ราฆเวนทรสวามี : ความรู้ที่ถูกต้องยิ่งใหญ่กว่าปาฏิหาริย์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“พระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าลุกตื่นขึ้นในเวลาเช้า ก็เฝ้าระลึกถึงและทำสมาธิจดจ่อต่อพระองค์ ขอให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งต่างๆ ในวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ด้วยศักยภาพและเป้าหมายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอน้อมถวายสิ่งเหล่านี้แด่พระองค์เป็นนิตย์ไม่ว่าจะในกาลเทศะและสถานการณ์ใด แลข้าพเจ้าย่อมส่งเสริมให้ครอบครัว ศิษย์หาและบริวารกระทำเช่นนั้นด้วยเสมอ”

ปราตัสสังกัลปะคัทยัมของราฆเวนทรสวามี

 

ปีคริสต์ศักราช 1595 ฑิมมันนะ ภัฏฏะ และโคปิกามพา ให้กำเนิดบุตรชายหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู ครอบครัวพราหมณ์ผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ทางดนตรีและศิลปวิทยาจำต้องย้ายจากเมืองภูวนคิริ (Bhuvanagiri) ใกล้กับจิตัมพะรัม ทมิฬนาฑุไปสู่กาญจีปุรัมหลังการล่มสลายแห่งอาณาจักรวิชัยนคร

บุตรคนนี้ได้นามว่า “เวงกฏนาถ” หรือ “เวงกัณณะ ภัฏฏะ” ซึ่งมาจากพระนาม “ศรีเวงกเฏศวร” พระวิษณุอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาติรุมาลา เชื่อกันว่าด้วยพรของพระองค์ เขาจึงได้มาเกิดในครอบครัวนี้อย่างพรั่งพร้อมสมบูรณ์

เวงกฏนาถมีความเฉลียวฉลาดสมกับเป็นลูกหลานของตระกูลบัณฑิตสำคัญ จะเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานได้อย่างรวดเร็ว กระนั้นความปรารถนาในสรรพวิทยาของเขาก็ไม่เคยลดน้อยถอยลง ราวกับมหาสมุทรที่พร้อมรองรับกระแสธารจากทุกสารทิศ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องเดินทางจากกาญจีปุรัมไปศึกษายังมทุไร ภายใต้การดูแลของพี่เขยยามเมื่อบิดาสิ้นชีวิตลง

 

ไม่นานนักหลังกลับจากมทุไร เวงกฏนาถก็ได้แต่งงานกับสรัสวตีผู้มาจากครอบครัวชนชั้นสูง แต่ด้วยความสนใจใคร่ศึกษาอันเป็นอุปนิสัยสันดาน การแต่งงานจึงไม่ได้ทำให้เขาเลิกล้มวิถีชีวิตของนักเรียนแต่อย่างใด

ในช่วงเวลานั้น กุมภโกนัม (Kunbhakonam) เป็นศูนย์รวมของปราชญ์ในแดนดินทักษิณาบถ เวงกฏนาถและภรรยาจึงเดินทางไปยังที่นั่น เขาใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ศิลปวิทยาต่างๆ ที่สำคัญคือการศึกษาปรัชญา “ทไวตเวทานตะ” ของมาธวาจารย์ผู้มีชื่อเสียงจากสวามีสุธีนทระ ตีรถะ จนเวงกฏนาถยอมรับนับถือระบบปรัชญานี้หมดทั้งหัวใจ

เด็กหนุ่มจากกาญจีปุรัมเริ่มมีชื่อเสียงจากการโต้คารมตามขนบนิยมของปราชญ์ในสมัยนั้น จนในที่สุด เขาสามารถเอาชนะเวงกเฏศวร ทีกษิต นักปราชญ์ใหญ่แห่งมทุไร กระนั้นชีวิตของเวงกฏนาถและภรรยาก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

เขายังคงศึกษาหาความรู้ ใช้เวลาไปกับการภาวนาและสวดบทสรรเสริญ มากกว่าความสนใจในเกียรติยศและทรัพย์สินทางโลก

 

ปาฏิหาริย์แรกๆ ในชีวิตของเวงกฏนาถเริ่มขึ้นที่เมืองมทุไรนี่เอง เจ้าของบ้านที่เขาพักอาศัยต้องการให้เขาทำงานบ้านบ้างเพื่อแลกกับอาหาร เขาจึงไปฝนไม้จันทน์หอมเพื่อใช้ในการไล้ทาร่างกายของเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน

ทว่า เมื่อเจ้าบ้านผู้นั้นนำไม้จันทน์ซึ่งโดยปกติให้ความชุ่มเย็นไปไล้ทาตัว ก็เกิดปวดแสบปวดร้อนราวกับถูกไฟลวกทั้งที่มิได้มีสิ่งใดแปลกปลอมผสมอยู่

เวงกฏนาถเพียงแต่สวดพระเวทถึง “พระอัคนี” หรือเทพแห่งไฟในขณะที่เขากำลังฝนไม้จันทน์ เขาคงไม่ได้คิดอะไรนอกจากเพียงอยากทบทวนบทสวดเท่านั้น แต่พลานุภาพแห่งจิตและพระอัคนีจึงทำให้ไม้จันทน์แผ่ความร้อนได้ถึงเพียงนี้

แม้จะมีปาฏิหารย์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเวงกฏนาถอยู่บ่อยครั้ง แต่เพราะไม่ได้จงใจจะใช้เพื่อความสุขสบายของตน อีกทั้งความตั้งใจที่จะสอนความรู้แก่ศิษย์แบบให้เปล่า ทำให้ครอบครัวซึ่งประกอบด้วยตัวเขา ภรรยาและบุตร “ลักษมีนารายณ์”ต้องพบกับความลำบากยากจนเสมอ

ภรรยาจึงขอให้ท่านไปอยู่ในการดูแลของคุรุสุธีนทระ ตีรถะอีกครั้ง

ท่านคุรุได้จัดเตรียมบ้านพักและอาหารการกินอย่างดีให้ แต่ที่จริงแล้ว ในใจปรารถนาจะให้เวงกฏนาถออกบวชเป็นสันยาสี เพื่อจะสืบทอดตำแหน่ง “ปีฐาธิปติ” หรือเจ้าสำนักรุ่นต่อไป

เวลาผ่านไปไม่นาน สุธีนทระสวามีได้เอ่ยปากบอกความประสงค์ต่อเวงกฏนาถ เขารีบปฏิเสธโดยบอกกับคุรุว่าตนเองยังหนุ่มแน่น ภรรยาและบุตรก็อายุน้อย ตัวเขาจะทิ้งครอบครัวไปอย่างไรได้

ไม่นานนัก พระวิษณุเป็นเจ้าได้มาเข้าฝันบอกให้เวงกฏนาถรับภาระแห่งมัฐหรืออารามต่อไป อันจะยังประโยชน์แก่ผู้คนอีกมาก ท่านจึงตัดสินใจที่จะบวชสันยาสีตามความประสงค์ของคุรุ

ภรรยาของท่านตกใจมากกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความปรารถนาของสามีได้

 

ในวันที่เวงกฏนาถออกบวช สรัสวตีประสงค์จะเห็นหน้าสามีเป็นครั้งสุดท้าย เธอรีบวิ่งออกไปจากบ้านสู่อาราม ทว่า ไม่พบสามีที่ตนรัก ว่ากันว่าเธอจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยโดดลงบ่อน้ำ การฆ่าตัวตายอันเกิดจากความรู้สึกบางอย่างไม่ว่าจากความโศกเศร้าหรือไม่ประสงค์จะเป็นภาระแห่งใจของสามีก็ตาม

เพราะเธอฆ่าตัวตายโดยมีสิ่งติดค้างอยู่ เธอจึงกลายเป็นวิญญานที่ไม่ได้ไปสู่ภพภูมิใหม่ ผีของสรัสวตีไปปรากฏต่อหน้าเวงกฏนาถ ซึ่งบัดนี้คือ “ราฆเวนทระ ตีรถะ” (Raghavendra Tirtha) สันยาสีหนุ่ม อันเรียกกันด้วยความเคารพในภายหลังว่า ราฆเวนทระสวามี

ท่านรู้สึกเห็นใจดวงวิญญาณของภรรยา จึงไม่ได้ขับไล่เธอและยังได้ประพรมน้ำจากหม้อกมัณฑลุ บริขารของท่านพร้อมสวดภาวนาให้ วิญญาณของสรัสวตีจึงหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่บรมคติในที่สุด

ในภายหลัง ราฆเวนทระมักขอให้บรรดาศิษย์บริจาคเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแด่หญิงชราที่ยากจน เพื่อเป็นการระลึกถึงภรรยาและเป็นเกียรติแก่เธอสืบไป

 

หลังได้รับตำแหน่งปีฐาธิปติแห่งอารามกุมภโกนัม สำนักสาขาของมาธวาจารย์ในปี ค.ศ.1624 ราฆเวนทระเดินทางท่องไปตามแบบอย่างสันยาสีทั่วทั้งอินเดียภาคใต้และตะวันตก เช่น ราเมศวรัม, ศรีรังคัม เรื่อยไปจนถึงปัณฑรปุระ แล้วกลับมาพำนักในกุมภโกนัมอยู่ชั่วระยะหนึ่ง

