ปมเหยียดผิว บทเรียนซ้ำซ้อนของ “ราชวงศ์อังกฤษ”

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างและก่อแรงกระเพื่อมตีกลับมาถึงราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนผ่านสู่รัชสมัยปกครองของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 มาได้เพียงไม่นาน กับกรณีของเลดี้ซูซาน ฮัสซีย์ อดีตนางสนองพระโอษฐ์ผู้ถวายการรับใช้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มายาวนานกว่า 60 ปี และยังเป็นแม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม แห่งเวลส์ ซึ่งตกเป็นข่าวครึกโครมในประเด็นเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ

เรื่องราวที่กลายเป็นประเด็นร้อนนี้ถูกเปิดเผยออกมาจากมุมของนางเอ็นโกซี ฟูลานี ประธานกลุ่ม “ซิสตาห์ สเปซ” ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงภายในครอบครัว ผู้เป็นคู่กรณีโดยตรงของเลดี้ฮัสซีย์ ที่ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าวบีบีซี

โดยฟูลานีซึ่งเป็นหญิงชาวอังกฤษผิวสีเชื้อสายแอฟริกัน-แคริบเบียน วัย 57 เล่าถึงวันเกิดเหตุว่าเธอเป็นหนึ่งในแขกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ที่ทำงานรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยมีพระราชินีคามิลลา พระมเหสีของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นเจ้าภาพในงานที่จัดขึ้นภายในพระราชวังบักกิ้งแฮมเมื่อเร็วๆ นี้

ที่นั่นทำให้ฟูลานีได้พบกับเลดี้ฮัสซีย์ ซึ่งเข้ามาทักทายและถามถึงพื้นเพความเป็นมาของเธอด้วยการเค้นถามซ้ำๆ ในคำถามที่ว่าเธอมาจากไหน แม้ฟูลานีจะตอบกลับไปว่ามาจากองค์กรไหน องค์กรของเธอนั้นตั้งอยู่ที่ใด แต่เธอยังกลับถูกเลดี้ฮัสซีย์ต้อนถามไปถึงว่าเธอมาจากส่วนไหนของแอฟริกา เรื่อยไปถึงเรื่องสัญชาติ จนทำให้ฟูลานีรู้สึกว่านั่นเป็นคำถามที่ก้าวล่วง แต่เธอก็ตอบด้วยน้ำเสียงเด็ดขาดชัดเจนกลับไปว่าเธอเกิดในอังกฤษและเป็นพลเมืองอังกฤษ

ฟูลานีบอกกับบีบีซีถึงประสบการณ์เลวร้ายครั้งนี้ว่าทำให้เธอเหมือนถูกสอบปากคำและรู้สึกเหมือนว่าความรุนแรงกำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยชี้ว่าความรุนแรงอาจไม่ใช่ทางร่างกายเสมอไป แต่มาในรูปแบบของวาจาก็ได้เช่นกัน

ฟูลานียังตั้งคำถามว่าสิ่งที่เธอเจอกับตัวเองครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในพื้นที่ที่ควรปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ

FILE – Charity leader Ngozi Fulani, centre left, attends a reception held by Britain’s Camilla, the Queen Consort to raise awareness of violence against women and girls as part of the UN 16 days of Activism against Gender-Based Violence, in Buckingham Palace, in London, Tuesday Nov. 29, 2022. (AP Photo/Kin Cheung, Pool, File)

หลังเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่โตบนหน้าสื่อในอังกฤษขึ้น มีรายงานว่าเลดี้ฮัสซีย์ได้ลาออกจากตำแหน่งข้าราชสำนักไปในทันที ขณะที่สำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์ประณามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และได้ทำการสอบสวนรายละเอียดในเรื่องนี้ทันทีแล้ว พร้อมกับย้ำว่าสมาชิกทุกคนในราชสำนักต่างได้รับการเตือนให้ตระหนักถึงนโยบายแห่งความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่โฆษกของเจ้าชายวิลเลียมออกแถลงการณ์แสดงความชัดเจนว่าการเหยียดเชื้อชาติไม่มีที่ยืนในสังคม และความเห็นดังกล่าวของเลดี้ฮัสซีย์นั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

อย่างไรก็ดี กรณีอื้อฉาวนี้ได้จุดประเด็นคำถามย้อนกลับมาถึงสถาบันอันเป็นหนึ่งเสาหลักของสหราชอาณาจักรและเป็นการเปิดบาดแผลเก่าของราชวงศ์อังกฤษที่ยังไม่ทันเยียวยารักษาหาย

เสมือนตอกย้ำข้อกังขาที่ว่าเบื้องหลังกำแพงวังบักกิ้งแฮมอาจมีปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวจริงๆ หรือไม่ อย่างที่เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ชายาของเจ้าชายแฮร์รี่ กล่าวอ้างในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดังชาวอเมริกันในปีที่แล้ว โดยระบุว่ามีสมาชิกผู้หนึ่งในราชวงศ์ถามเรื่องสีผิวของลูกน้อยในครรภ์ของเธอในขณะนั้นว่าจะออกมาเป็นสีผิวใด

บทสัมภาษณ์ครั้งนั้นของเมแกนจุดวิกฤตครั้งใหญ่ที่สั่นคลอนภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการเหยียดเชื้อชาติ ที่นำไปสู่การขยับปฏิรูปสถาบัน

(Photo by Justin TALLIS / AFP)

ไดแอน แอบบ็อต ส.ส.พรรคแรงงาน และเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาสามัญของอังกฤษในปี ค.ศ.1987 ให้ความเห็นกรณีที่เกิดขึ้นกับฟูลานีว่า ตนเองรู้สึกช็อกที่ยังมีคนสามารถพูดและคิดแบบนี้ได้อีกในปี ค.ศ.2022 นี้ แม้ข้อบ่งชี้ที่ว่าคนผิวดำไม่ใช่คนอังกฤษอย่างแท้จริงนั้นจะแพร่หลายน้อยลงในปัจจุบันเมื่อเทียบกับหลายสิบปีที่แล้ว ทว่า ความคิดแบบนี้ยังคงมีอยู่ ซึ่งเธอคิดว่าเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เมแกนพยายามบอกให้โลกรับรู้นั้นเป็นความจริง

ขณะที่ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีเชื้อสายอินเดีย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า แม้ตนเองจะเคยมีประสบการณ์เรื่องการถูกเหยียดเชื้อชาติ แต่ประเทศก็มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเราจะต้องเรียนรู้บทเรียนจากการกระทำที่เป็นการเหยียดเชื้อชาติต่อไปและก้าวไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

ปมร้อนนี้ย้อนกลับมาให้ราชวงศ์อังกฤษต้องตอบคำถามต่อสังคมอย่างจริงจังอีกครั้งว่าสถาบันได้เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่

และอาจต้องใช้เวลาพิสูจน์การกระทำในการโอบรับความแตกต่างหลากหลายในสังคมอย่างแท้จริงเพื่อการดำรงอยู่อย่างสง่างามของสถาบันต่อไป