หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “กล้อง เลนส์ และเกาะกลางทะเล”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“กล้อง เลนส์ และเกาะกลางทะเล”

7.30 นาฬิกา

เป็นเช้าวันที่อากาศสดใส แสงแดดอุ่นๆ ทาทาบไปทั่วบริเวณด้วยความรู้สึกและดวงตาของนก ผมกำลังโบยบินอยู่เหนือชายหาดของเกาะซึ่งมีพื้นที่ราว 447 ตารางกิโลเมตร

เบื้องล่างบริเวณชายหาดด้านทิศตะวันออกของเกาะ หมู่อาคารสีขาวเหล่านั้นคือที่ทำการเขตห้ามล่า หมู่เกาะลิบง

ถัดจากที่ทำการเป็นป่าชายเลน ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไม้ลำพู และแสม ต่อจากนั้น เป็นกลุ่มไม้โกงกาง ตามด้วยไม้โปงที่ขึ้นอยู่แนวหลังสุด ถัดไปจากพื้นที่ราบบริเวณนั้นก็เริ่มเป็นภูเขา มีต้นไม้ขึ้นเบียดเสียดหนาทึบ

พารามอเตอร์ พาหนะที่กำลังพาผมเคลื่อนไปในอากาศ ล่องลอยราวกับนกตีวงอ้อมโค้งไปตามแนวชายหาด

น้ำทะเลสีเขียวเข้มระลอกคลื่นไล่ตามกันเป็นริ้ว

ใต้ผืนน้ำแนวหญ้าทะเล พืชชั้นสูงที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งระหว่างแนวปะการังและป่าชายเลน เห็นเป็นสีคล้ำเป็นแนวไกลสุดสายตา

เหนือแนวหญ้าที่คล้ายป่าใต้ผิวน้ำ

มีเงาตะคุ่มๆ ค่อยลอยขึ้นมาให้เห็น

นั่นคือ “ดูหยง” หรือพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ใช้แนวหญ้าทะเลเหล่านี้เป็นแหล่งอาหาร

เพียงครู่เดียว เงาตะคุ่มก็หายไป พะยูนหายใจด้วยปอด ราว 5 นาทีจะขึ้นมาหายใจ

ในช่วงเวลานั้น การสำรวจพะยูนโดยนักวิจัยพบว่า ปริมาณพะยูนมีจำนวนน้อยกว่า 50 ตัว

พวกมันอยู่ในสถานภาพน่าเป็นห่วงและใกล้เคียงกับคำว่า “สูญพันธุ์”

ปกติพวกมันหากินร่วมกัน เมื่อน้ำทะเลเริ่มขึ้น พะยูนเข้ามากินหญ้าทะเล

แม้ว่าบริเวณนี้จะมีหญ้าทะเลอยู่ถึง 9 ชนิด แต่พะยูนก็มักเลือกกินหญ้าทะเลที่มีใบค่อนข้างนุ่ม อย่างหญ้าใบมะขาม และหญ้าชะเงาใบสั้น

พวกมันจะอยู่แถวนี้จนกระทั่งน้ำเริ่มลดจึงถอยกลับไป

ทิ้งไว้เพียงรอยกัดกินหญ้าเป็นทางยาวไว้

เงาใต้น้ำลอยขึ้นมาอีกครั้ง

นั่นเป็นภาพสุดท้ายที่ผมเห็น ก่อนเครื่องพารามอเตอร์จะดับ และพาผมร่วงลงบนพื้นน้ำ

ก่อนที่จะใช้วิธี “ฝังตัว” อยู่ป่าแห่งใดแห่งหนึ่งนานๆ

ในตารางการทำงาน ผมก็คล้ายจะซ้ำซากจำเจไม่ต่างกันในแต่ละปี เช่น ฤดูหนาว อยู่บนดอย ฤดูฝน ใช้เวลาส่วนใหญ่ตามบึงน้ำ และในช่วงเวลาเปลี่ยนฤดูจากฝนไปสู่หนาว นั่นคือเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานในป่า

ดูเหมือนจะเดินทางไปโน่นไปนี่

แต่ก็มีไม่กี่แห่งหรอก ผมไปตามแหล่งต่างๆ โดยมีสัตว์ป่าเป็นตัวกำหนด

ไม่ต่างกันนักกับเหล่าสัตว์ป่า

ความต่างมีเพียงพวกมันเดินทางย้ายถิ่นเพื่อไปหาแหล่งอาหาร

ทุกๆ ปี ปลายฤดูหนาว ผมจะอยู่แถบหมู่เกาะลิบง

เช่นเดียวกับนกหลากชนิดที่หลบความหนาวเย็นและขาดแคลนอาหารมาจากแหล่งอาศัย

กลางดึกของเดือนกุมภาพันธ์

บริเวณหน้าหมู่บ้านบาตู บาเต้ะ ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านหินขาว ชื่อนี้ได้มาจากหน้าผาหินสูงชันซึ่งตระหง่านอยู่หน้าหมู่บ้าน

ผมกำลังร่วมไปกับเพื่อนๆ คนงานในเขตห้ามล่า พวกเขากำลังจะไปเอาไม้ของกลางที่ถูกเลื่อยไว้บนภูเขา

เราทยอยลงเรือไฟเบอร์ลำเล็กที่วางเครื่องไว้ด้านท้าย

เรือโยกขึ้นลงตามแรงคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง เรือจอดอยู่ที่หัวสะพานที่ยื่นออกมาจากฝั่งร่วม 300 เมตร

น้ำทะเลเริ่มขึ้น ดวงจันทร์คืนแรม 4 ค่ำโผล่พ้นขอบฟ้า

แสงจันทร์สะท้อนเป็นเงาอยู่บนน้ำ คล้ายเป็นเส้นทางสีขาวนวล ดังถนนอันราบเรียบ

เรือแล่นไปตามเส้นทางขาวนวล

เส้นทางซึ่งไม่เพียงดูคล้ายจะยาวไกล

แต่สองข้างทางยังขนาบด้วยความมืดมิด

ผมเงยหน้ามองดวงจันทร์ แม้จะมีรอยเว้าแหว่งบ้าง แต่ความงดงามเป็นเช่นเดิม

ดวงจันทร์ใหญ่สักเท่าใดนะ ผมนึกสงสัย

หรือเพียงหลับตาข้างหนึ่ง แค่นิ้วโป้งนิ้วเดียว ก็ดูเหมือนจะบดบังดวงจันทร์ได้มิด

วันนั้น เราช่วยกันลำเลียงไม้ซึ่งถูกแปรรูปแล้วลงเรือได้จำนวนหนึ่ง

พวกเขาต้องใช้เวลาอีกสองวันจึงจะขนได้หมด

“สถานการณ์ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนแล้วล่ะ” ยะโกลบ จิเหลา ผู้ชายผิวคล้ำวัยกลางคน ที่นั่งอยู่ข้างหน้าหันมาพูดกับผม

“เรื่องอวนรุน ระเบิดปลา หรือการตัดไม้บนเขา น้อยลง แต่อีกนั่นแหละ คนที่ยังอยากได้เยอะๆ ก็มีอยู่” ยะโกลบทำงานในเขตห้ามล่ามานาน

“อย่างพะยูนนี่ เมื่อก่อนเขาจะจับมาเพื่อเอาน้ำตามันมาทำยาเสน่ห์ ขายกันแพงๆ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครทำแล้ว” ยะโกลบพูดต่อ

เมื่อวาน ขณะเดินอยู่ในหมู่บ้าน หญิงสาวที่ร้านค้าคนหนึ่งบอกผมว่า

“วันก่อน มีลูกพะยูนมาเกยตื้น เป็นแผลคล้ายถูกฉลามกัด มันร้องไห้น้ำตาไหล เราเลยร้องไห้ตาม สงสาร” เธอเล่าพลางทำตาแดงๆ

เสียงเครื่องเรือกระหึ่ม พ้นจากเส้นทางสีขาวอันเป็นเงาสะท้อนจากแสงจันทร์ รอบๆ คือความมืด หัวเรือเชิดลอยพ้นผิวน้ำ

ดวงจันทร์ทำมุมสูงขึ้น

ทะเลรอบข้างกว้างใหญ่เพียงไร ก็ดูราวกับว่าเรือไฟเบอร์ที่เรานั่งอยู่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

เช้ามืด

น้ำทะเลลด หาดทรายหน้าเขตห้ามล่า กว้างไกล ช่วงระหว่างแหลมจูโหย ถึงหาดตูบ กลายสภาพเป็นดินปนโคลน ระยะทางสักหนึ่งกิโลเมตรนี้ เมื่อน้ำลดสามารถเดินไปถึงกันได้

ผมเดินถึงหาดตูบ เศษไม้ เศษโฟม อวนเก่าๆ กระป๋องน้ำอัดลม ขยะเหล่านี้ถูกน้ำซัดมาปะปนอยู่กับทรายขาวละเอียด

ฝูงปูขนาดเล็กจำนวนมหาศาล คลานต้วมเตี้ยม พวกมันคืออาหารชั้นดีของเหล่านกชายเลน

น้ำลด ปูขึ้นมาหาอาหาร นกรู้เวลาดี

การไล่ล่าเกิดขึ้น ปูมุดลงรูทันทีเมื่อมีเงาโฉบเข้ามาหรือเพียงแค่พื้นสะเทือน แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับนกอีก๋อย นอกจากมันจะมีขายาว มันยังมีปากยาวโค้ง ซอกซอนไปตามรูเล็กๆ แถมตรงปลายปากยังมีระบบประสาทที่คล้ายเรดาร์ ไว้สำหรับเสาะหาปูที่หลบอยู่ได้

มันจึงมักไม่ค่อยพลาดเมื่อปักปากยาวโค้งลงบนพื้น

ส่วนนกพลิกหิน ก็จะรู้ว่าใต้หินมีอาหาร พวกมันจึงสาละวนอยู่กับการวิ่งงุดๆ ใช้ตีนเขี่ยก้อนหิน พลิกไปทางโน้นทางนี้

ใกล้เวลาน้ำขึ้น ฝูงนกอีก๋อยใหญ่ทยอยบินมา

น้ำสูงขึ้น พวกมันมารวมตัวที่สันทราย

ระดับน้ำเพิ่มเรื่อยๆ พวกขาสั้นจะบินขึ้นไปก่อน พวกขายาวจะรอกระทั่งน้ำท่วมเกือบถึงตัวจึงบินขึ้น

น้ำท่วมถึงเอว เมื่อผมยกขาตั้งกล้องขึ้นแบก

นกอีก๋อยกลุ่มสุดท้ายบินไปแล้ว รอบๆ กลายเป็นผืนน้ำกว้าง

ผมเดินมาที่ดอน รอเรือมารับ

มองไปทางแหลมจูโหย ที่ตั้งเขต ตอนนี้เห็นอยู่ลิบๆ

หาดตูบเปลี่ยนสภาพเป็นเกาะเล็กๆ ไม่ใช่แผ่นดินผืนเดียวกับที่ผมเดินมาได้ในตอนเช้า

นึกถึงเกาะลิบง ผมนึกถึงพื้นที่ซึ่งมีทั้งป่าและเมืองที่อยู่กลางทะเล

กระทั่งวันนี้ ผมยังไม่มีรูปดีๆ ของพะยูน นอกจากรูปพะยูนเป็นเงาตะคุ่มๆ ใต้ผิวน้ำ การตามหาพะยูนเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ผมไม่เคยลืม

วันนั้น ผมลอยคออยู่กลางทะเลร่วม 10 นาที ก่อนเรือของ ประเสริฐ หนุนแทน ที่ตกปลาอินทรีอยู่บริเวณนั้นจะแล่นมาช่วย

เขาดึงผมขึ้นเรือ ขณะเรืออีกหลายลำที่อยู่ใกล้ๆ ก็แล่นมาเพื่อช่วยด้วย

กล้องและเลนส์เปียกชุ่มโชก

ทุกวันนี้ ไม่ใช่กล้องและเลนส์ชุดนี้หรอกที่ผมใช้อยู่

ถึงที่สุด กล้องมันก็เป็นแค่กล้อง

แต่มันจะเปลี่ยนไปเมื่อใครหยิบขึ้นมาใช้