8 ปีมีดีตรงไหน เปลี่ยน ‘สีกากี’ เป็น ‘เทา’

เหยี่ยวถลาลม

 

8 ปีมีดีตรงไหน

เปลี่ยน ‘สีกากี’ เป็น ‘เทา’

 

“เขาเก่งตรงไหน” ทันทีที่คำถามนี้สวนออกมาจากปาก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี สปอตไลต์ก็ฉายวับไปยัง “เศรษฐา ทวีสิน” บิ๊กบอสของ “แสนสิริ” นักธุรกิจชั้นแนวหน้าแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ในฉับพลันทันที

“เศรษฐา” เป็นประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด ( มหาชน) เป็น 1 ในนักธุรกิจที่ทันสมัย หัวก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างสูงในปัจจุบัน

ทันทีที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะ “ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนจะชวนให้น่าหมั่นไส้สำหรับบางคน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณเศรษฐาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า

“6-7 ปีที่ผ่านมา ผู้นำของเราไม่ได้นำพาประเทศไปมีจุดยืนในเวทีโลกเลย ผมว่าผู้นำคนต่อไปต้องกล้าที่จะเดินออกไปสู่เวทีโลก”

คนที่หมั่นไส้ยิ่งอยากจะรู้นักว่า เศรษฐาเก่งตรงไหน

และในฐานะคนไม่คุ้นเคยกัน “ประยุทธ์” อาจถามด้วยความจริงใจก็ได้ว่า “จุดเด่น” หรือจุดแข็งของเศรษฐาคืออะไร

ใครล่ะจะตอบ

 

อย่างไรก็ดี ที่ผู้คนทั่วไปมองเห็นได้ไม่ยากข้อหนึ่งก็คือ จุดอ่อน!

ถ้าจะเป็นนักการเมือง “เศรษฐา ทวีสิน” มีจุดอ่อนตรงที่เป็นพลเรือนสามัญทั่วไป ไม่มีกองกำลังติดอาวุธหนุนหลัง จึงประกันได้ว่าไม่สามารถคุกคามหรือแย่งชิงอำนาจการเมืองจากใครได้

นักการเมืองในวิถีทางระบอบประชาธิปไตยจะต้อง “สร้างความนิยม” ให้สังคมมองเห็นและยอมรับว่า นำเสนอนโยบายที่จับต้องได้ ทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมอารยประเทศ

ที่ประยุทธ์กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่ธุรกิจของครอบครัวนั้นก็เป็นความจริงทีเดียว

แต่ก็ต้องจำกันเอาไว้ด้วยว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งโลกนั้น “การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ” ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลล้วนแต่เป็นไปโดยสันติ “ทหารกับกองทัพ” ไม่มีหน้าที่อันใดในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าแย่งยึดอำนาจรัฐ!

ประเทศไทยก็มีกฎหมายอาญา มาตรา 113 บัญญัติเอาไว้ว่า การล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ การล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการด้วยกำลังทหารและอาวุธเป็นความผิดฐานกบฏ โทษมหันต์ถึงขั้นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

สมมุติว่า ถ้าคนผู้หนึ่งเคยพัวพันกระทำความผิดมหันต์เช่นนั้น ยังจะมีหน้ามาเรียกร้องให้ผู้ใดเคารพกฎหมายอีกหรือ

คำกล่าวของ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ว่า “6-7 ปีที่ผ่านมา ผู้นำของเราไม่ได้นำพาประเทศไปมีจุดยืนในเวทีโลกเลย…” จึงสะท้อนความจริงของประเทศที่มากไปด้วยรัฐประหาร

 

รัฐประหารดีตรงไหน นายทหารที่ก่อรัฐประหารแต่ละคน แต่ละคณะเคยสร้างความเจริญอะไรให้กับประเทศบ้าง

เอาแค่เรื่องตำรวจ เมื่อไม่นานมานี้ไปได้ยินได้ฟังมาประโยคหนึ่งแล้วสะท้านใจ

“8 ปีปฏิรูปตำรวจ จากสีกากี เป็นสีเทา”!

แม้อาจจะเหน็บแนมเหมาเข่งแรงไป แต่ก็สะท้อนภาพความจริง

ตำรวจเปลี่ยนไปมาก หัวเกรียนแต่ไร้วินัย ยศสูงใช่ว่าจะวางใจได้ สร้างผลงานโชว์ให้เป็นข่าวแต่ตบทรัพย์ ที่หนักไปกว่านั้น จำนวนหนึ่งถึงขั้นก่อรูปเป็นองค์กรอาชญากรรมมีเครือข่ายโยงใยกว้างขวาง

ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 พวกลิ่วล้อรัฐประหารเคยชูธงปลุกระดมว่าต้องปฏิรูปตำรวจ หลังรัฐประหาร “ประยุทธ์” หัวหน้า คสช.ก็ประกาศปฏิรูปกิจการตำรวจ ออกคำสั่งนับไม่ถ้วน ทำท่าจะผ่าตัดจัดการกับตำรวจ พอรัฐธรรมนูญ 2560 เสร็จก็กำหนดเร่งรัดให้ปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี

แต่จนแล้วจนรอด รัฐบาลซึ่งมาจากการรัฐประหารที่ว่าแน่นั้น ในที่สุดก็ “เสร็จตำรวจ” ด้วยประโยชน์ต่างตอบแทน

วัฒนธรรมสอพลอเสนอตัวเป็นมือไม้หาผลประโยชน์ให้นายฝังรากลึกตั้งแต่ชั้นสถานีตำรวจขึ้นไปจนถึงชั้นไหนไม่ทราบ

ใครๆ ก็รู้ว่า หัวใจของปัญหา คือนายกับนักการเมือง

ตำรวจจึงกลายเป็นเพียง “เครื่องมือ” ชิ้นหนึ่งที่ผู้กุมอำนาจทางการเมืองใช้สำหรับหาผลประโยชน์ ใช้สกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม หรือไม่ก็อาศัย “มือ” ของตำรวจ เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเข้มข้นกับคนที่เห็นต่าง

คงยังจำกันได้แค่ “อยากเลือกตั้ง” แล้วชวนกันมาแสดงออกอย่างสงบยังถูกจับกุม

บทบาทของ “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรมของตำรวจฟอนเฟะ

สถานีตำรวจซึ่งควรเป็น “ที่พึ่งหวัง” ดับร้อนร้องทุกข์ของผู้คนในท้องที่ก็สูญเสีย “ความเชื่อมั่น”

ตำรวจซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไม่ได้รับการดูแลสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

 

อย่างไรก็ดี บัดนี้ “บรรยากาศทางการเมือง” กำลังจะเปลี่ยนไปสอดคล้องพ้องกันกับที่ตำรวจได้ “ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ” กลับคืนมา

วันที่ 15 มีนาคม ข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้กำกับการ (รอง ผบก.) ขึ้นไป ราว 13,000 นาย ได้มีโอกาสเลือก “อดีตผู้บังคับบัญชา” จาก 23 นายพล เพื่อเป็น “ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ” อีกครั้งหลังจากระบบนี้พังไปเกือบ 10 ปี

ตำรวจจะมี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภท (ก) 3 คน และประเภท (ข) 3 คน

“ก.ตร.” เป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและสร้างมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจให้อยู่ในร่องในรอยของระบบคุณธรรม กำกับดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจของแต่ละหน่วยให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและกฎ ก.ตร.

แม้ว่า “ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่ตำรวจเลือกตั้งกันเข้าไปจะมีสภาพเหมือน “น้ำน้อย” ที่อาจแพ้ไฟ เนื่องจาก “นายกรัฐมนตรี” นั่งเป็นประธาน ก.ตร. และ “ผบ.ตร.” นั่งเป็นรองประธาน แวดล้อมพร้อมพรักไปด้วยข้าราชการประจำ อาทิ เลขาธิการ ก.พ., เลขาธิการ ก.พ.ร., รอง ผบ.ตร. 1-5 เรียงตามลำดับอาวุโส และจเรตำรวจแห่งชาติ

แต่ “ก.ตร.” สายที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังสามารถเล่นบท “ก้างขวางคอ” ถ่วงดุลเพื่อรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพตำรวจและปกป้องระบบคุณธรรมได้

ขอให้ดวงตา “ก.ตร.” ได้มองเห็นธรรม

“ประยุทธ์” นั้นมีแต่เอาตัวรอด ตอนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เคยสัญญาว่า “ขอเวลาไม่นาน” มาถึงตอนนี้ติดอำนาจ “อยากจะไปต่อ” เป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้งหลังเลือกตั้ง 2566 ทั้งๆ ที่กว่า 8 ปีที่ผ่านมายังมองไม่เห็นเลยว่า “เก่งตรงไหน”

แค่กิจการตำรวจซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” ควบคุมกำกับดูแล เกือบ 1 ทศวรรษในยุค “ประยุทธ์” ตำรวจมีแต่เรื่องบอบช้ำและตกต่ำ!?!!