ครบรอบปีศึกยูเครน ส่อเค้ายุติได้หรือขยายวง?

(Photo by Dimitar DILKOFF / AFP)

สงครามในยูเครนที่เริ่มต้นด้วยการที่รัสเซียกรีธาทัพข้ามชายแดนด้านตะวันออกเข้ามามุ่งหน้ายึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เดินหน้าผ่านระยะเวลา 1 ปีเต็มๆ ไปแล้ว ท่ามกลางความสูญเสียมหาศาลของทั้งสองฝ่าย

ศึกนองเลือดครั้งใหญ่นี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างออกไปทั่วโลก ในทุกๆ มิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ กระทบแม้กระทั่งการใช้ชีวิตทั่วๆ ไปในสังคมของประเทศอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลจากสมรภูมิออกไปนับพันๆ ไมล์

นำมาซึ่งคำถามสำคัญในขณะนี้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สงครามหนนี้จะยุติ หรือทั้งโลกจะติดหล่มการสู้รบนี้ต่อไปอีกยืดเยื้อยาวนาน

 

นักวิเคราะห์โดยรวมยังมองไม่เห็นทางว่าศึกในยูเครนจะยุติลงได้ในเร็ววัน เพราะจนถึงขณะนี้ คู่สงครามและแม้แต่ในกลุ่มผู้สนับสนุนยังไม่มีทีท่าว่าจะริเริ่มคิด หรือค้นหาหนทางเลิกรา ในทางตรงกันข้ามกลับมีสัญญาณบ่งบอกถึงการขยายตัว เพิ่มดีกรีความเข้มข้นขึ้นทั้งในและนอกสมรภูมิ

การที่จู่ๆ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกันไปปรากฏตัวถึงแนวรบในเมืองหลวงของยูเครน และการแถลงยืนยันถึงพันธะผูกพันของกลุ่มประเทศนาโตในการให้การสนับสนุนยูเครน กับการประกาศยกเลิกพันธะตามสนธิสัญญานิวเคลียร์ฉบับสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่กับสหรัฐอเมริกาของวาดิมีร์ ปูติน

เรื่อยไปจนถึงการเตรียมการเยือนมอสโกอย่างเป็นทางการของสี จิ้นผิง หลังจีนประกาศตอกย้ำความเป็นพันธมิตร “ไร้ขีดจำกัด” ต่อรัสเซีย ล้วนส่งสัญญาณ “ลบ” เกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ออกมาสู่โลกภายนอกทั้งสิ้น

ดีกรีความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกพุ่งขึ้นสูงอย่างช่วยไม่ได้

ผลลัพธ์จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้จะสะท้อนออกมาให้เห็นในสมรภูมิ โดยเฉพาะในบริเวณแนวรบด้านตะวันออกของยูเครนที่ติดต่อกับพรมแดนของรัสเซีย ในทันทีที่สภาพภูมิอากาศในพื้นที่อำนวยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเปิดฉากรุกครั้งใหญ่ได้

สงครามในยูเครนจึงไม่เพียงยังไม่สร่างซา แต่กำลังลุกลามขยายตัว ยกระดับความรุนแรงและความเข้มข้นของการสู้รบขึ้นอีกครั้ง อาจไม่ใช่การรบครั้งสุดท้าย แต่เป็นไปได้ว่า ผลของการรบในครั้งนี้อาจกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า สงครามยูเครนจะยุติลงในปีนี้ได้หรือไม่ หรือจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานปี

 

นักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่ง รวมทั้ง พาเวล เฟลเกนฮาวเออร์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกลาโหมและกองทัพรัสเซีย เชื่อว่า ระดับความเข้มข้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการสู้รบครั้งใหม่นี้ จะสูงมากเสียจนเป็นไปไม่ได้ที่จะคงสภาพอยู่เช่นนั้นยาวนานมากไปกว่านี้

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าในช่วงต้นของสงคราม แนวหน้าของรัสเซียทะลวงลึกเข้าสู่ใจกลางยูเครนอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อยูเครนตั้งตัวได้ ก็ไม่เพียงยันการรุกคืบให้หยุดนิ่งได้เท่านั้น ยังสามารถรุกตอบโต้บีบให้รัสเซียถอนกำลังกลับมาตั้งรับได้เช่นเดียวกัน

เซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ในสงครามยูเครนเกิดขึ้นในเดือนกันยายน เกิดขึ้นที่เมืองยุทธศาสตร์อย่างคาร์คีฟ

