อุษาวิถี (17) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (17)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ภาวะเช่นนี้ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับสะท้อนว่า อำนาจของผู้ที่เป็นกษัตริย์นั้น จะต้องได้รับการยอมรับจากพวกผู้ดีเป็นพื้นฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้ และเช่นเดียวกันที่ว่า ผู้ที่เป็นผู้ดีย่อมต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางศิลปศาสตร์ประกอบเป็นคุณสมบัติสำคัญอยู่ด้วย

หาไม่แล้ว คงไม่เป็นเงื่อนไขให้กษัตริย์คิดสร้างนโยบาย หรือวิธีการป้องกันเสถียรภาพของราชวงศ์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ การถือครองที่ดินยังเป็นผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญของชนชั้นผู้ดีอีกด้วย โดยเฉพาะที่ดินที่สัมพันธ์กับการผลิตทางด้านเกษตรกรรม อันเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ ชนชั้นผู้ดีจึงมีฐานะความสำคัญไม่น้อย

เพราะในด้านหนึ่งอาจจะเป็นขุนนางหรือเจ้าที่ดินอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นทั้งสองอย่างก็ได้ในเวลาเดียวกัน แต่คุณสมบัติที่มักจะขาดไม่ได้ก็คือ การเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง

จะเห็นได้ว่า ผู้ดีเป็นชนชั้นที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชนชั้นกษัตริย์กับชนชั้นชาวนา เหตุฉะนั้น ชนชั้นผู้ดีจึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปด้วย กล่าวเฉพาะราชวงศ์โจวแล้ว ชนชั้นผู้ดีจากที่กล่าวมานี้เป็นจุดเริ่มก่อนที่จะมีความสำคัญอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางการเมืองของจีนเองในเวลาต่อมา

 

สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของชนชั้นผู้ดียังมีอยู่อีกว่า เป็นชนชั้นที่สามารถสืบทอดอำนาจให้อยู่ในวงศ์ตระกูลหรือ “แซ่” ของตนได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เช่น สมาชิกในตระกูลทำให้ล่มสลาย หรือถูกประหารชีวิตทั้งตระกูลจากชนชั้นปกครอง เป็นต้น

การสืบทอดในลักษณะที่ว่านี้ หากเป็นไปด้วยระยะเวลาที่ยาวนานแล้ว ก็จะทำให้ตระกูลของผู้ดีขยายตัวด้วยจำนวนสมาชิกที่เกิดมาทีหลังอย่างมากมาย และกลายเป็นกำลังหลักให้แก่วงศ์ตระกูลต่อไป

และภายใต้สัมพันธภาพที่มีกับชาวนา ก็ทำให้การขยายตัวดังกล่าวส่งผลให้แต่ละตระกูลมีอำนาจต่อรองทางการเมืองที่สูงตามมาด้วย

อำนาจต่อรองที่ว่านี้ส่วนหนึ่งเป็นที่มาของการสถาปนาหรือปราบดาภิเษกตนเป็นราชวงศ์หนึ่งขึ้นมา

 

สาม ชนชั้นชาวนา การที่การผลิตภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น ชาวนา (หนง หมายถึง การเกษตร ในที่นี้หมายถึงผู้ทำการเกษตรหรือชาวนา) จึงกลายเป็นชนชั้นที่สำคัญไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชาวนาทำการผลิตบนที่ดินที่เกิดจากการถือครองของขุนนาง ทั้งนี้ โดยขุนนางจะยกที่ดินของตนให้อยู่ในการดูแลของผู้ที่ติดตามตนอีกชั้นหนึ่ง ผู้ติดตามเหล่านี้ตอบแทนขุนนางด้วยการรับราชการสนองงานแก่ขุนนาง หรือเป็นทหารในยามที่มีศึก

คนกลุ่มนี้ในด้านหนึ่งจึงเป็นขุนนางหรือข้าราชการระดับล่าง

การดูแลที่ดินให้แก่ขุนนางที่ตนขึ้นต่อนี้ เป็นไปโดยการแบ่งสรรที่ดินให้ชาวนาได้ทำการผลิต วิธีการก็คือ ที่ดินจะถูกแบ่งเป็น 9 แปลง โดยมีแถวละ 3 แปลง การแบ่งเช่นนี้จะมีที่ดินอยู่ 1 แปลงอยู่ตรงกลางแล้วถูกล้อมรอบด้วยที่ดินอีก 8 แปลง

เนื่องจากระบบการแบ่งสรรนี้เหมือนตัวอักษรจีนคำว่า จิ่ง (?) ที่แปลว่า บ่อ ระบบนี้จึงถูกเรียกว่า จิ่งเถียน (??) หรือ ระบบบ่อนา (คำว่า เถียน แปลว่า นา)

ชาวนาจะทำการผลิตใน 9 แปลงนี้ โดยผลผลิตของแปลงที่อยู่ตรงกลางจะเป็นของรัฐในรูปของภาษี

ระบบนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงสัมพันธภาพทางอำนาจที่แนบแน่นระหว่างชาวนากับขุนนาง

 

กล่าวคือ ชนชั้นชาวนานั้นไม่ได้เป็นผู้ผลิตอย่างเป็นเอกเทศ หากยังผูกติดหรือขึ้นต่อชนชั้นผู้ดีอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ชาวนาจึงไม่ได้ทำการผลิตในภาคเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว หากยังต้องผลิตสิ่งอื่นๆ ให้แก่ชนชั้นผู้ดีอีกด้วย และบางกรณียังหมายถึงการถูกเกณฑ์เป็นทหารในยามที่มีศึกด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของชนชั้นผู้ดีนั้น ย่อมต้องส่งผลต่อชนชั้นชาวนาไปด้วย ในขณะเดียวกัน การที่ชาวนายังต้องผลิตสิ่งอื่นๆ ให้แก่ชนชั้นผู้ดีด้วยนั้น ในด้านหนึ่งจึงนำไปสู่การเกิดกลุ่มคนที่มีอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตรโดยตรงตามมาด้วย

เช่น ช่างหัตถกรรมหรือช่างฝีมือต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า กง หมายถึง งาน ในที่นี้หมายถึงงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะ ซึ่งก็คือ งานช่างหรืองานหัตถกรรม ที่ต่างล้วนมีภูมิหลังที่มาจากชาวนา

 

ถึงตรงนี้ก็จะเห็นได้ต่อไปว่า ชาวนาจีนก็คือราษฎรจีนทั้งปวง และในฐานะราษฎร สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันห่างไกลระหว่างชาวนากับกษัตริย์ เมื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นผู้ดีแล้วจึงมิใช่อะไรอื่น หากคือ การเซ่นบวงสรวงต่อเทพเจ้า

ซึ่งชาวนาหรือราษฎรไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจหน้าที่ที่จะทำเช่นนั้นได้ นอกจากจะให้กษัตริย์เป็นตัวแทนดังได้กล่าวไปแล้ว

สิ่งที่ราษฎรจะเซ่นบวงสรวงได้จึงเป็นเทพเจ้าชั้นบริวาร หรือดวงวิญญาณของบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเชื่อกันว่าสิงสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ แน่นอนว่า ดวงวิญญาณมิได้มีอยู่เพียงดวงเดียว หากแต่มีหลายดวง ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตของบรรพชนผู้ล่วงลับไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า

จากความเชื่อเช่นนี้ได้ทำให้ชาวนาในฐานะราษฎรจีนจึงมี “เทวาลัย” หรือศาลบรรพชนเฉพาะตระกูลของตนไว้บูชา และเมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นศาสนสถานประจำตระกูลไป

ความยั่งยืนของวงศ์ตระกูลที่ตั้งอยู่บนความสำเร็จหรือชื่อเสียงเกียรติคุณใดๆ ที่ชนรุ่นหลังแต่ละรุ่นสร้างขึ้นในชั้นหลังจึงมีความสำคัญต่อ “โลกนี้” มากกว่า “โลกหน้า” เพราะนั่นเป็นสิ่งที่สามารถสัมผัสได้และดำรงอยู่อย่างเป็นอมตะอย่างแท้จริง

ความคิดความเชื่อที่สัมพันธ์กับชนชั้นชาวนานี้ จึงเป็นอีกภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของ “ศาสนา” ที่อยู่ใต้โครงสร้าง “การเมือง” ในพัฒนาการประวัติศาสตร์ของจีน อันไม่ต่างกับบทบาทที่กษัตริย์มีอยู่