ความรักของนักปฏิวัติ (จบ) | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

พิธีสมรสเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคู่รักโดยทั่วไป

แต่สำหรับนักปฏิวัติที่กำลังจับปืนต่อสู้อยู่ในป่านั้น การแต่งงานเป็นไปได้ด้วยหรือ นี่เป็นคำถามที่คนข้างนอกย่อมสงสัยเป็นธรรมดา

ความจริงก็คือในขบวนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ ต่างก็มีพิธีแต่งงานด้วยกันทั้24งนั้น

เพียงแต่มีรูปแบบและรายละเอียดที่ปรับเปลี่ยนไปตามอุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมองค์กร และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่

หลังจากที่คุณปลาที่ได้บอกเล่าความทรงจำไปแล้วในตอนที่ 1 พอถึงตอนนี้ “สหายว่อง” หรือคุณว่อง นักปฏิวัติแห่ง พคท. ในช่วงปี 2519-2522 ซึ่งเป็นคู่รักของคุณปลาก็ได้ให้ข้อมูลบ้าง

โดยกล่าวว่าการแต่งงานในป่าระหว่างสู้รบนั้นมีอยู่บ้างแม้จะไม่มาก

ซึ่งการแต่งงานที่เป็นมาแต่ไหนแต่ไรจะเป็นเรื่องของคนที่อยู่ในป่ามาแต่เดิม

ส่วนพวกนิสิต นักศึกษา และประชาชนในเขตเมืองที่ตามมาสมทบภายหลังนั้น ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการแต่งงานในเขตพัทลุง-ตรัง-สตูล

 

คุณว่องเท้าความไปถึงเมื่อครั้งเข้าป่าใหม่ๆ ว่า ได้บอกลาคุณปลาไปแล้วที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งนำความเครียดมาให้คุณปลาอย่างมาก จนถึงขนาดทำให้เธอหยิบบุหรี่ของคุณว่องออกมาสูบ ทั้งๆ ที่ไม่เคยสูบมาก่อน

ความทรงจำข้อนี้ของทั้งคู่จึงไม่ตรงกัน คุณปลาบอกเล่าว่าเธอไม่รู้ว่าแฟนของตนจะเข้าป่าจนกระทั่งมีจดหมายไปถึงบ้านเมื่อคุณว่องอยู่ในเขตงานทางใต้แล้ว

ในขณะที่คุณว่องบอกว่าคุณปลารู้เรื่องนี้แล้วแต่อาจจะไม่อยากจำ

หลังจากที่คุณปลาดั้นด้นเดินทางเข้าป่าตามไปหาคุณว่องจนเจอ แวบแรกที่พบหน้า คุณว่องก็ดีใจอยู่เหมือนกัน

แต่ด้วยความที่ชีวิตในขบวนปฏิวัติไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาอย่างโจ่งแจ้งได้ เขาก็เลยแสดงทีท่าที่นิ่งขรึม ซึ่งทำให้คุณปลาผิดหวังและไม่พอใจต่อท่าทีที่แสดงออก

เรื่องนี้ยังฝังอยู่ในใจของทั้งคู่อย่างเด่นชัด ทำให้คุณว่องจดจำเหตุการณ์ได้เป็นฉากๆ แม้กระทั่งสภาพสิ่งก่อสร้างและลำธารในบริเวณที่เจอ ฉากการพบหน้ากันเป็นครั้งแรกหลังพลัดพรากจากกันร่วมปีจึงไม่ได้หวานชื่นแบบโผเข้ากอดกันหรือจุมพิต

แตกต่างกับฉากรักในละครหรือภาพยนตร์ราวกับคนละโลก

 

หลังจากที่ผ่านไป 2-3 ปี เมื่อทั้งคู่ได้ย้ายเข้ามาสังกัดโรงเรียนการเมืองการทหารแล้ว การทำงานอยู่หน่วยเดียวกันก็ก่อให้เกิดความคิดเรื่องการแต่งงานขึ้น

ถึงแม้จะขัดแย้งกับ “นโยบาย 3 ช้า” ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1

ฝ่ายที่มีความคิดเรื่องนี้จริงจังที่สุดก็คือคุณปลา ที่มีความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตปฏิวัติ เพราะการมีชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายทุกวันเหมือนไม่รู้ว่าจะตายตอนไหน ได้ทำให้เธอคิดถึงการเติมเต็มชีวิตคู่ให้สมบูรณ์และเป็นทางการ

เพื่อว่าวันใดต้องจากโลกนี้ไปก็ไม่มีอะไรให้ค้างคาใจอีก

ด้วยความรู้สึกอัดอั้นของคุณปลา ความไม่สบายใจของคุณว่อง ประกอบกับเริ่มเกิดการแต่งงานคู่แรกๆ ของสหายปัญญาชนที่มาจากเมืองขึ้น จึงทำให้สายจัดตั้งได้สอบถามทั้งคู่ว่า “จะแต่งงานกันหรือไม่”

ทั้งคู่จึงตอบรับไปว่า “แต่ง” และแล้วพิธีการสมรสก็ได้เตรียมการขึ้นพร้อมกับสหายคู่รักอีก 2 คู่ รวมเป็น 3 คู่

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนพิธีแต่งงานหมู่ขนาดย่อมก็ถูกจัดขึ้นท่ามกลางสมรภูมิรบในป่าลึกของเทือกเขาบรรทัด

 

พิธีแต่งงานของ พคท.ในเขตงานนี้ไม่มีชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว ไม่มีพิธีทางศาสนา ไม่มีการแต่งหน้าทำผม ไม่มีการ์ดเชิญ ไม่มีแม้กระทั่งการตกแต่งเวทีหรือสถานที่ใดๆ เป็นเพียงการนำคู่สมรส 3 คู่เข้าสู่โถงประชุมของ พคท.ในช่วงกลางวัน เหมือนการเปิดตัวให้นักปฏิวัติทุกคนได้รับรู้อย่างชัดแจ้ง

จากนั้นก็มีการกล่าวปาฐกถาจากสหายนำ โดยมีเนื้อหาเป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ เป้าหมายของการปฏิวัติ ตลอดจนวิถีการต่อสู้ต่างๆ

หาได้มีบทรักหวานชื่นหรือถ้อยคำรื่นหูของคู่รัก

ส่วนช่วงกลางคืนก็มีงานเลี้ยงฉลองขึ้นด้วยการล้มหมูมาทำอาหาร มีการร้องรำทำเพลงในสไตล์ พคท. เช่น รำวงตามบทเพลงของฝ่ายซ้าย เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์สนุกสนานเฮฮากันโดยปราศจากเครื่องดื่มมึนเมา

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วทางพรรคก็เปิดโอกาสให้คู่แต่งงานป้ายแดงได้แยกตัวออกไปสร้างบ้านกันเป็นคู่ๆ แต่ก็อยู่ภายในบริเวณของเขตงานเหมือนเดิม

คู่ของคุณว่องและคุณปลาได้สร้างกระต๊อบหลังเล็กๆ ขึ้นจากไม้ไผ่แบบเรียบง่าย ไม่นานหลังจากนั้นคุณปลาก็ตั้งครรภ์ อันนำมาสู่ความกังวลเรื่องใหม่ขึ้นในใจของทั้งคู่อีก

เพราะชีวิตท่ามกลางสมรภูมิรบเช่นนี้จะมีต่อไปได้อย่างไรสำหรับเด็กตัวน้อยที่กำลังเกิดมา

 

และแล้วหลังจากที่อุ้มท้อง 9 เดือน บุตรคนแรกของนักปฏิวัติวัย 27 คู่นี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีชื่อที่อิงกับอุดมการณ์การต่อสู้อยู่ด้วย

ทารกผู้นี้ได้รับสารอาหารสารพัด แบบตามมีตามเกิดเท่าที่แม่จะหาได้ในตลอด 9 เดือน ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก ผลไม้ และสัตว์ป่าแปลกๆ จำพวกลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือแม้กระทั่งงู

แต่ถึงแม้ว่าทารกจะแข็งแรงดีก็ตาม ปัญหาของการเลี้ยงดูในระหว่างรบก็ยังคงคาราคาซังให้ต้องแก้ไขและตัดสินใจต่อไป

ดังนั้น ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจมองหาที่อยู่ใหม่ให้กับเด็กน้อย

ด้วยเหตุนี้ ไม่กี่เดือนต่อมา พ่อแม่ลูก ครอบครัวนี้พร้อมกับสหายอีกกลุ่มหนึ่งจึงได้เดินทางรอนแรมออกจากป่าปักษ์ใต้คืนสู่เมืองเป็นการชั่วคราว เพื่อนำเด็กมาฝากเลี้ยงไว้กับพ่อและแม่ของฝ่ายชายในจังหวัดทางภาคอีสาน

คณะเดินทางนี้ค่อยๆ แยกตัวกลับไปทีละคนสองคนเมื่อส่งตัวถึงแต่ละจุด จนในที่สุดก็เหลือเพียงพ่อแม่ลูกสามคนเมื่อเดินทางถึงบ้านของคุณว่อง

คุณว่องและคุณปลามีเวลาราว 1-2 สัปดาห์ในการจัดการธุระนี้ให้เสร็จสิ้น ก่อนเดินทางกลับสู่จุดนัดหมายกับสายจัดตั้งในกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับคืนสู่เขตงานทางใต้ตามเดิม

แต่ทว่า เมื่อเวลาผ่านไปจนใกล้ถึงวันนัด คุณปลาก็ไม่สามารถถอนใจจากลูกชายได้ ความรักความอาทรบุตรของแม่ที่มีต่อเลือดเนื้อเชื้อไขของตนมีพลังอำนาจมากกว่าอุดมการณ์ใดๆ ในประวัติศาสตร์โลก

ผลจากความรู้สึกที่ทวีขึ้นนี้ได้ทำให้คุณปลาวางเฉยต่อการเดินทางกลับ และเริ่มแอบร้องห่มร้องไห้อยู่เป็นระยะ

เมื่อคุณว่องเห็นสภาพการณ์เป็นเช่นนั้น ประกอบกับสัญชาตญาณความเป็นพ่อ คุณว่องจึงตัดสินใจ “ผิดนัด” และปล่อยให้สายจัดตั้งต้องรอเก้ออยู่ที่กรุงเทพฯ ในเวลาดังกล่าว

หลังจากเวลานัดผ่านพ้นไปไม่นาน คุณว่องได้เดินทางไปกรุงเทพฯ และพยายามตามหาสายจัดตั้งเพื่อแจ้งข่าวและขอโทษ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้สลายตัวไปหมดแล้ว ทำให้ไม่มีโอกาสได้บอกกล่าวและขออภัยมาจนถึงบัดนี้

 

คล้อยหลังจากเหตุการณ์นั้นไม่นาน ภาวะล่มสลายของการต่อสู้ในป่าก็เป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น

ในระดับโลกการปฏิวัติของหลายประเทศแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว ซึ่งแม้มีที่มาที่แตกต่างกันไป

ไม่ว่าจะเป็นระบอบเขมรแดงล่มสลายลงอย่างยับเยินในกัมพูชา

ระบอบสังคมนิยมในจีนกับโซเวียตหาใช่ดวงดาวที่น่าใฝ่ฝันเหมือนก่อน

และการที่โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น กำแพงเบอร์ลินนับถอยหลังรอวันแตกสลาย

คนเด่นคนดังแบบธีรยุทธ บุญมี หรือเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทยอยกันออกจากป่าพร้อมกับวิวาทะที่มีต่อ พคท. รวมทั้งการประกาศใช้นโยบาย 66/23 ในสมัยรัฐบาลเปรม ที่ “เปิดก๊อก” ให้คนป่าไหลคืนสู่เมืองเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้ได้ “ปิดประตู” ให้คนทั้งคู่ไม่หวนกลับเข้าป่าอีกเลยหลังจากนั้น

เมื่อถูกถามว่า “คิดถูกหรือไม่ที่ตัดสินใจเข้าป่า”

คุณปลาตอบว่า “ตอนนั้นคิดว่าถูก แต่ถ้าเป็นตอนนี้ก็คิดว่าผิด”

ส่วนคุณว่องในวัยชราเห็นว่า “ตอนนั้นคิดแบบนั้นจริงๆ แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว”

หากเป็นเช่นนั้น ปัจจุบันนี้คิดว่าแบบไหนถึงจะถูกต้อง คุณปลาไม่ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ชัดๆ ในขณะที่คุณว่องซึ่งเบนเข็มมาเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ตอบว่า

“คำสอนของพระพุทธเจ้าถูกต้องที่สุดแล้ว มนุษย์มีกรรมของตนเป็นตัวกำหนดผลที่ตามมา และหากยังมีกิเลสเป็นตัวชี้นำ อุดมการณ์ทางการเมืองใดหรือระบอบการเมืองแบบใดก็ล้มเหลว”

 

ผู้เขียนรับฟังเรื่องราวของทั้งคู่เงียบเชียบ

โดยไม่เอาทัศนะส่วนตัวไปตัดสิน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ในประเด็นใด ก็ได้แต่พยักหน้าและทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด

แต่หากจะมีอะไรสักอย่างที่พอจะมองเห็นผ่านแว่นของผู้เขียนได้ก็คือ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดมนุษย์เราก็ไม่ต่างกัน

คือมี “ความรักและความเชื่อ” ที่เป็นพลังผลักดันให้ตนต้องก้าวไปในทิศทางเหล่านั้น และรับผลที่ตามมาโดยปริยาย

พลังแห่งความรักและความเชื่อนี้เป็นอย่างไร ต่างคนก็ว่าแตกต่างกันไป

แต่ที่แน่ๆ มันมีอานุภาพมหาศาลเกินกว่าที่ปัจเจกชนแต่ละคนจะทานทนได้

และเมื่อมองในระดับนี้หรือมิตินี้ มนุษย์ทุกคนในโลกก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งเผ่าพันธุ์ หนึ่งสปีชีส์ที่เสมอภาคหรือเท่าเทียมกัน