คุยกับทูต | ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี 43 ปีหลังการปฏิวัติอิสลาม (จบ)

“พัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เป็นไปในเชิงบวกทั้งในชีวิตและอนาคตของประเทศซึ่งประกอบด้วยประชากร 85 ล้านคน”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เล่าถึงพัฒนาการหลายด้านของอิหร่าน

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิหร่านประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในหลายๆ ด้าน บางส่วนของความสำเร็จเหล่านี้ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก แม้จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ปกติ อิหร่านยังคงก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ”

“โดยเฉพาะความรู้และเทคโนโลยี ทั้งนี้ อิหร่านติดอันดับ 1 ในการถือครองแหล่งน้ำมันและก๊าซสำรองทั้งหมดของโลก ติดอันดับ 4 ในนาโนเทคโนโลยี และติดอันดับ 6 ในเทคโนโลยีชีวภาพ”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

ด้านวิชาการและวิทยาการ

“การสร้างผลงานทางวิชาการ วิทยาการต่างๆ ในอิหร่านคิดเป็น 11 เท่าของค่าเฉลี่ยของโลก บทความทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ของอิหร่านเติบโตขึ้น 18 เท่า อัตราการรู้หนังสือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 96 ของประชากรทั้งหมดของอิหร่าน การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 36 แห่ง และเพิ่มศูนย์กลางการเรียนรู้ 200 แห่งในประเทศ”

“มีการเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของสตาร์ตอัพและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสำหรับการผลิตเครื่องจักรและอื่นๆ”

“ประเทศของเราติดอันดับที่ 8 ของโลกด้านนาโนเทคโนโลยี, อันดับที่ 13 ของโลกด้านเทคโนโลยีชีวภาพ, เราเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาด้านสเต็มเซลล์ของโลก, เป็น 1 ใน 10 ประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยีการปล่อยดาวเทียม และประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม Fajr, Sina, Rasad, Tolo, Omid และอื่นๆ ขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่อวกาศ”

“นอกจากนี้ เรายังอยู่ในอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 3 ของโลกในความรู้ด้านเลเซอร์ และเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำของโลกด้านการผลิตเลเซอร์บางชนิด เช่น เลเซอร์ดิสก์”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

ความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์อิหร่านด้านนิวเคลียร์ และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อย่างสันติ

“เราเข้าถึงความสำเร็จอย่างสมบูรณ์โดยสามารถผลิตเชื้อเพลิงได้ครบวงจร และผลิตเชื้อเพลิงเข้มข้นสูงถึงร้อยละ 20 เพื่อใช้ประโยชน์อย่างสันติในกิจการไฟฟ้าและอุตสาหกรรมยาของประเทศ”

“เราออกแบบและผลิตเครื่องหมุนเหวี่ยง (Centrifuge) ขั้นสูง ออกแบบและสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และโรงไฟฟ้า”

“มีการผลิตเภสัชรังสีหลายชนิด และการฉายรังสีพืชผลทางการเกษตร”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

ด้านเศรษฐกิจ

“อิหร่านมีการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 57 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) เพิ่มขึ้นมากกว่า 16 เท่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทุกปี (จากร้อยละ 3.07 ในปี ค.ศ.1975 ถึงประมาณร้อยละ 6 ในปี ค.ศ.2020)

“เราจัดตั้งเครือข่ายระบบน้ำดีและระบบน้ำเสียในจุดต่างๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ทั้งได้บรรลุผลสำเร็จขั้นสูงในด้านน้ำดื่มสูงสุดในตะวันออกกลาง โดยจัดส่งน้ำให้มากกว่า 35,000 หมู่บ้าน และครอบคลุมร้อยละ 100 ของประชากรอิหร่านด้วยเครือข่ายน้ำดื่มและน้ำประปาที่ถูกหลักสุขอนามัย”

“มีการเติบโตของตัวบ่งชี้ด้านสุขภาพและการรักษากว่า 400 รายการ ส่งผลให้อายุขัยการมีชีวิตเพิ่มขึ้นจากอายุ 50 ปี (ก่อนปี ค.ศ.1979) เป็นอายุ 75 ปี”

“การใช้ประโยชน์จากโครงการทางรถไฟนั้น มีมากกว่าร้อยละ 54 ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายทางรถไฟมากกว่า 10,000 กิโลเมตรในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เชื่อมต่ออ่าวเปอร์เซียกับรัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียกลาง มีการเชื่อมต่ออิรักกับอัฟกานิสถานและปากีสถานเช่นเดียวกัน”

“อิหร่านได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับ 3 ของโลกในด้านการสร้างเขื่อน โดยการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำมากกว่า 190 แห่ง และยังลงทุนสร้างเขื่อนในบางประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา”

“ท่าเรือต่างๆ ในอิหร่าน มีการเติบโตกว่า 10 เท่า (รองรับได้มากกว่า 200 ล้านตัน) โดยความจุกองเรือน้ำมัน มีการเติบโตกว่า 9 เท่า (รองรับได้มากกว่า 14 ล้านตัน)”

“สำหรับการเติบโตของโครงข่ายการขนส่งทางบกนั้น เพิ่มขึ้น 54 เท่า (ก่อสร้างถนน 310,000 กิโลเมตร และยกระดับความจุเป็นมากกว่า 6 ล้านตัน)”

ด้านสตรี ทางการศึกษา สุขอนามัย การจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการ การสื่อ การกีฬา และการปรากฏตัวของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

เอกอัครราชทูตโนบัคตีกล่าวว่า

“หลังการปฏิวัติอิสลามในปี ค.ศ.1979 สตรีสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งและบทบาทที่มีอิทธิพลมากขึ้นในการตัดสินใจและการบริหารประเทศ”

“ด้านการศึกษา สัดส่วนของสตรีเพิ่มขึ้นในการเป็นสมาชิกคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยถึงร้อยละ 33.3 และในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร้อยละ 34 ส่วนจำนวนนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยของประเทศก็มีมากขึ้นด้วยถึงร้อยละ 56”

“ด้านสุขอนามัย สำหรับประชากรสตรีทุกๆ 100,000 คนในประเทศ ทำงานในด้านผดุงครรภ์ 60 คน และมากกว่าร้อยละ 95 ของการคลอดดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและสูตินรีแพทย์ การดำเนินงานของเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชากรในเมืองร้อยละ 100, ประชากรในชนบทและคนเร่ร่อนร้อยละ 99 เราอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลกในแง่ของอัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตต่ำที่สุดจากโรคมะเร็งปากมดลูก อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลงเหลือร้อยละ 14.2 ต่อการเกิดใหม่ 100,000 คน และอัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงเหลือร้อยละ 2.8 ต่อการเกิดใหม่ 100,000 คน”

“ด้านการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการ มีการดำเนินกิจกรรมด้านกองทุนสินเชื่อภูมิปัญญาสตรีในชนบท 4,200 แห่ง โดยมีการจัดสรรสินเชื่อของรัฐบาลจำนวน 1,200 พันล้านเรียล อัตราการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 31 การแต่งตั้งสตรีมากกว่า 800 คนเป็นผู้อำนวยการของบริษัทฐานองค์ความรู้ และมากกว่า 2,500 คนในคณะกรรมการของบริษัทเหล่านี้ การให้ความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับสตรีที่เป็นหัวหน้าครอบครัว โดยการพัฒนาการทำงานที่ยั่งยืน และลดอัตราการว่างงานของสตรีลงเหลือร้อยละ 13 และปริมาณนายจ้างที่เป็นสตรีได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 2 ของผู้ทำงานทั้งหมดที่เป็นสตรี”

“ด้านการสื่อ นักเขียนสตรีในประเทศมีมากกว่า 9,500 คน และสำนักพิมพ์สตรี 840 แห่ง ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นสตรี 903 คน และผู้เชี่ยวชาญสตรี 2,000 คนที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง โดยผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นสตรี คว้ารางวัลระดับชาติ 114 รางวัล และรางวัลระดับนานาชาติ 128 รางวัล การปรากฏตัวของสตรีใน 45 เทศกาลนานาชาติที่โดดเด่นในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสิน”

“ด้านการกีฬา มีการแต่งตั้งสตรี 51 คนเป็นประธาน และรองประธานสหพันธ์กีฬา และสตรี 70 คนเป็นประธานบอร์ดกีฬาประจำจังหวัด เรามีผู้ตัดสินหญิง 88,366 คนในการแข่งขันระดับชาติ และระดับนานาชาติ สตรีอิหร่านครอง 97 ตำแหน่งในสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ นักกีฬาหญิงอิหร่านได้รับเหรียญรางวัลมากกว่า 3,302 เหรียญในการแข่งขันกีฬาที่สำคัญของโลก”

“การปรากฏตัวของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ การจ้างงานสตรีมีมากกว่าร้อยละ 25 ในส่วนงานการบริหารรัฐกิจในระดับสูง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองประธานาธิบดีฝ่ายกฎหมาย รองประธานาธิบดีฝ่ายสตรีและครอบครัว หัวหน้าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ในระดับกลางและระดับพื้นฐาน ผู้พิพากษาหญิง 1,121 คน เป็นต้น”

“การเติบโตของสตรีที่อาสาเป็นตัวแทนของรัฐสภาในสมัยที่ 11 เพิ่มขึ้นร้อยละ 227 และครองที่นั่ง 111 ที่นั่งในสภาที่ปรึกษาอิสลามโดยสตรี เพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของสตรีทั่วไปในรัฐสภาเป็นร้อยละ 59.5”

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อิหร่าน

“ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับไทยมีมาตั้งแต่สมัยอดีตเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้ว อย่างอบอุ่นใกล้ชิดมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนทางการเมืองและการลงนามในบันทึกความเข้าใจหลายฉบับในช่วงที่ผ่านมา”

“ปีนี้ ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาความสัมพันธ์ในภาคเศรษฐกิจ โดยปริมาณการค้าระหว่างอิหร่านกับไทยมีมากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะถึงหนึ่งจุดห้าพันล้านดอลลาร์”

“เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพอันมหาศาลของทั้งสองประเทศ ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง เราจะได้เห็นพัฒนาการขั้นต่อไปจากความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เฟื่องฟูอยู่แล้วในทุกด้านและทุกระดับ”

“หน้าที่สำคัญส่วนหนึ่งของเรา คือการทำให้ผู้คนได้รู้จักประเทศบ้านเกิดของเรา นั่นเป็นเหตุผลที่สถานเอกอัครราชทูตพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแนะนำประเทศอิหร่านให้แพร่หลายในหมู่คนไทยมากยิ่งขึ้น”

“คนทั่วโลกส่วนใหญ่มักอยู่ภายใต้รายงานเท็จรายวันจากสื่อกระแสหลักของตะวันตกเกี่ยวกับอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่าหากมิตรสหายชาวไทยมีโอกาสไปท่องเที่ยวในประเทศซึ่งมีอารยธรรมเจ็ดพันปีของเรา ก็จะได้รับประสบการณ์ที่ตรงกันข้ามกับรายงานดังกล่าว”

“ดังนั้น ผมจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านโปรดหาโอกาสไปเยือนอิหร่านเพื่อค้นพบความงดงามที่หลากหลาย นอกจากมีสถานที่สำคัญจนได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม จำนวน 22 แห่ง และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 2 แหล่ง อิหร่านยังมีฤดูถึง 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูร้อน และฤดูหนาวที่มีหิมะตก ทำให้สะดวกต่อการเลือกท่องเที่ยวตามช่วงเวลาของปี โดยเพื่อนร่วมงานของผมที่สถานทูตจะให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งผมมั่นใจว่าอิหร่านจะติดตรึงในความทรงจำของท่านตลอดไป ขอบคุณครับ” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]