สนาม กทม.แข่งเดือด ทุกพรรคระดมขุนพลลุย หวังปักธง ส.ส.

ทุกพรรคตอนนี้หันมาล็อกเป้าชิง กทม. เร่งเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.-นโยบาย ซื้อใจ พรรครัฐบาลมีหนาว ก้าวไกลประกาศปักธงส้ม-เพื่อไทยพร้อมทำเพื่อคนกรุง มี ส.ก.เดินหน้าลุยทำพื้นที่

อายุขัยของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ดังนั้น คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หรือหากสภาสิ้นสภาพด้วยเหตุยุบสภา จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใช้บังคับ

หมายความว่า การเลือกตั้งครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และนำนโยบายออกมาเปิดท้ายเร่ขายของ มีโปรโมชั่นอะไรก็นำมาจัดหนักจัดเต็ม ลดแลกแจกแถม เลือกพรรคเราแล้วประชาชนมีแต่ได้

แม้กฎหมายลูก 2 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา

แต่ก็มีความชัดเจนแล้วว่ากติกาเลือกตั้งครั้งหน้ามี ส.ส.เขต 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน หมายความว่าการเพิ่มแต้มให้กับพรรคการเมืองของตัวเองคือการชนะเลือกตั้งระดับเขต พรรคการเมืองต่างๆ จึงต้องเร่งลงพื้นที่

ส.ส.เดิมก็ต้องทำทุกทางเพื่อรักษาตำแหน่งผู้แทนราษฎรไว้ให้มั่น

 

สําหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น สนามที่น่าจับตามองมากสนามหนึ่งคือ กทม. ที่มีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมาเบ็ดเสร็จ 33 เขต เท่ากับว่าจะมี ส.ส.จากพื้นที่นี้ถึง 33 คน พรรคการเมืองที่พอจะสูสีคู่คี่พอฟัดพอเหวี่ยงกันได้มีประมาณ 6-7 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคไทยสร้างไทย ที่อยู่ระหว่างดีลควบรวมกับพรรคสร้างอนาคตไทย

โดยในครั้งนี้ค่ายเซาะกราว อย่างพรรคภูมิใจไทย ก็ขอบุกตีตลาดเมืองหลวง หวังชิงเก้าอี้ ส.ส.กับเขาบ้าง

ดังที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่เขตห้วยขวาง กทม. เมื่อวันที่ 22 มกราคม ว่า “ได้รับการตอบรับจากประชาชนดี ประชาชนชื่นชอบในนโยบาย จากนี้จะลงไปทุกพื้นที่ใน กทม. เราตั้งใจจะส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม.ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราคาดหวังจากทุกเขต แต่ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ทั้งนโยบายพรรค ความขยันและความนิยมของผู้สมัคร ยืนยันจะทำให้ดีที่สุด” และย้ำว่า “ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน”

ความตั้งใจจริงของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏผ่านการแต่งตั้ง “บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เคยเป็นหัวหอก กทม.ให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นผู้นำพาพรรคภูมิใจไทยชิงแชมป์ กทม.

เสนอนโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ ‘ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7’ เพื่อแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ

ตอกย้ำแนวทาง ‘ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ’ โดยยึดหลักการ ‘เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส’

 

ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค นำเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 4 ภาค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. รวมทั้งสิ้น 71 คน แบ่งเป็นในต่างจังหวัด 43 คน และ กทม. 28 คน พร้อมกับการเปิดตัว “สกลธี ภัททิยกุล” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่จะรับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. เน้นการสานต่อนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน โดยเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 700 บาท ‘ทันที’ หากได้เป็นรัฐบาล

จนสร้างเสียงฮือ กระหึ่มไปถึงคนบนตึกไทยคู่ฟ้า ต้องส่งสารออกมารีบเกทับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างหากที่เป็นผู้ริเริ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โมเมนตัมหน่วงหนักสำหรับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากัดฟันพูดท่ามกลางวิกฤตเลือดไหล และปฏิบัติการกอบกู้ศักดิ์ศรี

ลบครหา ‘ปชป.สูญพันธุ์’ ให้ได้ มีนโยบายในการ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” เข้าสู้

 

ส่วนฝากจากพรรคฝ่ายค้าน ที่โกย ส.ก.จากสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปได้เกือบหมด อย่างพรรคเพื่อไทย มี “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” ประธานที่ปรึกษาประธานสภากรุงเทพมหานครด้านการเมือง และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ถือธงนำ

โดยมีความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะดูแลพี่น้องประชาชน กทม. คู่ขนานกันไประหว่าง ส.ส. และ ส.ก. เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

ตีคู่มากับพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า “จากการลงพื้นที่ กทม.อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่บางกะปิ พื้นที่ฝั่งธนบุรี และเยาวราช ถือว่าน่าพอใจมาก ประชาชนตอบรับและให้กำลังใจอย่างอบอุ่น”

“ทำให้ยิ่งเชื่อมั่นว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เรามีโอกาสชนะทั้ง 33 เขต เปลี่ยน กทม.เป็นสีส้มได้”

 

นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม มีความชัดเจนว่าจะยืนหนึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ‘ยอม’ ก้าวเท้าข้ามเส้นเป็น ‘นักการเมืองเต็มตัว’ เพื่อกลับมาเป็นนายกฯ สมัย 3

เหมือนจะหยิบชิ้นปลามันกลืนลงคอไปได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายก็ต้องมาล้มหัวคะมำจากคนใกล้ตัวอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อวยพรให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แยกทางออกไปประสบความสำเร็จกับเส้นทางที่เลือก แต่เมื่อเป็นคู่แข่งกันแล้วก็ไม่มีไว้หน้า พร้อม ‘ปาดหน้า’ เพื่อเป้าหมายการเป็นนายกฯ ให้ได้เช่นกัน

วิเคราะห์ประกอบข้อมูลผลการเลือกตั้งสนามผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้ ส.ก.จากสังกัดพรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน และผู้สมัครอิสระ 2 คน พอจะเห็นภาพทิศทางการตัดสินใจของคนกรุงได้บ้างว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เก้าอี้ ส.ส.ใน กทม.มากที่สุด

รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ส่วนอันดับถัดไปคาดว่าจะมาจากพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็อาจจะได้มาแบบหร็อมแหร็ม เพราะถูก 2 พรรคฝ่ายค้านแย่งไปจนเกือบหมด

จับอาการได้จากคะแนนของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แบบถล่มทลาย เพราะคน กทม.เบื่อหน่ายกับสิ่งเดิมๆ มายาวนาน คนใหม่จะเป็นยังไงไม่รู้ ขอลองไปก่อน คนเก่ามันเห็นๆ อยู่แล้วว่าไปต่อไม่ไหว

หัวหน้าพรรคทุกคน ต่างคนต่างมีความมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้งทั้งนั้น แต่ขึ้นชื่อว่า กทม. สนามหักปากกาเซียน อะไรก็เกิดขึ้นได้ บทเรียนมีมากมายว่า โพลทุกสำนักก่อนเลือกตั้งนำโด่งมายังไง ก็แพ้ได้ ด้วย ‘ปาฏิหาริย์’ ข้ามคืน