นัยยะตั้ง ‘พีระพันธุ์’ เลขานายกฯ ‘บิ๊กตู่’ จัดทัพ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ลุ้นคัมแบ๊กรัฐบาล

ไม่เกินความคาดหมายเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) ขึ้นเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ทำหน้าที่ “นายกฯ น้อย” คอยกลั่นกรองทุกเรื่อง ทั้งการบ้าน การเมือง ก่อนถึงมือนายกฯ

การแต่งตั้ง “พีระพันธุ์” เป็นเลขาธิการนายกฯ ครั้งนี้ ทั้งนักวิชาการ รวมทั้งฝ่ายการเมืองมองตรงกันว่า เป็นไปอย่างอื่นไม่ได้นอกจากตอบโจทย์ในการไปต่อทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “พีระพันธุ์” นั่งเป็นหัวหน้าพรรค และ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เป็นเลขาธิการพรรค

จากนี้คงเดินหน้าเตรียมพร้อมทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. รวมทั้งสปอนเซอร์ เพื่อร่วมกันนำพรรค รทสช.กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ส่ง “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ตามไทม์มิ่งแม้จะเหลือเวลาการทำหน้าที่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงนับถอยหลังอีก 3 เดือน ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หากยึดเหตุผลเรื่องการทำงาน เก้าอี้เลขานายกฯ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในช่วงท้ายของรัฐบาลก็ได้

แต่เมื่อมองด้วยเหตุผลทางการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ที่เปรียบเสมือน “นายกฯ น้อย”

เป็นหูเป็นตาแทนนายกฯ ทั้งการขับเคลื่อนอำนาจรัฐ งบประมาณ ในการเตรียมความพร้อมให้กับพรรค รทสช.เกิดความได้เปรียบในทางการเมืองให้มากที่สุด

แม้จะเหลือระยะเวลาการทำหน้าที่เลขานายกฯ เพียงแค่กว่า 3 เดือน แต่ในทางการเมืองถือว่ามีนัยยะ และความหมาย เพราะย่อมสะท้อนถึงความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะไปต่อกับพรรค รทสช. ในการเลือกตั้งครั้งหน้ากับเก้าอี้แคนดิเดตนายกฯ แม้จะยังไม่ประกาศความชัดเจนออกจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากต้องรอให้จังหวะเวลาทางการเมืองมีความเหมาะสมมากกว่านี้

ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับ “กลุ่มการเมือง” ที่ตัดสินใจมาร่วมงานทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรค รทสช.ด้วย ทั้งกลุ่มของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “ดร.แด๊กซ์” ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกหนึ่งมือขวาคนสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มดูแล ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ หวังใช้เรตติ้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังดีในพื้นที่ด้ามขวานอุ้มให้ชนะศึกเลือกตั้งกลับมาเป็น ส.ส.อีกสมัย

โดยพื้นที่ภาคใต้มีที่นั่ง ส.ส.ให้ช่วงชิงกัน 58 เสียง ซึ่งพรรค รทสช.หมายมั่นว่าจะช่วงชิง ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรค พปชร.

เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.รวมกับพื้นที่อื่นเกิน 25 ที่นั่ง เพียงพอตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ที่จะเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้

ในมุมของนักวิชาการอย่าง “ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ถึงการแต่งตั้งนายพีระพันธุ์เป็นเลขาธิการนายกฯ ว่า เพราะต้องการใช้ตำแหน่งที่เป็นทางการ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากทุกคนรู้อยู่แล้วว่านายพีระพันธุ์เป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นพรรคที่เตรียมความพร้อมที่จะเป็นนั่งร้านให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือจะต้องหา ส.ส.ให้ได้ 25 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เพียงพอต่อการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ชิงกับพรรคการเมืองอื่น

การมาเปิดตัวช่วงโค้งสุดท้ายที่รัฐบาลจะหมดวาระ จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก การตั้งเลขานายกฯ ที่เป็นสายตรงในทางการเมือง เพื่อที่จะให้ใช้ตำแหน่งที่เป็นทางการคือ ด้านหนึ่งเป็นเลขาฯ และอีกด้านหนึ่งอาจจะมาสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง หรือสร้างประโยชน์ทางการเมือง อาจจะออกมาในรูปออกตรวจเยี่ยมราชการ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองไปด้วย และเป็นการเตรียมการส่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง

ดร.โอฬารมองด้วยว่า การแต่งตั้งนายพีระพันธุ์ครั้งนี้อาจจะทำให้รู้ข้อมูลของพรรคร่วมรัฐบาล ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่นายกฯ จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุด โดยหวังว่าจะทำให้พรรค รทสช.เป็นนั่งร้านให้นั่งตำแหน่งนายกฯ ในสมัยต่อไป เมื่อจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของพรรคนั้น จึงต้องใช้ตำแหน่งเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้กับพรรคของตัวเองมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงการบริหารราชการ แต่ยังต้องศึกษาในเรื่องกฎ ระเบียบ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญตำแหน่งเลขาฯ นายกรัฐมนตรียังอยู่ในตำแหน่ง ช่วงการรักษาการไปจนถึงเลือกตั้งอีกด้วย

ส่วนใหญ่นักการเมืองไทยก็จะชอบทำแบบนี้ ถือว่าเป็นโอกาสและความได้เปรียบทางการเมือง ที่จะต้องฉกฉวยเอาไว้ในช่วงจังหวะสุดท้ายของรัฐบาล

ขณะที่จังหวะเวลาในการแต่งตั้งเลขานายกฯ ในช่วงนี้นั้น ดร.โอฬารวิเคราะห์ว่า ถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ช้ามาก อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการแสดงจุดยืนทางพฤตินัยไปแล้ว แต่ในทางนิตินัยซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารอย่างเป็นทางการ กลับไม่ทำ จึงส่งผลให้บรรดานักการเมืองที่จะย้ายพรรคไป เกิดความลังเลใจเพราะความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปจริงหรือเปล่า

ที่สำคัญช่วงสุดท้ายหากตัดสินใจถอนตัวทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อบรรดา ส.ส.ที่ย้ายพรรคไปแล้ว จะปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะอาจจะเสียคะแนนนิยมในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งนายกฯ เปิดตัวช้า จะมีผลต่อภาพลบของพรรคและนักเลือกตั้งมากเท่านั้น

อนาคตของพรรค รทสช. คิดว่ามีความเชื่อมโยงกับการประกาศตัวของนายกฯ ยิ่งแสดงจุดยืนช้า มีท่าทีแบบคลุมเครือ ถึงแม้ว่าจะแสดงเป็นนัยยะแล้วก็ตาม แต่ไม่ชัดเจน ยิ่งช้าเท่าไหร่ ทำให้นักเลือกตั้งหรือ ส.ส.ที่จะย้ายมาสังกัด ก็จะเกิดความไม่แน่นอนมากเท่านั้น จะไปสัมพันธ์กับกลุ่มทุนผู้สนับสนุนด้วย

และอาจจะโยงไปถึงจำนวน ส.ส.ของพรรค รทสช.ที่จะได้รับหลังการเลือกตั้งด้วย หากไม่ถึงเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ 25 เสียง เพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะจอดป้ายไม่ได้ไปต่อในทางการเมือง ย่อมจะจบลงตั้งแต่ก๊อกแรก

ทั้งหมดทั้งมวล ตั้งแต่การตั้งเลขาธิการนายกฯ คนใหม่ ไปจนถึงการจัดทัพในพรรค รทสช. ล้วนมีเป้าหมายสุดท้าย คือ การคัมแบ๊กกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย