื่องอื้ออึงเกี่ยวกับ “สปายสองหน้า”

นั่นคือสายลับที่แอบหาข่าวให้ทั้งสองฝ่าย

มีคนอาชีพต่างๆ ที่ปลอมตัวเป็นคนทำงานปกติ แต่แอบหา “ความลับทางราชการ” ของอีกฝ่ายหนึ่ง

อีกทั้งยังมีสาวสวยที่แทรกตัวเข้าไปที่ศูนย์กลางของอีกฝ่ายหนึ่งและแอบหาข้อมูลส่งให้อีกฝั่งหนึ่ง

จนกลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาวมาแล้วในหลายๆ กรณี

แต่วันนี้การหาข่าวกรองในยุคดิจิทัลเกิดความท้าทายสำหรับทุกฝ่ายที่เผชิญหน้าทางด้านการเองและความมั่นคงอย่างยิ่ง

เพราะในโลกปัจจุบัน “ข้อมูล” มีปริมาณมหาศาล และการเข้าถึงข้อมูล (ทั้งที่เป็นความลับและที่ไม่ค่อยลับ) ก็เป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น หน่วยงานข่าวกรองของรัฐบาลทั่วโลกจึงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

แต่ก่อน “สายลับ” ต้องการเจาะหา “ข่าวลับ” ของอีกฝ่ายหนึ่ง และใครได้ “ข้อมูลลับ” มากกว่ากันก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเผชิญหน้าทางการเมืองและความมั่นคง

แต่วันนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “Open-source intelligence” หรือข่าวกรองโอเพ่นซอร์ส (OSINT) ที่เป็นอาวุธสำคัญสำหรับการแสวงหาข่าวกรองของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ก่อนนี้ การหาข่าวกรองคือการแข่งกันระหว่างมหาอำนาจที่มีศักยภาพที่จะเข้าถึงแหล่งข่าวราชการลับเท่านั้น

ประเทศเล็กๆ ที่ขาดเครื่องมือและงบประมาณไม่อาจจะมีกลไกการหาข่าวกรองได้อย่างประเทศใหญ่ๆ

แต่วันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวกรองหรือ “อินไซต์” (insight) อันหมายถึงข้อมูลเจากลึกและกว้างโดยไม่ต้องมีต้นทุนสูงอะไรมากมาย

อินเตอร์เน็ตทำให้โลกการหาข่าวกรองเปลี่ยนไปอย่างมาก

แน่นอนว่า “ข่าวกรองราชการลับสุดยอด” ยังมีความสำคัญในการทำสงครามข่าวสาร แต่ทุกวันนี้ใครสามารถรวบรวม, วิเคราะห์, แยกแยะและตีความข้อมูลได้ดีกว่าและเร็วกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

เป็นที่มาของความสนใจของผมต่อคำว่า “ข่าวกรองโอเพ่นซอร์ส” หรือ OSINT

OSINTหมายถึงการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากโอเพ่นซอร์ส

ซึ่งหมายถึงข้อมูลลับและเปิดเผยต่อสาธารณะ

อันเป็นวัตถุดิบที่นำไปผลิตข่าวกรองที่นำไปใช้งานในทางปฏิบัติได้

OSINT ใช้เป็นหลักในหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติ การบังคับใช้กฎหมาย และข่าวกรองธุรกิจ และเป็นประโยชน์สำหรับนักวิเคราะห์ที่ใช้ข่าวกรองที่ “ไม่ละเอียดอ่อน” ในการทำงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดข่าวกรองที่จัดประเภท ไม่จัดประเภท หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยข่าวกรองก่อนหน้า

พูดง่ายๆ คือการหา “ข่าวกรอง” ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องปลอมตัวใส่เสื้อคลุมและแว่นดำเพื่อซ่อนตัวเข้าไปค้นหาเอกสารลับในห้องใต้ดินเหมือนในหนังยุคสงครามเย็น

แต่ข่าวกรองวันนี้หาได้จากข้อมูลที่มาแหล่งมากมายทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะและที่ถูก classified หรือถูกจัดประเภท “ชั้นความลับ” ของทางการ

ซึ่งในโลกดิจิทัลวันนี้ “ชั้นความลับ” เหล่านั้นอาจจะหมดความหมายไปเลย

เพราะระบบการ “ค้นหา” (search engine) และการเสาะแสวงหาแหล่งข้อมูลออนไลน์มีมากมายพอที่จะไล่ล่าข้อมูล “ไม่พึงเปิดเผย” ออกมาเป็นเรื่องสาธารณะได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ผู้รู้บอกว่าแหล่งที่มาของ OSINT มีไม่น้อยกว่า 6 ประเภท

เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และโทรทัศน์จากทั่วประเทศและระหว่างประเทศ

อินเตอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ออนไลน์ บล็อก กลุ่มสนทนา สื่อพลเมือง (เช่น วิดีโอโทรศัพท์มือถือ และเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น) YouTube และเว็บไซต์โซเชียลมีเดียอื่นๆ (เช่น Facebook, Twitter, Instagram เป็นต้น) แหล่งข้อมูลเหล่านี้บ่อยครั้งเป็นประโยชน์มากกว่าแหล่งข้อมูลดั้งเดิมอื่นๆ

เพราะทันการณ์ทันเวลาและการเข้าถึงได้สะดวกดายมากกว่า

แหล่ง “ข่าวกรองเปิดเผย” อื่นรวมถึงข้อมูลภาครัฐ รายงานภาครัฐ งบประมาณ การพิจารณาคดี สมุดโทรศัพท์ การแถลงข่าว เว็บไซต์ และสุนทรพจน์

