‘เอกชน’ มองข้ามช็อต เลือกตั้งแลนด์สไลด์ ฝันถึง…คัมมิ่งซูน ‘นายกฯ คนใหม่’

บทความเศรษฐกิจ

 

‘เอกชน’ มองข้ามช็อต

เลือกตั้งแลนด์สไลด์

ฝันถึง…คัมมิ่งซูน ‘นายกฯ คนใหม่’

 

ทุกปีเมื่อก้าวสู่ฤดูร้อน บรรยากาศทั่วประเทศกลับมาคึกคัก ด้วยเป็นช่วงที่มีวันหยุดพักผ่อนติดต่อกัน อย่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงพีกของจำนวนคนไทยเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายจากอากาศร้อนอบอ้าว

แต่หน้าร้อนปี 2566 นี้ ดีกรีความร้อนแรงจะมากขึ้น จากอีกปัจจัยหนุน คือ ทั่วโลกเปิดประเทศให้ประชาชนในประเทศได้ออกเดินทางและท่องเที่ยวนอกประเทศหลังโควิดเบาบางแล้ว

คู่ไปกับความร้อนระอุทางการเมือง ที่เข้าโหมด ‘การเลือกตั้ง’ พอดี

 

ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาออกประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม หากพิจารณาตามขั้นตอนและกฎหมาย วันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 45-60 วัน นับตั้งแต่ยุบสภา ซึ่งวันนี้คงมองไปในวันที่ 14 พฤษภาคม ดังนั้น คนไทยทุกคนเตรียมตัวนับถอยหลัง 54 วันจากนี้ เพื่อเดินเข้าคูหาจรดปากกาเลือก ‘ผู้นำคนใหม่’ ด้วยใจจดจ่อ!

ฉะนั้น เชื่อว่า ระหว่างนี้พรรคการเมืองก็ไม่ให้เราได้พักเต็มๆ อย่างหน้าร้อนในหลายปีที่ผ่านมา เพราะพรรคการเมืองต่างๆ จัดหนักปล่อยหมัดเด็ด ด้วยนโยบายกระแทกใจประชาชนที่กินกันไม่ลง

ไฮไลต์ที่สุดที่ต้องเกาะติดขอบสนามสำหรับคนมีสิทธิเลือกตั้ง คือ การเปิดตัว ‘แคนดิเดต’ หรือหัวเรือใหญ่ที่เป็นหน้าเป็นตา นำทีมเข้ามาบริหารอนาคตประเทศ

ณ เวลานี้ เกิดความคาดหวังต่างๆ นานา ว่าใครคือผู้กุมบังเหียนบริหารประเทศ ใครอยู่ในทีมกุนซือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวหลักอย่างขุนคลัง และรัฐมนตรีพลิกสถานการณ์การส่งออก บริโภค ลงทุน ให้ฟื้นตัวและดันจีดีพีประเทศไทยไม่ตกต่ำกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 2.6%

ซึ่งกว่าจะถึงวันเลือกตั้งจริง ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ได้สำรวจความคิดเห็นจากภาคเอกชน ถึงสเปกรัฐบาลใหม่ที่จะก้าวขึ้นมานำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปในอนาคต

เริ่มที่หัวหอกภาคธุรกิจอย่าง เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับเอกชนมองในเรื่องของเศรษฐกิจ จะเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลก ทั้งความผันผวน ความเปราะบางและความท้าทายเกิดขึ้น

เช่น ความขัดแย้งจากภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง และโลกมีการแยกขั่วแยกข้าง โลกจากเดิมมีปัญหาโลกาภิวัตน์มา 20-30 ปี ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป โดยนานาประเทศมีการแบ่งข้างชัดเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน ส่งผลต่อตลาดการส่งออก และเทคโนโลยีต่างๆ

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และบริบทของเรื่องโลกร้อนกำลังมา ประเทศไทยจึงต้องมีรัฐบาลใหม่ที่มีความคล่องตัว และเก่งรอบด้านที่สามารถรับกับความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงต้องนำพาประเทศขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ทำอย่างไรให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสประเทศไทย และทำอย่างไรที่จะดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตไปประเทศอื่น รวมถึงยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยไปแข่งขันระดับโลก และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ไทยสร้างขึ้นมาภายใต้นโยบายบีซีจี การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นความท้าทาย”

เกรียงไกรกล่าว

บิ๊กอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง อธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สะท้อนมุมมองกรณีการเลือกตั้งใหม่จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีรายได้จากกิจกรรมต่างๆ เช่น สื่อโฆษณา การแจกใบปลิว การจัดอีเวนต์ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของประเทศอย่างไร ถ้าหากผลเลือกตั้งจบแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า ไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจได้

“สิ่งที่ภาคเอกชนหรือนักธุรกิจเฝ้าดู คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะต้องมีเสถียรภาพ ด้วยสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รัฐบาลรูปร่างหน้าตาหล่อเหลา เพราะเป็นรัฐบาลที่ผสมผสานกันหลายพรรค”

“ขณะที่ทีมเศรษฐกิจก็ต้องมีความรู้ ความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ เดิมเหมือนจะดี แต่พอมีปัญหาใหม่เข้ามากระทบอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน เงินไหลออก บาทอ่อนค่า”

“มีผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ตามมา ทำให้ภาวะเงินเฟ้ออาจจะมีโอกาสสูงขึ้น 3-4% เป็นภาระค่าครองชีพของประชาชนจะไม่มีกำลังซื้อ ล่าสุดมีปัญหาแบงก์สหรัฐล้ม ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่ามีเอฟเฟ็กต์ต่อไทยยังไง” นายอธิปกล่าว

ขณะที่ ศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงคลายความอึดอัดที่มีต่อรัฐบาลปัจจุบันที่บริหารประเทศมา 8 ปีแล้ว

ถ้ายุบสภาจะทำให้มีความคิดเห็นและการบริหารใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกทั้งจะทำให้ต่างชาติหันกลับมามองประเทศไทยมากขึ้น เกิดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจที่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด

เขาเสริมอีกว่า การมีรัฐบาลใหม่ และยิ่งเป็นรัฐบาลที่มีสถานะเสถียรภาพ จะทำให้คนมีความเชื่อมั่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกด้วย

โดยเฉพาะในสภาที่ปัจจุบันเสียงปริ่มน้ำ อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีสภาที่เข้มแข็งเกิดขึ้นได้

อีกหนึ่งนักธุรกิจ วีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดไหนที่จะเข้ามา คาดว่าหลังมีรัฐบาลใหม่แล้วเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลใหม่จะพยายามสร้างผลงาน ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโดยรวมยังทรงๆ แม้การท่องเที่ยวจะดีขึ้น แต่การส่งออกยังไม่ดี ภาครัฐชะลอการลงทุนรอรัฐบาลใหม่

ตอนนี้จึงเหลือการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้

นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับส่งออก วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงมองว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากภายใต้รัฐบาลรักษาการจะมีข้าราชการประจำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินเศรษฐกิจประเทศทำงานต่อเนื่อง รวมถึงมีการทำธุรกิจของภาคเอกชนต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ธุรกิจจึงไม่มีการหยุดนิ่งในส่วนนี้ โดยปกติแล้วจะไม่มีช่องว่างที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจหยุดชะงัก เนื่องจากข้าราชการประจำมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลมากนัก

เขาย้ำในตอนท้ายว่า

“คาดหวังรัฐใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนเส้นทางประเทศให้เดินหน้าอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น และอยากเห็นความโปร่งใสเกิดขึ้น เพราะสิ่งแรกที่นานาประเทศจะสนับสนุนคือหัวเรือใหญ่ และความโปร่งใสที่สะท้อนมาจากการเลือกตั้งที่แท้จริง”

 

อีกซีอีโอใหญ่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฝากไว้ว่า หอการค้าไทยอยากเห็นการฟอร์มทีมรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และราบรื่น เพราะจะเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมไปถึงนโยบายและมาตรการต่างๆ

โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ต้องเร่งนำมาใช้ทันที และจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 นี้

ความเห็นจากภาคเอกชนข้างต้นนั้น เป็นแค่เสียงสะท้อนส่วนหนึ่ง ฝากถึง ‘รัฐบาลใหม่’ พร้อมกับลุ้นหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะพลิกโฉมแบบแลนด์สไลด์ด้วยไหม