หลังเลนส์ในดงลึก : “26 ปี”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

มีเรื่องหนึ่งซึ่งผมเล่าให้คนคุ้นเคยฟังบ่อยๆ ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2533 ขณะผมกำลังจัดของเพื่อเดินทางไปป่าทามันเนการ่า และเดินเขาคินาบาลู ในประเทศมาเลเซีย เช้ามืดวันรุ่งขึ้น

กลางดึกมีผู้ชายคนหนึ่งโทรศัพท์มาหา หลังจากพูดคุยเรื่องอื่นๆ สักพัก เขาบอกผมว่าเรื่องที่นัดกันว่าจะไปเฝ้าถ่ายรูปนกเป็ดก่าด้วยกันนั้นเขาขอยกเลิก ช่วงเวลานั้นเราไม่พบเห็นนกเป็ดก่ามาร่วม 20 ปี ผมมีโอกาสพบนกเป็ดก่าขณะพาลูกเล็กๆ ว่ายน้ำอยู่ในบึงเล็กๆ กลางป่าภูเขียว นั่นคือข่าวดี

“แต่พี่ได้มอบหมายให้เพื่อนช่วยทำเรื่องนี้ต่อแล้ว” เขาบอก เขาอวยพรให้ผมโชคดี พบสิ่งที่ตามหา เราจบการสนทนาเพียงแค่นั้น

ผมใช้เวลาร่วมเดือนในป่าทามันเนการ่า และการเดินเขาสู่ยอดคินาบาลู กลับถึงบ้านจึงรู้ข่าว มี “ผู้ชาย” คนหนึ่งจากไป

ผู้ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร ครั้งสุดท้ายที่เราพูดคุยกันคือเรื่อง นกเป็ดก่า

เวลาผ่านไป 26 ปี หลายปีผ่านมาแล้ว เมื่อถึงช่วงวันที่ 1 กันยายน ผมจะเขียนถึงผู้ชายคนนี้

พ.ศ.2524

ผมเริ่มดูนกอย่างจริงจัง นอกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มชมนกกรุงเทพ ซึ่งพัฒนามาเป็นชมรมดูนก จนกระทั่งเป็นสมาคมดูนกในทุกวันนี้

ผมยังเป็นสมาชิกชมรมนิยมธรรมชาติ และที่นี่ผมมีโอกาสได้รู้จักคุ้นเคยกับพี่ๆ “ป่าไม้” หลายคน อย่างพี่ท้วม สุรชัย ท้วมสมบูรณ์ พี่นพ นพรัตน์ นาคสถิตย์ พี่วีรวัถน์ หัวหน้าเขตทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้ง พี่สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ พวกพี่ๆ เข้ามาเป็นกรรมการชมรม ได้เดินตามพี่ๆ เหล่านี้เข้าป่ารวมทั้งฟังพวกเขาพูดคุยคือหนึ่งในโอกาสดีๆ ของชีวิต

เมื่อผมเริ่มต้นถ่ายรูปนกน้ำตามแหล่งชุ่มน้ำต่างๆ คือ “แบบฝึกหัด” นอกจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด อีกแห่งที่ผมไป “ฝังตัว” อยู่เป็นประจำคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ

ได้ช่วยงานและตามพี่สืบ ที่กำลังทำวิจัยเรื่องการทำรังวางไข่ของนกน้ำ

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นว่า เวลาคนคนหนึ่งอยากได้รูปนกและทำความรู้จักพวกมัน เขาต้องนั่งเงียบๆ อยู่ในซุ้มบังไพรทั้งวัน

พ.ศ.2528

พี่สืบไปทำงานเรื่องกวางผา ร่วมกับ ดร.แซนโดร โรวาลี บนดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

นี่เป็นงานอัน “จุดประกาย” ให้ผมตั้งใจและฝันว่าจะไปตามหากวางผาบนดอยม่อนจองบ้าง

พี่สืบและคณะพบกวางผาจำนวนหนึ่ง เป็นข่าวดีของวงการธรรมชาติ เพราะหลังจากถิ่นอาศัยเดิมของมันกลายเป็นแอ่งน้ำกว้างมหาศาล เพราะการสร้างเขื่อนพวกมันได้รับการคาดว่าจะเหลือเพียงจำนวนน้อยมาก

การสำรวจของคณะพี่สืบได้ผลดี แต่เกิดความสูญเสียเพื่อนร่วมทางที่เป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านมูเซอ พลัดตกลงจากสันดอยขณะหลบหนีไฟซึ่งลุกไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลายปีต่อมาผมทำตามความตั้งใจ เฝ้าติดตามกวางผาบนดอยม่อนจอง จะปุ๊ เพื่อนชาวมูเซอผู้รับหน้าที่เป็นลูกหาบและคนนำทางให้คณะพี่สืบ ชี้ “ร่องรอย” และเล่าให้ฟังตลอดเวลาว่า พี่สืบเคยมาตรงนี้ “สันดอยตรงนี้แหละที่ไฟไหม้และหัวหน้าคำนึงตกลงไป” จะปุ๊ ชี้ให้ดู

ท่ามกลางอากาศเย็นยะเยือก สันดอยทอดตัวยาว แสงแดดยามเย็นสาดส่องทุ่งหญ้าที่อยู่ลดหลั่นไปตามสันดอยเป็นสีทอง

ผมนึกถึงคณะทำงานของพี่สืบ ดูเหมือนคนผู้ทำงานมุ่งมั่นเพื่อสัตว์ป่า บางครั้งต้องเอาชีวิตตนเองเข้าแลก

พ.ศ.2529

ภาพผู้ชายสวมแว่นตาหนา เสื้อสีกากีเปียกโชก นั่งกอดเข่าก้มหน้าด้วยท่าทางเศร้าหมอง น้ำตาไหลซึม นี่คือภาพที่เผยแพร่ในรายการสารคดีโทรทัศน์ “ส่องโลก”

โจ๋ย บางจาก ผู้ผลิตรายการและเพื่อนๆ ติดตามคณะของพี่สืบ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน รายการส่องโลก เผยแพร่ภารกิจนี้ ภาพเผยให้เห็นสภาพของเหล่าสัตว์ป่าซึ่งหมดหนทางไปส่วนหนึ่งไปติดอยู่บนที่ดอนเล็กๆ ที่อยู่อาศัยของพวกมันโดนน้ำท่วม พี่สืบเขียนรายงานไว้อย่างละเอียด

เขาพบค่างแว่นหลายตัวติดอยู่บนยอดไม้ บ้างยังมีชีวิตอยู่ บ้างเป็นซาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างกระทิง กวาง เก้ง รวมทั้งสมเสร็จ ถูกไล่ฆ่าโดยคนอย่างง่ายดาย เพราะพวกมันไปติดบนเกาะแคบๆ

“เมื่อเราเรียกตรวจเรือที่พบจะเจอซากสัตว์ป่าในเรือเสมอๆ” พี่สืบเขียนไว้ในรายงาน เขาสรุปรายงานว่านี่เป็นภารกิจอันล้มเหลว ไม่เพียงเพราะช่วยเหลือสัตว์ป่าไว้ไม่ได้ ที่ช่วยได้เพียงส่วนน้อย การรักษาแหล่งอาศัยของพวกมันไว้จำเป็นกว่า

ผู้ชายนั่งก้มหน้ากอดเข่า ดวงตาหลังแว่นหนาเตอะแดงก่ำ เขาร้องไห้เพราะช่วยชีวิตกวางตัวหนึ่งที่พบขณะว่ายน้ำอยู่อย่างอ่อนแรงไม่ได้

กวางตายต่อหน้าต่อตา เป็นครั้งแรกที่ผมดูโทรทัศน์พร้อมๆ กับการร้องไห้

พ.ศ.2530
“ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า”

โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกำลังจะเกิดขึ้น พี่สืบและเพื่อนๆ ร่วมมือร่วมใจกันคัดค้านเต็มที่ บทเรียนซึ่งได้พบจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ว่ามีผลกระทบกับชีวิตสัตว์ป่าอย่างไร พวกมันต้องพบกับชะตากรรมเช่นไรพี่สืบรู้ดี และเขาพูดแทนพวกมัน

โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนระงับไป การคัดค้านประสบผลสำเร็จ แหล่งอาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงพืชพันธุ์หลากชนิดไม่ถูกทำลาย

เหล่าสัตว์ป่ามีคน “พูดแทน” พวกมัน

พ.ศ.2532

พี่สืบ นาคะเสถียร เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ความตั้งใจของเขาอย่างหนึ่งคือ เขียนรายงานต่อองค์การยูเนสโกว่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง มีความอุดมสมบูรณ์ สภาพป่าหลากหลาย เหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า เพื่อเสนอผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

มีปัญหามากมายในป่าห้วยขาแข้ง การลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้ และอื่นๆ พี่สืบพบว่านี่เป็น “สงคราม”

ถึงที่สุดเขาเลือกที่จะ “ยอมแพ้” เพื่อให้สงครามที่กำลังเผชิญอยู่ชนะ

1 กันยายน พ.ศ.2533 สืบ นาคะเสถียร กระทำอัตวินิบาตกรรม หนึ่งปีต่อจากนั้น องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขึ้นทะเบียนให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ผู้ชายคนหนึ่งจากไปแล้ว 26 ปี คนจำนวนมากไม่เคยลืม และคนอีกจำนวนมากกำลังสานต่องานที่เขาทำ

 


หมายเหตุ : ระหว่างวันที่ 9-11 กันยาน 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พบกับงาน “จากป่าสู่เมือง บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน” (รำลึก 26 ปี สืบ นาคะเสถียร)