แรกเริ่มฟิตเนสสู่การสร้างชาติ ด้วยเรือนร่างสมัยใหม่ (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

แรกเริ่มฟิตเนสสู่การสร้างชาติ

ด้วยเรือนร่างสมัยใหม่ (1)

 

“ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ รู้จักทีหนีทีไล่ รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง”

(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี,2478)

 

ด้วยนโยบายของรัฐบาลภายหลังการปฏิวัติ 2475 ที่ต้องการสร้างสังคมใหม่ให้ก้าวหน้าดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการสนับสนุนการศึกษาให้พลเมืองใหม่ที่สมบูรณ์ด้วยจริยศึกษา พุทธศึกษาและพลศึกษา

ต้นปี 2478 พระยาพหลฯ ต้องการนำแนวทางสร้างเยาวชนใหม่ผ่านการศึกษาตามแบบญี่ปุ่นมาใช้ปรับปรุงระบบการศึกษาไทย (วรศักดิ์ เพียรชอบ, 2546, 121-122; Edward Thadeus Flood, 1994, 105)

ช่วงเวลานั้น รัฐบาลส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นหลายกลุ่ม เช่น คณะผู้แทนราษฎรหลังกลับมา พวกเขามีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงทางวัฒนธรรม ปลูกฝังความรักชาติให้เยาวชน ให้ปรับปรุงสุขภาพอนามัยคนไทยให้มีร่างกายที่แข็งแรง เช่น การส่งเสริการเล่นกีฬา การสร้างสนามกีฬาและพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น (เนตร พูนวิวัฒน์, 2479, 60-64)

รวมทั้งการไปดูงานตำรวจญี่ปุ่นของขุนศรีศรากร หลังเขากลับจากดูงานกิจการตำรวจ เขาต้องการสร้างตำรวจพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรง (ขุนศรีศรากร, 2479, 117-118) ร่างกายที่กำยำแข็งแรงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างพลเมืองและการสร้างชาติขึ้นใหม่ของรัฐบาลคณะราษฎร

พล.ต.จ.มงคล จีระเศรษฐ อดีตนักเรียนตำรวจครั้งนั้น เล่าว่า เมื่อราว 2482 ขุนศรีศรากร ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลให้นำยูโดเข้าสอนในสันติบาล มีการเชิญเจือ จักษุรักษ์ นักเพาะกายและนักยูโดมาเป็นผู้สอน พร้อมครูยูโดแขกซิกข์ ผู้เป็นศิษย์อีกคนมาสอน ทำให้ตำรวจเข้มแข็งตามความต้องการขุนศรีฯ ได้ (เจือ จักษุรักษ์, 2525)

กลุ่ม “สมชาย” บนดาดฟ้าของสถานกายบริหารของเจือ จักษุรักษ์

การปฏิวัติเป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนาน

หลวงวิจิตรฯ เสนอแนวคิดต่อการปฏิวัติ 2475 ในหนังสือ “มนุสสปฏิวัติ” ไว้ว่า

“งานปฏิวัติอาจเริ่มต้นด้วยรัฐประหาร คือ Coup d’Etate แต่รัฐประหารเป็นการเริ่มเปิดฉากงานปฏิวัติเท่านั้น เมื่องานรัฐประหารเสร็จแล้ว งานปฏิวัติยังต้องทำต่อไปแรมปี อย่างเดียวกับที่ทำในประเทศเรา ซึ่งงานรัฐประหารคือ Coup d’Etate ทำเสร็จชั่วในเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่งานปฏิวัติยังต้องทำกันจนถึงทุกวันนี้ และก็ยังไม่เสร็จ อาจต้องทำกันต่อไปอีกหลายปี ในระหว่างที่ทำงานปฏิวัตินี้ เราต้องเรียกว่าเป็นหัวต่อหัวเลี้ยว” (หลวงวิจิตรฯ, 2482, 4)

เขาวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมและเรือนร่างของตัวละครที่สังคมไทยชื่นชมมานานว่า

“วรรณคดีเรื่องรามเกียรต์ที่เรานิยมชมชอบกันนักหนานั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลเปลี่ยนนิสัยใจคอเรา…ตัวเอกของเรื่องคือ พระราม เป็นคนที่อ่อนแอที่สุด ไม่เคยทำงานสมบุกสมบันกับใคร…พระรามเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้มีบุญ เป็นผู้ประเสริฐ… พระเอกของเราแทบทุกเรื่องมักได้ดีโดยไม่ต้องทำอะไร…รูปร่างพระเอกของเรามักอรชรอ้อนแอ้น แม้นจะเดินก็ไม่ค่อยไหว…” (หลวงวิจิตรฯ, 14-15)

สำนึกใหม่ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เข้าใจได้ว่า เกิดค่านิยมใหม่ในสังคมเริ่มชื่นชอบเรือนร่างที่แข็งแรง ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2470 หรือปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จนเกิดการตั้งฟิตเนสของเอกชนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อค่านิยมในเรือนร่างแบบใหม่

เจือ จักษุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งฟิตเนสแห่งแรก และ ว.ป.แชปแมน ครูสอนเพาะกายคนแรกให้เจือ

จุดเริ่มต้นของการสร้างเรือนกายที่ “สมชาย”

ในช่วงต้นทศวรรษ 2470 ไม่นานก่อนการปฏิวัติ 2475 ปรากฏหลักฐานถึงความนิยมในร่างกายที่บึกบึนแข็งแรง

ดังนักเรียนมัธยมแห่งโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์คนหนึ่ง เล่าว่าในช่วง 2470 เดินผ่านหน้าบ้านของเจือ จักษุรักษ์ ผู้ตั้งสถานกายบริหารแห่งแรกไทย บ้านของเจืออยู่แถวริมคลองผดุงกรุงเกษม เขาเห็นเจือเดินออกจากบ้านไปทำงานทุกวัน ด้วยรูปร่างบึกบึนสมชายชาตรี เขาจึงเข้าไปสอบถามเจือวิธีการฝึกฝน เจือจึงชักชวนนักเรียนคนดังกล่าวมาร่วมกันฝึกที่สนามหญ้าหน้าบ้านของเจือ (พล.จ.ต สุชาติ วัจนะพุกกะ)

สถานกายบริหารหรือฟิตเนสแห่งแรกของไทยก่อตั้งโดยเจือ จักษุรักษ์ (2448-2525) ผู้บุกเบิกกายบริหารในไทยขึ้นเมื่อ 2473

ความสนใจในการฝึกกายบริหารของเจือเริ่มต้นจากในวัยเด็กเขาเป็นคนที่เจ็บไข้ออดๆ แอดๆ อย่างที่เรียกว่า “สามวันดีสี่วันไข้” จึงเริ่มสนใจเล่นกีฬามาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และเมื่อได้เข้าโรงเรียนนายเรือในช่วงกลางทศวรรษ 2460 ก็มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นจากการฝึกทหาร แต่ยังคงเป็นร่างกายที่ผอมเกร็งที่ไม่สมบูรณ์

ต่อมาเมื่อเขารู้จักนายดับบลิว.พี. แชปแมน (W.P. Chapman) ผู้ที่ฝึกหัดการเพาะกายด้วยตนเองในกรุงเทพฯ เพราะแชปแมนต้องการมีสุขภาพแข็งแรงต้านทานโรคภัยไข้เจ็บ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกิดแรงดลใจที่ต้องการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงปลอดจากโรคบ้าง นับแต่นั้น เขาเริ่มต้นฝึกบริหารร่างกายอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง

หลังจากเขาออกจากโรงเรียนนายเรือก่อนสำเร็จการศึกษา ต่อมา เขามาทำงานที่ธนาคารออมสิน และถูกส่งไปอบรมการธนาคารที่ออสเตรเลีย (2469) ที่ซิดนีย์นั่นเอง เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาปรารถนาตั้งฟิตเนสแห่งแรกขึ้น

เจือ (ซ้าย) และวัลลภ ธนะศิริ (ขวา) ที่ซิดนีย์ และร่าง “สมชาย” ของเจือ

“ผู้ชายต้องเป็นชายให้สมชาย”

คำขวัญของฟิตเนสแห่งแรก

เจือได้แนวคิดในการจัดตั้งฟิตเนสจากการไปอบรมการธนาคารที่ออสเตรเลีย

ที่ซิดนีย์ เขาได้ไปเข้าโรงยิมออกกำลังกายจาก Withrow Institution ที่มีการฝึกฝน สอน มวยสากล ยกน้ำหนัก เพาะกาย ยูโด มวยปล้ำ เต้นรำและระบำปลายเท้า (เจือ จักษุรักษ์, 2525)

เขาและวัลลภ ธนะศิริ สนใจการออกกำลังกายประเภทหนักๆ โดยเฉพาะมวยปล้ำแบบ Catch as catch can หรือแบบฟรีสไตล์ซึ่งเจือคิดว่าสามารถนำมาใช้ผสมผสานกับมวยไทยได้

เจือจึงสมัครเรียนมวยปล้ำ มวยสากลและยกน้ำหนัก ผลจากการฝึกอย่างหนักทำให้ร่างกายของเขาแข็งแกร่งไปด้วยกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ

หลังจากที่สำเร็จการอบรมแล้ว เจือเดินทางกลับไทย เขาใช้สนามหญ้าหน้าบ้านที่ริมถนนกรุงเกษม เป็นลานฝึกฝน จนทำให้คนหนุ่มสมัยครั้งปรารถนามีเรือนร่างอัน “สมชาย” ตามเขา เมื่อมีคนสนใจมากขึ้นจึงมีการจัดตั้งฟิตเนสขึ้น

ในช่วงแรกของการก่อตั้งเป็นเพียงตั้งค่ายฝึกซ้อม (training Camp) แถววัดม่วงแค ตรอกโรงภาษี บางรักก่อน มีการสอนมวยปล้ำ มวยไทย มวยสากล ยูโด ยกน้ำหนัก และเพาะกายขึ้น โดยมีผู้ก่อตั้ง 4 คน คือ เจือ สอนมวยปล้ำ ยูโด และมวยไทย อารีย์ สุพล สอนยกน้ำหนัก ม.ล.ทวีวัฒน์ สนิทวงศ์ สอนมวยสากล วัลลภ ธนะศิริ สอนมวยไทยและมวยสากล

ต่อมา ย้ายมาที่สี่แยกคอกวัว ต่อมาย้ายมาตั้งถาวรที่อาคารสามชั้น และดาดฟ้าของตึกเชิงสะพานนพวงศ์ ที่แห่งนี้มีการติดตั้งอุปกรณ์ตามแบบแผนที่ถูกต้องในปี 2473

เรือนร่างชายแบบ “Man must be manly man” โพยม บุญยศาสตร์ (ขวา) นักเขียนและนักเพาะกาย

นอกจาก เจือ ม.ล.ทวีวัฒน์ วัลลภ และอารีย์ สุพล สมาชิกแรกเริ่มก่อตั้งแล้ว ยังมีคณะกรรมการอีกหลายคน รวมทั้ง จรูญ สืบแสง ผู้ต่อมาเป็นสมาชิกคณะราษฎร ผู้เข้าปฏิวัติ 2475 ในเวลาต่อมาด้วย

ทำเลที่ตั้งใหม่ของสถานกายบริหาร (Physical Training Institute) เป็นย่านชุมชนใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นแหล่งชุมชนและใกล้โรงเรียนหลายแห่ง จึงมีนักเรียน และประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นมากทำให้ฟิตเนสแห่งนี้สามารถตั้งอยู่ได้

ฟิตเนสมีคำขวัญที่ปลุกเร้าจิตใจของเหล่าชายหนุ่มว่า “ผู้ชายต้องเป็นชายให้สมชาย” (“Man must be manly man”) อันสะท้อนว่า ค่านิยมใหม่ของชายฉกรรจ์ในครั้งนั้นปรารถนาเรือนร่างที่บึกบึนแข็งแรง อันบรรจบเข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบการเมืองใหม่ในเวลาต่อมาที่เห็นว่า ประชาชนคือชาติ และรัฐบาลใหม่มีนโยบายสร้างชาติขึ้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 นั่นเอง

จรูญ สืบแสง (ซ้าย) สมาชิกคณะราษฎร กรรมการผู้ร่วมก่อตั้งฟิตเนสกับเจือ (ขวา)