โผทหารส่งท้าย ‘บิ๊กตู่’ เดินเกมโผใหญ่ โอบกอดกองทัพ ยึดเก้าอี้ ผบ.ทบ. สะพัดศึก ‘คอแดง-คอเขียว’ จับตา ตท.22 คนสุดท้อง

รายงานพิเศษ

 

โผทหารส่งท้าย ‘บิ๊กตู่’

เดินเกมโผใหญ่

โอบกอดกองทัพ

ยึดเก้าอี้ ผบ.ทบ.

สะพัดศึก ‘คอแดง-คอเขียว’

จับตา ตท.22 คนสุดท้อง

 

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กระชับใกล้กับกองทัพ มากขึ้นจนเห็นได้ชัดกว่าในห้วง 5 ปีที่เป็นนายกฯ ในรัฐบาล คสช.หลังรัฐประหาร และ 3 ปีกว่าที่เป็น รมว.กลาโหม

โดยเฉพาะในปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมประชุมสภากลาโหม และสภาทหารผ่านศึก ด้วยตนเองทุกเดือน จากที่ก่อนหน้านี้ และช่วงโควิดมักมอบบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ประชุมแทน รวมทั้งนายกฯ เพิ่งเป็นประธานการประชุมสภาการศึกษาทหาร ครั้งแรกในรอบหลายปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังไปร่วมงานวันสถาปนาแต่ละเหล่าทัพ เช่น งานเลี้ยงรับรองวันกองทัพเรือ 20 พฤศจิกายน 2565 แต่มาจัดหลังจบการประชุมเอเปค และวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 เมื่อ 13 มกราคม 2566 งานเลี้ยงรับรองวันกองทัพบก เมื่อ 20 มกราคม และวันสถาปนา รร.เตรียมทหาร 27 มกราคมที่ผ่านมา

รวมทั้งเพิ่งไปงานมวยไทยเฟสติวัล ร่วมชมการรำไหว้ครูมวยไทย 3,660 นาย ทำลายสถิติโลก บันทึกกินเนสส์ เวิร์ลด์ เรคคอร์ดส์ ที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยตนเองเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่เป็นวันมวยไทย

อันล้วนเป็นโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะพูดคุยกับ ผบ.เหล่าทัพ และน้องๆ ทหารในกองทัพบ่อยมากขึ้น

และเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อพบเจอ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ก็มักจะยืนคุยด้วยมากกว่า ผบ.เหล่าทัพคนอื่นๆ รวมถึงการกอดโชว์ ในงานเลี้ยงรับรองวันกองทัพบก

รวมทั้งมากอด ผบ.ทบ. ย้ำอีกครั้งหลังบันทึกสถิติโลกรำไหว้ครูมวยไทย ที่อุทยานราชภักดิ์อีกครั้ง

และครั้งนี้ไม่ได้กอดแค่ พล.อ.ณรงค์พันธ์คนเดียว แต่กอดบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ถ่ายภาพโชว์ด้วย

อันเป็นการแสดงความแนบแน่นใกล้ชิดกับกองทัพ ที่ถูกจับตามองว่าเป็นฐานอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอดตั้งแต่หลังการรัฐประหารของ คสช. และจนเป็นนายกรัฐมนตรีมานาน 8 ปี

ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์จะสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ สู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ก็ยิ่งต้องทำให้ถูกมองว่า กองทัพจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ไปต่อ

 

แต่ทว่า มีจุดเปลี่ยนตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์แยกพรรคการเมืองกับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีพี่ใหญ่ ที่ยังคงอยู่พรรคพลังประชารัฐ และส่อเค้าว่า จะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพี่น้อง นำมาสู่การแยกทางทางการเมือง และอาจจะแยกขั้วอำนาจทางการเมืองกันได้ หลังการเลือกตั้ง ที่อาจส่งผลให้เสียงสนับสนุนจากกองทัพแตกออกเป็น 2 ส่วน เป็นสายบิ๊กป้อม และสายบิ๊กตู่

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามกระชับระยะห่างกับกองทัพ และกระทบเข้าใกล้ผู้บัญชาการเหล่าทัพมากขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า กองทัพอาจจะเอนเอียงมาทาง พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า เพราะนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมแล้ว โดยจุดยืนที่ประกาศชัดว่าต่อต้านระบอบทักษิณ และปกป้องสถาบัน

ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตกอยู่ในกระแสข่าวการจับมือกับพรรคเพื่อไทย และอาจนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง

แม้ พล.อ.ประวิตรจะมีลูกน้องในกองทัพจำนวนมาก แต่ทว่าส่วนใหญ่ก็เป็นลูกน้องของทั้ง 3 ป.เหมือนกัน ที่ทำให้ทหารในกองทัพลำบากใจไม่น้อยในการตัดสินใจว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร

แต่จะเห็นได้ว่าฝ่าย พล.อ.ประวิตรนั้นรู้ดีว่ามีระยะห่างจากกองทัพ แม้ว่าตนเองจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่คุมงานความมั่นคง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็น รมว.กลาโหมคุมทหาร คุมอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายเองทั้งหมด และยังเป็น ผอ.รมน.ด้วย ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในห้วงที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรจึงไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกับฝ่ายทหาร และไม่ได้มาร่วมงานของกองทัพเลย แม้แต่งานวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประวิตรเคยมาทุกปีในฐานะอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 รวมทั้งไม่ได้ไปร่วมงานวันโรงเรียนเตรียมทหาร ทั้งๆ ที่เคยไปทุกปีด้วย ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป.เกิดปัญหาอีกด้วย

 

การไปร่วมงานวันมวยไทยของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้จึงถูกมองว่าไปหาเสียงกับฝ่ายทหารจน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกตัวว่า งานนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อให้ใครมารักผม

แต่ในงานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เดินทักทายกำลังพลนับพันคนที่ร่วมบันทึกสถิติโลกในการรำไหว้ครูมวยไทย พร้อมกล่าวขอบคุณชื่นชมความสำเร็จในครั้งนี้พร้อมระบุว่า มีความสุขที่ได้มาอยู่ท่ามกลางพวกเรา ขอให้ช่วยกันทำเพื่อชาติบ้านเมืองและสถาบันอันเป็นที่รัก

ที่สำคัญคือการกอดผู้บัญชาการเหล่าทัพเสมือนเป็นการส่งสัญญาณของการบอกฝ่าย

และเป็นการสยบกระแสข่าวลือที่มีมาตลอดปีที่ผ่านมา ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จนเคยเกิดกระแสข่าวลือว่า จะมีการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. เพื่อดัน พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ น้องรักทหารเสือราชินีของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นแทน

แต่ในที่สุดการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อกันยายน 2565 ก็ไม่มีการเปลี่ยน ผบ.ทบ.แต่อย่างใด แต่ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ต้องการเปลี่ยน หรือเป็นเพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์มีแบ๊กอัพที่แข็งแกร่ง จึงไม่มีใครมาเปลี่ยนได้

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์กอดว่าก็รู้สึกอบอุ่นดี เพราะเราก็เป็นพี่น้องสายเลือดทหารเหมือนกัน

 

ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์ยื้อเวลายุบสภาให้นานที่สุดเพื่อที่จะได้เป็นรัฐบาลรักษาการให้ยาวที่สุด อยู่จนถึงการจัดโผแต่งตั้งโยกย้ายทหารกลางปี ส่งท้ายการเป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหมในรัฐบาลนี้

เนื่องจากการเป็นนายกฯ รักษาการ และรัฐบาลรักษาการ จะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้

โดยการแต่งตั้งโยกย้ายทหารชั้นนายพล หรือโผทหารกลางปี ที่เรียกว่าโผเมษาฯ นั้น จะต้องทำเสร็จสิ้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกิน 15 มีนาคม

ดังนั้น คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม จะประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม เพื่อเคาะโผทหาร และทูลเกล้าฯ ก่อน จึงจะยุบสภา

แต่การแต่งตั้งโยกย้ายนายพลกลางปี ไม่ใช่ไฮไลต์ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการโยกย้ายคนที่จะเกษียณราชการ และมีการโยกย้ายจำนวนไม่มากนัก

แต่ที่ถูกโฟกัสคือ โผทหารปลายปี ที่จะเริ่มพิจารณากันตั้งแต่กรกฎาคม และจะเสร็จสิ้นทูลเกล้าฯ ในปลายเดือนสิงหาคม หรืออย่างช้าต้นกันยายน

เนื่องจากเป็นโผทหารครั้งใหญ่ และสำคัญ เพราะต้องมีการแต่งตั้งทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.คนใหม่ รวมถึงแม่ทัพนายกองต่างๆ

เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยุบสภาในสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนมีนาคมนี้ และการเลือกตั้งจะมีขึ้นราวปลายเมษายน-ต้นพฤษภาคม และกว่าที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้อย่างเป็นทางการ ก็ใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะ กกต.ใช้เวลาในการรับรอง ส.ส. และพิจารณาใบแดง ใบเหลือง ราว 2 เดือน

ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยคาดการณ์ว่า กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ราวสิงหาคม 2566 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ระบุว่า กว่าจะมีเลือกตั้ง ก็เดือนพฤษภาคม และต้องเป็นรัฐบาลรักษาการไปอีกหลายเดือน

แต่หากเกิดปัญหาความวุ่นวาย ไม่ลงตัว หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน พล.อ.ประยุทธ์ก็จะรักษาการต่อไป แต่หาก 30 กันยายนแล้ว ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ผบ.เหล่าทัพเกษียณ ก็จะต้องเป็นรอง ผบ.เหล่าทัพ ทำหน้าที่แทนไปพลางก่อน

เช่น ผบ.ทหารสูงสุด มีบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี เป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด อยู่และถือเป็นตัวเต็งที่จะขึ้นแทน

ส่วน ทบ.มีบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ตัวเต็ง เป็นรอง ผบ.ทบ.อยู่

ส่วน ทร. มีบิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผช.ผบ.ทร. อาวุโสสูงสุด เนื่องจากรอง ผบ.ทร.เกษียณ

ส่วน ทอ. จะมีบิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. ที่ก็ถือเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ. ที่อาวุโสสูงสุดใน ทอ.

แต่คาดว่า เกมการเมือง การจัดตั้งรัฐบาล คงจะไม่ลากยาวขนาดนั้น ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ก็จะได้จัดโผทหารครั้งใหญ่ครั้งนี้ คาดว่าจะไม่มีแรงกระเพื่อมมากนัก เพราะมีการวางตัว ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่เอาไว้บ้างแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ วางตัว พล.อ.เจริญชัยเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป แม้จะมีข่าวว่า บิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. น้องรักสายบูรพาพยัคฆ์อีกคน จะมาแรงก็ตาม

ส่วน ผบ.ทหารสูงสุด ก็คาดว่า พล.อ.ทรงวิทย์จะเป็นทหารคอแดงคนที่ 2 ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด

ส่วนกองทัพเรือ จะเป็นการชิงกันระหว่าง พล.ร.อ.สุวิน และ เสธ.โอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร.

ส่วน ทอ. มีแคนดิเดตหลายคน ทั้งบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสธ.ทอ. กับบิ๊กจ๋า พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผช.ผบ.ทอ. ที่เป็น ตท.23 ที่ชิงกันเข้มข้น แต่ก็ไม่อาจมองข้าม พล.อ.อ.ชานนท์

แต่หากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล หรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะหากเป็นพรรคเพื่อไทย ก็อาจมีผลกระทบต่อกองทัพไม่น้อย

แม้ว่าในความเป็นจริง พรรคเพื่อไทยก็มีบทเรียนในเรื่องกองทัพมาพอสมควร โดยเฉพาะในยุคที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมหญิง ที่ไม่กล้าแตะต้องกองทัพ แต่ยอมทำตามฝ่ายทหารและเอาใจกองทัพทุกอย่าง แต่ในที่สุดก็ถูกรัฐประหาร

แต่นักการเมืองก็น่าจะเข้าใจดีว่าการแทรกแซงกองทัพ แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร มักเป็นการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารได้เสมอ

แต่หากมี พล.อ.ประวิตรมาร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยแล้วเป็นนายกรัฐมนตรีหรือหากไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เป็น รมว.กลาโหม ก็อาจจะสามารถถอดสลักการรัฐประหารได้

เพราะ พล.อ.ประวิตรก็สามารถที่จะพูดคุยรอมชอมกับกองทัพได้ ไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม

เริ่มมีข่าวลือสะพัดว่า การแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่กันยายนนี้ จะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง “ทหารคอแดง” อีกต่อไปแล้ว เช่นว่า ผบ.ทบ. และ ผบ.ทหารสูงสุด ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารคอแดง แต่มาจากทหารคอเขียวก็ได้ เพื่อเป็นการคืนความชอบธรรมและไม่ทำให้เกิดการแตกแยกในกองทัพ

ด้วยเพราะตั้งแต่ในยุคที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก และเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) คนแรก และมีการคัดเลือกทหารชั้นนายพลในกองทัพบกไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง หรือหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ จนกลายเป็นทหารคอแดง และเกิดเทรดดิชั่นที่ว่า แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ. จะต้องเป็นทหารคอแดงเท่านั้น

รวมไปถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ต้องเป็นทหารคอแดง โดยเริ่มจาก พล.อ.เฉลิมพล เป็นคนแรกที่เป็นทหารคอแดง ที่นั่งนาน 3 ปี และกำลังจะเกษียณราชการ ซึ่งคาดว่า พล.อ.ทรงวิทย์ ทหารคอแดงที่ถูกส่งจากกองทัพบกไปจ่อเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด อยู่ ก็จะขึ้นเป็นทหารสูงสุดคอแดงคนที่ 2

แม้จะมีแคนดิเดตคนสำคัญอย่างบิ๊กจ่อย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร ที่เติบโตมาในกองทัพไทยตลอด และถือว่ามีความรู้ความสามารถ แต่ก็เป็นทหารคอ เขียวไม่ใช่คอแดง จึงทำให้มีโอกาสน้อยที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไป

ขณะที่เก้าอี้ ผบ.ทบ. ก็มีแคนดิเดตที่มีแต่ทหารคอแดงทั้ง พล.อ.เจริญชัย น้องรักสายทหารเสือราชินีของ พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. จากสายบูรพาพยัคฆ์ ที่มีการชิงชัยกันอย่างเข้มข้นแบบเงียบๆ วัดพลังกันทั้งในกองทัพบก และนอก ทบ.

แต่ก็มีนายทหารคอเขียว ที่ถือว่าเป็นแคนดิเดตได้เช่นกัน เพราะเป็นพลเอก เช่น บิ๊กตี๋ พล.อ.รังษี กิตติญาณทรัพย์ อดีต ผอ.ททบ.5 เพื่อนรัก ตท.22 ของ พล.อ. ณรงค์พันธ์ ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2567 เช่นเดียวกับ พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์

พล.อ.รังษี เป็นนายทหารม้าขาลุย โผงผางตรงไปตรงมา ประเภทใจถึงพึ่งได้ เคยเกิดปัญหาเมื่อครั้งเป็น ผอ.ททบ.5 ในการนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนกระทบนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จนเกิดแรงกดดันไปที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จนทำให้ พล.อ.รังษีขอลาออกจาก ผอ.ททบ.5 เพื่อไม่ให้เพื่อนรักลำบากใจ และลดแรงกดดันเพราะในช่วงนั้นมีกระแสให้ปลดเปลี่ยน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.

พล.อ.รังษี นอกจากเป็นเพื่อนรักของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ยังอยู่ในเซนต์คาเบรียล คอนเน็กชั่น และถือเป็น ตท.22 คนสุดท้องที่เกษียณท้ายๆ จึงมีการโยนชื่อออกมาจาก ตท.22

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการยกเลิกกฎเกณฑ์ทหารคอแดง และหากการเมืองจะแทรกแซงก็ยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะจะต้องฝ่าด่านอีกหลายชั้น

ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลใหม่ นายกฯ ใหม่จะได้จัดโผทหารครั้งสำคัญ จึงเกิดกระแสข่าวคืนความชอบธรรมให้ทหารคอเขียวขึ้น เพราะการมีทหารคอแดงนั้น แค่เฉพาะช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น แต่ตอนนี้ทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว

อีกทั้งการที่ทหารคอแดงถูกมองว่ามีอภิสิทธิ์ในการขึ้นตำแหน่งสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกในกองทัพที่ทหารส่วนใหญ่ยังเป็นทหารคอเขียว แม้ใครๆ อยากเป็นทหารคอแดง แต่ก็ไม่ได้มีการฝึกเพิ่มเติมในห้วงตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดเป็นต้นมา

หากนายทหารคนใดจะได้ขึ้นตำแหน่งสำคัญ ก็จะมีการส่งชื่อเข้าไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดงเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น เช่น บิ๊กปู พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1 คนปัจจุบันที่เมื่อครั้งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นทหารคอแดง ก็ถูกส่งชื่อไปฝึกและออกมาเป็นทหารคอแดง แล้วก็ขึ้นนั่งแม่ทัพภาคที่ 1

แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะยืนยันว่าหลักเกณฑ์ทหารคอแดงนี้จะถูกยกเลิกไป ที่มีกระแสข่าวลือเพราะถือว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นคนที่วางระบบนี้ไว้ในกองทัพ และเป็นหัวใจสำคัญของการคัดเลือก ผบ.ทบ. และ ผบ.ทหารสูงสุด

และเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ถูกจับตามองว่า เป็นน้องรัก และเป็นผู้ช่วยพระเอกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์มาตลอดด้วยแล้ว จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านทหารคอแดงขึ้นมาด้วยนั่นเอง

แต่ขั้วอำนาจที่คุมกองทัพอยู่นี้ยังคงแข็งแกร่ง และยากที่อำนาจทางการเมืองจะมาสั่นคลอน และยังกลายเป็นแบ๊กอัพสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสู้ศึกเลือกตั้งอีกด้วย