เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (5) ตำนานพระแก้วดอนเต้ากับเมืองต้องคำสาป : ความทรงจำร่วมของสังคมลำปาง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หัวข้อเสวนานี้นำเสนอโดย อาจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น จากหลักสูตรการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ลำปาง

เป็นแนวคิดที่เคยจุดประกายมาก่อนแล้ว โดยปราชญ์ใหญ่เมืองลำปาง “อาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย” ต่อมาอาจารย์ไพโรจน์ได้ศึกษาเพิ่มเติมและขยายผลในวงที่กว้างขึ้น

 

100 ปีอุโมงค์ขุนตาน
100 ปีสะพานรัษฎาภิเศก

อาจารย์ไพโรจน์เปิดประเด็นว่า ลำปางเมื่อ 100 ปีที่แล้วราว พ.ศ.2459 รถไฟจากกรุงเทพฯ ได้ตัดขึ้นมาสู่ลำปาง เช่นเดียวกับปี 2460 ได้มีการสร้างสะพานรัษฎาภิเศก ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครองสิริราชสมบัติครบ 40 พรรษา

การมาของรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำวัง ทำให้ลำปางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าไม้สักทอง เป็นแม่แบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของภาคเหนือ วัดได้จากจำนวนและขนาดของวัดวาอารามที่สร้างโดยคหบดีพม่าในยุคโคโลเนียลที่มีความรุ่มรวยมากที่สุด

ลำปางถูกกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เป็น “ศูนย์กลางของภาคเหนือตอนบน”

มีศูนย์ราชการสำคัญ อาทิ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ลำปาง (ต่อมากลายเป็นกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 อยู่ที่เชียงใหม่) มีสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 (ต่อมาคือช่อง 11) มีธนาคารแห่งประเทศไทย และทำท่าว่าจะมีมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาคแห่งแรกของภาคเหนือด้วยซ้ำไป

แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 1 ทศวรรษ เมื่ออุโมงค์ขุนตานทะลุสู่ลำพูน ไปสุดสายปลายทางที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ นับแต่ปี 2469 เป็นต้นไป ศูนย์กลางความเจริญต่างๆ ได้ค่อยๆ ทยอยย้ายไปสู่อดีตราชธานีแห่งล้านนา คือเมืองเชียงใหม่

 

ลำปางเมืองเท็กซัส เมืองขึด?

ในทางกลับกัน ระหว่างปี 2484-2500 ตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ลำปางกลายเป็นเมืองที่ได้รับฉายาว่า “เมืองเท็กซัส” กลายเป็นศูนย์กลางการค้าฝิ่น มีแต่มาเฟีย นักเลง อาชญากรรม มีแต่ข่าวฆาตกรรมไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ได้ต่างอะไรไปจากเมือง Texas ของสหรัฐ

ดังที่ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปางหลายสมัย ให้ข้อสังเกตว่า “…ลำปางนี่ก็ประหลาด ไม่ใช่ชายแดน ไม่ได้ติดต่อกับพม่า ไม่ได้ติดต่อทางลาว แต่ว่าฝิ่นเถื่อนคนค้าพ่อเลี้ยงฝิ่น อยู่ที่นี่สมัยนั้น มาอยู่ที่นี่มีชื่อเสียงในลำปาง…”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย คือเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ถึงแก่พิราลัยตั้งแต่ปี 2465 พร้อมกับหนี้สินรุงรัง ลูกหลานสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องย้ายออกจากคุ้มหลวง ทิ้งศพเจ้าหลวงไว้ถึง 5 ปี เพราะไม่มีเจ้านายในตระกูล ณ ลำปางคนใดมีกำลังจะพอจัดพิธีศพได้

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปี 2470 จึงมีรับสั่งให้พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มาเป็นประธานในการพระราชทานเพลิงศพ

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ชนชั้นสูงในลำปางมิรู้จะหาคำอธิบายอย่างไร จึงพากันตั้งคำถามว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะลำปางถูกคำสาปของใครบางคนหรือไม่ จึงทำให้เมืองขึด (เกิดอาถรรพณ์)

 

นางสุชาดาสาป หรือใครแช่ง?

เมื่อหาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ชาวลำปาง (กลุ่มหนึ่ง) จึงพากันเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้สังคมลำปางถดถอยจนเกือบล่มสลายนั้น เกิดมาจากนางสุชาดาสาปแช่งไว้

นางสุชาดา เป็นตัวละครที่ปรากฏใน “ตำนานพระแก้วดอนเต้า” ซึ่งเขียนโดยชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนให้อพยพมาอยู่เมืองลำปางในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

โครงเรื่องในตำนานพระแก้วดอนเต้า มีลักษณะละม้ายกับตำนานการสร้าง “พระแก้ว-พระคำ” ของชาวเชียงแสน ที่มีตัวละครเอกเป็นสีกาและพระเถระ ซึ่งในอดีตเป็นเทวบุตร-เทวตาที่มาจุติใหม่ในโลกมนุษย์ และมีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปเหมือนกัน

นางสุชาดาเป็นนักศีลนักบุญ ได้รำพึงว่าอยากสร้างพระพุทธรูป แรงปรารถนาของนางล่วงรู้ไปถึงพญานาคใต้พิภพ จึงเนรมิตแก้วสีเขียวในผลแตงโมลูกหนึ่ง (ภาษาเหนือเรียกผลบะเต้า อันเป็นที่มาของคำว่าแก้วดอนเต้า)

นางสุชาดาได้นำผลบะเต้าไปถวายแด่พระเถระรูปหนึ่ง เมื่อผ่าออกจึงพบว่ามีแก้วมรกตอยู่ข้างใน จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรนำไปสร้างพระพุทธรูป ต่อมาพระอินทร์แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยสลักจนเสร็จ

พระเถระและนางสุชาดาได้จัดงานแห่แหนแต่นแต้ “พระแก้วดอนเต้า” อย่างเอิกเกริก แต่กลับมีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองว่าทั้งสองเป็นชู้กัน

เจ้าเมืองผู้นั้นมีใจบาปหยาบช้า ไม่คิดจะซักไซ้ไล่เลียงใดๆ จู่ๆ ก็ลากนางสุชาดาไปประหารชีวิต ก่อนถูกประหารนางได้อธิษฐานจิต ว่าหากแม้นว่านางผิดจริงขอให้เลือดตกลงดิน แต่มาตรแม้นว่านางไม่ผิดขอให้เลือดพุ่งสู่ฟ้า

ข่าวการประหารนางสุชาดาแล้วเลือดไม่ไหลตกพื้นแต่เลือดพุ่งขึ้นฟ้า เมื่อถึงหูเจ้าเมือง ทำให้ถึงกับอกแตกตาย ในฐานะที่ไปทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ตำนานจบลงเพียงแค่นี้ ไม่มีตอนใดที่กล่าวถึงคำสาปแช่งของนางสุชาดา

 

ปฏิบัติการลบล้างคำสาป

เมื่อไม่สามารถหาคำอธิบายได้ ว่าทำไมลำปางต้องกลายเป็นเมืองผ่าน ทำไมจึงถูกขโมยซีนโดยเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่ทำท่าจะเป็นเมืองอันดับหนึ่งของล้านนา

ทำไมลำปางจึงไม่มีความเจริญในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซ้ำยังมีหลายเหตุการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวลำปางจึงยกเอา “ความทรงจำร่วม” เรื่อง “คำสาปของเจ้าแม่สุชาดา” ขึ้นมาเป็นคำอธิบายแทน (โปรดสังเกตว่า จาก นางสุชาดา กลายเป็นเจ้าแม่สุชาดาแล้ว)

เท่าที่อาจารย์ไพโรจน์ประมวลได้ พบว่ามีความพยายามที่จะปฏิบัติการลบล้างคำสาป โดยบุคคลที่เป็นทายาทสายสกุลเจ้านายลำปางหลายยุคหลายสมัย ที่เด่นๆ มีดังนี้

ปี 2515 เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง หลานตาของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้ขอความเมตตาจากหลวงพ่อเกษม เขมโก (พ.ศ.2455-2539) พระเถระที่ชาวลำปางให้ความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ผู้มีเชื้อสายในตระกูล ณ ลำปาง เช่นกัน ได้จัดทำเหรียญระฆังเพื่อหางบสร้างศาลสุชาดา ที่บริเวณจุดที่เรียกว่าวังย่าเฒ่า สถานที่ประหารชีวิตนางสุชาดา

