ดูความเหลื่อมล้ำโลกจากกราฟช้าง (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ดูความเหลื่อมล้ำโลกจากกราฟช้าง (1)

 

บรังโก มิลาโนวิช เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเซิร์บชื่อดัง เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลก เขาเคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์แกนนำ (lead economist) ในฝ่ายวิจัยของธนาคารโลก ก่อนจะมาเป็นนักวิจัยและอาจารย์ในสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาและยุโรปหลายแห่ง

ผลงานหนังสือของเขาได้แก่ Worlds Apart: Measuring International and Global Inequality (2005), The Haves and the Have-Nots (2011), Global inequality : A New Approach for the Age of Globalization (2016) และล่าสุด Capitalism, Alone : The Future of the System that Rules the World (2019)

มิลาโนวิชดังระเบิดจากข้อค้นพบเรื่อง “กราฟช้าง” (elephant chart) ในบทความวิจัยเชิงนโยบายที่เขาเขียนร่วมกับ Christoph Lakner เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์สังกัดทีมความยากจนและเหลื่อมล้ำ กลุ่มวิจัยการพัฒนาแห่งธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคมปี 2013 เรื่อง “Global Income Distribution : From the Fall of the Berlin Wall to the Great Recession”

(การกระจายรายได้โลก : จากกำแพงเบอร์ลินถล่มถึงเศรษฐกิจถดถอยใหญ่, https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/16935)

Branko Milanovic & กราฟช้างอันโด่งดังจากบทความที่เขาร่วมเขียนเมื่อปี 2013

กราฟช้าง – ซึ่งได้สมญานามเช่นนั้นเพราะเมื่อพล็อตจุดตามตัวเลขสถิติและลากเส้นเชื่อมต่อแล้ว เผอิญดูเหมือนด้านข้างของลำตัว หัวและงวงช้าง – มุ่งแสดงว่ารายได้จริงเฉลี่ยต่อหัวของประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นโดยสัมพัทธ์อย่างไรบ้าง (คิดเป็นร้อยละตามแกนตั้ง) เมื่อจำแนกกลุ่มประชากรโลกตามระดับรายได้ (จากจนที่สุดในโลกที่ 0 –> ถึงรวยที่สุดในโลกที่ 100 ตามแกนนอน) ในชั่วเวลา 20 ปีจาก 1988-2008 อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ระดับสูง (high globalisation)

ภายใต้อำนาจนำของนโยบายเสรีนิยมใหม่ นับแต่ค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงในทศวรรษ 1980s ไปจนถึงวิกฤตการเงินซับไพรม์ทั่วโลกปะทุในปี 2008

เพื่อดูว่าในที่สุดแล้วใครได้ใครเสียจากโลกาภิวัตน์? กลุ่มคนทั่วโลกที่รวยจนแตกต่างเหลื่อมล้ำกันแต่ละกลุ่มมีรายได้ดอกผลงอกเงยเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนเพียงใดในช่วงยี่สิบปีภายใต้ระบอบนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่?

มิลาโนวิชพบว่าพวกจนที่สุดในโลก (ผู้มีระดับรายได้ต่ำสุด 0-20% ของประชากรโลกตามแกนนอน/หางช้าง) รายได้เพิ่มขึ้นไม่เท่าไหร่ เหมือนถูกปิดล็อกกันออกไปจากดอกผลของความเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างของโลก (ผู้มีรายได้ระหว่างระดับที่ 20-70% ของประชากรโลกตามแกนนอน/ลำตัวและหัวช้าง) มีรายได้เพิ่มขึ้นพอสมควร ซึ่งก็คือผู้คนพลเมืองในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ของโลกโดยเฉพาะในเอเชียและที่โดดเด่นกว่าเพื่อนคือจีนนั่นเอง

ส่งผลให้จีนแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังไปเป็นอันมากในช่วงดังกล่าว ความที่เป็นเสมือนกลายเป็นแหล่งโรงงานหัตถอุตสาหกรรมส่งออกของโลก คนชั้นกลางจีนเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นมาในช่วง 20 ปีนี้เองรวมทั้งคนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศรายได้ปานกลางอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย

ดังปรากฏข้อมูลสถิติจากการประเมินของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศสหรัฐว่าคนชั้นกลางจีน (นิยามที่ผู้มีรายได้ระหว่าง 10-50 US$/วัน) ขยายพองโตขึ้นมหึมาจากแค่ 39.1 ล้านคน หรือ 3.1% ของประชากรจีนทั้งหมดเมื่อปี 2000 ไปเป็น –> ราว 707 ล้านคน หรือ 50.8% ของประชากรจีนทั้งหมดในปี 2018 (https://chinapower.csis.org/china-middle-class/)

แต่ขณะเดียวกันพวกคนชั้นกลางระดับบนของโลก (ผู้มีรายได้ระหว่างระดับที่ 70-90% ของประชากรโลกตามแกนนอน/โคนงวงช้างที่ห้อยตกลงดิน) หรือนัยหนึ่งคนชั้นกลางระดับล่างในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นเอง กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราลดน้อยถอยลงจนต่ำเตี้ยเรี่ยพื้น…

…ขอให้นึกถึงบรรดาคนงานรายได้ค่อนข้างสูงสวัสดิการค่อนข้างดีในอเมริกาและยุโรปที่กลับต้องตกงาน เปลี่ยนงานและรายได้ลดลงในหัตถอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งพากันย้ายฐานการผลิตไปแหล่งแรงงานราคาถูกที่อื่น เช่น เม็กซิโก เอเชียอาคเนย์ เอเชียใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน

ตั้งแต่ผลิตเครื่องประดับตกแต่งเทศกาลคริสต์มาส ของเล่น รองเท้ากีฬา เฟอร์นิเจอร์และรถยนต์ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและเซมิคอนดักเตอร์หรือไมโครชิพ

ทำให้เมืองที่เคยเป็นศูนย์อุตสาหกรรมเดิมอันรุ่งเรืองเฟื่องฟูกลับถดถอยตกต่ำทรุดโทรมลงแทบกลายเป็นเมืองร้างเนื่องจากการโละเลิกอุตสาหกรรมหรือ deindustrialization เช่น ดีทรอยต์ที่เคยเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกาต้องประสบภาวะธุรกิจโรงงานร้านรวงปิดตัว

ประชากรเมืองลดลงเนื่องจากย้ายถิ่นไปหางานทำที่อื่นถึง 61.4% จากปี 1950-2010 และพอถึงปี 2012 ดีทรอยต์ก็หดตัว โดยพื้นที่เมืองรกร้างว่างเปล่าเกือบหนึ่งในสามคือ 40 ตารางไมล์ จากทั้งสิ้น 139 ตารางไมล์ จนเทศบาลดีทรอยต์มีอันล้มละลายลงในปี 2013 เป็นต้น

และเมืองอเมริกันอื่นๆ เช่น พิตต์สเบิร์ก, เซนต์หลุยส์, คลีฟแลนด์ ก็ประสบปัญหาทำนองเดียวกัน (https://economyleague.org/providing-insight/leadingindicators/2022/07/27/detroitshrinkingcity)

 

ส่วนพวกรวยที่สุดในโลก (ผู้มีระดับรายได้ระหว่าง 90-100% ของประชากรโลก/ปลายงวงช้างที่ชูสูงชี้ฟ้า) กลับมีรายได้เพิ่มพุ่งพรวดขึ้นไปในรอบยี่สิบปีนั้น เรียกว่าอภิมหารวยอู้ฟู่ขึ้นเกินอิ่ม

ผลลัพธ์จากแบบแผนการกระจายรายได้ระดับโลกที่เปลี่ยนโฉมไปในรอบ 20 ปีดังกล่าวก็คือกบฏทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในประเทศทุนนิยมตะวันตกที่พัฒนาแล้วต่อการจัดระเบียบอำนาจเศรษฐกิจดังที่เป็นอยู่ซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์โภชผลแก่พวกตนดังที่คาดหวัง

ดังปะทุระเบิดออกมาเป็นปรากฏการณ์ประชานิยม-ชาตินิยมฝ่ายขวาสะเทือนโลกในรูปประชามติเบร็กซิทของสหราชอาณาจักรในปี 2016 และการชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2017

ด้วยคำขวัญและแนวนโยบายชาตินิยมอเมริกันซึ่งสวนทวนโลกาภิวัตน์ว่า “America First” (อเมริกาต้องมาก่อน) และ “Make America Great Again” (MAGA, ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง)

กลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างในประเทศทุนนิยมพัฒนาตะวันตกซึ่งอยู่ตรงระดับรายได้ 70-90% ของโลก/โคนงวงช้างที่ห้อยตกลงในกราฟช้าง (ดูวงกลมสีดำในกราฟข้างบน) นี่แหละคือฐานเสียงประชานิยม-ชาตินิยมฝ่ายขวาให้แก่เบร็กซิทและโดนัลด์ ทรัมป์!