การเจรจา ‘ชุนโต’ ของสหภาพแรงงาน กระบวนการเจรจา ที่ได้พาญี่ปุ่นไปไกลกว่าเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by AFP / JIJI PRESS / AFP) / Japan OUT

เรามักได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการในอุตสาหกรรมยานยนต์

และพบว่ามักมีการปรับค่าจ้างและสวัสดิการในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น

เรามักสร้างข้อสรุปทั่วไปว่าเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรและผลประกอบการสูงจึงมีการขึ้นค่าจ้างและโบนัสได้ในอัตราที่ดี

แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเราก็จะพบว่า มีบริษัทมากมายในไทยที่มีกำไรมหาศาล

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในภาคเกษตร ขายปลีก ขายส่ง อสังหาฯ ที่มีกำไรมากมายแต่ดอกผลของความมั่งคั่งไม่ได้ตกสู่ผู้ใช้แรงงานอย่างสมน้ำสมเนื้อแต่อย่างใด

ดังนั้น หลักการสำคัญจึงไม่ได้เกี่ยวกับผลกำไรของแต่ละสถานประกอบการ

แต่เกิดขึ้นจากการที่องค์กรนั้นมี “สหภาพแรงงาน” หรือกระบวนการเรียกร้องจากชนชั้นแรงงานที่ทำให้ผลประโยชน์และกำไรกลับสู่คนธรรมดามากน้อยเพียงใด

และหนึ่งในกรณีศึกษาที่สำคัญของกระบวนการเรียกร้องที่น่าสนใจอันสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบค่าจ้างในประเทศญี่ปุ่น อันเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์

คือ “การเจรจาชุนโต” หรือข้อเรียกร้องแห่งฤดูใบไม้ผลิ ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเสมอภาคด้านรายได้ในญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 และต่อเนื่องถึงในปัจจุบัน

 

แม้ญี่ปุ่นจะถูกปกครองโดยพรรคเสรีนิยมอย่างยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาในการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจ

แต่ขบวนการแรงงานในญี่ปุ่นก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการวางเงื่อนไขในการวางระบบค่าจ้างและสวัสดิการให้มีความเป็นธรรมในระยะเวลาหลายสิบปี

การเจรจาชุนโตเป็นภาพสะท้อนความเป็นปึกแผ่นของขบวนการแรงงาน ก่อนที่จะถูกลดทอนความสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษที่ 21 และลดพลังให้เหลือเพียงการเจรจาภายในสถานประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 การเจรจาชุนโตถูกให้ความหมายมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากหลายอุตสาหกรรมด้วยเช่นเดียวกัน

หากเราย้อนดูว่าอะไรคือประเด็นสำคัญใน “การเจรจาชุนโต” ซึ่งหายไปจากการเรียกร้องในสังคมไทย ที่สะท้อนจิตสำนึกของชนชั้นแรงงาน ผมสามารถสรุปประเด็นหลักการพื้นฐานได้สามประการ

ดังนี้

1.เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ ไม่ใช่เรื่องของบริษัทใครบริษัทมัน โรงงานใครโรงงานมัน

แต่เป็นเรื่องของทุกสถานประกอบการ

เพราะหากโรงงานหนึ่งเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการสูงขึ้นเพียงลำพัง ผู้ประกอบการก็จะมีข้ออ้างว่าด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนที่สูงมากขึ้น

แต่หากการเรียกร้องเกิดขึ้นในวงกว้างย่อมทำให้การยอมรับเงื่อนไขการเพิ่มต้นทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากขึ้น

แต่นอกเหนือจากมิติของต้นทุน ยังสะท้อนมิติของความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน ที่ไม่ว่าคุณอยู่บริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก อยู่เมืองหลวงหรือพื้นที่ห่างไกลคุณก็ยังมีต้นทุนชีวิตที่ต้องจ่ายเหมือนกัน และคู่ควรกับชีวิตที่ดีเหมือนกัน

 

2. ข้อเรียกร้องไม่ได้วางอยู่บนผลประกอบการของบริษัท

แต่วางอยู่บนเงื่อนไขพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

จึงไม่เกี่ยวว่าบริษัทได้กำไรมากหรือกำไรน้อย ใกล้ล้มละลายหรือมั่งคั่ง

เราไม่ได้พูดถึงเงินเดือนฝ่ายบริหารที่มากมาย แต่กำลังพูดถึงชีวิตของคนธรรมดาที่ทำงานทุกวันให้แก่องค์กร

ดังนั้น ข้อเรียกร้องจึงไม่ได้เป็นเรื่องของ “แรงงานสัมพันธ์” แต่เป็นเรื่องของการทวงคืนชีวิต

ดังนั้น การเอามาตรวัดว่าด้วยประสิทธิภาพของพนักงานแต่ละคนในการได้รับรางวัลจึงไม่สำคัญเท่ากับเรื่องสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์แต่ละคนควรจะได้รับ

ไม่ว่าคุณจะขาด ลา มาสาย กี่ครั้ง ทำงานได้ดีถูกใจหัวหน้าหรือไม่ สร้างผลกำไรหรือไม่ ทุกคนพึงได้รับสวัสดิการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

 

3. ดังนั้น การเจรจาชุนโตช่วงแรกจึงไม่ได้มุ่งไปที่โบนัส หรือผลตอบแทนส่วนบุคคลที่ผูกติดกับกำไร

แต่มุ่งไปที่สวัสดิการพื้นฐาน

ไม่ว่าจะเป็นวันลา สิทธิการรักษาพยาบาล เงินชดเชย ค่าจ้างพื้นฐานที่รวมถึงการปรับฐานค่าจ้างแบบขั้นบันได

ที่เมื่อค่าจ้างขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นก็จะนำสู่การคำนวณผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานมาก่อนด้วยเช่นเดียวกัน

ทำให้ไม่เกิดการแตกแยกแบ่งแยกระหว่างแรงงานรุ่นใหม่กับแรงงานรุ่นก่อนที่ได้รับค่าจ้างเลยค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว

 

ข้อเรียกร้องของการเจรจาชุนโตจึงมีผลอย่างมากให้ระบบค่าจ้างในญี่ปุ่นไม่แตกต่างกันมากนักแม้ในยามที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

และเป็นภาพสะท้อนจิตสำนึกของชนชั้นแรงงานร่วมกัน

ในช่วงหลังเมื่อขบวนการแรงงานอ่อนแอ ฝั่งรัฐและนายจ้างมักจะพยายามทำให้ข้อเรียกร้องถูกลดเพดานลงโดยนำไปผูกติดกับผลประกอบการ และกำไรที่ผู้ใช้แรงงานสร้างให้แก่นายทุนได้

อันเป็นจุดเริ่มต้นต่อการเรียกร้องข้อเสนอว่าด้วยโบนัส ที่นับเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้จิตสำนึกทางชนชั้นอ่อนแอลง

และทำให้เรื่องแรงงานกลับไปเป็นเพียงแค่เรื่องภายในสถานประกอบการเท่านั้น

ในการเลือกตั้งที่จะมีในปี 2566 ผมเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายด้านแรงงานกันอย่างกว้างขวาง

แต่ปัญหาสำคัญที่เราได้เห็นบทเรียนในญี่ปุ่นคือเมื่อขบวนการแรงงานอ่อนแอและหวังพึ่งเพียงการเมืองในสภาย่อมทำให้ข้อเสนอต่างๆ ถูกลดเพดานได้โดยง่าย

แต่หากสามารถสร้างอำนาจต่อรองนอกสภา สามารถสร้างความสมานฉันท์ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน แรงงานรุ่นก่อนรุ่นใหม่ ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว