“เลือกตั้ง” เพื่อให้บทเรียนกับนักการเมือง

เสียงพูดถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าในภาพรวมดูจะไม่เป็นไปในทางบวกนัก แม้ว่าจะเป็นหนทางเดียวของประเทศที่จะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

การเลือกตั้งซึ่งเป็นโอกาสของ “อำนาจประชาชน” ที่จะกำหนดผู้บริหารประเทศ ชั่วโมงนี้มีภาพที่น่าห่วงใยอย่างมากสำหรับผู้ที่ไม่อยากเห็นศรัทธาประชาธิปไตยถูกทำลาย เนื่องจากเต็มไปด้วยเรื่องราวและข่าวคราวการย้ายพรรคที่เกือบไม่ใช่การปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ แต่กลับเป็นเรื่องของการฉกฉวยโอกาสที่จะแสวงผลประโยชน์

นักการเมืองต้องการการดูแลกว่าในเรื่องรายรับจากพรรคการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองหวังนักการเมืองแต่ละคนที่ลงทุนซื้อตัวมาจะเพิ่มเสียงในสภาให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งจะสามารถใช้มือของนักการเมืองที่ซื้อตัวนั้น เพิ่มโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล และอำนาจต่อรองโควต้ารัฐมนตรี

ในสนามข่าวแต่ละวันมีแต่เรื่องราวที่สะท้อนถึงความที่นักการเมือง และพรรคการเมืองมีพฤติกรรมที่ไม่เกรงอกเกรงใจความรู้สึก นึก คิดของประชาชน หรือมีความเชื่อว่าเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดผลการเลือกตั้ง

 

อาจจะเป็นด้วยความเป็นไปของพรรค และนักการเมืองเช่นนี้เองที่ทำให้ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดที่ถามเรื่อง “ผลงานสภาผู้แทนราษฎร” ที่แม้ถามถึง “ความพึงพอใจต่อการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราฎรในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา” แล้วผลออกมาว่า ร้อยละ 31.98 ไม่ค่อยพอใจ, ร้อยละ 30.46 ค่อนข้างพอใจ, ร้อยละ 25.96 ไม่พอใจเลย และร้อยละ 9.77 พอใจมาก

อันแสดงว่าภาพรวมไม่ค่อยพอใจ

แต่เมื่อถามถึง “ความคิดเห็นต่อการประกาศยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 43.13 ระบุว่าควรยุบสภาภายในเดือนธันวาคมนี้, ร้อยละ 33.82 เห็นว่าควรอยู่ครบเทอม, ร้อยละ 12.37 เห็นควรยุบในเดือนมกราคม และร้อยละ 2.82 เห็นว่าควรยุบก่อนการครบวาระในเดือนมีนาคมเพียงไม่กี่วัน

แสดงให้เห็นว่า คนที่ต้องการเห็นการยุบสภาในทันที กับที่ไม่ต้องการให้ยุบมีเปอร์เซ็นต์ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งหากจะตีความว่าประชาชนไม่ค่อยสนใจความเปลี่ยนแปลงของรัฐสภา เพราะเกิดความลังเลในพฤติกรรม ส.ส.ก็คงไม่ใช่การสรุปที่เกินเลยไปมากมายอะไรนัก

พฤติกรรมเช่นนี้ของ ส.ส.ส่วนหนึ่งมีความน่าสนใจยิ่ง เพราะหากเป็นเรื่องทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย โอกาสที่หลังเลือกตั้งจะเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบที่คาดไม่ถึงย่อมมีความเป็นไปได้

โลกยุคที่ประชาชนชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกันมากขึ้น เรื่องราวและพฤติกรรมเช่นนี้ของนักการเมืองย่อมเป็นไปได้ ที่จะทำให้ประชาชนปรับความคิดในการตัดสินใจที่จะเลือกใคร หรือพรรคการเมืองใด

ท่ามกลางนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว พรรคการเมืองที่ให้ค่ากับโอกาสครองอำนาจ ด้วยความมุ่งหวังว่าจะเป็นหนทางอำนาจผลประโยชน์ให้ ใช่ว่าจะไม่มีนักการเมืองที่เสนอตัวเข้ามาทำงานเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน และนักการเมืองที่มุ่งเรียกศรัทธาด้วยการแสดงให้เห็นอุดมการณ์

ท่ามกลางความเบื่อหน่ายพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และหมดความหวังต่อพรรคที่ไม่เคยพูดถึงอุดมการณ์ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะคิด “ให้บทเรียนที่เจ็บปวดกับนักการเมือง”

ด้วยหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ว่าอำนาจประชาชนหมิ่นแคลนไม่ได้ คือการให้บทเรียนกับนักการเมืองที่เห็นสิทธิประชาชนเป็นผักเป็นปลา สามารถซื้อได้ด้วยเงิน

ในสถานการณ์ที่การเมืองเรียกร้องการปฏิรูปอย่างถึงรากถึงโคน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของการพัฒนาประเทศ

มีแต่ประชาชนต้องลงมือปฏิรูปเองเท่านั้นจึงพอมีความหวังบ้าง

ท่ามกลางโอกาสเรียนรู้ และทบทวนประวัติศาตร์ของประเทศทำได้ง่ายขึ้น

ใครที่คิดว่าประชาชนจะยังเหมือนเดิมในการเลือกตั้งครั้งหน้า ย่อมเป็นไปได้ที่จะเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า “คิดผิด”