อย่าเอา ‘ซึมเศร้า’ ไปโยนให้แมว!

แฟนพันธุ์แท้ “มติชนสุดสัปดาห์” หลายท่านคงเคยผ่านหูผ่านตาคำว่า Cats Therapy มาแล้วไม่มากก็น้อย

Cats Therapy เป็นหนึ่งศาสตร์สัตว์ช่วยบำบัด หรือ Animal-Assisted Therapy ซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วงที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นการนำสุนัข ม้า โลมา หรือนก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมว” มาช่วยบำบัดเด็กออทิสติก สว. (สูงวัย) ที่ประสบภาวะสมองเริ่มเสื่อมถอย หรือผู้ป่วยจิตเวช

ในช่วงหลังๆ เริ่มมีการนำสัตว์ต่างๆ มาบำบัดคนที่เป็น “โรคซึมเศร้า” เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมว”

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นสังคมรักแมว แค่โตเกียวเมืองเดียว ก็มี “คาเฟ่แมว” มากกว่า 60 ร้านแล้ว

และในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ยังมีแมวมากมายนับ 10 ล้านตัวเลยทีเดียว

ความนิยมชมชอบ “แมว” ของคนญี่ปุ่น ทำให้มีการต่อยอดเป็นสินค้า และบริการเกี่ยวกับ “แมว” นับไม่ถ้วน

จนถึงขั้นเรียกว่า “ญี่ปุ่น” เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Nekonomics หรือ “เศรษฐศาสตร์แมว” (Neko แปลว่า “แมว”)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ญี่ปุ่น” นั้น ชำนาญเรื่อง “แมวบำบัด” เป็นอย่างมาก

ชำนาญจนกระทั่งมีการก่อตั้งเป็น “สมาคมแมวบำบัด” และมีการออกหนังสือเกี่ยวกับ “แมวบำบัด” ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ขั้นตอนรักษาของ “แมวหมอ” นั้นง่ายมาก เพียงแค่ให้ผู้ป่วยได้อยู่กับแมว สัมผัสแมว และเล่นกับแมว นานเท่าที่ “คน” และ “แมว” ต้องการ

แปลไทยเป็นไทยก็คือ “แมวบำบัด” มีวิธีการที่เรียบง่าย และเป็นธรรมชาติ คือให้ผู้ป่วยใกล้ชิดกับแมวนั่นเอง

ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่มีการใช้สุนัข ม้า โลมา หรือนก โดยล่าสุดก็มีการนำแกะ เต่า หมู กระทั่งเป็ด ไก่ และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ ปลาหางนกยูง มาบำบัดผู้ป่วย

 

นอกจากจะมี “สมาคมแมวบำบัด” และมีการเขียนหนังสือ-พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ “แมวบำบัด” แล้ว “ญี่ปุ่น” ยังล้ำหน้าไปอีกขั้น

จากการที่บริษัทห้างร้านต่างๆ อนุญาตให้พนักงานนำสัตว์มาเลี้ยงที่ออฟฟิศได้

เพราะเจ้าของธุรกิจชาวญี่ปุ่นหลายรายเชื่อว่า การเลี้ยงสัตว์ในที่ทำงาน จะช่วยลดความเครียดระหว่างการทำงาน

เช่น Ferray บริษัทให้บริการเกี่ยวกับ ICT ในกรุงโตเกียว มีนโยบายเปลี่ยนสถานที่ทำงานอันแสนเคร่งขรึม ให้เป็น “คาเฟ่แมว” ตามแนวคิด Cats Therapy

โดยอนุญาตให้ “พนักงานทาสแมว” ทั้งหลาย นำ “แมว” มาเลี้ยง และให้เพื่อนพนักงานเล่นในออฟฟิศได้

ไม่เพียงอนุมัติให้นำ “แมว” มาทำงานด้วยเท่านั้น แต่เจ้าของบริษัทยังช่วยจ่ายค่าเลี้ยงดูเดือนละ 5,000 เยน ให้แก่พนักงานที่นำ “แมว” มาออฟฟิศอีกด้วย!

โดยที่ตัวบริษัท Ferray เองก็มีแมวที่เลี้ยงไว้ก่อนแล้วถึง 9 ตัว!

ซึ่งพวกเหมียวสามารถกิน นอน และวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ

ชนิดที่เรียกว่า ทั้งเจ้าของ และพนักงาน หากเกิดความเครียดขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็สามารถลุกไปเล่นกับแมวได้ตลอดเวลา!

 

นอกจาก Ferray ที่โด่งดังมากในโตเกียวแล้ว บริษัท Oracle Japan ก็มีการนำแนวคิด Animal-Assisted Therapy มาใช้

โดยมีเจ้า Candy สุนัขสายพันธุ์ Old English Sheepdog ผู้ทำหน้าที่พนักงานต้อนรับหน้าประตู เป็นตัวชูโรง

ซึ่ง Candy ไม่ใช่หมาน้อยธรรมดา เพราะไหนๆ ก็เป็นถึงเจ้าหน้าที่บริษัท ICT ชั้นนำ จึงมีการสร้าง Twitter และ Instagram ให้เจ้า Candy ด้วยเสียเลย

อีกบริษัทหนึ่งซึ่งนำทฤษฎี Animal-Assisted Therapy มาประยุกต์ใช้ก็คือ Pasona Group ที่ลงทุนจ้างแกะ 2 ตัว และ Alpacas อีก 2 ตัว

เพื่อบรรจุเป็นพนักงานประจำ สำหรับบำบัดความเครียดให้กับเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน!

 

หากมองในมุมกลับ Animal-Assisted Therapy โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Cats Therapy เป็นการที่มนุษย์ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการรักษาอาการป่วยไข้ไม่สบาย

ขณะเดียวกัน มีคำถามว่า เมื่อผู้ป่วยซึมเศร้าต้องการสัตว์เลี้ยงมาช่วยเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมว” แล้วสัตว์เลี้ยงล่ะ ได้อะไรจากผู้ป่วยซึมเศร้าบ้าง?

เช่น องค์กร Whale and Dolphin Conservation ได้ออกมาเคลื่อนไหว เกี่ยวกับการนำโลมามาบำบัดคนป่วย

ยังไม่นับนักวิชาการเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์จำนวนมาก ที่แสดงความห่วงใยในสวัสดิภาพของสัตว์ ที่อาจได้รับผลกระทบ จากการที่มนุษย์มอบหมายหน้าที่ใหม่ให้โดยขาดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย อย่างรอบคอบ

นักวิชาการเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ เริ่มกังวลกับกระแส Cats Therapy เช่น การที่ “แมว” ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม หรือเสี่ยงอันตราย ไปจนกระทั่งความห่วงใยเรื่องอาหารการกิน

และอาจตกอยู่ในเงื้อมมือของมนุษย์มักง่าย ดังปรากฏในข่าวคราว “คาเฟ่แมวร้าง” ที่เจ้าของปราศจากความรับผิดชอบ ทิ้งขว้างแมวให้อดๆ อยากๆ ป่วยไข้ หรือตายอย่างอนาถา

 

ความวิตกกังวลเริ่มกลายเป็นกระแสตีกลับอย่างช้าๆ ยิ่ง “หมอคน” ใช้ Animal-Assisted Therapy มากเท่าไหร่ “หมอสัตว์” ก็อาจจะต่อต้านมากเท่านั้น

การใช้สัตว์บำบัดมากเกินความจำเป็น กลายเป็นกระแสย้อนกลับไปที่ปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์แทน หากไม่มีการประเมินศักยภาพของผู้ป่วยในการดูแลสัตว์เลี้ยง

เพราะปรากฏในหลายกรณีว่า คนไข้จำนวนมากยังไม่เข้าใจ ว่าต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้างเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดี เช่น โภชนาการสัตว์ สภาพแวดล้อมในการเลี้ยง ไปจนถึงการดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นแหล่งพาหะของโรคติดต่ออื่นๆ ได้ หากเจ้าของปล่อยปะละเลย

ซึ่งหาก “หมอคน” ไม่ใช้องค์ประกอบเหล่านี้ร่วมในการรักษาแนว Animal-Assisted Therapy ผู้ป่วยก็อาจจำเป็นจะต้องประเมินตัวเอง

เพราะอันตรายจะตกอยู่กับคนเลี้ยง ไม่ใช่ “หมอ” และแทนที่จะบำบัด กลับกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นแทน

 

คําถามสำคัญที่หลายคนหลงลืมไปก็คือ ถ้า “คน” เป็น “โรคซึมเศร้า” ได้ “แมว” จะเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้หรือไม่?

เพราะโดยปกติแล้ว “แมว” จะมีนิสัยร่าเริง ขี้เล่น ขี้อ้อน แต่ถ้า “แมว” เริ่มมีอาการซึมๆ ดูเศร้า และเครียด หรือนอนทั้งวัน นับเป็นอาการที่ผิดปกติ

บางทีอาจไม่ใช่ “ป่วยกาย” แต่ “ป่วยใจ”

ดังนั้น ถ้าสังเกตว่า “แมว” มีอาการดังต่อไปนี้ บอกเลยว่า “แมว” กำลังเป็น “โรคซึมเศร้า”

1. มีอาการซึม หรือดูเศร้าๆ ต่อให้นำของเล่นชิ้นโปรดมาล่อเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเล่นด้วย หรือเรียกชื่อเท่าไหร่ก็ไม่ยอมมา

2. ไม่อึหรือฉี่ในที่ประจำ หากแมวไม่ยอมอึหรือฉี่ในที่ประจำ เช่น ไม่อึหรือฉี่ที่กระบะทรายเหมือนแต่ก่อน แสดงว่าแมวอาจเครียดอยู่

3. นอนทั้งวัน โดยปกติแล้ว หลังตื่นนอน แมวจะลุกเดินบ้าง วิ่งบ้าง อ้อนบ้าง แต่ถ้าแมวนอนทั้งวันผิดปกติ อาจบ่งชี้ว่า แมวเป็นโรคซึมเศร้าได้

4. มีอาการสั่น ขนฟู ขู่คำรามตลอดเวลา หรือแสดงอาการก้าวร้าวต่อเจ้าของ จับนิดจับหน่อย รู้สึกหงุดหงิดมาก

5. หาที่ซ่อนตัว ปกติแล้ว เวลาที่แมวเครียด จะชอบหาที่ซ่อนตัว แต่คราวนี้ไปซ่อนในมุมลึก หายากๆ แบบไม่อยากให้เจ้าของเข้าถึงตัวได้

6. จมูกและเหงือกซีด หากแมวมีสีเหงือกซีดขาวอาจบ่งบอกถึงภาวะเครียด หรือโลหิตจาง และอาจป่วยด้วยโรคพยาธิเม็ดเลือด

7. เหนื่อยหน่าย หายใจแรง หอบ แลบลิ้นตลอดเวลา ทำซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นเวลานาน

8. ข้าวปลาไม่กิน เหมือนเจ้าของเวลาเครียดก็มักกินข้าวไม่ลง แมวก็เหมือนกัน คือไม่ตื่นเต้นกับอาหาร หรือขนมเลีย หลายครั้งมักจะกินอาหารเหลือมากกว่าปกติ

นี่คือสัญญาณอันตรายของ “แมว” ที่อาจเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้

รู้แล้วก็อย่าเอา “ซึมเศร้า” ไปโยนให้แมวอีก!