แบรนดิ้งพรรคการเมืองยังไง ให้เป็นแบรนด์ประชาธิปไตย…เริ่มเลย | ประกิต กอบกิจวัฒนา

ประกิต กอบกิจวัฒนา

ระหว่างที่นักการเมืองพากันย้ายบ้าน ย้ายพรรคเพื่อหวังให้ได้รับเลือกตั้งตามสูตรหาร 100 และการตัดสินใจเข้าพรรคใหม่ของนักการเมืองชื่อดังหลายคนก็ทำเอาชาวเน็ตทั้งหลายถึงกับ “ลั่น”

ผมขอชวนคุยถึงวิธีการสร้างแบรนด์พรรคการเมืองโดยใช้แนวคิดที่เรียกกันว่า แบรนด์ประชาธิปไตย (Brand Democracy) เผื่อจะได้ใช้เป็นตัวเลือกในการพิจารณาของประชาชนอย่างเราเมื่อถึงเวลาต้องถือบัตรสองใบเข้าคูหาเลือกตั้งตามกฎหมาย

จะรู้ได้อย่างไรว่าพรรคการเมืองไหนมีความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย

เมื่อต้องตอบให้จบภายในหนึ่งหน้าของนิตยสาร ผมก็ขอบอกเลยว่า ดูที่วิธีการจากเรื่องเหล่านี้

 

ประชาชนส่งเสียงได้แค่ไหน
หัวใจการทำแบรนด์ประชาธิปไตย (แท้)

โลกยุคหลังโควิด รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้ผู้คนมีความรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตสูง เพราะทุกอย่างคาดเดาได้ยาก ผันแปรได้ง่าย ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนกับสิ่งต่างๆ รอบตัวไม่เป็นไปแบบตรงไปตรงมาเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีความหลากหลายแยกย่อยมากมาย

คำสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในย่อหน้าข้างบนนั่นแหละ คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องมาคิด วิเคราะห์ และออกแบบกลยุทธ์เพื่อดึงศรัทธาของผู้คนให้มาอยู่ที่พรรค

พรรคการเมืองที่อยากประกาศว่ามีความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย ต้องชูเรื่อง “พื้นที่” สำหรับผู้คนเป็นอย่างแรก

“พื้นที่” คือการที่พรรคมีกระบวนการที่แสดงออกว่ารับฟังเสียงความต้องการของแต่ละคน พรรคได้ยินเสียงของชาวทำโฆษณา พร้อมกับได้ยินเสียงชาวนา ได้ยินเสียงชาว LGBTQ+ พร้อมกับเสียงคนพิการ เสียงคนทำงานออฟฟิศ พร้อมกับเสียงวัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ฯลฯ

พรรคที่มีความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตยจึงต้องจัดการ “พื้นที่” ให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถเข้ามาร่วมออกแบบ เสนอแนะนโยบายที่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา ไม่ใช่เพียงมานั่งฟังคำปราศรัยนโยบายจากพรรคฝ่ายเดียวอีกแล้ว

พรรคที่อยากสร้างให้เกิดความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย ต้องทำให้ประชาชนที่ศรัทธาในพรรครู้สึกว่าได้รับการเคารพ และมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน นั่นหมายถึงว่า “พรรคได้ยินเสียงของทุกคนทุกกลุ่ม”

วิธีคิดในการเปิด “พื้นที่” ให้ทุกกลุ่มได้ออกแบบนโยบายกลุ่มของตัวเอง นั่นคือเหตุผลหลักและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนแบบที่เราไม่เคยเห็นมานานแล้ว ใช่หรือไม่

 

การเมืองไม่ใช่การพึ่งสิ่งมหัศจรรย์
แต่มันคือ “เรื่องของฉัน”

โลกสมัยนี้ ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาได้ทันทีทันควัน ซึ่งก็มีทั้งข้อมูล ความจริง ความเชื่อในเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง อีกทั้งความเห็นของคนหนึ่งคนต่อเรื่องเดียวกันยังสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลาเมื่อมีมุมมองใหม่ ข้อมูลใหม่เข้ามา

การบริหารพรรคการเมืองด้วยแนวคิดแบรนด์ประชาธิปไตยจึงเป็นการบริหารความรู้สึกของคน ซึ่งเป็นไปในแบบแนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่ง นั่นแปลว่า ไม่ควรให้ประชาชนรู้สึกว่าพรรคการเมืองนี้ถูกใครชี้นำหรือสั่งให้ ซ้ายหัน ขวาหัน แต่ต้องทำให้รู้สึกว่า พรรคนี้รับฟังและรู้เรื่องของประชาชนจนเข้าใจ และออกแบบนโยบายมาได้ตรงตามความต้องการ

หนึ่งในหลักการทำมาร์เก็ตติ้ง คือ ทำให้คนรู้สึกว่า “ทำไม” จึงต้องเลือกใช้สินค้าชิ้นนี้ โดยการเล่นกับอารมณ์ของคน

หนึ่งในหลักกการที่ถูกบัญญัติไว้ในการทำแบรนด์ประชาธิปไตยคือ “จุดยืนทางการเมือง”

พรรคที่เป็นแบรนด์ประชาธิปไตยต้องเรียกให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันหันมาฟัง และตั้งคำถามกับพรรคว่าจะช่วยแก้ปัญหากับเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาได้อย่างไร

 

หมดยุคของการเล่าเรื่องจากปากผู้นำ
“ประชาชน” ต่างหากคือตัวเอก

ที่พูดแบบนี้ เพราะผมคิดว่า ในยุคที่ใครๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเองลงสื่อโซเชียลมีเดีย ทุกคนจึงมีเรื่องเล่าและทุกคนเป็นตัวเอกในเรื่องเล่าของตัวเอง

ดังนั้น การที่พรรคเปิด “พื้นที่” ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย แลกเปลี่ยน เสนอแนะ และร่างนโยบาย ก็เท่ากับทำให้ทุกคนได้ใส่เรื่องเล่าของตัวเองไว้ โดยไม่มีคนมาคอยสั่ง กำกับ ควบคุมว่าต้องเป็นไปตามความต้องการของใครในพรรค

ภาพลักษณ์แบบนี้ ต้องถูกทำออกมาให้เห็น เพื่อให้คนรู้สึกและเกิดความประทับใจต่อความเปิดกว้างของพรรคอย่างแท้จริง

 

ถ้าผู้นำพรรคอยากเป็นคนเล่า
เรื่องเล่านั้นต้องมีประชาชนอยู่ด้วย

เหมือนที่ผมบอกไว้ในตอนต้นๆ ว่า การเคารพในความหลากหลายด้วยการได้ยินเสียงของทุกกลุ่ม เป็นเรื่องที่พรรคต้องทำให้ทุกคนสัมผัสให้ได้ จึงจะได้รับความเชื่อถือว่าเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย

ดังนั้น ในการทำนโยบายของพรรค จึงต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า “เรื่องราวของฉันถูกเล่าไว้ในนโยบายของพรรค”

หากผู้นำพรรคใดต้องการให้นโยายที่ประกาศไว้ทำได้สำเร็จ ก็จำเป็นต้องเล่าด้วยว่า ประชาชนช่วยให้พรรคเดินไปสู่ความสำเร็จนั้นได้อย่างไร

หากยังคงใช้ประโยคทำนองว่า “ผมคือคนที่ทำให้เกิดนโยบายนี้” ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพรรคที่มีความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย

 

พรรคต้องทำให้เข้าถึงง่าย
เพราะคนไม่คุยกับพรรคตรงๆ แต่ชอบคุยกันเอง

การทำแบรนดิ้งพรรคให้เป็นประชาธิปไตย หนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างภาพลักษณ์ให้คนรู้สึกว่า เป็นพรรคที่เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง พร้อมเปิดให้มีการสื่อสารสองทาง ถามแล้วได้คำตอบทันที

ที่สำคัญคือ การสื่อสารระหว่างพรรคกับประชาชนที่พรรคต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งนั้น ต้องเป็นการสนทนาที่มีความหมาย นี่คือคำขยายของการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการกำหนดนโยบายพรรคนั่นเอง

การสนทนาที่มีความหมาย คือการที่พรรคให้คุณค่าและแสดงปฏิกิริยาสื่อสารกลับในทางที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่า คำถามของเขาไม่ไร้ความหมาย

เช่นเดียวกับการทำแบรนด์สินค้า ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าทำได้มากกว่าส่งคำติชม หรือข้อเสนอแนะเข้ามาเมื่อใช้บริการ แต่ยังสามารถช่วยปรับเปลี่ยนหน้าตาหรือวิธีการใช้งานบางอย่างของสินค้านั้นได้ด้วย โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ

สมัยนี้ การทำพรรคการเมืองให้เป็นแบรนด์ประชาธิปไตยก็เช่นกัน จะปิดกั้นไม่ให้คนแสดงความเห็นในสื่อที่เป็นช่องทางการนำเสนอข่าวสารของพรรคไม่ได้ ทำแบบนั้นเหมือนพูดอยู่ฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และยังไม่ให้โอกาสในการร่วมสร้าง ร่วมเสนอสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าควรทำให้ได้

(พรรคการเมืองที่ต้องการความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย จะทำเหมือนเพจของผู้นำบางประเทศไม่ได้นะครับ)

 

ทำให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน
อย่าเป็นแค่พรรคของใครบางคน

พรรคการเมืองก็เหมือนสินค้า ถ้าคุณทำให้ผู้ใช้สินค้ารู้สึกว่าสินค้านั้นสะท้อนความเป็นตัวเองของผู้บริโภค ตอบสนองความต้องการได้จริง สินค้านั้นก็ได้รับการบอกต่อโดยไม่ต้องอาศัยแค่การซื้อโฆษณา และการบอกต่อปากต่อปากย่อมได้ผลกว่าอย่างแน่นอนในการสร้างศรัทธาให้เกิดกับกับสินค้า

พรรคการเมือง หากต้องการสร้างให้เป็นแบรนด์ประชาธิปไตย ก็ต้องทำทุกกระบวนการเพื่อให้เข้าไปอยู่ในใจประชาชน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของศรัทธาและความเชื่อมั่น คุณอาจจะนำเสนอผ่านตัวบุคคลได้ แต่การใช้วิธีชูบุคคลทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้งนั้น แน่ใจไหมว่า คนนั้นสามารถเป็นผู้นำในใจของคนทุกกลุ่มในประเทศได้จริง

ในโลกสมัยใหม่ที่ผกผันแปรเปลี่ยนง่ายและมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น การสร้างความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตยให้เกิดในพรรคการเมือง เป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะต้องอาศัยคนกลุ่มที่กล้าหาญมากพอจะเปลี่ยนเรื่องเล่าบนแนวคิดวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ถูกเล่ามานาน

แต่ก็เป็นความท้าทายที่ผมเชื่อว่าทุกคนอยากเห็น และพร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนเรื่องเล่าในการทำพรรคการเมืองนะ หรือคุณคิดว่าไง