ทั้งหมดนี้แม้จะถือว่าเป็นแหล่งข้อมูล “ทางการ” แต่ก็สามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะและอาจใช้อย่างเปิดเผยและเสรี

ที่เป็นแหล่ง “ข่าวกรองโดเพ่นซอร์ส” ได้อย่างดีคือสิ่งพิมพ์ทางวิชาชีพและวิชาการ ข้อมูลที่ได้จากวารสาร การประชุม สัมมนาวิชาการ เอกสารวิชาการ วิทยานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์

อีกทั้งต้องไม่ลืมข้อมูลเชิงพาณิชย์ ภาพเชิงพาณิชย์ การประเมินทางการเงินและอุตสาหกรรม และฐานข้อมูล

วรรณกรรมสีเทา รายงานทางเทคนิค แบบพิมพ์ล่วงหน้า สิทธิบัตร เอกสารการทำงาน เอกสารทางธุรกิจ งานที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ และจดหมายข่าว

 

ความจริง OSINT ถูกกำหนดในสหรัฐอเมริกาโดยกฎหมายมหาชน 109-163

โดยที่ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐอ้างว่า OSINT เป็นข่าวกรอง “ผลิตจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งรวบรวม ใช้ประโยชน์ และเผยแพร่ในเวลาที่เหมาะสมแก่ผู้ชมที่เหมาะสมเพื่อจุดประสงค์ในการตอบสนองความต้องการข่าวกรองเฉพาะ”

OSINT ในสหรัฐอเมริกามีจุดเริ่มต้นมาจากการสร้าง Foreign Broadcast Monitoring Service (FBMS) ในปี 1941

อันเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบการออกอากาศต่างประเทศ

และในเดือนกรกฎาคม 2004 หลังจากการโจมตี 11 กันยายน คณะกรรมาธิการ 9/11 ได้แนะนำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานข่าวกรองแบบโอเพ่นซอร์สในเดือนมีนาคม 2005 ตามมาด้วยมติของคณะกรรมาธิการข่าวกรองอิรักได้แนะนำให้จัดตั้งคณะกรรมการโอเพ่นซอร์สใน CIA เอง

ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่จาก “อินเตอร์เน็ต ฐานข้อมูล สื่อ วิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ ข้อมูลเชิงพื้นที่ ภาพถ่าย และภาพถ่ายเชิงพาณิชย์

ศูนย์นี้รับข้อมูลจาก Foreign Broadcast Information Service (FBIS) ที่มีอยู่เดิมของ CIA ซึ่งเดิมก่อตั้งในปี 1941 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

การทำงานของ OSINT ใช้เว็บบราวเซอร์ที่มีประสิทธิภาพที่ให้การเข้าถึงเว็บไซต์จำนวนมากและทั้งโอเพ่นซอร์สและซอฟต์แวร์ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลโอเพ่นซอร์ส

ทุกวันนี้ แหล่งข้อมูลข่าวกรองจำนวนมหาศาลไม่ได้จำกัดอยู่กับองค์กรความมั่นคง เช่น National Security Agency (NSA) เท่านั้น

หากแต่ยังอยู่กับ Facebook, Amazon, Apple, Google, Microsoft

หรือสำหรับคนไทยแล้ว “ข่าวกรองเชิงลึก” เกี่ยวกับคนและกิจกรรมของคนหรือความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ อาจจะแกะได้จาก Line, TikTok และ Instagram ได้อย่างไม่ยากเย็นเลย

แม้ว่าบางบริษัทเหล่านี้บางแห่งอาจจะประกาศว่าพวกเขาจะไม่ใช้เทคโนโยลีเป็น “อาวุธ” ในการสืบหาข่าวกรอง แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือเทคโนโลยีได้กลายเป็น “อาวุธ” แล้ว

ก็เพราะเหล่าบรรดา “แฮ็กเกอร์” สามารถโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ผ่านระบบต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น

ทุกวันนี้ ผู้ก่อการร้ายใช้สื่อออนไลน์ “ถ่ายทอดสด” การโจมตีของพวกเขาเพื่อให้เกิดภาพที่น่าตกตะลึงไปทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก

ขณะเดียวกันกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางชั่วร้ายก็ได้แปรแพลตฟอร์มของสื่อออนไลน์เช่น Twitter และ Facebook ให้กลายเป็น “ทางด่วนพิเศษแห่งข่าวปลอม” (disinformation superhighways) เพื่อบ่อนทำลายประชาธิปไตยจากภายใน

 

คําถามใหญ่สำหรับสังคมทั้งโลกวันนี้ก็คือว่าจะทำอย่างไรจึงจะออกกฎกำกับควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้โดยไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชน

ยิ่งวันหน่วยข่าวกรองทางการก็ยิ่งต้องพึ่งพาภาคเอกชนมากขึ้น เพราะการจะวิเคราะห์และแยกแยะข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นทุกวินาทีในโลกใบนี้จำเป็นต้องอาศัย “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI)

แต่ก่อนนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นอินเตอร์เน็ตต้องเริ่มภายในรัฐบาลก่อน แล้วจึงจะกระจายให้เอกชนใช้

แต่วันนี้สถานการณ์กลับด้านแล้ว

เพราะความก้าวหน้าใหม่ๆ ของเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาจากภาคเอกชน เช่น Google หรือ Nvidia หรือ startups ทั้งหลายก่อน

หน่วยข่าวกรองรัฐจึงจะนำมาใช้ตามหลัง

โลกใบนี้กำลังกลับตาลปัตรแล้วจริงๆ