9 ม.ค. บิ๊กตู่ดีเดย์เข้าพรรค รทสช.จัด ‘ซูเปอร์บอร์ด’ รับ เร่งเฟ้นว่าที่ ส.ส.-ผนึก ส.ว. ดันคัมแบ๊กนั่งนายกฯ

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศความชัดเจนทางการเมืองก่อนปีใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565

พร้อมไปต่อด้วยการยอมรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในการเลือกตั้งทั่วไป ตามไทม์ไลน์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้

คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ในกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานครบวาระ 4 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2566

หากมีกรณีเหตุแทรกซ้อนมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระ กกต.จะต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่จะไม่เกิน 60 วัน

นับจากนี้ไปพรรค รทสช.จึงต้องเร่งจัดทัพทั้งโครงสร้างพรรค ตัวผู้สมัคร ส.ส. นโยบายที่จะใช้เป็นจุดแข็งและจุดขาย ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งมากที่สุด

สําหรับโครงการสร้างพรรค รทสช. ในส่วนของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็น “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “เดอะขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค

ขณะเดียวกันยังมีการจัดโครงสร้างพรรครองรับ พล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ตามฤกษ์ยามที่เหมาะสมคือ วันที่ 9 มกราคมนี้ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีบทบาทนำภายในพรรคอย่างเต็มตัว ไม่ใช่เพียงแค่สมาชิกพรรคธรรมดา

ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของพรรค หรือที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” ในลักษณะคล้ายกับคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขึ้นมากำกับการดำเนินงานด้านต่างๆ ของคณะกรรมการบริหารพรรคอีกชั้นหนึ่ง

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ร่วมด้วยพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค และแกนนำระดับสูงบางราย ร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว อีกทั้งเป็นการรองรับนักการเมืองในกลุ่มบ้านใหญ่เข้ามามีบทบาทและการขับเคลื่อนพรรค รทสช.

ในซูเปอร์บอร์ดจะมีแกนนำระดับสูงหรือบิ๊กเนมที่อยู่กับพรรคแล้ว อาทิ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รวมทั้ง “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ “ชุมพล กาญจนะ” อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และ “ชัชวาลล์ คงอุดม” ที่ลาออกจากประธานที่ปรึกษาพรรคพลังท้องถิ่นไท “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและอดีตผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) “ดร.แด๊กซ์” ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาร่วมเป็นซูเปอร์บอร์ด เพื่อขับเคลื่อนภารกิจหลักนอกเหนือจากการกำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายในการเลือกตั้งแล้ว ยังจะเข้ามาร่วมคัดสรรกลั่นกรองผู้สมัคร ส.ส.ซึ่งมีปัญหาทับซ้อนในหลายพื้นที่ด้วย

พร้อมกับวางบทบาทให้ “เอกนัฏ” เป็นตัวหลักในการทาบทามคนเข้ามาร่วมกับพรรค รับผิดชอบการจัดระบบการทำงาน วางแผนงาน และวางกำลังพลทั้งหมด เพื่อประสานงานระหว่างส่วนกลาง กับการทำงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ จะมีการแบ่งโซนพื้นที่ที่รับผิดชอบละเอียดขึ้นด้วย

โดยจะมีการทำโพลสำรวจความนิยมของว่าที่ผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ด้วยโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้เสนอตัวมากกว่า 1 คน ต้องผ่านกระบวนการทำโพล แม้จะมี ส.ส.เดิมเสนอตัวด้วยก็ตาม

การบ้านข้อใหญ่ของพรรค รทสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ นับจากนี้ คือต้องเร่งจัดวางตัวผู้สมัคร ส.ส.ให้ครบตามกติกาการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กลับมาใช้แบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน หารด้วย 100 คน จะเป็นสัดส่วนของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งที่แต่ละพรรคจะได้รับ ปัจจัยชี้ขาดผลแพ้-ชนะเลือกตั้งครั้งหน้าของแต่ละพรรคในทั้ง 2 ขั้วการเมืองคือ ส.ส.แบบเขต ที่มีตัวเลขถึง 400 ที่นั่ง กระจายทั่วทุกภาค

โดยผู้ชนะ ส.ส.เขต คือผู้ที่ได้คะแนนในอันดับที่ 1 ส่วนผู้ที่ได้อันดับที่ 2 ลงมาจะไม่สามารถนำคะแนนไปคำนวณให้เป็นคะแนนพรรคได้เหมือนกับการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว เพราะทุกคะแนนตกน้ำหมด เพราะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะคิดจากคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับผ่านบัตรเลือกตั้งอีกใบ

หากสแกนดูความพร้อมของพรรค รทสช. ทั้งชื่อชั้นของตัวผู้สมัคร ส.ส. ที่เปิดหน้ามาในขณะนี้จะมีเพียงแค่ ส.ส.ปัจจุบันที่ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ และ ส.ส.ในกลุ่มของ “เสี่ยเฮ้ง” ในพื้นที่ จ.ชลบุรี และภาคกลางบางส่วน ที่พอจะมีความหวังปักธงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กลับมาได้ในครั้งหน้า

ขณะที่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะชี้ขาดผลแพ้-ชนะการเลือกตั้ง อย่างในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 132 ที่นั่ง ภาคเหนือ 39 ที่นั่ง และภาคกลาง 122 ที่นั่ง มีที่นั่ง ส.ส.รวมกันถึง 293 เสียง ซึ่งทั้ง 3 ภาคดังกล่าว พรรค รทสช.ยังไม่ได้เปิดเผยชื่อผู้สมัคร ส.ส.ในระดับที่พอจะคาดหวังได้รับเลือกตั้งได้

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะมีตัวช่วยพิเศษอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน มาผนึกเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ร่วมกับ ส.ส. ได้เป็นครั้งสุดท้าย ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560

แต่รัฐบาลชุดต่อไปจะบริหารงานได้อย่างมีเสถียรภาพจะต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุนการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรที่เพียงพอและมั่นคง คือ ต้องมีเสียง ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง

หากจะลุ้นแค่โหวตเลือกนายกฯ ด้วยเสียงของ ส.ว.ให้ได้ก่อน แล้วจะไปรวมเสียง ส.ส.เพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้นั้น ถือเป็นเกมเสี่ยงของขั้วอำนาจของฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน

เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใดมาการันตีผลการเลือกตั้งว่า ขั้วอนุรักษนิยมที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค รทสช. จะได้เสียง ส.ส.มาในระดับสร้างความชอบธรรม เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับขั้วของฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้หรือไม่

อีกทั้งพรรค รทสช.ยังต้องลุ้นให้ผ่านด่านสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ที่กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ จะต้องมีเสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนทั้งหมด หรือ 25 เสียง แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักในทางการเมือง แต่ด้วยจุดขายของพรรค รทสช. อย่างนโยบายด้านเศรษฐกิจ ที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ชนิดที่ “ปัง” เหมือนกับพรรค พท.

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะยอมรับและเข้าใจในบริบทการเมือง เกี่ยวกับเรื่องผลการเลือกตั้งว่าจะมีความมั่นใจหรือไม่ว่า พรรค รทสช.ได้เสียง ส.ส.มากกว่า 25 เสียง เพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ผ่านคำตอบที่ว่า “จะมั่นใจได้อย่างไรก็ต้องถามประชาชนซิจ๊ะ คนเลือกไม่ใช่ฉันเองนะ ฉันจะประเมินตัวเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเป็นคนประเมิน เพราะทุกอย่างเป็นการเลือกตั้ง กระบวนการทางประชาธิปไตยก็ว่ากันไป ตามรัฐธรรมนูญก็ว่ากันไป ส่วนใครจะได้ ไม่ได้ เป็นเรื่องของประชาชนที่จะตัดสินใจ”

ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นเดิมพันสูง ชี้ขาดอนาคตการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์