ไทยกับเศรษฐกิจศีลธรรมของแรงงานเวียดนาม | ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร

หลายต่อหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามเป็นประเทศที่ทำให้ชาวโลกทึ่งในฐานะประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 ทศวรรษ

ตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของเวียดนามอยู่ระหว่าง 6-8% ต่อปี แม้ในปีที่มีการระบาดของโควิด-19 จะตกต่ำลงเหลือเพียง 2.58% (https://www.bbc.com/thai/articles/c804w8l8j52o)

แต่ทำไมแรงงานจากเวียดนามจึงยังมาลักลอบค้าแรงงานในประเทศไทย

คำถามนี้เกิดขึ้นมาระหว่างการอ่านหนังสือ “เศรษฐกิจแห่งความหวัง : การสร้างระเบียบทางสังคมนอกระบบของแรงงานชาวเวียดนามในประเทศไทย” ของ รศ.ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ และคุณเลวันโตน ทั้งสองเป็นอาจารย์และศิษย์ร่วมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หนังสือนี้เพิ่งได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นของสภาวิจัยแห่งชาติในปีนี้นี่เอง

ไม่น่าแปลกใจเลยที่งานวิจัยนี้จะได้รางวัลเพราะมีความโดดเด่นในหลายข้อด้วยกัน ทั้งในด้านข้อมูล การวิเคราะห์ การนำเสนอ และนัยเชิงนโยบาย

อาจารย์อัจฉริยา (เชี่ยวชาญเรื่องชาวไทขาวในจังหวัดหว่าบิ่ญ ประเทศเวียดนาม) เล่าว่า ในระหว่างที่อาจารย์ไปทำวิจัยเรื่องชาวไทในเวียดนาม ได้พบกับชุมชนหนึ่งที่ดูแล้วมีความแปลกตาแตกต่างจากชุมชนชาวเวียดนามทั่วๆ ไป

เมื่อสอบถามดูจึงพบว่าเป็นชุมชนของชาวเวียดนามที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือเกิดในประเทศไทย แล้วย้ายกลับไปเวียดนามในช่วงของขบวนการ “เหวียดเกี่ยวโห่ยเฮือง” หรือ ชาวเวียดพลัดถิ่นผู้กลับปิตุภูมิ ในคริสต์ทศวรรษ 1960

อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเวียดนามเหนือระดมกำลังคนเวียดนามที่พลัดถิ่นจากเวียดนามมาไทย ให้กลับไปช่วยกันกอบกู้ประเทศในช่วงสงครามเวียดนาม

สงครามที่เวียดนามรบกับสหรัฐอเมริกาโดยมีไทยเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของกองทัพอเมริกัน

จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น อ.อัจฉริยาและคุณโตนจึงเริ่มทำความรู้จักคนในชุมชน แล้วจึงพบว่าคนที่นี่กลุ่มหนึ่งกลายมาเป็นผู้ใช้แรงงานอพยพในไทยอย่างต่อเนื่องมานับสิบปีแล้ว

ด้วยความที่ทั้งอาจารย์เองเป็นคนไทยและคุณโตนเป็นคนเวียด ทำให้ทั้งสองสามารถเข้าถึงข้อมูลระดับลึก ที่อย่าว่าแต่จะเป็นนักวิจัยชาวไทยหรือคนสัญชาติอื่นใดเลย

แม้แต่นักวิจัยชาวเวียดนามเองก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ

เนื่องจากต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านอัตลักษณ์ของนักวิจัยทั้งสองเอง และอาศัยความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรม ทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทยและเวียดนาม

ความน่าทึ่งของข้อมูลและการวิจัยคือ ทั้งสองไม่เพียงสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งด้านชีวิต วัฒนธรรม และสังคมของชุมชนแรงงานข้ามชาติทั้งในเวียดนามและไทย

แต่ยังยอมเสี่ยงเดินทางบนเส้นทางและวิธีการเดียวกับที่ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้เดินทาง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่วิธีวิจัยที่ราบเรียบง่ายดายเลย

จนท้ายที่สุด ทั้งสองต้องยอมยกเลิกการเดินทางด้วยประสบกับความยุ่งยากที่อาจจะเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้

จึงจำต้องอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์แทนการมีส่วนร่วมโดยตรงกับการเดินทางแบบ “เร้นรัฐ”

 

ในส่วนของข้อมูลฝั่งไทย นอกจากที่นักวิจัยทั้งสองจะสามารถให้ภาพชีวิตทางสังคมและภาวะทางเศรษฐกิจ การปรับตัว และฐานะด้านรายได้ของผู้ใช้แรงงานชาวเวียดนามแล้ว ยังเปิดเผยให้เห็นด้านมืดและช่องโหว่ของกฎหมายไทย

ในด้านของการวิเคราะห์ หนังสือเล่มนี้เสนอว่า ชีวิตและความหวังทางเศรษฐกิจของชาวเวียดนามเหล่านี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ตอบโจทย์ทางด้านรายได้

แต่เป็นเศรษฐกิจแห่งความหวังในลักษณะหนึ่ง หรือพูดอีกอย่างได้ว่า แรงขับลึกๆ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนเหล่านี้นั้น มีชุดความหมายหรือคุณค่าทางศีลธรรมกำกับอยู่ด้วย

พูดง่ายๆ คือ พวกเขาไม่ได้แค่อดอยากหรืออยากรวย แต่พวกเขายังทำด้วยคุณค่าทางจิตใจ ทำเพื่อตอบแทนบุญคุณบิดรมารดา ทำเพื่อสร้างครอบครัว ทำตามหน้าที่ของลูกที่ดีพ่อแม่ที่ดี ตามศีลธรรมของขงจื้ออีกด้วย

และนั่นอาจจะเป็นแรงขับที่สำคัญเสียยิ่งกว่าการมีรายได้ตัวเงินเพียงเท่านั้นด้วยซ้ำ

หรืออย่างน้อยนั่นคือการทำให้ชีวิตทางเศรษฐกิจมีความหมายมากกว่าเพียงแค่ปากท้องหรือการกินอยู่ประทังชีพ ซึ่งเป็นความคิดที่คับแคบเกินไปที่จะใช้เข้าใจชีวิตมนุษย์

ยิ่งเมื่อได้รับรู้จากงานวิจัยนี้เองว่า ผู้ให้ข้อมูลทุกคนในหนังสือเล่มนี้ล้วนผ่านเรือนจำมาแล้วทั้งสิ้น

ยิ่งทำให้บทวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจศีลธรรมขงจื้อยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น

พวกเขาไม่ได้แค่เสี่ยงเพื่อประทังชีวิต

แต่พร้อมกันนั้นมันคือความเสี่ยงเพื่อจรรโลง สานต่อสถาบันทางสังคมสำคัญของชาวเวียดนาม

นั่นคือสถาบันครอบครัว ที่ยังคงความสำคัญต่อชาวเวียดนามมากเสียยิ่งกว่าที่ครอบครัวจะสำคัญต่อชาวไทยเสียอีก

 

อย่างไรก็ดี ต่อบทวิเคราะห์นี้เองผมอยากจะเสริมสองข้อ

ข้อแรก ในแง่ของบทวิเคราะห์เศรษฐกิจศีลธรรม การศึกษาในยุคร่วมสมัยกว่าของเวเบอร์ เช่น ในงานศึกษาทุนสังคม ทุนวัฒนธรรม และทุนสัญลักษณ์ ที่ล้วนแล้วแต่พลิกผันกลับไปกลับมาเป็นทุนเศรษฐกิจได้เสมอ (หากใครสนใจ ดูงานของปิแอร์ บูร์ดิเยอ [Pierre Bourdieu]) ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าระบบคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมที่จะเป็นรากฐานของการแสวงหารายได้ทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งชีวิตทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจล้วนพลิกผันไปมาและเสริมเติมกันอยู่เสมอ

ต่อกรณีนี้ก็คือ การที่เศรษฐกิจศีลธรรมและเศรษฐกิจปากท้อง เป็นสิ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

แรงขับทางศีลธรรมคือสิ่งเดียวกันกับแรงขับด้านรายได้นั่นเอง

คนเหล่านี้อาศัยต้นทุนวัฒนธรรม เช่น การเป็นคนไทยพลัดถิ่นกลับไปเวียดนามและการเป็นคนเวียดนามพลัดถิ่นมาไทยแล้วกลับไปเวียดนาม

ที่สำคัญคือความเป็นคนกึ่งวัฒนธรรมทั้งไทยและเวียด ต้นทุนสังคม เช่น เครือข่ายญาติพี่น้องและท้องถิ่นที่รองรับการย้ายถิ่น ต้นทุนสัญลักษณ์ คือการเสียสละอุทิศตนในขนบขงจื้อ

อีกข้อที่อยากเสริมคือบทบาทของสภาวะด้านวัตถุ หรือพูดให้ชัดคือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจศีลธรรมของชาวเวียดนามกลุ่มนี้ ผมหมายถึงความเอื้ออำนวยของการคมนาคมทางบก การโอนเงินออนไลน์ การสื่อสารออนไลน์ และการมีพรมแดนใกล้กันของไทยและเวียดนาม

หากปราศจากเงื่อนไขพื้นฐานเหล่านี้ ชีวิตทางเศรษฐกิจของพวกเขาจะต่างออกไปอย่างยิ่ง

 

ในแง่ของการนำเสนอ หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวชีวิตผู้คนได้อย่างน่าติดตามยิ่งในหลากหลายรสด้วยกัน

เช่น ตอนที่ทั้งสองร่วมเดินทางไปกับรถโดยสารที่บรรทุกผู้ใช้แรงงานจากเวียดนามข้ามลาวจะมาไทย

ผู้เขียนเล่าอย่างน่าตื่นเต้น ชวนให้คนอ่านติดตามด้วยความระทึกใจ

หรือตอนที่ผู้เขียนเล่าถึงการปรับตัวใช้ชีวิตในประเทศไทยของผู้ใช้แรงงานชาวเวียดนาม ผู้เขียนบอกเล่าชีวิตของผู้คนได้อย่างราวกับได้ติดตามช่วงชีวิตต่างๆ ของพวกเขาไปด้วย

ผมคิดว่าการเขียนงานในลักษณะนี้ได้นั้น นอกจากจะทำให้งานวิจัยกลายเป็นงานเขียนที่มีรสชาติ ไม่น่าเบื่อแล้ว

ยังเป็นการทำให้เรื่องราวของชีวิตผู้คนมีชีวิตชีวา เสมือนว่าคนอ่านจะได้เข้าไปสัมผัสชีวิตที่โลดแล่นของพวกเขาเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง

ไม่ใช่งานวิจัยที่แห้งแล้ง จนทำให้ผู้คนในงานวิจัยกลายเป็นจำนวนนับประชากรหรือเป็นเพียงข้อมูลไร้วิญญาณของนักวิจัย

การที่ผู้เขียนจะทำอย่างนี้ได้นั้น นอกจากจะต้องใช้ตัวตนของนักวิจัยเองเข้าไปรับรู้ สัมผัส มีส่วนร่วม และรู้สึกตามไปกับผู้คนที่เขาศึกษาให้ได้แล้ว ยังต้องรู้จักถ่ายทอดการรับรู้และความรู้สึกนั้นๆ มายังผู้อ่านได้อย่างดีด้วย

อย่างไรก็ดี หากหนังสือจะเล่าเพียงชีวิตผู้คนแต่ละรายๆ ไป โดยไม่ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัจเจกแรงงานพลัดถิ่นแต่ละคนนั้นดิ้นรนอยู่ในโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร

นั่นก็คงไม่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นงานวิจัยทางสังคมที่ดีขึ้นมาได้

หนังสือวิเคราะห์ให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ เหล่านั้นไปพร้อมๆ กับการบอกเล่าชีวิตผู้คนอย่างมีชีวิตชีวา

 

สาระสำคัญของหนังสืออีกส่วนหนึ่งได้แก่การเชื่อมข้อมูลท้องถิ่นและปัจเจกกับข้อมูลในระดับนโยบาย

นั่นคือการพยายามตอบคำถามว่า ประเทศไทยและเวียดนามมีนโยบายแรงงานข้ามชาติอย่างไร

โดยเฉพาะในส่วนของการที่แรงงานเวียดนามจะมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากไม่ใช่ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน

เรารู้กันอยู่แล้วว่า ชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชา จะสามารถเดินทางมาทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยได้

แล้วชาวเวียดนามล่ะเป็นอย่างไร

นักวิจัยทั้งสองพบว่า ประเทศไทยมีนโยบายเปิดรับผู้ใช้แรงงานจากประเทศเวียดนามเช่นกัน

หากแต่มีข้อจำกัดมากมายเสียจนทำให้การเข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงานในไทยของชาวเวียดนามเป็นเรื่องที่แทบจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลย

ในขณะที่การเดินทางของคนไทยไปยังเวียดนามในทุกวันนี้สะดวกง่ายดายมาก และคนไทยก็สามารถเข้าเวียดนามได้ทั้งจากทางอากาศ ทางบก และอาจจะรวมทั้งทางเรือด้วยหากมีการเดินทางลักษณะนั้นอย่างถูกกฎหมาย

แต่การมาไทยของชาวเวียดนามไม่ง่ายอย่างนั้น

เงื่อนไขต่างๆ ในทางฝั่งไทยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อแรงงานเวียดนามก็เช่น

การที่ผู้ใช้แรงงานต้องมีทักษะภาษาอังกฤษเพียงพอที่จะสื่อสารกับผู้จ้างชาวไทยก่อน ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้วชาวเวียดนามสามารถเรียนภาษาไทยได้สะดวกกว่าและทำได้ดีกว่าภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นภาษาที่มีความใกล้เคียงกันทางไวยากรณ์สูง และมีระบบการออกเสียงที่ใกล้เคียงกัน

นอกจากนั้น ชาวเวียดนามส่วนหนึ่ง เช่นที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง ยังเป็นชาวเวียดนามที่เคยเติบโตหรือบางคนเกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในไทยมาระยะหนึ่งอยู่แล้ว พวกเขาจึงรู้ภาษาไทยดีจนแทบจะเป็นคนที่พูดทั้งสองภาษาได้อย่างคล่องแคล่วอยู่แล้ว

การที่ประเทศไทยไปตั้งเงื่อนไขให้พวกเขาต้องเรียนภาษาอังกฤษมาก่อนจึงเป็นเงื่อนไขที่ก่อภาระมากกว่าเอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานข้ามชาติ

 

ทางฝั่งเวียดนามเองก็มีเงื่อนไขที่นับว่าเป็นการปิดกั้นการมาทำงานในไทยของชาวเวียดนาม นักวิจัยทั้งสองชี้ว่า ทางการเวียดนามตั้งเงื่อนไขว่าหากชาวเวียดนามจะเดินทางมาประเทศไทย ก็จะต้องมีเอกสารเป็นหนังสือเชิญให้เดินทางมาประเทศไทยจากหน่วยงานในระเทศไทย

หรือหากเดินทางมาประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยว ก็จะต้องเดินทางมากับบริษัททัวร์และมีเอกสารทางการเงินแสดงรายได้ที่เพียงพอกับการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

นอกจากนั้น การเดินทางข้ามแดนจากเวียดนามมาไทยทางบกเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้อย่างเป็นทางการ

ต่อรายละเอียดเหล่านี้ ชวนให้ผมตั้งคำถามเลยไปกว่าที่หนังสือได้ตั้งไว้ดังที่ได้ถามไว้แต่ต้นข้อเขียนนี้ว่า เหตุใดชาวเวียดนามจึงยังยอมเสี่ยงภัย เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกประเทศในโลกต้องอิจฉากันขนาดนั้น

ผมลองคิดแทนชาวเวียดนามในท้องถิ่นต่างๆ ว่า หากผมเป็นพวกเขา ผมมีทางเลือกอะไรบ้าง

หากผมพยายามร่ำเรียนเพื่อพัฒนาทักษะตนเองให้สูงขึ้น นั่นคงเป็นทางเลือกที่น้อยคนจะทำได้ เพราะเราก็ยังเห็นอยู่ว่า ระดับการศึกษาของเวียดนามยังคงตามหลังสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะเหนือก็แต่กับเมียนมา กัมพูชา และลาว (https://hanoitimes.vn/vietnam-moves-up-five-spots-in-global-ranking-of-best-countries-for-education-320718.html)

หรือหากจะเลือกไปทำงานในประเทศไต้หวันหรือเกาหลีใต้ แน่นอนว่าพวกเขาจะได้รายได้สูงกว่ามาไทยมากนัก

หากแต่ก็ต้องลงทุนสูงในการเดินทาง การติดต่อหางานและการยกระดับคุณภาพแรงงานตนเอง

แต่หากผมจะเลือกไปหางานทำในเมืองใหญ่ที่มีแหล่งงาน ซึ่งก็มีอยู่หลายเมืองทั่วประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันของชาวเวียดนามในเมืองใหญ่นั้นอยู่ที่ 6,000-6,800 บาทต่อเดือน (https://www.timedoctor.com/blog/average-salary-in-vietnam/#salary-range) แทบไม่ได้แตกต่างกันนักกับระดับรายได้ขั้นต่ำในไทย

ในขณะที่ค่าครองชีพในเมืองใหญ่ๆ ในเวียดนามนั้นอาจจะต่ำกว่าไทยราว 15-17% ด้วยซ้ำ

ดังนั้น การที่พวกเขาเลือกเดินทางมาเสี่ยงในไทย ยังอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับหลายๆ คนที่มีต้นทุนสังคม คือมีเครือข่ายคนรู้จัก ญาติพี่น้อง ที่สามารถช่วยเหลือแนะนำลู่ทางได้

นอกจากนั้น ช่วยแก้ไขปัญหาหากถูกทางการไทยจับกุม ตลอดจนช่วยติดต่อกลับไปยังบ้านเกิดได้

และที่มากกว่านั้นคือ พวกเขามีโอกาสมีรายได้เสริมจากการค้าขายหลายๆ กิจการ จนทำให้มีรายได้มากกว่าการทำงานในประเทศเขาเองมากนัก

และทำให้สามารถตอบโจทย์ต่อเศรษฐกิจศีลธรรมขงจื้อได้ดีกว่า

 

แม้ว่างานวิจัยเล่มนี้จะศึกษากลุ่มชาวเวียดนามที่เข้ามาทำงานในไทยเพียงกลุ่มเดียว ก็สามารถทำให้เข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตแรงงานอพยพได้ไม่น้อยทีเดียว

หากจะมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ทำในลักษณะเดียวกัน แต่ศึกษาแรงงานอพยพชาวเวียดนามกลุ่มอื่นๆ เราก็จะสามารถเข้าใจชีวิตของแรงงานอพยพได้มากยิ่งขึ้น

และน่าจะมีส่วนช่วยให้เข้าใจปัญหาของนโยบายและหาทางแก้ปัญหาที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้แรงงานเองและผู้จ้างงานตลอดจนประเทศต้นทางและประเทศปลายทางได้มากขึ้น

ดีกว่าเพียงสนใจแต่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ที่รังแต่จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายมองไม่เห็นชีวิตเลือดเนื้อและคุณทางทางจิตวิญญาณของผู้คนแต่อย่างใด