สุดท้ายท่านย้ายไปอยู่ที่มันตราลยัม (Mantralayam) หรือมนตราลัย แถบถิ่นกรรณาฏกะ ใช้ชีวิตในอารามริมแม่น้ำตุงคภัทระอันงดงามจวบจนสิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1671

ราฆเวนทระสวามีมีผลงานถึงสี่สิบกว่าชิ้น ทั้งงานวิชาการ เช่นภาสยะหรืออรรถาธิบายพรหมสูตรในชื่อ ตันตระทีปิกา งานอรรถาธิบายอุปนิษัท ฤคเวท และงานนิพนธ์อื่นๆ

อันที่จริง ปรัชญาของราฆเวนทระสวามีมิได้แตกต่างจากมาธวาจารย์เลย ท่านเคารพมาธวาจารย์อย่างเต็มที่แม้มิเคยพบกันเพราะมาธวาจารย์เกิดก่อนหลายร้อยปี กระนั้น นักปรัชญายกย่องว่าราฆเวนทระช่วยทำให้ปรัชญาของมาธวาจารย์เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นด้วยภาษาที่ง่ายและไม่ซับซ้อน

อีกทั้งความเมตตา ความเรียบง่ายจริงใจ และการที่ท่านสงเคราะห์คนทุกชนชั้นวรรณะ ทำให้ราฆเวนทระเป็นที่เคารพอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ท่านสอนว่า “การทำงานสังคมเพื่อประโยชน์แก่พหุชนนั้น ควรถือว่าเป็นการรับใช้พระเป็นเจ้า”

ท่านสอนให้ผู้คนระมัดระวังเรื่องปาฏิหาริย์ ดังท่านกล่าวไว้ประโยคหนึ่งก่อนจะเข้าสู่ ชีวันสมาธิ (เข้าที่บรรจุร่างในขณะที่ยังมีชีวิต) ว่า “พึงอยู่ให้ห่างไกลจากผู้แสดงปาฏิหาริย์แต่เพียงอย่างเดียว” หมายถึงผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์โดยไม่ได้ช่วยให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า หรือแสดงปาฏิหาริย์เพื่อผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม

กระนั้น ผู้คนยังกล่าวถึงปาฏิหาริย์จากความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจวบจนปัจจุบัน สาวกนับแสนนับล้านต่างพากันไปสักการะ “พฤนทาวัน” หรือที่บรรจุร่างของท่านในมนตราลยัมทุกๆ ปี

 

ปาฏิหาริย์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเกิดขึ้นหลังจากท่านสิ้นชีพไปแล้วกว่าร้อยสามสิบปี และเกิดขึ้นกับคนต่างชาติต่างศาสนา ในราวปี ค.ศ.1800

เซอร์โธมัส มันโร (Sir Thomas Munroe) แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ผู้เข้ามามัทราสภายหลังสุลต่านติปูสิ้นชีวิต

ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษในมัทราสต้องการให้มีการจัดเก็บผลประโยชน์จากการครอบครองที่ดินในกรรณาฏกะ เพื่อแสดงถึงอำนาจของอังกฤษที่มีต่อคนท้องถิ่น แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดเก็บผลประโยชน์จากที่ดินของอารามราฆเวนทระที่มันตราลยัมได้ จึงให้เซอร์โทมัสไปตรวจสอบด้วยตนเอง

โธมัสเดินทางไปยังอารามของราฆเวนทระสวามี มีบันทึกว่าเขาถอดรองเท้าและหมวกด้วยความเคารพ และเมื่อไปถึงพฤนทาวันของท่านราฆเวนทระ โธมัสก็นั่งลงและพูดคนเดียวราวกับสนทนากับใครอยู่ โดยมีประจักษ์พยานคือบรรดาพราหมณ์ในที่นั่น

จากนั้น เขาก็ยกเลิกการเก็บรายได้จากที่ดินของอารามราฆเวนทระสวามี ว่ากันว่าเซอร์โธมัสมองเห็นท่านสวามีออกมาจากหลุมฝังศพท่านและสนทนาด้วยในภาษาอังกฤษ!

เรื่องนี้มีบันทึกอยู่ในราชกิจจานุเบกษาของมัทราสอย่างเป็นทางการอีกด้วย

ถึงจะดูน่าตื่นตาตื่นใจเพียงไร แต่เราคงต้องจบด้วยบทสรุปอันมาจากคำสอนสุดท้ายของราฆเวนทรสวามีเองว่า

“ความรู้ที่ถูกต้องยิ่งใหญ่กว่าปาฏิหาริย์”

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง