สงครามเข้าปีที่ 2 : ย้อนสาเหตุวิกฤตยูเครนโยงรัสเซีย | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น
(Photo by Stefani Reynolds / AFP)

ก่อนจะเกิดวิกฤตในความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย มีวิวัฒนาการที่โยงใยกับการเมืองของทั้งสองประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

หากเรียงลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปไม่นานนัก ก่อนที่โวโลดิมีร์ เซเลนสกี จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดียูเครน ก็จะเห็นร่องรอยของความปริแยกระหว่างสองประเทศนี้

ที่นำมาสู่สงครามที่หนักหน่วงรุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2013 ประธานาธิบดียูเครนขณะนั้น Viktor Yanukovych ตัดสินใจยกเลิกร่างข้อตกลงกับ EU ว่าด้วยการเริ่มต้นกระบวนการให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปตะวันตก หรือที่เรียกว่า Association Agreement (AA)

การเจรจาเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2007

ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2012 มีการลงชื่อย่อของแต่ละฝ่าย (initial) แต่ไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ (sign) เท่ากับว่ายังไม่ใช่ข้อตกลงที่เป็นทางการ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายทางการเมือง

เพราะ AA ไม่ใช่เป็นเพียงเอกสารธรรมดา แต่สำหรับคนยูเครนจำนวนไม่น้อย มันคือก้าวย่างที่สำคัญในการที่จะขยับไปเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป

นั่นคือการถอยห่างออกจากอิทธิพลของรัสเซีย

(ยูเครนประกาศเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตวันที่ 24 สิงหาคมปี 1991)

อย่างน้อยก็เป็นความหวังของคนยูเครนในภาคกลางและตะวันตก

แต่คนยูเครนทางตะวันออกและภาคใต้มีแนวโน้มจะยังผูกติดอยู่กับรัสเซีย

ไม่นานหลังจาก Yanukovych ประกาศยกเลิกร่างข้อตกลง AA ประชาชนที่คัดค้านออกมาชุมนุมกันกลางถนนต่อต้านการตัดสินใจของผู้นำ

ประธานาธิบดีผู้ได้รับการสนับสนุนจากมอสโกตัดสินใจส่งตำรวจปราบจลาจลออกปราบปรามผู้ประท้วง

การเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับผู้ต่อต้านกลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรง

พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2014 เมื่อเห็นท่าไม่ดี Yanukovych ก็หาทางลงด้วยการยอมถอย

ตัวแทนของ EU มาช่วยในการไกล่เกลี่ย

วันที่ 21 เดือนเดียวกัน ประธานาธิบดียอมลงนามร่วมกับผู้นำฝ่ายประท้วงเพื่อตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ภายใน 10 วัน

อีกทั้งยังยอมให้มีลดทอนอำนาจของประธานาธิบดีและรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญปี 2004 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิม ภายใต้กฎกติกาใหม่…โดยให้เกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนั้น

ผู้นำสหรัฐและยุโรปแสดงความชื่นชมกับการประนีประนอม

รัสเซียก็ออกแถลงการณ์เห็นพ้องกับการพบกันครึ่งทางระหว่างสองฝ่าย

แต่การชุมนุมกลางถนนไม่แผ่วลง ตรงกันข้ามกลุ่มผู้นำประท้วงบางฝ่ายไม่ยอมเห็นพ้องกับข้อตกลง

เพราะกลุ่มนี้มีเงื่อนไขประการเดียว นั่นคือ Yanukovych ต้องลงจากตำแหน่งเท่านั้น

วิกฤตอีกด้านหนึ่งสำหรับเขาคือการที่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาลงมติขับไล่เขาไปพร้อมกัน

รัฐสภาของยูเครนเรียกว่า Verkhovna Rada

วันต่อมา คือ 22 กุมภาพันธ์ 2014 เขาก็เผ่นออกนอกประเทศ

 

แต่การหลบหนีของ Yanukovych ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ผ่อนเบาลง

ขณะที่ผู้ประท้วงถือว่าการขับไล่ผู้นำยูเครนเป็นการปฏิวัติเพื่อโค่นรัฐบาลเผด็จการที่โกงกินอย่างมหาศาล

แต่รัสเซียประกาศว่า

นั่นคือ “รัฐประหารที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ” ต่อผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน

ประเทศตะวันตกและกลุ่มผู้ประท้วงเรียกมันว่า Revolution

รัสเซียเรียกปรากฏการณ์นี้เป็น Coup

สถานการณ์เสื่อมทรุดต่อไปอีก

 

พอ Yanukovych หลบหนีออกนอกประเทศ ผู้นำของ Crimea ซึ่งเป็นคาบสมุทรทางใต้ของยูเครนบนทะเลดำ (Black Sea) ก็เริ่มเคลื่อนไหวที่จะแยกตัวออก

ไครเมียเป็นจังหวัดเดียวของยูเครนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย

ก้าวแรกของการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวออกจากยูเครนของไครเมียคือการประกาศจัดให้มีการลง “ประชามติ” วันที่ 16 มีนาคม

เป็นการขยับตัวที่รัฐบาลกลางที่กรุงเคียฟประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ

โดยอ้างมาตรา 73 ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อดินแดนของยูเครนจะกระทำได้ต้องผ่านการทำประชามติทั่วประเทศยูเครนเท่านั้น

และมาตรา 72 กำหนดว่ารัฐสภาและประธานาธิบดีเท่านั้นที่จะริเริ่มให้มีการทำประชามติในประเด็นนี้

โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าก่อนจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องมีการลงชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน

โดยที่ต้องมีอย่างน้อย 100,000 ลายเซ็นจากแต่ละจังหวัดของยูเครน

และต้องมีเสียงส่วนใหญ่อย่างน้อยสองในสามที่เห็นด้วยกับการทำประชามติ

การทำประชามติของไครเมียในกรณีนี้ (ภายใต้บรรยากาศที่มีกองกำลังทหารพรานและทหารรัสเซียลาดตระเวนอยู่บนท้องถนน) ไม่เข้าเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ

ยิ่งกว่านั้นการทำประชามติของไครเมียครั้งนั้นเป็นการจัดของกลุ่มนักการเมืองที่ได้ชื่อว่าสนับสนุนรัสเซีย และเพิ่งจะยึดอำนาจในจังหวัดนี้ด้วยกำลัง

โดยที่พรรคการเมืองพรรคนี้ที่ชื่อ Russia Unity ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งของรัฐสภาท้องถิ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2010 เพียง 4% เท่านั้น

 

จากนั้นไม่นาน ทหารรัสเซียที่ถูกส่งมาก่อนหน้านั้นและที่เพิ่งเข้ามาเสริมกำลังก็เริ่มวางกำลังรอบๆ คาบสมุทรไครเมียและยึดที่ทำการหลายแห่ง

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายนั้น การทำประชามติก็เดินหน้าต่อ

ภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น รัสเซียก็ประกาศผนวกไครเมียเป็นของตนด้วยการเผยแพร่เอกสารที่เรียกว่า “สนธิสัญญาแห่งการเข้ายึดครอง”

ภาษาการทูตเรียกว่า Treaty of Access หรือ “สนธิสัญญาภาคยานุวัติ”

คำว่า “ภาคยานุวัติ” หมายถึง การที่รัฐหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคีที่เข้าร่วมเจรจา และลงนามในสนธิสัญญาตั้งแต่แรก ได้ดำเนินการให้ความยินยอมเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาและผูกพันตามสนธิสัญญาที่รัฐอื่นๆ ได้ทำการวินิจฉัยตกลงก่อนแล้วและสนธิสัญญานั้นได้มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว

ภาษาชาวบ้านคงหมายถึงการเข้า “ผนวก” ดินแดนส่วนหนึ่งมาเป็นของตน

หลังจากเหตุการณ์ที่ไครเมียก็เกิด “ปฏิกิริยาลูกโซ่” ตามมา

นั่นคือ กองกำลังติดอาวุธในสองแคว้นทางตะวันออก Donetsk และ Luhansk (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค Donbas) เข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง พร้อมประกาศแยกตัวเป็น “สาธารณรัฐ”

และประกาศจะทำ “ประชามติ” เหมือนที่ไครเมีย

โดยที่รู้กันล่วงหน้าว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเช่นเดียวกัน

เห็นได้ชัดว่าในยามนั้น ยูเครนกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ

สื่อทางการรัสเซียเริ่มรณรงค์ออกข่าวต่อเนื่องเพื่อให้เกิดภาพว่ารัฐบาลกลางที่กรุงเคียฟมีส่วนเชื่อมโยงกับ “กลุ่มขวาจัด” และ “กลุ่มสนับสนุนนาซี” แห่งยุคสมัยย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ 1940

การโหมออกข่าวเช่นนั้นมีผลทำให้เกิดกระแสความกลัวต่อคนที่พูดภาษารัสเซียและประชากรที่มีเชื้อสายรัสเซียในภูมิภาค Donbas

ทันใดนั้นก็เกิดข่าวลือทันทีว่ารัสเซียกำลังจะส่งทหารเข้ามารุกรานยูเครนเพื่อสนับสนุนกลุ่มขบถที่ต้องการแยกตัวออกจากยูเครน

เรื่องราวทั้งหมดนี้ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งภาวะฉุกเฉินที่นำไปสู่วิกฤตของจริง

รัฐบาลยูเครนใหม่ประกาศนโยบาย “ต่อต้านการก่อการร้าย” ในเดือนเมษายนปีนั้น

 

ไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น สงครามก็ระเบิดขึ้นระหว่างทหารยูเครน, หน่วยกำลังพิเศษ (National Guard) และทหารอาสาสมัครทั้งหลายก็เปิดศึกกับกลุ่มติดอาวุธที่ประกาศแยกตัวทางตะวันออกของประเทศ

ความรุนแรงเพิ่มระดับขึ้นอย่างหนักโดยเฉพาะหลังจากการทำประชามติให้มีการแยกตัวของสองแคว้นทางตะวันออกเพื่อเป็นอิสระจากรัฐบาลยูเครน

ตามมาด้วยกระแสความวิตกว่ารัสเซียจะส่งทหารเข้ามาสนับสนุนกลุ่มขบถติดอาวุธเหล่านี้

เพราะได้รับการยืนยันว่ามอสโกได้สั่งให้มีการระดมทหารตลอดแนวชายแดนติดกับยูเครนและมีการซ้อมรบในบริเวณนั้น

แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะประกาศขอให้มีการเลื่อนการทำประชามติใน Donbas ออกไปก่อน

และรัสเซียก็ยังไม่ได้ประกาศรับรองสถานะของ “สาธารณรัฐ” Donetsk และ Luhansk ในขณะนั้น

ประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย เช่น Estonia, Latvia และ Lithuania ซึ่งเป็นสมาชิกสนธิสัญญา NATO ก็เกิดอาการหวั่นไหวทันที

ทั้งสามประเทศได้เรียกร้องให้พันธมิตรของตนแสดงการสนับสนุนตน รวมถึงการส่งทหารมาช่วยปกป้องตนเอง

คำถามเกิดทันทีว่า : รัสเซียจะทำอย่างไรหากนาโตทำตามที่ประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียร้องขอ

รัสเซียชี้นิ้วทันทีว่านาโตกำลังทำตัวเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงของรัสเซีย

ภาวะการเผชิญหน้าระหว่างนาโตกับรัสเซียที่คุกรุ่นมาตลอดก็ระเบิดขึ้นทันที

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024