เพราะที่ดีไม่มีเหนือ ‘ลุงตู่’ แล้ว

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

เพราะที่ดีไม่มีเหนือ ‘ลุงตู่’ แล้ว

 

มีการสร้างชุดความเชื่อหนึ่งขึ้นมาเพื่อประเมินความเป็นไปในสังคม นั่นคือ “เรื่องราวในโซเซียลเน็ตเวิร์กมีผลต่อการกำหนดกระแสสังคม”

ทำนองว่าเรื่องราวที่ดีย่อมสร้างกระแสที่ดีต่อเรื่องนั้น หรือพฤติกรรมที่เลวร้ายย่อมกำหนดกระแสนิยมที่เลวร้ายให้กับคนคนนั้น

ทว่า ในการหาคะแนนนิยมอย่างเข้มของนักการเมืองขณะนี้ มีความเป็นไปอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดได้ว่า ชุดความเชื่อดังกล่าวอธิบายความเป็นไปที่เกิดขึ้นไม่ได้

นั่นคือกระแสความนิยมที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

 

ไม่ว่าใครก็ตามที่ท่องอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ต้องถึงขนาดชีวิตส่วนใหญ่จมอยู่กับความเป็นไปในโลกเสมือนนี้ ขอเพียงมีเวลาเข้ามาสัมผัสบ้าง ย่อมรับรู้ได้ไม่ยากว่าพฤติกรรมของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่แชร์กันว่อนที่สุด เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่ต้องถือว่าเป็นให้ภาพในทางลบ

ไม่ว่าคลิปแสดงความเกรี้ยวกราด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ถือตัวเองเป็นใหญ่ การแสดงความคิดความอ่านในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศ ในทางที่มองไม่เห็นความหวัง และนึกไม่ออกว่ามันสมองของผู้นำประเทศคิดอ่านแบบนั้นได้อย่างไร รวมถึงการพูดวกไปวนมาหาแก่นสารอะไรไม่ได้ หรือการพูดที่เหมือนไปคนละทางกับสิ่งที่ทำ

เหล่านี้คือภาพของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในโลกออนไลน์ที่กลายมาเป็นกระทั่งเรื่องล้อเลียนของ “นักแสดงตลก”

เป็นคลิปของพฤติกรรมผู้นำที่ไม่ว่าใครได้ดูแล้วย่อมเกิดความรู้สึกอ่อนใจเมื่อคิดถึงชะตากรรมของประเทศ

ไวรัลในโลกออนไลน์เช่นนี้ จึงเกิดความเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่น่าจะเหลือความศรัทธาเชื่อถือมากพอที่จะมาเสนอตัวทางการเมืองอีกแล้ว

ทว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับไม่เป็นเช่นนั้น

 

ไม่เพียง “พล.อ.ประยุทธ์” จะเชื่อมั่นตัวเองสูงยิ่งว่าจะคือ “ผู้นำ” ที่ประชาชนยังให้ความไว้วางใจเหนือกว่าคนอื่น แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นว่า ถึงขนาดประเทศไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเปิดทุกช่องทางให้ “พล.อ.ประยุทธ์” มาเป็นผู้นำประเทศ แม้จะต้องแลกกับการปิดทุกช่องทางของคนอื่นก็ตาม

มีความเชื่อว่าคนอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์” จำเป็นกับความเป็นไปในอนาคตของประเทศถึงเพียงนั้น

และที่น่าประหลาดใจกว่าคือ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ฝากประเทศชาติไว้ในศรัทธาต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” กระทั่งผลสำรวจของ “นิด้าโพล”

ทุกครั้งที่ถามถึง “ผู้นำ” ที่ให้ความนิยม “พล.อ.ประยุทธ์” ยังอยู่ในอันดับต้น และเปอร์เซ็นต์ความนิยมที่ได้รับสูงขึ้นเรื่อยๆ

จากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ได้ร้อยละ 1.67 แม้จะลดลงครั้งที่ 2 เมื่อมิถุนายน 2565 เหลือร้อยละ 11.68 และครั้งที่ 3 กันยายน 2565 ร้อยละ 10.12

แต่เมื่อมาถึงครั้งที่ 4 ธันวาคม 2565 ความนิยมพุ่งขึ้นมาถึงร้อยละ 14.05

ดูเหมือนข้อมูลในโลกออนไลน์จะไม่มีความหมายกำหนดความนิยมทางการเมืองเท่าไร

 

ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิดยิ่ง เนื่องจากมีอีกมุมมองหนึ่งที่เห็นว่า คะแนนนิยมของ “พล.อ.ประยุทธ์” กลับพลิกมามีแนวโน้มดีขึ้นนั้น เหตุผลใหญ่ที่สุดคือ ประชาชนกลุ่มที่ยืนอยู่ข้าง “ผู้นำสายอนุรักษ์อำนาจนิยม” ถึงวันนี้ยังไม่มีตัวเลือกที่เป็นว่าดีกว่า เหนือกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จึงใช้เหตุผลแบบบ “เป็นตรงไปตรงมา พูดจริง ทำจริง มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ หรืออยากให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง” มาเป็นข้ออ้างในการเทคะแนนนิยมให้

เหมือนไม่ว่าบ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้นกับการเป็นผู้นำของ “พล.อ.ประยุทธ์”

ตราบใดฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่มี “ตัวเลือก”

ความเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังเหลืออยู่

ก็ยังย่อมเป็น “ตัวเลือกภาคบังคับ” ที่ “ฝ่ายอำนาจนิยม” ต้องเลือกๆ กันไป โดยไม่แคร์ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงระดับสติปัญญาที่ใช้ในการเลือกอย่างไร