กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (จบ)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (จบ)

 

ผลงานแปลสี่เล่มสุดท้ายของกิติมา อมรทัต ในตู้หนังสือ (ต่อ)

ยี่สิบสี่ดวงตา (ต่อ)

เป็นเรื่องราวของครูโออิชิ ครูสาวผู้ได้รับรู้ถึงความซื่อบริสุทธิ์ตามธรรมชาติของเด็กๆ นักเรียนของเธอที่แสนจะไร้เดียงสา ทำให้สายใยแห่งความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างครูกับศิษย์บังเกิดขึ้น และไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปตามสรรพสิ่งทั้งหลายภายนอก

ในขณะที่กาลเวลาผันผ่านไป ขวบปีที่เหมือนกับความฝัน ณ โรงเรียนในชนบทก็ถูกลมหนาวเย็นแห่งความเป็นจริงพัดกระเจิดกระเจิงไป จากความยากลำบากของชีวิตแสนเข็ญในชนบท ถูกบรรยากาศเร่าร้อนของไฟสงครามพัดกระหน่ำซ้ำลงมาอีก พวกเด็กๆ และครูของพวกเขาก็ตื่นขึ้นมาช้าๆ จากฝันอันบรรเจิด มาประสบกับโลกอันแข็งกร้าว เต็มไปด้วยเหตุการณ์อันโหดร้ายทารุณ…

นวนิยายเรื่องยี่สิบสี่ดวงตานี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาญี่ปุ่นในชื่อว่านิจิชิโนะฮิโตมิ เมื่อปี 1952 และกลายเป็นนวนิยายขายดีที่สุดไปในทันที หลังจากนั้นก็ได้รับการจัดทำเป็นภาพยนตร์ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างเกรียวกราว

นี่เป็นนวนิยายที่ยกย่องสันติภาพอย่างลึกซึ้ง โดยอาศัยความเกลียดชังสงครามเป็นพื้นฐาน ทว่า ความเรียบง่ายในการนำเสนอเช่นนี้เอง กลับยิ่งทำให้นวนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ จนบางครั้งเราถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ทีเดียว

โดยปกหลังของหนังสือโปรยเอาไว้ว่า ตลอดนวนิยายเรื่องนี้จะได้เห็นถึงสายใยแห่งความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างครูกับศิษย์ อันเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ภายในใจที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสรรพสิ่งทั้งหลายภายนอก…

ในขณะที่เด็กน้อยทั้งสิบสองคนนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ต่างก็ได้รับการทดสอบศีลธรรมในจิตใจของตนเอง ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะยังมิได้ถูกตัดสินออกมาก็ตามที…

เด็กหญิงหนึ่งในนั้นกลายเป็นโสเภณี แต่อีกคนกลับร่ำรวยขึ้นมาจากความเคราะห์ร้ายของผู้อื่น…นี่เป็นการทดสอบกระนั้นหรือ?

ในบรรยากาศอันร้อนเร่าของประเทศญี่ปุ่นซึ่งต้องแหลกสลายไปเพราะไฟสงคราม พวกเด็กผู้ชายถูกมอมเมาให้ไปเป็นทหาร จนไม่มีใครสมัครใจจะเป็นชาวประมงหรือช่างไม้ผู้สัตย์ซื่ออีกต่อไป

ชีวิตมนุษย์กลับเปรียบเหมือนดอกเชอร์รี่ และพวกเด็กๆ กลับถูกสอนให้เชื่อว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดและเกียรตินิรันดร์สำหรับเด็กหนุ่มๆ นั้น ก็คือการตายในสงคราม…?

 

3. ฆาตกรรมนางแบบ

กิติมา อมรทัต แปลจากต้นฉบับ Doll ของ Ed Mcbain โดยใช้ชื่อในการแปลว่ากิติยากร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณกิจ ที่บอกเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นเอกลักษณ์หนังสือดีของสำนักพิมพ์

ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้บอกถึงเรื่องราวการฆาตกรรมนางแบบเอาไว้ว่า

นางแบบสาวสวยถูกฆาตกรรม…สาเหตุมืดมน ตำรวจมือดีต้องออกสอบสวน เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด

เหตุการณ์สยองขวัญถูกเปิดเผยขึ้น…เงื่อนปมของการฆาตกรรมขึ้นอยู่กับ…ความสยองขวัญ ตื่นเต้นจากผู้เขียน

กิติยากร…ได้บรรจงถอดความอย่างประณีต

 

4. เงาอดีต

กิติมา อมรทัต แปลจากงานของอัตติยา ฮุสเซน จากต้นฉบับ Sunlight on a Broken Column โครงการจัดพิมพ์คบไฟ 2543 ความยาว 362 หน้า ราคา 150 บาท

กิติมา อมรทัต มอบให้ผมกับภรรยาไว้อ่านเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี 2543 โดยกล่าวว่า ให้มะห์-นิง ไว้อ่านเล่นยามคิดถึงอินตระเดีย ลงชื่อ กิติมา 8 มีนา 43

เป็นนวนิยายที่กิติมา อมรทัต ถ่ายทอดอดีตอันงดงามและมีเสน่ห์ ซึ่งแฝงความขมขื่นไว้ด้วยถ้อยคำที่กิติมาได้ถ่ายทอดจากอัตติยา ฮุสเซน โดยเฉพาะจากบางช่วงของนวนิยายเรื่องนี้เอาไว้อย่างมีสุนทรียภาพว่า

ในประเทศอินเดียนั้น อดีตไม่เคยสูญสิ้นไป แม้กระทั่งจะกลายรูปเป็นผีปีศาจไปก็ยังไม่เคย อดีตยังมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง-เห็นได้ชัดๆ มีตัวมีตน สามารถสัมผัสได้ มีทั้งสิ่งปรักหักพัง มีทั้งอนุสาวรีย์ต่างๆ เกลื่อนกลาดอยู่ตามถนน กีดขวางทางจราจร สร้างเกาะแปลกๆ ขึ้นในความทันสมัยของเมือง ไม่มีใครกลัวมันหรือหลีกเลี่ยงมัน ฝูงแพะฝูงวัวไปเล็มหญ้าอยู่รอบๆ มัน คนยากจนเอาเชือกและผ้าขี้ริ้วผูกไว้กับมันแล้วเปลี่ยนมันให้เป็นที่พำนัก เหล่าผู้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและคนแจกใบปลิวโฆษณาภาพยนตร์เอาใบปลิวมาติดไว้ที่มัน

ดังนั้น อดีตเหล่านี้จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันนี้ไป

อดีตเกาะอยู่ในแบบอื่นๆ อีกด้วย เหนียวเหมือนกับกาวหรือน้ำหวาน กลายเป็นขนบธรรมเนียม กลายเป็นประเพณี “ทำไมเธอถึงต้องเขียนจุดติลกะไว้บนหน้าผากของลูกน้อยของเธอด้วย?” “ทำไมเธอต้องทรุดกายลงแทบเท้าบิดาของเธอแล้วเอาหน้าผากแตะพื้นดิน?” ทำไมผู้หญิงจึงต้องอดอาหารในวันโน้นวันนี้ด้วย?” “ทำไมจึงต้องไปอาบน้ำในแม่น้ำในระหว่างที่มีอุปราคา?” “ทำไมเจ้าบ่าวจึงต้องขี่ม้ามาและต้องถือดาบมาด้วย?”

มันเป็นขนบธรรมเนียม เป็นประเพณี ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรไปมากกว่านี้ มันเคยเป็นมาอย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้นต่อไป

ถ้าเกิดมีการละเมิดขนบธรรมเนียมขึ้นเล่าแล้ว “จะเกิดอะไรขึ้น?” ต้องเกิดอะไรๆ ที่น่ากลัวเกินกว่าจะกล่าวถึงความตกต่ำของครอบครัว ของสังคม ของศาสนา ของมาตุภูมิคือประเทศอินเดียเองทีเดียว

ดังนั้น ผู้หญิงก็จะแต้มจุดติลกะไว้บนหน้าผากของลูกน้อยของเธอ ชายหนุ่มแตะเท้าผู้อาวุโส การแต่งงานต้องเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้เป็นพ่อแม่เท่านั้น แต่ต้องเป็นที่ยอมรับของหมอดูด้วย… ดังนั้น ชีวิตจึงมีต่อไปตามกฎเกณฑ์ของมัน กฎเกณฑ์ที่กาลเวลาเป็นผู้กำหนดไว้ กาลเวลานับร้อยๆ ปีทีเดียว

แน่ละ กาลเวลาก็เคลื่อนไปในทิศทางอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุบุกรุกเข้ามาในบ้าน ส่าหรีถูกยกเลิกไปมีกางเกงยีนส์มาแทนที่ หมอดูแก่ๆ ถูกหัวเราะเยาะ และพระก็ถูกหลบเลี่ยง อดีตถูกเย้ยหยัน แต่มันก็ยังคงอยู่ มันคงอยู่ต่อไปเหมือนกับสีผิวและสีนัยน์ตาของใครสักคน

มันไม่สามารถหมดไปได้

 

นวนิยายและรวมเรื่องสั้นของอัตติยา ฮุสเซน คืออนุสรณ์แห่งอดีตนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของอินเดียภาคเหนือก่อนการแบ่งแยกประเทศ เป็นอนุสาวรีย์ที่ทำให้นึกถึงหินปักหลุมศพเก่าแก่ เยือกเย็นและไม่เปลี่ยนรูป

แต่หนังสือของเธอไม่ใช่อย่างนั้น มันละเอียดบอบบางและอ่อนละมุนเหมือนกับต้นหญ้าที่เพิ่งผลิใบ พริ้มไปด้วยชีวิตและการเริงเล่นของแสงแดดและสายฝน

การอ่านหนังสือของเธอเปรียบเหมือนกับเราได้แหวกม่านหรือเปิดประตูออก และร่อนเร่เข้าไปสู่อดีตกาล

นั่นแหละคือเสน่ห์และความสำคัญของหนังสือเหล่านั้น การได้อ่านหนังสือเหล่านั้นก็เหมือนกับได้เอาส่าหรีที่แม่ของเราสวมในวันวิวาห์มาห่อหุ้มตัวเราไว้

เหมือนกับได้หยิบเพชรประจำตระกูลออกมาจากกล่องซีดๆ และชมเชยประกายวับวาวของเพชรนั้น

เหมือนกับได้สูดกลิ่นชะมดเชียงของผ้าแพรเก่าๆ ในหีบไม้การบูร ด้วยเหตุที่เกือบจะลืมสีสันและกลิ่นเหล่านั้นเสียหมดแล้ว

เราจะนึกสงสัยว่าเราจะทนมันได้หรือเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ผู้อ่านคงจะแอบหัวเราะอย่างรู้สึกผิดและแอบคิดว่า “จริงๆ รึ? มันเป็นอย่างนี้ยังงั้นหรือ? มันจะต้องน่าหลงใหล? มีเสน่ห์? ร้ายกาจ? หรือว่าเป็นไปไม่ได้?”

ส่วนประกอบที่แน่นอนของสิ่งที่บัดนี้เป็นการยากที่จะทำให้แลเห็นอดีตได้นั้นคืออะไร? สำหรับอัตติยา ฮุสเซน มันคือประเทศที่มิได้ถูกแบ่งแยก ซึ่งชาวมุสลิมและชาวฮินดูฉลองงานนักขัตฤกษ์อันเดียวกันและทำการสักการะในสักการสถานแห่งเดียวกัน

ในตอนนั้นสังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป มันหยุดนิ่งและเป็นสังคมระบบศักดินา การที่จะได้รู้ว่าระบบศักดินาหมายถึงอะไรนั้น เราจะต้องอ่านเรื่อง Sunlight on a Broken Column (เงาอดีต) หรือ Phoenix Fled (เสือดาวสีขาว) และต้องเรียนรู้ว่ามันถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ที่ดินเป็นของเจ้าที่ดินที่ร่ำรวยได้อย่างไร

พวกชาวไร่ชาวนาทำงานในที่ดินอย่างไร มีการขู่เข็ญบังคับเอาอะไรจากพวกเขา และมีการทำอะไรให้พวกเขาหรือเพื่อพวกเขาเป็นการตอบแทน

พวกผู้หญิงอยู่ในส่วนของบ้านที่แยกออกไปอย่างสันโดษ และได้รับการปกป้องอย่างหวงแหนจากญาติๆ ผู้ชายของพวกเธออย่างไร และพวกเธอมีอำนาจอะไรหรือเปล่า จะต้องแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษของพวกเขา ต่อพวกคนชั้นสูงและต่อพวกพระผู้ซึ่งสามารถเลือกที่จะใช้ประโยชน์หรือรังควานผู้ต้องพึ่งพิงพวกตนอย่างไร

หรือว่าพระเหล่านั้นมีจิตใจดีงาม คอยปกป้องคุ้มครองและถนอมกล่อมเกลี้ยงพวกเขา

บาปที่มิอาจให้อภัยได้อย่างหนึ่งก็คือการทำให้การปกครองโดยลำดับชั้นนี้และความมั่นคงของมันสั่นคลอนไปนั้นเป็นอย่างไร และมีแต่เพียงผู้ที่มีชีวิตอยู่ตามกฎเกณฑ์ของมันเท่านั้นจึงจะรอดชีวิตอยู่ได้

 

แม้ว่าทั้งกิติมา (ดร.กิติมา อมรทัต) และไรน่าน (ดร.ไรน่าน อรุณรังษี) จะอำลาโลกนี้ไปแล้ว แต่ผลงานด้านการเขียน (การแปลงานวรรณกรรม กวีนิพนธ์ ปรัชญาอิสลามและการเมืองระหว่างประเทศ) ยังคงอยู่คู่กับห้องสมุดและตลาดหนังสือทั่วไป รวมทั้งตลาดหนังสือมุสลิม

ทั้งกิติมา อมรทัต และไรน่าน อรุณรังษี มีช่วงชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ทั้งคู่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยไรน่านเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาก่อน ก่อนที่จะผันชีวิตไปเป็นนักการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

ส่วนกิติมาซึ่งเป็นสถาปนิกและนักแปลก็เป็นอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน ก่อนที่จะยึดอาชีพการแปลในช่วงท้ายๆ ของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเรียนจบคณะศึกษาศาสตร์และตะวันออกกลางศึกษาในประเทศอินเดียในระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก โดยได้รับทุนจากรัฐบาลอินเดีย

ส่วนไรน่านเองก็จบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันในระดับปริญญาโท ด้านรัฐศาสตร์ และมาจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ด้านปรัชญา

สำหรับสังคมมุสลิมทั้งไรน่าน และกิติมามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอความรู้เรื่องโลกมุสลิมและความรู้ด้านปรัชญาอิสลามจวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต