ทัวร์จีนคัมแบ๊ก ‘ท่องเที่ยวไทย’ คึก! ‘กรุ๊ปทัวร์-FIT’ เข้าไทยเต็มรูปแบบ เงินสะพัด ‘กทม.-พัทยา-เชียงใหม่-ภูเก็ต’

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ทัวร์จีนคัมแบ๊ก ‘ท่องเที่ยวไทย’ คึก!

‘กรุ๊ปทัวร์-FIT’ เข้าไทยเต็มรูปแบบ

เงินสะพัด ‘กทม.-พัทยา-เชียงใหม่-ภูเก็ต’

 

คึกคักตั้งแต่ต้นปีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ด้วยการยกเลิกกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 หลังจากใช้มาตรการคุมเข้ม หรือ Zero COVID มานานเกือบ 3 ปีเต็ม

กระทั่งล่าสุดที่ประกาศให้บริษัทนำเที่ยวและบริษัทออนไลน์ทราเวลเอเย่นต์ หรือ OTA นำนักท่องเที่ยวจีนออกไปเที่ยวต่างประเทศแบบหมู่คณะ หรือกรุ๊ปทัวร์ ได้ โดยกำหนดประเทศปลายทางไว้ 20 ประเทศ ตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 และประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในประกาศดังกล่าวด้วย

เรียกว่า เป็นการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลจีนที่มาเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

และเป็นปัจจัยบวกที่สร้างความหวังและมีนัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของไทยอย่างมาก

 

จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า เดือนมกราคม 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 2,088,832 คน ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 91,080 คน ติดอันดับ 5 ของนักท่องเที่ยวจำแนกรายสัญชาติ 5 อันดับแรกของไทย

และล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-7 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาแล้วรวม 120,000 คน

ทั้งนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงแรก ประกอบด้วย นักธุรกิจ นักเรียน และกลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางด้วยตนเอง (FIT) เป็นหลัก ซึ่งจะมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า หลังจากจีนเปิดให้กรุ๊ปทัวร์ออกเที่ยวได้ทำให้ตัวเลขการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้ง โดยในวันแรก (6 กุมภาพันธ์ 2566) ที่จีนเปิดให้ “กรุ๊ปทัวร์” ออกเดินทางได้มีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์เดินทางเข้าไทยรวมทั้งหมด 14 เที่ยวบิน ผ่าน 3 สนามบินหลักคือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต

ประกอบด้วย เดินทางจากเซี่ยงไฮ้ 6 เที่ยวบิน กว่างโจว 2 เที่ยวบิน ส่วนปักกิ่ง, เซียะเหมิน, เฉิงตู, หนานจิง, หนานหนิง และเหอเฝย์ เมืองละ 1 เที่ยวบิน รวมผู้โดยสารประมาณ 2,100 คน ในจำนวนนี้เป็นกรุ๊ปทัวร์ 600 คน

โดยเที่ยวบินที่เดินทางถึงไทยไฟลต์แรกคือ สายการบินสปริงแอร์ เส้นทางบินจากกว่างโจว-ดอนเมือง มีโปรแกรมท่องเที่ยว 6 วัน 5 คืน เส้นทางท่องเที่ยวกรุงเทพฯ-พัทยา (ชลบุรี)-ระยอง

และเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง อาทิ เกาะเสม็ด สวนนงนุชพัทยา วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ย่านเยาวราช ฯลฯ

 

“วิชิต ประกอบโกศล” ประธาน ซี.ซี.ที.กรุ๊ป บริษัทนำเที่ยวอินบาวด์ (ขาเข้า) ตลาดจีนรายใหญ่ ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัททัวร์ต่างๆ ก็เริ่มกลับมาเจรจากับพันธมิตรในไทย รวมถึงหาข้อมูลอัพเดตโปรดักต์ บางส่วนทำแพ็กเกจทัวร์รอการขายไว้ล่วงหน้า ทันทีที่รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวทำการตลาดแบบกรุ๊ปทัวร์ได้ บริษัททัวร์ในจีนก็เริ่มกดปุ่มการขายทันที

โดยประเทศไทยเป็นที่สนใจและยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ของคนจีนโดยเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ พัทยา (ชลบุรี) ภูเก็ต และเชียงใหม่ มีทั้งบริษัททัวร์รายเดิมที่เคยขายอยู่แล้วกลับมาทำการตลาดอีกครั้ง และบริษัทที่ยังไม่เคยทำตลาดเริ่มหันมาทำตลาดและขายประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ประกอบประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม รัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จีนไปเที่ยว

ในช่วง 3 เดือนแรกที่จีนเปิดประเทศนี้จึงเป็นโอกาสทองในการฟื้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก

สอดรับกับข้อมูลของ Trip.com ที่รายงานว่า จากการค้นหาข้อมูลบนแพลตฟอร์ม Trip.com Group พบว่า นักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางไปยังประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ราว 60% ขณะที่กลุ่มเดินทางด้วยตนเองครองสัดส่วนราว 40% คาดว่าหลังการระบาดโควิด-19 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเภทจะมีสัดส่วน 50% : 50%

เมืองที่ต้องการออกเดินทางสูง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เสิ่นเจิ้น หางโจว หนานจิง เฉิงตู ฉงชิ่ง และจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมคือ กรุงเทพฯ และภูเก็ต รองลงมาคือ เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา

 

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้วางกลยุทธ์ที่จะทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนครั้งนี้เป็นตลาด “คุณภาพ” และเป็น new chapter เน้นเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนต่อทริป โดยให้สำนักงาน ททท.ทั้ง 5 แห่งในจีนสื่อสารและให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวจีนว่าประเทศไทยมีอะไรใหม่บ้าง

และนำผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยไปโรดโชว์ใน 3 เมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู และกว่างโจว ในระหว่างวันที่ 20, 22 และ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นี้

รวมทั้งดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของแพ็กเกจทัวร์ ด้วยการสนับสนุนบริษัททัวร์ (เอเย่นต์) ในจีนที่ทำแพ็กเกจทัวร์ราคาสูงให้เกิดความมั่นใจและทำตลาดได้ง่าย และสนับสนุน อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการฝั่งไทยให้ช่วยทำตลาดระดับกลางถึงบนเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนมีความต้องการด้านการเดินทาง (Pending Demand) สูงมาก

ขณะที่บริษัททัวร์รายใหญ่ให้ข้อมูลว่า แพ็กเกจทัวร์สำหรับเที่ยวประเทศไทยที่ขายในจีนขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมเที่ยวกรุงเทพฯ-พัทยา, ภูเก็ต และเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางที่มีสายการบินบินตรง โดยราคาขายส่วนใหญ่อยู่ในระดับตั้งแต่ 3,000-5,000 หยวนขึ้นไป สูงขึ้นอย่างชัดเจนหากเทียบกับช่วงก่อนโควิดที่ขายกันอยู่ประมาณ 1,000 หยวน

โดยไฟลต์ปฐมฤกษ์ที่เข้ามาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบ 6 วัน 5 คืน ราคาอยู่ที่ 4,500 หยวน หรือประมาณ 25,000 บาท เป็นแพ็กเกจที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบน ไม่มีโปรแกรมช้อปปิ้ง และพักโรงแรม 5-6 ดาว

“ราคาแพ็กเกจที่ขายกันอยู่ขณะนี้ยังไม่ใช่ราคาที่แท้จริงของตลาด เพราะเป็นช่วงที่ยังประเมินต้นทุนยาก เนื่องจากส่วนหนึ่งอยู่ในช่วงโปรโมชั่นของเอเย่นต์ทัวร์ และยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนที่นั่งของสายการบิน”

พร้อมประเมินว่าสถานการณ์โดยรวมของตลาดจีนจะนิ่งมากขึ้นในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2566 และกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป

และจากราคาขายที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่คุณภาพตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

 

ผู้ว่าการ ททท. ให้ข้อมูลด้วยว่า ในไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2566) มีจำนวนเที่ยวบินและที่นั่งโดยสารจากสนามบินในเมืองต่างๆ ของจีนมาไทย อาทิ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว หางโจว หนานจิง เฉิงตู เซียะเหมิน คุนหมิง ฯลฯ รวมประมาณ 2,000 เที่ยวบิน รวม 445,655 ที่นั่ง (ไม่รวมเที่ยวบินเช่าเหมาลำ) ททท.จึงคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในไตรมาสแรกไม่ต่ำกว่า 300,000 คน

ล่าสุด ททท. ได้ปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยตลอดปี 2566 จาก 5 ล้านคน เป็นประมาณ 7-8 ล้านคน ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีตัวแปรที่การฟื้นตัวของจำนวนเที่ยวบินในตารางบินฤดูร้อน 2566 (เริ่มปลายมีนาคม 2566) และตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 (เริ่มปลายตุลาคม 2566)

และคาดว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2566 นี้อาจขยับได้ถึง 30 ล้านคน และสร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศมูลค่า 2.38 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวประมาณ 80% ของรายได้รวมปี 2562 ก่อนโควิด-19

 

“ชูวิทย์ ศิริเวชกุล” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. บอกว่า เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ททท.พร้อมให้การสนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการประสานสล็อตการบินกับท่าอากาศยานหลักๆ ของประเทศ

รวมถึงช่วยกระจายเส้นทางการบินออกไปสู่เมืองท่องเที่ยวในภูมิภาค เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาความไม่พร้อมของบริการภาคพื้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง

และทำให้ “การท่องเที่ยว” ตอบโจทย์เรื่องการกระจายรายได้จากเมืองหลักสู่เมืองรอง และลงสู่ชุมชนรากหญ้าอย่างแท้จริง