81 ปี ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒน์ กับความเป็นห่วง ‘การเมืองไทย’ | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

 

81 ปี ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว

ประธานสภาพัฒน์

กับความเป็นห่วง ‘การเมืองไทย’

 

ในแวงวงวิชาการ ชื่อเสียงของ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นที่รู้จักกันดีเพราะก่อนจะมานั่งเก้าอี้นี้ เคยเป็นอาจารย์มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์มาก่อน และทำงานที่ สศช.มาตั้งแต่ปี 2550 โดยเป็นประธานบอร์ดสภาพัฒน์ในปี 2561 จะครบวาระในเดือนกันยายน ปี 2566

แม้วัยเลยเลข 8 มาแล้ว 1 ปี แต่ถ้าใครได้สนทนากับประธาน สศช.ผู้นี้ ย่อมรับรู้ได้ว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น เพราะยังคงพูดจาได้คล่องแคล่ว ตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน อีกทั้งสุขภาพก็ยังดี

ศ.ดร.สนิทเล่าว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (ปี 2566-2570) ได้เชิญทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้แผนฯ 13 ตรงกับเป้าหมายจริงๆ ว่า อีก 5 ปีข้างหน้าจะเดินไปในทิศทางไหนที่จะทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง

สิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อน คือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ถ้ายังยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์รับสั่งว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้ทุกระดับ ทั้งตัวเอง ครอบครัว และระดับธุรกิจ

ในแผนฯ 13 มีทั้งหมด 13 หมุดหมาย โดยสรุป ต้องการยกระดับฐานรากคือ เกษตรกร พูดง่ายๆ ให้ได้มีโอกาสลืมหูลืมตาบ้าง จึงต้องขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งให้องค์ความรู้กับเกษตรกร ทำอย่างไรในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา เรื่องที่เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึง ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ในมือคนที่ร่ำรวยมากเกินไป โดยให้องค์กรใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปตท., ซีพี หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ เข้ามาช่วยเหลือ มีการตั้งกรรมการในการขับเคลื่อนของเอกชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ถือเป็นโอกาสดีที่ให้ภาคเอกชนที่มีผลประกอบการขนาดใหญ่มาสัมผัสกับคนฐานราก ซึ่งเขาทำได้ดี จะเห็นว่าหลายๆ ภาคอุตสาหกรรมลงไปช่วย เช่น สยามคูโบต้าลงไปช่วยเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร

คิดว่าในโอกาสข้างหน้า ถ้าสภาพัฒน์ให้เอกชนเข้ามาส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจนถึงฐานราก ให้ได้พูดคุยปรึกษาหารือกันมากขึ้น อย่างนี้ประเทศไทยจะไปได้

และในหมุดหมายที่ 10 เป็นหมุดหมายที่จะทำอย่างไรให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือสังคมคาร์บอนต่ำ หรือสังคมที่มีการลดคาร์บอนไดออกไซด์ อะไรที่เป็นผลกระทบจากปัญหาสังคมโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ สภาพัฒน์เองให้ความสนใจมาก รัฐบาลเองก็ใส่ใจเรื่องนี้เช่นกัน

เรื่องสำคัญอีกเรื่อง อยู่ในหมุดหมายที่ 11 คือเรื่องการลดภัยพิบัติธรรมชาติและสภาวะโลกร้อน เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่าภัยพิบัติธรรมชาติกับประเทศไทยจะเกิดขึ้น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม กัดเซาะชายฝั่ง เดี๋ยวนี้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเลย

เราพยายามศึกษาในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งชายฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน หลายๆ เรื่องที่สภาพัฒน์เห็นว่าจะต้องฝ่าวิกฤตเรื่องภัยพิบัติไปให้ได้

จะเห็นว่าในการประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อไม่นานมานี้ ก็นำเสนอเรื่อง BCG Economy เพื่อให้ประชาคมโลกได้ทำร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องนี้

“ที่สำคัญอีกอย่าง หมุดหมายที่ 13 คือ การพัฒนาภาครัฐ โดยฉพาะเรื่องการลดการทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ประเทศไทยไม่ค่อยสุจริต ทุจริตก็มีมากพอสมควร จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติก็ดี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ดี ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ ถ้าเรื่องต่างๆ เหล่านี้ทำโดยสุจริตใจ รักประเทศชาติ และบวกกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผมว่าประเทศไปได้ดี”

 

สิ่งสำคัญว่าจะทำอย่างไร ส่วนตัวรู้สึกกังวลเรื่องความคิดความต่าง ระหว่างผู้อาวุโสกับเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนรุ่นใหม่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องพูดคุยกัน ต้องรับฟังกัน จะไปเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เพราะว่าถ้าเพิกเฉยอาจทำให้เด็กคิดและเปลี่ยนยาก ถ้าเขาไปในทางที่ผิดอะไรพวกนี้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของประเทศไทย ต้องให้โอกาสทุกคน มหาวิทยาลัยอาจต้องเปิดโอกาสเหมือนกัน บางทีใช้วิธีการสอบเยอะแยะไปหมด หลายขั้นหลายตอน และในที่สุดเด็กก็สอบผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง แล้วคนที่สอบไม่ผ่าน เขาไปไหน

ระบบการศึกษาของไทยต้องมาคิดใหม่ จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนใช่ไหม ดังนั้น ต้องสร้างคนที่ด้อยโอกาส สร้างคนที่เขาไม่มีความรู้ มาเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะให้เขา ไม่ใช่คนสอบมหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ไปทำอะไรเอง

ควรเปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสที่เขาอาจด้อยในเรื่องความรู้ มาฝึกให้เขาสร้างทักษะ สำคัญที่สุดในเรื่องการเกษตร ถือว่าไทยเป็นจุดแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจจัยการผลิต เรื่องพันธุ์ กระบวนการผลิตก็เก่ง แต่คนไม่ค่อยมาเรียน หลังจากที่เกิดโควิด-19 มา บทเรียนที่สำคัญ คนที่อยู่รอดคือคนที่กลับไปบ้านเกิด ซึ่งเขามีที่ดินอยู่ แล้วไปทำการเกษตร เพราะฉะนั้น การเกษตรช่วยเวลาเกิดวิกฤต สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าต้องดูทิศทางให้ดีว่าประเทศไทยควรเดินไปทางไหน อุตสาหกรรมก็ทำไป มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจตั้งหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น AEC ไม่ว่าจะเป็นเขตพิเศษในภาคต่างๆ

“ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทุกคนรู้หมด แต่ขาดการปฏิบัติ ขณะที่การปฏิบัติของบ้านเราแยกส่วน และไม่ทำในสิ่งที่พยายามขับเคลื่อน ทำอย่างไรให้หน่วยงานต่างๆ ที่ทำในเรื่องเดียวกันมาทำงานร่วมกัน สร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกันไปได้”

 

สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของสภาพัฒน์ คือ ทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันกับโลกภายนอกได้ ไม่ว่าจะเรื่องคุณภาพของการเกษตร เรื่องโลจิสติกส์ต่างๆ เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เรื่องการใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกอะไรพวกนี้ก็ต้องทำ รวมทั้งการวิจัยและนวัตกรรมหลายเรื่อง

อย่างตอนนี้บอกบ้านเราทำโซลาร์เซลล์ก็จริง แต่ราคาแพง จะทำอย่างไรให้ราคาต่ำ ซึ่งในแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ต้องใช้ลิเธียมแต่ไทยไม่มีแร่อะไรพวกนี้ ฉะนั้น ต้องหาวิธีการว่าอะไรเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านเรามี ที่สามารถนำมาทดแทนการนำเข้าให้ได้ ถ้าอย่างนี้ ผมว่าไปได้ เพราะไม่มีประเทศไหนที่มีความหลากชีวภาพเหมือนประเทศไทย ไม่มีประเทศไหนที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชายฝั่งทะเลยันยอดเขา มีที่ราบ มีทุกอย่าง

ศ.ดร.สนิทพูดถึงความเป็นห่วงคนรุ่นใหม่ว่า “เคยพูดในบอร์ดสภาพัฒน์เหมือนกันว่าถ้าดูประชาคมของประเทศไทย ก็มีช่องว่างระหว่างผู้สูงวัยกับเด็กรุ่นใหม่ คิดอยู่เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากเดี๋ยวนี้เด็กสมัยใหม่ไม่อยากแต่งงาน สองแต่งงานไปแล้วไม่อยากมีลูก คิดกันอยู่ว่าจะให้แรงจูงใจอย่างไรบ้าง ผมว่าต้องทำ ถ้าพลเมืองขาดตอนอย่างนี้อันตรายเหมือนกัน”

นอกจากนั่งเก้าอี้ประธานสภาพัฒน์แล้ว ศ.ดร.สนิทก็ยังรับอีกหลายหน้าที่ ทำให้เห็นจุดอ่อนของการดำเนินงานในส่วนภาครัฐ อย่างที่เจ้าตัวอธิบายว่า การประเมินผลเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าประเมินผลแล้วไม่ดี มีจุดอ่อนตรงไหน ต้องมาพัฒนาปรับปรุง ซึ่งก็มีการติดตามประเมินผลอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะทำโครงการอะไร อย่างโครงการเงินกู้ รัฐบาลก็ตั้งให้เป็นประธานลงไปประเมินผล โดยในระยะแรกเป็นโครงการเงินกู้ของกระทรวงเกษตรฯ เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่

โครงการที่สอง โครงการของกรมพัฒนาชุมชน โครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งไปได้ดีพอสมควร อย่างน้อยที่สุดเกษตรกรก็ได้รับองค์ความรู้อะไรเยอะแยะ ตอนนี้ไปดูในระยะที่สอง และกำลังประเมินผลของหนึ่งตำบล หนึ่งมหาวิทยาลัย การยกระดับสินค้าโอท็อปให้เป็นสินค้าระดับสากล และไปดูเรื่องของกระทรวงเกษตรฯ เรื่องเกษตรแปลงใหญ่ ไปช่วยติดตามดูอะไรที่ไม่ถูกต้อง สภาพัฒน์พอไปเห็นก็สามารถส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ครม.ก็ส่งไปยังหน่วยงานนั้นๆ

 

สําหรับมุมมองเรื่องการเมืองนั้น ประธานสภาพัฒน์บอกว่า เป็นเรื่องซับซ้อนไม่อยากไปวิจารณ์การเมือง ทุกคนรู้ว่าเป็นอย่างไร

“ผมเองก็เป็นห่วง อย่าว่าถึงระบบการเมืองใหญ่เลย เอาแค่ระบบเล็กๆ ระบบโรงเรียนในชนบท ถ้าผู้อำนวยการดีก็ดี พอผู้อำนวยการดีก็ย้าย หรือเปลี่ยนอีก เหมือนกับการเมืองนั่นแหละ วางแผนไว้ดี พอถึงเวลารัฐบาลหนึ่งบอกอันนี้ไม่เอา เปลี่ยน เป็นอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น มันลำบาก ถ้ารัฐบาลยู่ยาวก็เบื่อ ถ้าอยู่ไม่ยาวก็ทำในสิ่งที่เขาวางแผนไว้ไม่สำเร็จ ครึ่งๆ กลางๆ พอไอ้นี่เลิก ไอ้นี่เอาไปทำใหม่ พอพรรคนี้ไม่เป็น ครึ่งๆ อยู่อีก เป็นอย่างนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร”

ในฐานะที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ศ.ดร.สนิทฝากไปถึงนักการเมืองว่า “สิ่งที่อยากฝากไว้ ทิศทางของประเทศเราจุดอ่อนอยู่ตรงไหน ท่านจะวางนโยบายอย่างไรที่จะยกระดับของผู้ด้อยโอกาสที่เป็นปัญหามาโดยตลอด ปัญหาเรื่องภัยแล้ง ปัญหาอะไรที่ซ้ำๆ ซากๆ แก้ไม่ได้สักที จะมีนโยบายจะแก้อย่างไร เพื่อให้ประเทศชาติไปได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ คนเลือก ส.ส.เข้าสภา ต้องให้เขาเข้าใจว่าต้องเลือกคนที่ไปช่วยพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เลือกเพราะความชอบ ซึ่งที่ผ่านมามีไม่มากที่จะเลือกคนมีความรู้ เพื่อไปช่วยประเทศชาติ”

นับจากนี้ไปคงต้องติดตามกันว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ของสภาพัฒน์ จะช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกรได้ตามเป้าประสงค์มากน้อยแค่ไหน