วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 เพื่อไทย ไม่แลนด์สไลด์ 3 ซีนาริโอ ประยุทธ์-ประวิตร ชิงนายกฯ?

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศยุบสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 20 มีนาคม วันเลือกตั้งก็ปักธงแล้ว 14 พฤษภาคม จากนี้ไปสิ่งที่ต้องจับตามองคือ คณิตศาสตร์เลือกตั้ง 2566 พรรคใดจะได้เสียงมากน้อยแค่ไหน ขั้วไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล และใครจะเป็นนายกฯ คนที่ 30

เครือมติชนจัดแคมเปญ มติชน เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย เวทีที่ 2 ในหัวข้อ “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” โดยมี “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและเทคโนโลยี ” ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ” ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

และ “นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ” อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตโฆษกพรรคไทยรักไทย ร่วมเสวนา

เริ่มต้นจาก “รศ.ดร.ธนพร” ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและเทคโนโลยี ได้วิเคราะห์แบบเจาะลึก ผ่าเขตเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง ขั้วไหนจะชนะในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงประเด็นการแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย ที่หวังจะให้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะไม่สมหวังอย่างที่คิด

“การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต่างออกไปจากปี 2562 มีแต่คนบอกว่าแบ่งไม่เป็นธรรม แบ่ง 350 เป็น 400 เขตนั้นมีผล เมื่อวิเคราะห์ตามกรอบพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ไม่เกิด ขั้วลุงตู่ หรือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังได้ไปต่อ 264 เสียง การย้ายพรรคเกิดในขั้วเดียวกันเกิน 95% มีย้ายข้ามขั้วกรณีเดียวคือ สามมิตร ที่ย้ายจากพลังประชารัฐไปเพื่อไทย แต่ที่เหลือขั้วเดียวกันหมด

ประเด็นที่ 2 ขั้วฝ่ายค้านเดิม พอแบ่งเป็น 400 เขต เอาคะแนนปี 2562 เป็นตัวตั้ง ยังคงเป็นฝ่ายค้านต่อไป ซึ่งเรามักจะบอกว่าวันนี้เมืองไทยยังอยู่ในกรอบความคิด เอาตู่-ไม่เอาตู่ ในกรอบความคิดนี้จึงมี 3 ซีนาริโอ

1. เพื่อไทยแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ปิดสวิตช์ ส.ว. 376 เสียง จากผลการวิเคราะห์ตัวแปรทั้งสองของตน ปิดสวิตช์ไม่สำเร็จ

2. พลังประชารัฐบวกกับเพื่อไทย เป็น 2 แกนนำหลักก่อน ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะ 142+174 ได้เพียง 316 เสียง ใครบอก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มี ส.ส.ในมือ 100 เสียง กล้าเถียงขาดใจ เพราะตนมีตัวชี้วัด และใครติดตามการเลือกองค์กรอิสระหนึ่งซึ่งวันนี้เข้าทำงานแล้ว คือ กสทช. คะแนนออกมา 197 ต่อ 53 ฟันธงว่า ส.ว.ลุงป้อม มี 53 ไม่เกินนี้ ฉะนั้น ซีนาริโอที่สอง ไม่เอาตู่ ปิดไปอีกหนึ่ง

3. ลุงตู่ไปต่อหรือลุงป้อมเป็นนายกฯ วันนี้จากข้อมูลที่เราวิเคราะห์ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ชอบ-ไม่ชอบ เอาไว้ในใจ แต่ตัวเลขปี 2562 นำมาใส่เป็นตัวแปรแบ่งเขตในปี 2566 แล้วใช้วิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ในปี 2566 มาคำนวณคะแนนเสียงที่ได้

วันนี้คนไทยมีทางเลือกแค่สองทาง คือท่านจะรักลุงตู่ หรือท่านจะดูแลลุงป้อม มีเท่านี้

รศ.ดร.ธนพรกล่าวต่อว่า มีความมั่นใจกับการคำนวณของตัวเอง 100% จากข้อมูลที่อยู่ในระบบ และ กกต.แบ่งเขตใหม่จริงๆ อย่างไรผลก็ต้องออกมาแบบนี้เพราะใช้ตัวแปรอยู่สองตัว มีตัวแปรที่สามอยู่นิดหน่อยคือ การหารบัตรเลือกตั้งใบที่สองตามกติกาใหม่ ในทางทฤษฎีมั่นใจในข้อมูลที่มีอยู่และมั่นใจในตัวแปร แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม เช่น หลังวันที่ 3 เมษายน ที่จะเห็นว่าใครสมัครพรรคใดแล้วลองนำมาคำนวณใหม่ ความเชื่อมั่นก็อาจจะเหมือนเดิม หรืออาจจะเป็น 95% ไม่เกินนี้

“วันนี้วาทกรรมที่ว่าพรรคเพื่อไทยชนะแน่ กำลังจะเป็นวาทกรรมหลัก หน้าที่ของผมในทางวิชาการคือต้องสร้างวาทกรรมขึ้นมาโต้แย้งด้วยการใช้ชุดข้อมูลที่มีเหตุผลกว่า และผมชอบที่จะท้าทายว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน หลังจากวันที่สมัครรับเลือกตั้งแล้วผมจะนำตัวแปรเรื่องย้ายพรรคมาคำนวณใหม่ จะวิเคราะห์ด้วยการใช้ข้อมูลที่มีเหตุมีผล ในหน้าที่ของคนทำงานวิชาการก็จะทำต่อไปเพื่อสร้างการโต้แย้งขึ้นมา ผมเชื่อว่าในสังคมซึ่งจะสถาปนาระบบการเลือกตั้งให้มีความเสถียรภาพ สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำมากๆ คือการให้มีการถกเถียงที่ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูล ในภาคส่วนวิชาการ จะพยายามทำแบบนี้ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้ระบบการเลือกตั้งเดินหน้าไปอย่างมีเสถียรภาพ นี่คือความพยายามของคนทำงานวิชาการ สำหรับพี่น้องประชาชนนั้นเริ่มจากอย่าละทิ้งสิทธิ ขอให้ไปใช้สิทธิกันให้มาก”

รศ.ดร.ธนพรกล่าว

 

ด้าน ” ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ” กล่าวว่า วันนี้เอาข้อมูลปี 2562 มาแบ่งเขตใหม่ตามปี 2566 ปี 2562 ใครชนะ ผลในปี 2566 ที่เราคาดการณ์ก็ต้องเป็นพรรคเดิม สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือการย้ายพรรค นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามต่อ

อีกประเด็นคือการที่พรรคเพื่อไทยฝันถึงแลนด์สไลด์ แปลว่าเขาฝันถึงวันวานอันหวานชื่น เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นวันที่พรรคได้คะแนนเยอะมาก แต่หายไปในปี 2562

น่าสนใจที่ว่าคะแนนหายไปตรงไหนบ้าง และวันนี้ปี 2566 มีโอกาสไปกู้คืนได้หรือไม่

ถ้าหายไปให้พรรคอนาคตใหม่ฐานเสียงเดียวกันยังพอเอาคืนมาได้

แต่ถ้าหายไปให้ภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ จะทำอย่างไร นี่เป็นอีกชุดข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ

จากข้อมูลที่แปลงจากปี 2562 ถึงปี 2566 ก็คืออยากท้าทายว่านั่นคือปี 2562 แต่นี่คือปี 2566 คนจะเลือกเหมือนเดิมหรือไม่

วันนี้อาจจะมองว่าแบ่งขั้วการเมืองของการเมืองไทยเป็นสองฝ่าย เสรีนิยมกับอนุรักษนิยม และวันนี้ก็มีมายาคติจากฝ่ายเสรีนิยม ที่บอกว่าวันนี้ดูจากข้อมูลจากปี 2562 ถึง 2566 ฝ่ายเสรีนิยมน่าจะมีสัก 60 อนุรักษนิยม 40 จากเดิมปี 2562 ที่มีประมาณ 50-50

แต่จะชวนให้ดูว่าถ้าใช้วิธีคิดแบบนำเสรีนิยมและอนุรักษนิยมไปจับกับข้อมูลในการแบ่งเขตที่ อ.ธนพรเสนอเพื่อประเมิน ส.ส.บัญชีรายชื่อไปในตัว ผมคิดว่าอาจจะต้องเข้าใจเสรีนิยมให้ชัดขึ้นอีกนิด

เราต้องคิดให้ละเอียดว่าในเสรีนิยมมีทั้งแบบสุดขั้ว ประเภทอยากจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแบบถอนรากถอนโคน แนวโน้มก็อาจจะไปทางพรรคก้าวไกล แปลว่าฐานเดิมของพรรคอนาคตใหม่ถ้าจับคนกลุ่มนี้ไว้ได้ ก้าวไกลก็จะเกาะคนกลุ่มนี้ไว้ได้เหมือนเดิม

ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีเสรีนิยมแบบค่อยๆ เปลี่ยน กลุ่มนี้ก็อาจจะมีแนวโน้มอยู่ทางพรรคเพื่อไทยมากกว่า

และอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเสรีนิยมที่ไม่เอาพรรคใหญ่

ถ้าคิดการเมืองเชิงอุดมการณ์จากข้อมูลที่มี นักเลือกตั้งทั้งหลายสามารถเอาไปคิดต่อได้

ตัวเลข 310 เสียงของพรรคเพื่อไทย มีความหมายคือเหมือนรุกฆาตประมาณหนึ่ง โดยรุกฆาตตัวแรกไปที่พรรค

 

ขณะที่ “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” ได้แสดงความคิดเห็นประเด็นนี้ว่า ขณะนี้คิดว่าการเลือกตั้งปี 2566 อยู่ที่คนเบื่อรัฐบาลแล้วอยากเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าคนอยากเปลี่ยนต้องดูว่าพรรคไหนเสนอนโยบาย หรือพรรคไหนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

อีกเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะใน กทม. อาจจะต้องเอาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เข้ามาด้วย เพราะเห็นชัดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงคนเลือก “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หมด ถ้านำคะแนนตรงนั้นมาวิเคราะห์ได้จะเป็นประโยชน์มาก ตรงนี้ทำให้เห็นว่า แม้กระทั่งจังหวัดอื่นๆ ก็อาจจะเป็นได้

อย่างพรรคก้าวไกลเขาพูดชัดว่าเป้าหมายคือ กทม.และหัวเมือง เขาเข้าถึงชนบทไกลๆ ไม่ได้ แต่เขาคิดว่าเขาสามารถเข้าถึงหัวเมืองได้

พรรคเพื่อไทยเข้าถึงชนบทได้ด้วยนโยบายและผลงานเดิม แต่ก็อยากได้หัวเมือง เพราะเชื่อว่าหัวเมืองต้องการความเปลี่ยนแปลง

และตนเชื่อว่ากระแสที่เขาคิดว่าจะมีแลนด์สไลด์ เชื่อว่าอารมณ์ร่วมที่ไม่เอารัฐบาลเพื่อไทยยังชนะเลือกตั้งอยู่

หมายความว่า ถ้าวิเคราะห์พื้นฐานจากปี 2562 ถ้าเราแบ่งครึ่งระหว่าง รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ ทั้งสองพรรคไม่ร้อยแน่นอน แต่เพื่อไทยยังเป็นปีกแผ่นที่ร้อยกว่า

“สุรนันทน์” กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงประชาชนที่เฝ้ารอการเลือกตั้งอยู่ว่า สิ่งที่จะฝากก็คือ “นโยบาย” พอเป็นประชานิยมหมด บางทีประชาชนในระดับชุมชนต้องการความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมมากกว่าแค่ตัวเลข พอเป็นประชานิยมจนคนงง ในชุมชนจะกลายเป็นพื้นที่ที่เหมือนกันหมด นี่คือสิ่งที่สำคัญ มองว่าในต่างจังหวัดก็มีผล ระบบอุปถัมภ์ยังอยู่ ไม่ใช่เพราะเรื่องนโยบาย

ฝากให้พรรคการเมืองต้องพูดให้ชัดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองอย่างไร ดีกว่าการแข่งขันแค่ตัวเลขเสียงที่จะได้รับ