กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (20) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (20)

 

ปัญญาซะอฺดี (ต่อ)

ซะอฺดีแห่งชีราซ เป็นกวี นักเขียน และนักคิดที่ดีเด่นมีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 13 นับเป็นนักปราชญ์ของอิหร่าน ซึ่งมีชื่อเสียงไม่เพียงแต่ในประเทศอิหร่านอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในวงการวรรณคดี

ซะอฺดี เกิดในเมืองชีราซ ประมาณปี 1207-1209 ท่านบันทึกไว้เองว่า “ในครอบครัวของฉัน พ่อแม่ พี่น้องเป็นนักการศาสนาเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาด้วยกันทุกคน”

ในตอนเยาว์วัยท่านเรียนหนังสือในเมืองชีราซ ได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ ขั้นพื้นฐานที่มีสอนอยู่ในสมัยนั้น จากนั้นไปศึกษาต่อที่นครแบกแดดที่โรงเรียนสอนศาสนานิซอมียะฮ์ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ซะอฺดีศึกษาเล่าเรียนในวิชาการด้านศาสนาและวรรณคดี หลังจากนั้นเดินทางท่องเที่ยวไปตามประเทศต่างๆ มากมาย เช่น อีรัก ซีเรีย ฮิญาซ แอฟริกาเหนือ และตามหลักฐานระบุว่าเดินทางไปถึงอินเดียและเมืองต่างๆ ในแถบเอเชียไมเนอร์ ตลอดถึงอาเซอร์ไบจานด้วย

ในการเดินทางท่องเที่ยวได้พบปะผู้คนและบ้านเมืองต่างๆ มากมาย เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในชีวิตที่มีคุณค่ายิ่ง

นอกจากนั้นท่านยังไปพบปะพูดคุยกับบรรดานักปราชญ์ในสมัยนั้น อย่างเช่น เมาลานา ญะลาลุดดีน มุฮัมมัด เมาลาวี หรือที่รู้จักกันในนามว่า รูมี กวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองบัลค์, ได้พบปะกับเชคซอฟีอุดดีน แห่งเมืองอัรฏิบิล, ได้พบปะอิหม่ามแห่งเมืองตะบริ๊ซ และพบอะมีรคุสโรแห่งเดลลี

ในที่สุดช่วงกลางศตวรรษที่ 7 แห่งปีฮิจเราะห์ หรือประมาณศตวรรษที่ 13 แห่งคริสต์ศักราช สมัยเมื่อซังกิขึ้นปกครองในราชวงศ์ซุลกุริดแห่งฟาร์ส ซะอฺดีได้เดินทางกลับเมืองชีราซซึ่งท่านชอบที่จะอยู่อาศัยในบ้านเกิดของท่านเอง

จากการศึกษาและประสบการณ์ที่ได้รับมาอย่างกว้างขวาง จากการพบปะบรรดาผู้คนในแวดวงต่างๆ ในช่วงที่เดินทางท่องเที่ยวไปในหลายประเทศนั้น ทำให้ท่านเขียนหนังสือที่มีค่ายิ่งขึ้น 2 เรื่อง คือ เรื่องบูสตาน (ในฮิจเราะห์ที่ 655) และเรื่องกุลิสตาน (ในฮิจเราะห์ที่ 656)

หลังจากนั้นท่านใช้ชีวิตในทางศาสนา อุทิศตนทำการภักดี (อิบาดะฮ์) และปฏิบัติตามแนวทางซูฟี (รหัสยนัย) อย่างเข้มงวดตลอดชีวิต

ในช่วงเวลาดังกล่าวท่านยังได้เขียนงานอื่นๆ ขึ้นอีกหลายเรื่อง เช่น ลำนำกวีที่เรียกว่า ฆาซัล เขียนเทศนาธรรม และกอซีดะฮ์ อันเป็นแบบบทกวียกย่องสดุดีเกียรติประวัติของบุคคลโดยใช้ภาษาเปอร์เซียและอาหรับ

นอกจากนั้นยังเขียนโคลงพรรณนาความโศกเศร้า และเขียนกวีโดยใช้ฉันทลักษณ์แบบรุไบยาต ฯลฯ ไว้อีกด้วย

ซะอฺดีเป็นนักปราชญ์ที่ปฏิบัติตนอยู่ในหลักศาสนา เคารพตัวเองและได้รับความเคารพยกย่องจากบุคคลทั่วไป แม้กระทั่งผู้ปกครองและบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

เมื่อพิจารณาในด้านถ้อยคำสำนวนของซะอฺดีแล้ว ก็นับว่ามีศิลปะอยู่ในขั้นสูงจนได้รับการยกย่องจากประชาชนทั่วไป งานเขียนของท่านในด้านกวีนิพนธ์ก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงไปทั่วโลก

เรื่องนี้ตัวซะอฺดีเองก็รู้อยู่ก่อนแล้วขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ว่าผลงานของท่านจะโด่งดังออกไปทั่วโลก เพราะเชื่อมั่นว่าบทกวีของท่านเอ่ยถึงเรื่องสัจธรรมของชีวิต ซึ่งได้มาจากศาสนาและชีวิตจริงของผู้คนทั่วไป

ซะอฺดีเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นนักปราชญ์ผู้เฉลียวฉลาดลึกซึ้งในการมองโลกและชีวิต ตัวเองก็เป็นคนที่มีคุณธรรมจนเป็นที่เคารพยกย่องของชาวอิหร่านและชาวต่างประเทศทั่วโลก

 

 

ผลงานของซะอฺดียังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีที่สุดถึงความจริงที่ว่าท่านไม่ใช่เป็นเพียงกวีและนักเขียนที่มีเอกลักษณ์และมีพลังอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ยังเป็นนักคิดนักปราชญ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องศาสนาและจริยธรรม ตลอดทั้งมีสติปัญญาในทางปฏิบัติและความรู้ในเรื่องเร้นลับ

อีกทั้งมีความเข้าใจทางการเมืองและสังคมวิทยาอีกด้วย ได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ออกมาเขียนบทกวีชี้นำด้านจิตวิญญาณ

มีการอุปมาอุปไมยที่สมจริง ไพเราะอ่อนหวาน และลึกซึ้งไม่ว่าจะเขียนในรูปฆาซัล หรือบทโอดหรือกอซีดะฮ์ ก็แสดงออกด้วยการใช้ภาษาที่เรียบง่ายและอ่อนหวาน ซึ่งทุกคนเข้าใจได้ แต่ไม่ง่ายนักที่จะแต่งคำประพันธ์ให้เหมือนอย่างของท่านได้

ผลงานของซะอฺดีที่มีชื่อเสียงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสมัยของท่านมาถึงปัจจุบันจนถูกจัดให้เป็นตำราเรียนในการพูดภาษาเปอร์เซีย และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายสิบภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ

ผลงานดังกล่าวนั้นคือ กุลิสตาน และบูสตาน

 

กุลิสตานของซะอฺดีนับเป็นผลงานร้อยแก้วภาษาเปอร์เซียที่ไพเราะที่สุดและงดงามในด้านการสั่งสอนหลักศีลธรรม ซึ่งนำเสนอไว้ 8 บทในรูปแบบร้อยกรองอย่างมีศิลปะ โดยนำเรื่องราวต่างๆ มาเล่า ยกอุปมาอุปไมยเป็นแบบคติธรรมสอนใจ

ที่กล่าวมานั้นพิสูจน์ให้เห็นถึงสัจธรรมที่ซะอฺดีได้รจนาด้วยภาษากวีที่ไพเราะ เช่น ว่าด้วยเรื่องบุคลิกลักษณะของบรรดากษัตริย์ ว่าด้วยเรื่องศีลธรรมและบุคลิกลักษณะของซูฟี ว่าด้วยเรื่องคุณธรรมของการถือสันโดษ ว่าด้วยเรื่องคุณประโยชน์ของความสงบ ว่าด้วยเรื่องความรักและคนหนุ่มสาว ความอ่อนแอ ผู้สูงอายุ ผลที่ได้รับจากการศึกษาและการฝึกอบรม นอกจากนั้น ยังว่าด้วยเรื่องศักดิ์ศรีทางสังคม และศิลปะของการสนทนาอีกด้วย

กุลิสตานของซะอฺดีเป็นการพรรณนาถึงโลกที่เป็นอยู่ ท่านอธิบายถึงสภาพต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ที่ยังมิได้เป็นตามสภาพที่ควรจะเป็น

ท่านพรรณนาถึงความบกพร่องและข้อตำหนิต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์ในสังคม ตลอดทั้งฐานะศักดิ์ศรีที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ ความขัดแย้งในด้านความคิดและอุดมคติ ตลอดทั้งวิธีการคิดของมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน ความยึดมั่นและการแสวงหาของบุคคลในแต่ละชนชั้นและชุมชนในแต่ละคนนั้นถูกนำมาวิเคราะห์ถึงรายละเอียดและผูกเป็นเรื่องเป็นราว

โดยชี้นำทางออกที่ถูกต้องจากโองการอัลกุรอานและวจนะของท่านศาสดา ควบคู่ไปกับโองการต่างๆ เหล่านั้นในภาษาอาหรับที่แปลเป็นภาษาเปอร์เซีย โดยยกขึ้นมาประดับแง่มุมแห่งความคิดที่เฉลียวฉลาดและลึกซึ้งในด้านรหัสยนัยด้วยภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้งและอ่อนหวานที่ปรากฏอยู่ในกุลิสตาน

 

อย่างไรก็ตาม หนังสือบูสตานของซะอฺดีนั้นเกิดจากจินตนาการของท่าน นับเป็นยูโทเปียในด้านความฝันและปณิธานอันยิ่งใหญ่แน่วแน่ของท่าน เป็นการสดุดีคุณธรรมและความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความศรัทธาและความบริสุทธิ์ใจในบูสตานหรือสวนแห่งสัจธรรมและจิตวิญญาณอันสูงส่งนี้ซะอฺดีได้ชี้นำว่ามนุษย์ควรจะเป็นเช่นใดโดยใช้เรื่องราว 10 บท เสนอแก่ผู้อ่านเพื่อนำผู้อ่านไปรู้จักกับมนุษย์ในอุดมคติแห่งยูโทเปียตามแบบความใฝ่ฝันของท่าน

ซึ่งท่านพบด้วยตัวเองว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์แบบสูงสุดนั้นควรจะเป็นเช่นใด ทั้งทางด้านร่างกาย วาจา จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติ

โดยรวมจะต้องขัดเกลาให้บริสุทธิ์และยุติธรรมปราศจากความผิด ความชั่ว ความบาป และสิ่งแปดเปื้อนทั้งปวง

หน้าต่างสิบบานที่กำลังเปิดไว้เพื่อเป็นภาพอันเจิดจ้าชัดแจ้งแห่งคุณธรรมและความงามของชีวิตมนุษย์นั่นคือมนุษย์จะต้องยุติธรรมและมีความมั่งคั่งทางด้านสติปัญญา สามารถจำแนกแยกแยะความถูกผิดชั่วดีได้ มีแรงกระตุ้นอยู่เสมอที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และมีความยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้า

นั่นคือการเคารพกฎศีลธรรมแห่งชีวิตมนุษย์

อีกทั้งยังต้องสร้างประโยชน์เกื้อกูลเพื่ออนุเคราะห์แก่ชนทั้งหลาย อันนับเป็นการสรรเสริญสดุดีขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม เพื่อเป็นการตอบแทนความจำเริญที่ชีวิตได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า

 

ทั้งกุลิสตานและบูสตานนับเป็นการรวบรวมสติปัญญาแบบโลกียะเพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาไปสู่ปัญญาที่อุดมสมบูรณ์ ซะอฺดีเสนอให้เห็นแก่นแท้ของสิ่งที่ท่านศึกษาเรียนรู้มาจากประสบการณ์ที่กว้างขวางทั้งทางด้านการเมือง ศีลธรรม บุคลิกลักษณะนิสัยใจคอของมนุษย์และศาสนา

ท่านพรรณนาถึงลักษณะอาการต่างๆ ของมนุษย์อย่างเฉลียวฉลาด และสอดแทรกคติธรรมไว้อย่างประณีตในการสั่งสอนชักจูงให้ผู้อ่านสนใจในความหมายด้านในของชีวิต อีกทั้งยังให้ชีวิตชีวาแก่เนื้อหาโดยการเติมรสชาติแห่งอารมณ์ขันเข้าไว้ในเนื้อเรื่องที่หลากหลายเหล่านั้น

ท่านใช้วิธีสั่งสอน เทศนาเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บในจิตใจมนุษย์โดยการครอบคลุมไว้ด้วยเครื่องประดับที่ยั่วยวนใจ เสมือนหนึ่งแก่นของธรรมะซึ่งเป็นดั่งยาขม จำเป็นที่จะต้องเอายาเหล่านั้นมาคลุกเคล้าเข้าด้วยน้ำผึ้งหวาน เพื่อให้เป็นยาลูกกลอนที่บำบัดโรคร้ายภายในจิตใจมนุษย์ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

เหนือสิ่งอื่นใด หากผู้อ่านได้พบจุดสุดยอดของความสำเร็จทางด้านศิลปะในงานเขียนของซะอฺดีแล้ว ผู้อ่านควรหันกลับไปพิจารณาฆาซัลหรือลำนำที่เขียนเป็นบทโอดของท่านซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้ลำนำทำนองแบบโบราณอันประกอบด้วย ตายิบัต บาดายิ และคอวาตีม

รูปแบบของฉันทลักษณ์เหล่านี้เป็นโลกแห่งสีสันซึ่งใช้พรรณนาความเร้นลับทางจิตวิญญาณและการภาวนาสรรเสริญสภาวะที่เป็นทิพย์ ซึ่งซะอฺดีได้แสดงออกอย่างได้ผลด้วยการใช้ภาษาที่นำผู้อ่านเข้าสู่ภวังค์ของความแปลกประหลาดในด้านความรักที่ยิ่งใหญ่ต่อสภาพที่เป็นทิพย์ ซึ่งซะอฺดีทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไพเราะหมดจดงดงามไม่มีผู้ใดจะแข่งขันได้เลย

ในบทโอดของซะอฺดีนั้นแสดงถึงความเจ็บปวดของจิตวิญญาณที่กระวนกระวายคอยระแวดระไวสภาพของจิตใจที่สูงส่งในยามที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก อันเป็นประสบการณ์ที่เผาลนกระวนกระวายที่คนรักมีต่อผู้เป็นที่รัก เป็นการผสมผสานทั้งรหัสยนัยและจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ซึ่งโอบกอดไว้ด้วยความรู้รอบในแหล่งแห่งการสร้างสรรค์ของพระผู้สร้าง นับเป็นเรื่องยากที่จะนำสิ่งเหล่านี้ออกมาเขียนพรรณนาได้

แต่ซะอฺดีก็ใช้ความพยายามอย่างประณีตเพื่อให้เกิดความเข้าใจเช่นนั้นแก่ผู้อ่าน ท่านกล่าวว่า

“ข้าปีติชื่นชมในโลกนี้ เหมือนดังโลกที่เต็มไปด้วยความน่าปีติชื่นชมอันเป็นของพระองค์ ข้าตกอยู่ในความรักกับจักรวาลทั้งมวล เหมือนกับว่าที่จักรวาลทั้งมวลเป็นของพระองค์”