กองทัพยูเครนสร้างความประหลาดใจให้เกิดขึ้นทั้งในรัสเซียและโลกตะวันตก ด้วยการไม่เพียงแต่ยึดคืนจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้เป็นจำนวนมาก บีบจนรัสเซียต้องถอนกำลังออกจากแกร์ซอน ถอยร่นมาปรับแนวรับใหม่

เท่านั้นยังไม่พอ ยังสามารถบังคับให้ทางการรัสเซียจำเป็นต้องระดมเกณฑ์ทหารครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ทั้งในทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองต่อรัฐบาลปูติน

การระดมพลสำรองในครั้งนั้น ไม่เพียงเท่ากับเป็นการดึงกำลังแรงงานวัยฉกรรจ์หลายแสนคนออกจากระบบเศรษฐกิจมาสู่กองทัพเท่านั้น

แต่ยังส่งผลให้ชาวรัสเซียอีกเกือบ 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลระดับ “มันสมอง” ของประเทศหลบหนีออกนอกประเทศ เกิดสภาพ “สมองไหล” ครั้งใหญ่ขึ้นตามมา

การแซงก์ชั่นส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซีย “หดตัว” อย่างรุนแรง การเกณฑ์พลสำรองยิ่งฉุดเศรษฐกิจของประเทศดิ่งลงมากขึ้น รัสเซียอยู่ได้ด้วยการ “พิมพ์เงิน” ออกมาทดแทนรายได้ที่ขาดหาย ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทุกขณะ

 

เฟลเกนฮาวเออร์ชี้ว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาของสงคราม แสดงให้โลกได้รับรู้ว่า “รัสเซียไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่กลัวกัน” แต่อย่างใด แต่ในเวลาเดียวกัน “รัสเซียก็ไม่ได้อ่อนแอมากอย่างที่หลายคนคาดหวังให้เป็น” เช่นเดียวกัน

กระนั้น สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ การเงินของรัสเซีย ก็ทำให้การลากให้สงครามยูเครนยืดเยื้อต่อไปอีกหลายๆ ปี เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ยูเครนและฝ่ายตะวันตกที่สนับสนุน สามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ดีกว่า พร้อมมากกว่าที่จะทำศึกยืดเยื้อ

เฟลเกนฮาวเออร์ชี้ว่า ความผิดพลาดร้ายแรงของกองทัพรัสเซียก็คือการยึดติดอยู่กับแนวคิดทางทหารแบบดั้งเดิม ไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับสงครามยุคใหม่ เพียงคิดว่า การระดมกำลังพลให้มากกว่า เหนือกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งชัยชนะที่เหมือนร่วงหล่นลงมาเองจากท้องฟ้า

ในทางตรงกันข้าม กองทัพยูเครนมีการจัดตั้งที่ดีกว่า ขีดความสามารถในการควบคุมและบัญชาการกองกำลังมีสูงกว่า และต่อมาก็ได้รับอาวุธที่ดีกว่าของรัสเซียจากตะวันตก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในทางการเมืองของยูเครน ไม่ได้อยู่ใน “โลกแห่งความฝัน” เหมือนบรรดาผู้นำรัฐบาลและกองทัพรัสเซีย

 

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิในเวลานี้ ยากที่จะนำไปสู่การเจรจา ยูเครนอาจเต็มใจที่จะเปิดเจรจามากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ในช่วงต้นๆ ของสงคราม แต่เมื่อสามารถเอาชนะรัสเซียได้ในหลายสมรภูมิ ยึดเมืองยุทธศาสตร์กลับคืนได้หลายเมือง ยูเครนก็คาดหวังมากกว่าที่เคยคาดหวัง

ยูเครนไม่เพียงต้องการให้รัสเซียยอมแพ้ในแคร์ซอน, มาริอูปอล แต่ยังคาดหวังไกลไปถึงการได้ไครเมียและแคว้นดอนบาสกลับคืนมา

ซึ่งรัสเซียยอมไม่ได้ และปูตินก็ยึดถือการยอมแพ้ว่าเป็นเสมือนการ “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” เท่านั้น

สงครามยูเครนจึงต้องดำเนินต่อไป ยกระดับความรุนแรง ความเข้มข้นให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อหาผู้ชนะหรือฝ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะพ่ายแพ้ให้เกิดขึ้นให้ได้ สันติภาพจึงจะถูกถามหา

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าไม่น้อยสำหรับมนุษยชาติ