คำให้การของ ‘เด็กหลังห้อง’ ทำไม ‘ครูไทย’ สนใจแต่ ‘เด็กเก่ง’!

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงชวนให้ตั้งโต๊ะถกเถียงไม่น้อย หลัง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลสำคัญว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้รับฟังความคิดเห็นเด็กทั่วประเทศ โดยเฉพาะเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เด็กชายขอบ เด็กยากจน เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ และเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งเด็กเหล่านี้สะท้อนว่า “ครู” ดูแล และสนใจแต่ “เด็กเก่ง” เท่านั้น!!

ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับการลงพื้นที่ของ ศ.ดร.สมพงษ์ ที่พบว่าเด็กที่เรียนในระดับชั้น ม.1-3 ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากกว่า 900,000 คน

ส่วนใหญ่เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา เป็น “เด็กหลังห้อง” ที่มีปัญหายาเสพติด ท้องไม่พร้อม และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ที่สำคัญ คือครูไม่สนใจ เมื่อครูไม่สนใจ ทำให้เด็กเหล่านี้ยอมแพ้ และออกจากระบบการศึกษา

จากการวิเคราะห์ พบว่าสาเหตุที่ครูสนใจแต่เด็กเก่ง มาจากระบบการศึกษาที่เน้น 4 เรื่องสำคัญ คือ

1. เน้นความเป็นเลิศ

2. เน้นการแข่งขันที่ต้องได้ที่หนึ่ง

3. เน้นมาตรฐาน เพราะมีตัวบ่งชี้จำนวนมาก ทำให้ครูมุ่งสอนให้เด็กมีมาตรฐานตามที่กำหนด เห็นได้จากการสอบวัดมาตรฐานต่างๆ โรงเรียนจะให้เด็กเก่งเข้ามาสอบ ส่วนเด็กที่ด้อยจะให้อยู่บ้าน ซึ่งจำกัดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง

และ 4. เน้นประสิทธิภาพ คือถ้าพบเด็กไม่มีคุณภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ จะผลักออกจากระบบการศึกษา กลายเป็นเด็กถูกระบบการศึกษาตราหน้าว่าเป็นผู้แพ้

สิ่งที่เด็กทั่วประเทศสะท้อนมา ทำให้เห็นว่าระบบการศึกษากำลังทำลายเด็กทั้งประเทศ ซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมาวิเคราะห์ ทบทวนระบบการศึกษาที่ต้นตอ ว่าทำถูกหรือไม่ เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่า ศธ.จะดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบอย่างไร เด็กก็จะออกจากระบบการศึกษาอยู่ดี

“ระบบการศึกษาที่ดี ควรแบ่งเป็น 2 ลู่ คือ ลู่ที่ 1 เน้นการพัฒนาเด็กเก่ง และลู่ที่ 2 จะทำอย่างไรให้ครูช่วยเหลือเด็กชายชอบ เด็กยากจน เด็กชาติพันธุ์ และเด็กด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาตามศักยภาพ มีทักษะ สามารถประกอบอาชีพได้ และครูเหล่านี้ควรจะได้รับการยกย่อง ไม่ต่างกับครูที่สร้างเด็กเก่ง” ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

 

หลังข้อมูลนี้เผยแพร่ออกไป ผู้บริหารในรั้วเสมา ทยอยออกมาปฏิเสธทันที

เริ่มจาก ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่าไม่จริง เพราะที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งการเรียนการสอนนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. เด็กที่เรียนช้า จะให้ครูสอนเสริมเพื่อให้เรียนทันเพื่อน

2. เด็กปกติ จะให้ครูต่อยอดเพื่อให้มีความรู้ มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

และ 3. เด็กเก่ง จะให้ครูต่อยอด ต่อเติมเสริมให้เด็กเหล่านี้เก่งมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่มีทางที่ครูจะสนใจแต่เด็กเก่งเพียงกลุ่มเดียว

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติอย่างนางกุสุมาวดี พลเรืองทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ มองว่าไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาโรงเรียนและครูใส่ใจนักเรียนทุกคน กำหนดการเรียนการสอนให้มีทั้งวิชาการ และกิจกรรม คือ เช้าเรียนวิชาการ บ่ายให้เล่น หรือให้ทำกิจกรรมที่ชอบ และเย็นให้กลับบ้าน

ประกอบกับปัจจุบันโรงเรียนได้รับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนใน 4 มิติ คือ

1. สถานศึกษาปลอดภัย

2. ตามน้องกลับมาเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

3. พัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่จะไม่เอาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมาเป็นตัวสะท้อนเท่านั้น แต่จะสอนทักษะชีวิตเด็ก เพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้

และ 4. กระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ

“ที่บอกว่าครูสนใจแต่เด็กเก่งนั้น ไม่จริง ที่จริงแล้วครูไม่สนใจเด็กเก่งด้วยซ้ำ เพราะไม่มีอะไรจะตำหนิเด็กเหล่านี้ แต่จะเข้าไปเติมเต็มความรู้ และครูจะใส่ใจเด็กที่เรียนไม่เก่ง เด็กหลังห้องมากกว่า โดยจะเข้าไปรับฟังปัญหา ช่วยเหลือเด็กรอบด้าน ดูแลเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะถ้าครูไม่รัก จะไม่สนใจ จะมองข้ามไป ไม่เห็นคุณค่า” นางกุสุมาวดีระบุ

 

แม้ผู้บริหาร ศธ.และผู้บริหารโรงเรียน จะปฏิเสธ แต่เป็นที่รู้กันดีว่าในระบบการศึกษาไทย ได้แบ่งแยกเด็กตั้งแต่เด็กก้าวเท้าเข้าโรงเรียนแล้ว เห็นได้จากการแบ่งห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นห้อง EP หรือ English Program ห้องคิง ห้องควีน ห้องธรรมดา เป็นต้น

ประกอบกับระบบการศึกษาเคยชินกับการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ครูสนใจแต่เด็กเก่งไปโดยปริยาย ดังนั้น ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่สิบปี ก็ยังพบวัฒนธรรมครูสนใจ โอบอุ้ม และพัฒนาแต่เด็กเก่ง เพื่อให้เด็กเหล่านี้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนอยู่ดี…

สอดคล้องกับ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธาน กพฐ.ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจ ว่าการที่ครูสนใจแต่เด็กเก่ง เป็นปัญหาปลายทางเท่านั้น เพราะปัจจุบันจะมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) บางแห่ง สั่งโรงเรียนในสังกัดว่าผลสัมฤทธิ์ผลการศึกษา จะต้องสูงขึ้นทุกปี ทำให้ครูต้องเคี่ยวเด็กที่มีศักยภาพไปสอบ เพื่อให้ได้คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่แค่ครูสนใจแต่เด็กเก่ง แต่ระบบบริหารที่ไปให้ความสำคัญกับคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่างหากที่เป็นปัญหา!!

นอกจากนี้ ดร.เอกชัยยังเสนอว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษา ต้องเน้นผลการบริหารสถานศึกษาแบบองค์รวม ไม่ใช่ดูแต่ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ หรือคะแนนสอบโอเน็ตที่สูงขึ้นทุกปี แต่ต้องดูผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม ดูการพัฒนาคุณภาพทุกด้านของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“ที่สำคัญ ต้องประเมินองค์รวมการพัฒนาเด็กทุกด้าน ตามศักยภาพของเด็ก ให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ การมาโรงเรียน ต้องสร้างระบบนิเวศสถานศึกษาให้เด็กไม่เกิดความรู้สึกถูกด้อยค่า รวมถึงปลูกฝังให้มีคุณธรรม จริยธรรมควบคู่ไปด้วย” ดร.เอกชัยกล่าว

 

ปัญหา “ครู” สนใจแต่ “เด็กเก่ง” ที่แม้หลายคนจะมองเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ปัญหานี้ได้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาของประเทศหรือไม่??

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ ศธ.จะต้องกลับไปทบทวน และปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา เพื่อแก้ปัญหา “ครู” เลือกที่รัก มักที่ชัง เอาใจแต่ “เด็กเก่ง” และเมิน “เด็กหลังห้อง”…

รวมถึงแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ยังซุกอยู่ใต้พรมอีกจำนวนมาก!!

ก่อนที่ “เด็กหลังห้อง” อีกจำนวนมาก จะต้อง “หนีตาย” ออกจาก “ระบบการศึกษาไทย” อีกนับไม่ถ้วน!! •

 

| การศึกษา