ตำนาน-ประวัติการสร้าง “ประตูช้างเผือก” ประตูสำคัญเชิงพิธีกรรม จ.เชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ปะตู๋หัวเวียงเจียงใหม่” หมายถึง “ประตูช้างเผือก” ของเชียงใหม่ในปัจจุบัน

 

ประตูหัวเวียง เป็นประตูเมืองด้านทิศเหนือของเมืองซึ่งอยู่ในตำแหน่ง “เดชเมือง” ของเมืองเชียงใหม่ ตามตำราทักษา

ประตูดังกล่าวเป็นประตูสำคัญในเชิงพิธีกรรม กล่าวคือ ในอดีตนั้น เมื่อกษัตริย์หรือเจ้าเมืองจะขึ้นครองเมืองเชียงใหม่จะต้องไปประกอบการกุศลที่วัดเชียงยืนเสียก่อน แล้วจึงจะเข้าเมืองโดยให้ชาวลัวะจูงหมาสะพายตะกร้านำขบวนผ่านประตูนี้

กาลต่อมา ปะตูหัวเวียง เปลี่ยนชื่อเป็น “ประตูช้างเผือก” เพราะมีรูปปั้นช้างเผือกสองเชือกตั้งอยู่บริเวณนอกประตูห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร

รูปปั้นดังกล่าวเป็นรูปช้างที่สร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่ มีทั้งช้างเผือกที่เป็นอนุสาวรีย์ซึ่งต่อมากลายเป็นช้างเผือกอารักษ์เมืองหรือเสื้อเมือง และช้างในฐานะอารักษ์เมืองเช่นกัน แต่ตั้งอยู่อีกแห่งหนึ่ง

รูปช้างเผือกและช้างที่ว่า มีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ ทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย

เฉพาะรูปช้างเผือกที่เป็นอนุสาวรีย์ มีประวัติความเป็นมาปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า ในสมัยพระญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 ในราชวงศ์มังรายนั้น ล้านนากับสุโขทัยมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ครั้งหนึ่งกษัตริย์ของสุโขทัย คือ พระเจ้าไสยลือไท เกิดความขัดแย้งกับกษัตริย์อยุธยา จึงได้มีราชสาส์นมาขอกองทัพเชียงใหม่ไปช่วยรบกับอยุธยา

พญาแสนเมืองมาทรงยกกองทัพไปช่วย เมื่อถึงสุโขทัยได้ตั้งทัพอยู่นอกเมืองแล้วพักพลรอให้พระเจ้าไสยลือไทออกมาต้อนรับ

แต่การณ์กลับเป็นว่าสุโขทัยยกทัพเข้ารอบโจมตีทัพเชียงใหม่ในเวลาดึกของคืนหนึ่งโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ทัพเชียงใหม่แตกพ่าย

พญาแสนเมืองมาพลัดหลงออกจากกองทัพ เสด็จหนีไปทางทับสลิด และได้พบกับชายสองคน คนหนึ่งชื่ออ้ายออบ อีกคนหนึ่งชื่ออ้ายยี่ระ บุคคลทั้งสองได้ผลัดกันแบกพระองค์มาตามทางจนถึงเมืองเชียงใหม่

คุณความดีครั้งนั้นพญาแสนเมืองมาทรงชุบเลี้ยงให้เป็นทหารมียศระดับพวกเป็น พวกช้าง ซ้ายขวา แล้วให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของเชียงโฉมทางทิศตะวันออก

จากนั้นทั้งสองให้สร้างรูปช้างเผือกไว้ซ้ายขวา โดยให้มีช่องทางเดินระหว่างช้างทั้งสองเชือก

ปตูห฿วฯวยฯงบ่าเกั่าเจั้า ปะตู๋หัวเวียงบ่าเก่าเจ้า แปลว่า ประตูหัวเวียงโบราณค่ะ

 

รูปช้างเผือกอนุสาวรีย์ของอ้ายออบกับอ้ายยี่ระจะตั้งอยู่ที่ใด มีรูปร่างอย่างไร ผู้คนในสมัยปัจจุบันไม่มีใครพบเห็น

กระนั้นก็มีนักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกันว่าอยู่บริเวณข้างทางเข้าออกฝั่งซ้ายขวาของประตูหัวเวียง และด้วยเหตุนี้ ชื่อประตูหัวเวียงจึงเรียกประตูช้างเผือกแต่นั้นมา

แต่พบว่ามีการสร้างรูปช้างเผือกขึ้นใหม่ ณ บริเวณใกล้เคียงกัน ในสมัยพระญาติโลกราชครั้งหนึ่ง และในสมัยพระเจ้ากาวิละอีกครั้งหนึ่ง

แต่การสร้างสองครั้งหลังนี้เป็นการสร้างขึ้นในฐานะอารักษ์เมืองหรือเสื้อเมือง ซึ่งต่างจากการสร้างครั้งแรกที่สร้างในฐานะอนุสาวรีย์

การสร้างรูปช้างเผือกในสมัยพระญาติโลกราช อ้างตามตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ที่พญาติโลกราชโปรดให้มหาอามาตย์ชื่อหมื่นด้ามพร้าคดสร้าง ความตอนหนึ่งว่า “…หมื่นด้ำพร้าคดก็ไปก่อพระยาช้างเผือก 2 ตัวหัวเวียง…สวาดทิพมนต์ศาสตรเพทในหัวใจพระยาช้างเผือก…”

ถ้าดูตามตำนานนี้ ก็ถือว่ามีการสร้างเป็นคำรบสองในสมัยพญาติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย

และหากดูตามเจตนาจากการ “สวดทิพมนต์ศาสตรเพทในหัวใจพระยาช้างเผือก” คือสวดร่ายมนต์ทิพย์ตามตำราศาสตรเพทใส่เป็นหัวใจพญาช้าง ก็เป็นการสร้างเพื่อให้รูปช้างเผือกเป็นอารักษ์เมือง

ส่วนการสร้างในสมัยต่อมา ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงามเชียงใหม่ ผูกที่ 7 ว่า “…อยู่มาเถิงศักราช 1162 ตัว ปีกดสัน …เถิงเดือน 7 ออก 11 ฅ่ำ วัน 7 (เสาร์) ได้ก่อรูปช้างเผือก 2 ตัวไว้ทางหัวเวียง ตัวเบ่นหน้าไปหนเหนือชื่อ ปราบจักรวาฬ ตัวเบ่นหน้าไปวันตกชื่อ ปราบเมืองมารเมืองยักษ์…”

การสร้างล่าสุดก็เพื่อ “หื้อเปนไชยมังคละแก่รัฎฐปัชชานราษฎร์บ้านเมืองทั้งมวล” คือเป็นชัยมงคลในฐานะอารักษ์เมืองนั่นเอง •