อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : บทกวีภาพ ศิลปะแห่งถ้อยคำเรืองแสง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่ผ่านๆ มาเรากล่าวถึงสิ่งธรรมดาสามัญที่คนไม่คิดว่ามันน่าจะเป็นศิลปะ แต่มันก็เป็นศิลปะไปได้ (ซะอย่างงั้น) มาหลายบทหลายตอนแล้ว

ในตอนนี้ขอกล่าวถึงสิ่งธรรมดาสามัญอีกอย่าง ที่ถูกนำมาทำให้เป็นศิลปะ

สิ่งนั้นก็คือ ตัวหนังสือถ้อยคำนั่นเอง

และศิลปินผู้ที่หยิบเอาสิ่งนี้มาทำให้เป็นศิลปะนั้นมีชื่อว่า

มัวริสซิโอ นานุชชี (Maurizio Nannucci)

ศิลปินร่วมสมัยชาวอิตาลี

เขาเป็นหนึ่งในศิลปินทดลองผู้เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยที่ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 60 เขาอุทิศตนให้กับการสำรวจความสัมพันธ์ในหลายแง่มุมระหว่างภาษา การเขียน และภาพ

เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง

และเป็นหัวหอกของเหล่าบรรดาศิลปินทดลองระดับนานาชาติในกระแสศิลปะคอนเซ็ปช่วล และกวีแบบ วรรณรูป*

เกิดในปี 1939 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี หลังจากจบการศึกษาจากสถาบัน Academy of Fine Arts ในฟลอเรนซ์และเบอร์ลิน นานุชชีก็เข้าคอร์สเรียนดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และออกมาทำงานกับคณะละครทดลอง ในฐานะนักออกแบบฉากละครอยู่หลายปี

ในระหว่างนั้นเองที่เขารวบรวมองค์ประกอบพื้นฐานที่จะกลายเป็นภาษาทางภาพของเขา ด้วยการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะ, ภาษา และภาพ เข้าด้วยกัน

และสร้างผลงานชุด Dattilogrammi ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำ, ตัวหนังสือ หรือตัวเลข ประกอบขึ้นเป็นรูปที่มีความหมายในเชิงภาพหรือสัญลักษณ์ มากกว่าความหมายตามตัวอักษรที่ทำจากเครื่องพิมพ์ดีด

ในช่วงเวลาเดียวกัน เขาก็ติดต่อกับศิลปินกลุ่ม Fluxus** และร่วมกันคิดค้นพัฒนาศิลปะแบบบทกวีภาพขึ้นมาร่วมกัน

รวมถึงร่วมงานกับสตูดิโอ “S 2F M” (Studio di Fonologia Musicale) แห่งฟลอเรนซ์ ผลิตดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งเน้นในการใช้เสียงและถ้อยคำ สร้างผลงานศิลปะจัดวางด้วยเสียงขึ้นมา

ในช่วงปี 1967 เขานำเสนอผลงานศิลปะชุด “ตัวหนังสือหลอดไฟนีออน” ขึ้นเป็นครั้งแรก

ผลงานชุดนี้เพิ่มมิติใหม่ๆ ให้กับความหมายของถ้อยคำ

รวมถึงการรับรู้ใหม่ๆ ของพื้นที่ และสร้างความรู้สึกอันน่าดึงดูดใจให้กับภาษาภาพของเขา ด้วยผลงานศิลปะจัดวางเปี่ยมแสงสีที่ทำจากหลอดไฟนีออนดัดเป็นตัวหนังสือ

นานุชชีสร้างภาพที่ประกอบด้วยถ้อยคำจากเส้นสายของวงจรไฟฟ้าที่ไหลเวียนเป็นสีสัน และสื่อออกมาเป็นสัญลักษณ์และความหมายในรูปแบบต่างๆ

ผลงานศิลปะด้วยเส้นสายเรืองแสงที่ทำจากหลอดไฟนีออนของนานุชชีชุดนี้ สร้างการรับรู้ทางภาพอันแหลมคมขึ้น และกระตุ้นให้ผู้ชมมองเห็นและตีความภาษาและบริบทของพื้นที่ในรูปแบบใหม่ๆ

นอกจากนั้น มันยังเน้นย้ำคุณสมบัติอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของการเขียน (ที่ประเดี๋ยวประด๋าวคนก็หลงลืมไปง่ายๆ)

และความไม่อยู่ยั้งยืนยงของวัตถุต่างๆ (เช่นหลอดไฟที่มีอายุการใช้งานแสนสั้น)

ในปี 1968 เขาก่อตั้งสำนักพิมพ์ Exempla และ Zona Archives Edizioni ขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์ ที่ตีพิมพ์หนังสือและสูจิบัตรของศิลปินอย่าง โซล เลวิตต์ (Sol Le Witt), จอห์น อาร์มแลดเดอร์ (John Armleder), เจมส์ ลี บาเยอร์ (James Lee Byars), โรเบิร์ต ฟิลลิว (Robert Filliou) และ เอียน แฮมิลตัน ฟินเลย์ (Ian Hamilton Finlay) รวมถึงศิลปินไทยอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช อีกด้วย

นานุชชีเชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์และการผลิตวัตถุซ้ำๆ เป็นจำนวนมากๆ นั้นเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากระบวนการทำงานศิลปะนั้นเป็นกระบวนการทางจิตใจอย่างหนึ่ง

ซึ่งสามารถเปรียบได้กับกระบวนการผลิต (จำนวนมาก) ของข้าวของในชีวิตประจำวัน ซึ่งนับเป็นการหลอมรวมเอาวิถีชีวิตอันธรรมดาสามัญเข้าไว้ด้วยกันกับศิลปะ

สิ่งนี้อาจทำให้ศิลปะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากแต่ก็ทำให้เกิดตัวตนและเสรีภาพใหม่ๆ ขึ้นมาได้

ในช่วงปี 1974 ถึง 1985 เขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งพื้นที่ทางศิลปะที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Zona ในฟลอเรนซ์ ที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมทางศิลปะมากกว่าสองร้อยครั้ง

ในปี 1981 เขาก่อตั้งสถานีวิทยุ Zona ที่เปิดพื้นที่ให้กับดนตรีทดลองและผลงานของศิลปินที่ใช้เสียงทำงานศิลปะ

และในปี 1998 เขาร่วมกับเพื่อนศิลปินก่อตั้ง Base / Progetti per l”arte พื้นที่ไม่แสวงหาผลกำไรสำหรับศิลปินขึ้นมาอีกแห่งด้วย

นานุชชีมักจะสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ ภาษา และภาพ แสง สี และพื้นที่ และสร้างสรรค์กรอบคิดและไอเดียใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการใช้สื่ออันแตกต่างหลากหลาย อย่าง ศิลปะจัดวางจากไฟนีออน, ภาพถ่าย, เสียง และสื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ

ผลงานศิลปะทดลองของเขามักจะมุ่งเน้นในการค้นคว้าด้วยวิทยาการอันหลากหลาย

ในช่วงปี 1990s นานุชชีเริ่มมีความสนใจใหม่ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรม และภูมิทัศน์ของเมือง ด้วยการร่วมงานกับเหล่าสถาปนิกอย่าง Auer & Weber, มาริโอ บอตตา (Mario Botta), มาสซิมิเลียโน ฟุกซาส (Massimiliano Fuksas), เรนโซ เปียโน (Renzo Piano), นิโคลาส กริมชอว์ (Nicolas Grimshaw) และ สตีเฟ่น บรานเฟลส์ (Stephan Braunfels)

ผลงานของเขาหลายชิ้นถูกติดตั้งอย่างถาวรในหอประชุมของศูนย์วัฒนธรรม Parco Della Musica และสนามบิน Fiumicino ในกรุงโรม และหอสมุดรัฐสภาเยอรมนี (Bibliothek des Deutschen Bundestages) ในกรุงเบอร์ลิน

เขาเคยร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ หลายครั้ง รวมถึงเข้าร่วมในมหกรรมศิลปะ Documenta และเข้าร่วมในเบียนนาเล่ที่เมืองเซาเปาโล, ซิดนีย์, อิสตันบูล และวาเลนเซีย

ผลงานของเขาถูกสะสมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA), พิพิธภัณฑ์ Stedelijk ที่อัมสเตอร์ดัม และศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ จอร์จ ปอมปิดู ในปารีส เป็นอาทิ

และเคยจัดแสดงนิทรรศการศิลปะในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์มากกว่าสามร้อยแห่ง

ปัจจุบัน เมาริสซิโอ นานุชชี ในอายุ 78 ปี อาศัยและทำงานอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี และเมืองเซาธ์บาเดน เยอรมนี

เขาเพิ่งแสดงนิทรรศการศิลปะไปเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมานี้เอง

แบบนี้สินะ ที่เขาเรียกว่า ถึงจะแก่ แต่ก็ยัง “มีไฟอยู่” “ตามตัวอักษร” เลยจริงๆ อะไรจริงนะเนี่ย!

*วรรณรูป (Concrete Poetry) หรือบางครั้งเรียกว่าบทกวีภาพ คือรูปแบบที่ผสมผสานงานทัศนศิลป์ (ภาพ) เข้ากับวรรณศิลป์ (ภาษา) ที่สื่อสารความหมายจากทั้งภาพและความหมายจากตัวหนังสือไปพร้อมๆ กัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบกันของตัวหนังสือจนกลายเป็นภาพที่ให้ความหมายที่เชื่อมโยงกับตัวหนังสือ หรือเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา รูปแบบของวรรณรูปที่คนไทยเรารู้จักกันดีก็คือผลงาน “อย่าเห็นแก่ตัว” ที่เป็นตัวอักษรไทยประกอบขึ้นเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินวรรณรูปชาวไทยผู้มีนามปากกาว่า ทยาลุ หรือในชื่อจริงว่า เจริญ กุลสุวรรณ หรือที่พบเห็นในผลงานบทกวีรูปธรรมของจ่าง แซ่ตั้ง นั่นเอง

**Fluxus กระแสเคลื่อนไหวศิลปะและเครือข่ายศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์กในช่วงยุค 60s ที่มีแนวคิดในการต่อต้าน (ค่านิยมเดิมๆ ของ) ศิลปะ (anti-art) และผสมผสานสื่อและวิธีการถ่ายทอดทางศิลปะอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน