เสียงเพรียกจากสังคม 2566 ได้เวลาปฏิรูปกองทัพแล้ว!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การปฏิรูปทางทหารที่มีความหมายอย่างแท้จริงนั้น ต้องการมากกว่าเพียงคำพูด หากต้องการวิสัยทัศน์ การดำเนินการ และความมุ่งมั่น”

Winslow T. Wheeler and Lawrence J. Korb (2009)

 

เสียงเรียกร้องให้เกิดการ “ปฏิรูปกองทัพไทย” ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดในสังคมไทยอย่างแน่นอน…

การเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพมีมาตั้งแต่สงครามเย็นยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย และเสียงเช่นนี้ดังมากขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น เพราะความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านความมั่นคง ที่สังคมไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางทหารในแบบเดิมอีกต่อไป

ซึ่งผลจากการยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยในปี 2526 จึงทำให้เกิดข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพในทางการทหาร

นอกจากนี้ ในอีกด้านของปัญหา การใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องทางการเมืองในเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธิปไตย” ในปี 2535

แต่ผลจากการใช้กำลังปราบปรามประชาชนครั้งนั้น กลับทำให้กองทัพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมือง และตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพในทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องเหล่านี้ค่อยๆ เงียบลง และจางหายไปกับกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทย และกองทัพก็ไม่ได้เกิดการปฏิรูปแต่อย่างใด

แต่ในที่สุดแล้วเมื่อมาถึงปัจจุบัน เสียงร้องหาการปฏิรูปกองทัพก็หวนคืนกลับมาดังอีกครั้งในสังคมไทย…

 

จุดเริ่มต้น

หลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 กองทัพกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก แต่เป็นความสนใจที่เกิดจากบทบาทในทางลบ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อบทบาททางการเมืองของกองทัพ และตามมาด้วยข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพ จนกลายเป็นแรงกดดันอย่างมากโดยตรงต่อสถาบันทหารอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

อีกทั้งบทบาทในทางลบของผู้นำทหารในเรื่องต่างๆ ล้วนทำให้ทั้งกองทัพตกเป็น “จำเลยสังคม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแทรกแซงทางการเมือง การจัดซื้อยุทโธปกรณ์มูลค่าสูง

ตลอดรวมถึงการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง และการดำเนินการในเรื่องของ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” ที่ถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือ “ไอโอ” ที่มีทำให้กองทัพถูกวิจารณ์ในฐานะของการเป็น “คู่ขัดแย้ง” ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

ผลสืบเนื่องจากบทบาทเหล่านี้ทำให้เสียงเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพดังขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มว่า เสียงเรียกร้องในเรื่องนี้จะดังอย่างต่อเนื่อง และดังไม่หยุดด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นจากบทบาททหารเช่นนี้ย่อมทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพเป็นกระแสที่หยุดยั้งไม่ได้ในอนาคต

แน่นอนว่า เสียงเรียกร้องเช่นนี้เป็น “ความท้าทาย” ต่อผู้นำทหารโดยตรง ผู้นำกองทัพไทยอาจจะปกป้องตัวเองด้วยการอยู่ในโลกแคบๆ ของทหารที่เชื่อว่า กองทัพไทยอยู่ได้โดยไม่ปฏิรูป และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กองทัพไทยก็จะไม่ปฏิรูป โดยเฉพาะการมีความเชื่อพื้นฐานว่า กองทัพไทยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ดีแล้ว… สมบูรณ์แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปใดๆ ทั้งสิ้น หรือความเชื่อในแบบสำนวนตะวันตกว่า “ไม่เสีย อย่าซ่อม”… “If it’s not broken, don’t fix it.”

ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นในมิติยุทธศาสตร์ทหาร หรือในมิติการเมืองใดๆ ก็ไม่อาจเป็นแรงกดดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ เช่น การสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลก การมาของสงครามชุดใหม่หลังสงครามเย็นคือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือแม้กระทั่งการยุติของสงความคอมมิวนิสต์ในไทยเอง

ซึ่งน่าสนใจว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีผลต่อการปรับตัวของกองทัพไทยแต่อย่างใด

ผลเช่นนี้ต่างอย่างมากจากสิ่งที่เกิดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นที่เห็นสัญญาณตั้งแต่ปี 2532/33 หรือการกำเนิดสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายกองทัพต้องปรับตัว แม้กองทัพจีนยังต้องปรับตัวในยุคหลังสงครามอ่าว โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการปรับตัวของกองทัพในโลกตะวันตก

เราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า ไม่มีกองทัพใดในโลกตะวันตกที่ไม่ปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคหลังสงครามเย็น

แต่กองทัพไทยกลับดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง และการไม่ยอมปรับตัวเช่นนี้ยังไปสอดรับได้อย่างดีกับบทบาททางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า กองทัพไทยทำรัฐประหารจากยุคหลังสงครามเย็นจนถึงการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นจำนวน 3 ครั้ง คือ รัฐประหาร 2534, 2549 และ 2557

แม้จะมีชัยชนะจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535 เป็น “ตัวคั่น” อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียง “ชัยชนะชั่วคราว” เท่านั้น และไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างที่ขบวนประชาธิปไตยไทยคาดหวัง เพราะในปี 2549 รัฐประหารก็หวนกลับคืนอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ

กองทัพไทยอาจจะพาตนเองผ่านแรงกดดันของปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของยุทธศาสตร์ทหารมาได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งเมื่อเข้ามาเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมืองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 แล้ว ความรู้สึกถึงความจำเป็นที่ผู้นำทหารจะต้องดำเนินการปฏิรูปกองทัพ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำกองทัพไม่อาจคาดคิดได้ คือพลวัตทางสังคมการเมืองอันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งจากกระแสโลก และจากกระแสภายใน

ซึ่งผลจากพลวัตเช่นนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของกองทัพลดน้อยลง หรือกล่าวได้ว่าสังคมไทยมีมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้นว่า กองทัพไม่มี “เครดิต” ทางการเมือง และคนหลายส่วนในสังคมไม่ให้ความเชื่อมั่น

 

เงื่อนไขปัจจุบัน

หากทดลองสำรวจ เราอาจจะเห็นถึงปัญหาสะสมและพอกพูนหลายประการที่เป็นเหตุให้สังคมไทยต้องการเห็นการปฏิรูปกองทัพอย่างแท้จริง (ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จัดเรียงตามลำดับความสำคัญและ/หรือความเร่งด่วนของปัญหา แต่เป็นการนำเสนอปัญหาในภาพรวม) ได้แก่

1) ปัญหาการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ไม่มีความชัดเจนว่า เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของการฝึกทางทหาร หรือเกิดจากเรื่องอื่นในทางทหาร และครอบครัวของทหารเหล่านี้ไม่ยอมจำนนที่จะเก็บเรื่องเหล่านี้เอาไว้ และออกมาสู่สังคมในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกหลานของพวกเขา

2) ปัญหาการใช้ทหารเกณฑ์ที่ไม่ใช่ในภารกิจทางทหาร เช่น การถูกนำไปใช้ในการทำงานในครัวเรือน หรืองานอื่นๆ หรือถูกส่งไปทำหน้าที่เป็นทหารรับใช้ให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และเป็นประเด็นที่สังคมรับไม่ได้ เพราะเป็นการสร้าง “อภิสิทธิ์ทางทหาร” ให้กับคนบางกลุ่ม

3) ปัญหาเสนาพาณิชยนิยม (Military Commercialism) ที่เป็นตัวอย่างจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่โคราช และนำไปสู่การเปิดเผยผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสนามกอล์ฟ สนามมวย ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น และสะท้อนให้เห็นเห็นถึงการแสวงหาผลประโยชน์ภายในของนายทหารบางส่วนอย่างไม่โปร่งใส

4) ปัญหาการบรรจุกำลังพลของหน่วยที่ต้องทำงานในสนาม ซึ่งตัวเลขการบรรจุเป็นแบบยอดเต็ม แต่ตัวเลขกำลังพลจริงในสนามกลับไม่ครบตามจำนวน หรือที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์ “ทหารผี” ในงานสนาม และทหารผีเหล่านี้ได้สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้แก่นายทหารบางคน

5) การแสวงหาสิทธิประโยชน์โดยไม่ถูกต้องภายในกองทัพ หรือในงานสนาม เช่น ตัวบุคคลอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไปรับผลประโยชน์เช่นขั้นทวีคูณและเงินค่าเสี่ยงภัยจากงานสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งการแสวงหาผลประเทศในด้านอื่นๆ ของนายทหารในกองทัพ โดยอาศัยสถานะของตำแหน่งหน้าที่ในกองทัพเป็นเครื่องมือ

6) ปัญหา “งบลับ” ที่ต้องการการตรวจสอบ ซึ่งไม่มีความชัดเจนในการใช้ทางด้านงบประมาณ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

7) ปัญหางบประมาณทหารที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศจะมีวิกฤตเพียงใด แต่การปรับลดงบประมาณนี้เป็นไปได้ยากมาก ทั้งการตรวจสอบการใช้งบประมาณทหารเป็นสิ่งที่ทำได้ยากด้วย จนองค์กรทหารกลายเป็นสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้จริง

8) ปัญหา “การจัดซื้อจัดหา” ยุทโธปกรณ์มูลค่าสูง ซึ่งสังคมมีความรู้สึกว่า การจัดซื้อที่เกิดขึ้นเป็นปัญหา “ความอื้อฉาวด้านอาวุธ” (Arms Scandal) และสังคมอาจมีความเห็นที่แตกต่างและไม่ตอบรับกับข้อเสนอของผู้นำทหารที่จะต้องซื้อระบบอาวุธที่มีมูลค่าสูงเหล่านั้น เช่น กรณีเรือดำน้ำ หรือเครื่องบินรบเอฟ-35 เป็นต้น

9) ปัญหา “การจัดซ่อมจัดจ้าง” ซึ่งเป็นปัญหาอีกส่วนของการจัดการระบบยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ และสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ภายในกองทัพ ซึ่งกรณีเรือรบหลวงสุโขทัยอาจเป็นอีกภาพสะท้อนของปัญหากองทัพที่ต้องการการปฏิรูป

10) ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง การปฏิรูปกองทัพส่วนหนึ่งจึงต้องจัดทำการโยกย้ายทหารให้มีความเป็น “merit system” และอิงอยู่กับ “แนวทางการรับราชการ” (career path) ของนายทหารแต่ละนาย

11) การขยายบทบาทของกองทัพผ่านองค์กรอย่าง “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ทำให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในสังคมอย่างกว้างขวาง หรือเป็นการขยายบทบาททางการเมืองอย่างชอบธรรมด้วยการออกกฎหมายรองรับต่อสถานะของ กอ.รมน. ในโครงสร้างของระบบราชการ อันเป็นการขยายบทบาททหารผ่านระบบราชการในภาวะปกติ

12) การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของทหาร โดยเฉพาะบทบาทในเรื่องของปฏิบัติการผ่านสื่อโซเชียล หรือที่เรียกว่า “ไอโอ” และกองทัพถูกดึงเข้าเป็น “คู่ขัดแย้ง” โดยตรงในทางการเมือง

13) การแสดงบทบาททางการเมืองของผู้นำทหาร และการนำเอากองทัพไปทำหน้าที่เป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” ให้แก่รัฐบาลทหารและรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ทำให้สถานะของกองทัพติดกับในวังวนทางการเมือง อันทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพเพื่อยุติบทบาททางการเมือง

14) ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงทางทหารของโลกและภูมิภาค ทำให้เกิดข้อพิจารณาถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกองทัพไทยให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน

 

ถึงเวลาแล้ว!

ฉะนั้น ไม่ว่าผู้นำทหารจะยอมรับต่อแรงกดดันทางสังคมเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่เสียงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกองทัพจะดังไม่หยุด… ถึงเวลาต้อง “ผ่าตัด” กองทัพไทยเพื่อรักษา “สถาบันทหาร”…

ถึงเวลาต้องพากองทัพออกจากวังวนของการต่อสู้ทางการเมืองและการแสวงหาผลประโยชน์…

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปกองทัพไทย เพื่อให้กองทัพไทยเป็น “สถาบันทหารอาชีพ” ของสังคมไทย และเป็น “กองทัพแห่งชาติ” ของรัฐไทย!