ล้านนาคำเมือง : ต๋ำบ่าถั่ว

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ต๋ำบ่าถั่ว”

แปลว่า ตำถั่วฝักยาว

“บ่าถั่ว” เป็นชื่อเรียกของคนล้านนาที่ใช้เรียกถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว เป็นพืชล้มลุก ปลูกขึ้นง่ายช่วงปลายร้อนต้นฝน คนล้านนาปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา หรืออาจปลูกไว้เป็นพืชสวนครัว เพื่อเก็บมาทำเป็นอาหาร

อาหารล้านนานิยมกินถั่วฝักยาว แบบกินสดได้กินสุกดี หากเอามาแกล้มกับน้ำพริก ใส่ส้มตำ หรือเอามาตำถั่วแบบโบราณพื้นบ้านภาคเหนือ เป็นต้นให้ใช้ถั่วสดๆ เก็บมาใหม่ๆ จากต้นเลยยิ่งดี

หากต้องการกินสุก คนล้านนาจะนำถั่วฝักยาวมาลวก แกล้มน้ำพริก นำมาแกงเช่นแกงแค ต้ม ผัด หรือเอามาเป็นเครื่องปรุงของแกงโฮะ

คนล้านนาสมัยโบราณนิยมกินตำถั่วฝักยาว ซึ่งอร่อย ราคาไม่แพง ยิ่งเก็บถั่วที่ปลูกเองมาตำ ยิ่งไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไร ตำถั่วแบบล้านนาไม่เหมือนกับตำถั่วแบบอีสาน

ดังนี้

เครื่องปรุง ถั่วฝักยาวสด ล้างน้ำสะอาด นำมาซอยบางๆ เตรียมไว้

เครื่องปรุงน้ำพริก มีพริกขี้หนูสด ขิงสดปอกเปลือก มะเขือเทศผ่าซีก กระเทียมแกะเปลือก กะปิกับปลาร้าห่อใบตองปิ้งไฟให้สุก แคบหมูติดมันแบบโบราณ และมะนาว

วิธีทำ เอาพริกขี้หนู ขิง กระเทียม กะปิ ปลาร้า ลงโขลกจนละเอียดเข้ากันดี จากนั้นเอาถั่วลงโขลก เติมมะเขือเทศ โขลกให้เข้ากันจึงตักออกใส่ถ้วย จากนั้นเอาแคบหมูลงโขลกให้ละเอียด แล้วตักออกมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงทั้งหมด ชิมรสให้มีรสเผ็ด เค็ม หอมมัน เปรี้ยวตามชอบใจ

เมนูนี้มีผลเรียกน้ำย่อย ช่วยเจริญอาหาร เหมาะสำหรับกินในฤดูฝนที่อาจจะป่วยด้วยเชื้อไวรัสหวัดและไข้หวัด จะทำให้ผู้สูงวัยกินข้าวได้มากขึ้น

ให้กินแกล้มกับแคบหมูและยอดมะระขี้นกลวก

รสชาติเปรี้ยว เผ็ด เค็ม เข้ากันได้ดีมากกับความขมของมะระขี้นก และความกรอบและมันของแคบหมู

ถ้ากินข้าวไม่อร่อยในระยะนี้ลองกินตำถั่วฝักยาวแบบล้านนาดูแล้วจะเจริญอาหาร