ปี 2517 หลวงพ่อเกษม ได้จัดทำเหรียญแตงโมอีกครั้ง เพื่อฉลองอนุสาวรีย์

ปี 2522 เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง สร้างรูปปั้นเจ้าแม่สุชาดา พร้อมพระเถระที่วัดพระแก้วดอนเต้า และสร้างอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดาหน้าโรงเรียนปริยัติธรรม พร้อมคำจารึกว่า อโหสิเมตตาเจ้าแม่สุชาดา…

ปี 2541 หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ สร้างพระนาคปรกสูงเท่าตึก 3 ชั้น ใกล้ดอยคีรีสุบรรพต ในวัดสามัคคีบุญยาราม เพื่อล้างอาถรรพณ์ให้ลำปางพ้นจากเมืองต้องคำสาป

พ.ศ.2543 เจ้าบุษบง ณ ลำปาง (พ.ศ.2456- 2547) ธิดาคนสุดท้ายของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต พร้อมด้วยบุตรหลานได้เดินทางไปพบกับคนทรงเจ้าชื่อ “ย่าจ๋าม” ที่บ้านกาดเมฆ อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นร่างทรงของเจ้าแม่สุชาดา คนทรงได้บอกว่า หากจะแก้คำสาปของเจ้าแม่สุชาดา ต้องทำพิธีตั้งกัณฑ์เทศน์มหาชาติเป็นเวลา 2 ปี และตั้งกองผ้าป่า 1 กองเพื่อทำศาลาของคนทรง

เจ้านายลำปางก็ยินดีปฏิบัติการตามนั้น

ยิ่งมีกิจกรรมปฏิบัติการลบล้างคำสาปมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าผู้คนมีความเชื่อในเรื่องคำสาปมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ผู้เขียนตำนานมีเจตจำนงเพียงแค่ต้องการขอที่อยู่ที่ยืนของชาวเชียงแสน (ผู้มาใหม่ ผ่านนางสุชาดาผู้เป็นชาวบ้าน) ให้ผสมกลมกลืนแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับชาวลำปาง (ผู้อยู่ก่อน คือพระเถระ) เท่านั้น

สิ่งเดียวที่จะให้ชาวลำปางยอมรับ ก็คือการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ตัวละครผู้สร้างพระพุทธรูปว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

 

ภาพสะท้อนของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม?

ในยุคสมัยหนึ่ง คนลำปางอาจรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า เมืองที่กำลังรุ่งโรจน์ เคยเป็นถึงชุมชนนานาชาติในยุคสัมปทานป่าไม้ และเคยเป็นเมืองที่เปิดประตูรับสีสันจากบางกอกเป็นเมืองแรกของล้านนา ต้องกลับกลายเป็นเมืองที่ถูกแช่แข็ง เงียบเหงาเซาซบ

แต่วิกฤตครั้งกระนั้นน่าจะกลายเป็นโอกาสสำหรับวันนี้หรือไม่ ในยุคที่กระแสโลกตีกลับ ในยุคที่ผู้คนโหยหาวิถีชีวิตแบบ Slow Life – Slow City ลองจินตนาการดูเถิดว่า หากลำปางเติบโตพรวดพราดอย่างไร้ขอบเขตแบบเชียงใหม่ตั้งแต่ 60-70 ปีก่อน สภาพเมืองลำปางวันนี้จะเป็นเช่นไร

จะยังมีสะพานรัษฎาภิเศก 4 วงโค้งโดดเด่นเหนือลำน้ำวัง เหลือให้เห็นอยู่เท่าทุกวันนี้หรือไม่ ดีไม่ดีอาจถูกรื้อไปแล้วก็ได้เหมือนกับสะพานนวรัฐของเชียงใหม่ ซึ่งยุคก่อนเคยเป็นขัวเหล็กแคบๆ ที่ดูคลาสสิค

ความเจริญทั้งหมดของล้านนา 8 จังหวัดภาคเหนือไปกระจุกรวมตัวอยู่ที่เชียงใหม่ จนการจราจรติดขัดไม่ต่างไปจากกรุงเทพฯ

ทอดทิ้งเมืองล้านนาอื่นๆ อีก 7 จังหวัดนอกเชียงใหม่ ให้เหลือแต่ความทรงจำเมื่อครั้งเคยรุ่งโรจน์ แท้จริงแล้วหาได้มีคำสาปใดๆ ไม่ นอกเหนือไปจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม