เลือกพรรคอะไรดีคะ? เลือกให้ประยุทธ์พักผ่อน | คำ ผกา

คำ ผกา

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องกฎหมายลูกที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญออกมาทำให้ไทม์ไลน์การเลือกตั้งของประเทศไทยชัดเจนยิ่งขึ้น

ทำไมการเลือกที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึงนี้มีความสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยอย่างมาก

หนึ่ง เราได้ถอดเครื่องมือการสืบทอดอำนาจของการรัฐประหารปี 2557 ออกได้หนึ่งเครื่องมือ นั่นคือ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่ใช่ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่เอื้อให้พรรคเล็กมี ส.ส.ที่มีคะแนนเพียงไม่กี่พันคะแนนและกลายเป็นตัวแปร เป็นเสียงสนับสนุนพรรค “ร่วมรัฐบาล” ที่เป็นกลไกการสืบทอดอำนาจของพี่น้องสาม ป. ที่ร่วมทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนมาด้วยกัน

แน่นอนว่า พรรคการเมืองที่เป็น “เรือนรัง” ใหม่ของสาม ป. ก็ต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้พ่ายแพ้ในระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน บัตรสองใบด้วยเช่นกัน

สอง สืบเนื่องจากระบบการเลือกที่เปลี่ยนเป็นระบบคู่ขนาน บัตรเลือกตั้งสองใบ ทำให้พรรคเล็กต้องยุบตัวเองลงแล้วหา “เรือนรัง” ใหม่ น่าสนใจว่าพรรคเหล่านี้ และคนเหล่านี้จะกลายเป็น “ตัวแปร” ของฟากฝั่งที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยหรือสนับสนุนการดำรงอยู่ของเผด็จการ

สาม เราไม่เชื่อเรื่องการผิดใจ แตกหักกันของประวิตร วงษ์สุวรรณ และประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ฉันเองค่อนข้างเชื่อว่าพลวัตของการเลือกตั้งทำให้ทั้งสองคนที่ไม่มีตัวเลือกอะไรมากนัก นอกจากต้องแยกกันเดินในแบบที่ไม่อาจประสานผลโยชน์ได้อย่างราบรื่นลงตัวเท่าที่ใจปรารถนา

3ป

องค์ประกอบของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนหนึ่งมาจากนักการเมืองที่เคยถูกกระทำจากการรัฐประหาร แต่จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ พวกเขาต้องย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ – และฉันจะไม่พูดว่า นักการเมืองเหล่านี้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย

แต่ฉันพูดได้ว่า ถ้าการเมืองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง พวกเขาสมารถแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเป็นเอกเทศ อิสระ และมีพื้นที่ในการขยับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้มากกว่า

ที่สำคัญ ไม่ต้องจ่าย “ค่าคุ้มครอง” โดยไม่จำเป็น

ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า การส่งประยุทธ์ขึ้นเป็นายกรัฐมนตรีนั้น นอกจาก ส.ว. 250 เสียงแล้ว ยังมี “ราคา” ที่จ่ายไปบนแรงกายแรงใจแรงทรัพยากรของ “นักการเมือง” จำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจมาลงเรือลำที่ชื่อพลังประชารัฐ โดยมีประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค

แต่ 4 ปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ที่เป็นนายกฯ ได้เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมมีความ “ไม่ราบรื่น” ในการเกลี่ยผลประโยชน์ และย่อมมีความรู้สึกจากนักการการเมืองหลายคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหารตั้งแต่แรก (การรัฐประหารเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของนักเลือกตั้งในทุกมิติ) แต่เลือกมาอยู่กับพลังประชารัฐเพราะหวังว่าจะต่อรองผลประโยชน์ได้ และมั่นใจว่า ปีกที่มาจากการรัฐประหารในพลังประชารัฐก็ต้องอาศัยพวกตนในการดึงคะแนนเสียงจากมวลชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว นักการเมืองกลุ่มนี้ แทบไม่ได้อะไรจากการเข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเลย

การย้ายไปอยู่กับภูมิใจไทยต่างหากที่มีแต่ได้กับได้ คือ ไม่ด่างพร้อย (หรือด่างพร้อยก็น้อยกว่า) กับการมาเป็นเรือจ้างให้การสืบทอดอำนาจ ได้คะแนนนิยมในพื้นที่เพราะภูมิใจไทยยังเกลี่ยผลประโยชน์บนเป้าหมายของการ “ชนะการเลือกตั้ง” ด้วยฐานของนักการเมืองในพื้นที่

ในขณะที่พลังประชารัฐ ผลประโยชน์ต่างๆ ไหลไปที่ปีกของประยุทธ์ ที่ดูเหมือนจะไม่ลงทุนแต่หยิบชิ้นปลามันอย่างเดียว (คนอย่างแรมโบ้ หรือธนกรที่รุ่งเรือง)

เมื่อเป็นเช่น เราจึงเห็นเกมเขย่า Status quo ระหว่างประยุทธ์และประวิตร ที่เริ่มจากกลุ่มของธรรมนัส พรหมเผ่า ที่สร้างรอยร้าว และภาวะกินแหนงแคลงใจมาจนถึงทุกวันนี้ และลุกลามไปจนถึงจุดที่ธรรมนัสอาจจะไม่สามารถกลับเข้าสู่สนามการเลือกได้อีก (ด้วยตัวเอง) ในอนาคตอันใกล้

และนี่อาจเป็นเหตุผลหลักจริงๆ ที่จำเป็นต้องมี “เรือนรัง” ใหม่สำหรับประยุทธ์ในชื่อรวมไทยสร้างชาติ แล้วแยกกันไปให้ชัดเจนว่า เรือลำไหนของประยุทธ์ เรือลำไหนของประวิตร เพื่อแยกบัญชีรายรับรายจ่าย ใครลงทุนลงแรงทำงานกับใครก็ควรได้ผลกำไรจากคนนั้น

ไม่ใช่ลงทุนทำงานกับประวิตรแล้วกำไรไปอยู่กับประยุทธ์และพวก

ภาพที่เราเห็นล่าสุดคือ การชั่งน้ำหนักของนักการเมืองทุกคนแล้วตัดสินใจให้ได้ว่า วันนี้จะเลือกสังกัดพรรคไหน?

สำหรับประชาชน นี่คือห้วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะได้เห็นความสามารถในการตัดสินใจและการประเมินสถานการณ์ของนักการเมืองทุกคนที่ยังมีบทบาท ซึ่งฉันจะวิเคราะห์ดังนี้ (อาจจะผิด ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย)

– กลุ่มนักการเมืองที่ไปสนับสนุนประยุทธ์ เป็นกลุ่มคนที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่สนใจการเมืองเชิงระบบ โครงสร้าง ไม่แคร์ความหมายและความสำคัญของพรรคการเมืองต่อเสถียรภาพของประชาธิปไตยและเป็นกลุ่มคนที่มั่นใจในความมั่นคงของอำนาจเชิงประเพณี เครือข่ายกองทัพ และทุน

– คนที่เลือกอยู่กับพลังประชารัฐ กลุ่มนี้แม้จะดูใช้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด น่าจะเริ่มสั่นคลอนและไม่เชื่อมั่นในความยืนยงของเครือข่ายชนชั้นนำเก่า และเชื่อว่า ถ้าพรรคการเมืองมีทรัพยากรมากพอ จะดึงคะแนนนิยมจากประชาชนจนทำให้ตนเองมีอำนาจรัฐได้ และจะใช้อำนาจรัฐนั้นสร้างคะแนนนิยมต่อเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และแบ่งปันผลประโยชน์ในเครือข่ายของนักการเมืองด้วยกัน และหวังว่าหากเครือข่ายนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลตรงนี้เข้มแข็งขึ้นก็น่าจะทำให้ต้องจ่ายค่าเจ้าที่น้อยลง (กระจายอำนาจให้มีเจ้าที่หลายคนขึ้นด้วย)

– คนที่เลือกอยู่กับภูมิใจไทย หรือคนที่อยู่กับภูมิใจไทยอยู่แล้ว สบายใจกับการไม่ต้องแบกต้นทุนทางอุดมการณ์ (สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย) ขณะเดียวกันสามารถชนะการเลือกตั้งได้เรื่อยๆ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาลได้ทุกครั้ง และได้ครอบครองอำนาจรัฐจนปันส่วนผลประโยชน์มาสู่ท้องที่เป็นฐานเสียงของตน เรียกว่า ไม่ต้องการเป็นตำนานใดๆ เน้น “ปากท้อง” ของจริง

– คนที่เลือกอยู่กับพรรคเพื่อไทย กรณีพรรคเพื่อไทยค่อนข้าง complicate ซับซ้อน ในฐานะพรรคการเมืองที่ถูกรัฐประหาร 2 ครั้ง มีอดีตนายกฯ ที่ต้องลี้ภัยเผด็จการถึงสองคน มีโปรไฟล์เป็นพรรคการเมืองที่อยู่เคียงข้างมวลชนคนเสื้อแดง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรียกได้ว่า เป็นพรรคการเมืองที่แบกต้นทุนของการเป็น “นักสู้” ที่นำมาซึ่งข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบของพรรค

นั่นคือ สู้กับมวลชนมากเกินไปก็เสี่ยงกับสถานะพรรคการเมือง สู้น้อยเกินไปก็กลายเป็นผู้ทรยศต่อเพื่อนร่วมรบ

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเผชิญกับแรงบีบทั้งสองทาง นั่นคือ ทางฝั่งอนุรักษนิยมก็บอกว่าเพื่อไทยเป็นพวก “แรดิกัล” ส่วนปีกก้าวหน้าจัดๆ ก็บอกว่า เพื่อไทยเป็นพรรค “เกี้ยเซี้ย”

ไม่เพียงเท่านั้น legacy ของทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลุ่มที่เป็น establishment ของพรรค เป็นทั้งจุดแข็งที่สุด และเป็นจุดที่พรรคเพื่อไทยถูกใช้มาโจมตีมากที่สุดเช่นกัน

แต่ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนนี้ของพรรคเพื่อไทยก็ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็น “เรือนรัง” ทั้งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความทันสมัย

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นเรือนรังของนักการเมืองที่ “จัดเจน” ในชั้นเชิงการเมืองแบบที่ถูกเรียกว่าการเมืองเก่าหรือการเมืองบ้านใหญ่

และในภาวะที่มีการย้าย “รัง” กันขนานใหญ่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง เราย่อมเห็นการ “ไหลเข้า” มาในพรรคเพื่อไทยจากปีก “การเมืองเก่า” ซึ่งไม่มีใครรู้ว่านี่จะเป็นคุณ หรือจะเป็นการบั่นทอนพลังของพรรคเพื่อไทย

– พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีแบรนด์เรื่องความ “ก้าวหน้า” ชัดเจนที่สุด และมีจุดขายเชิงอุดมการณ์ ภาพลักษณ์ของความเป็นปัญญาชน

ในสายตาของฉัน เป็นพรรคการเมืองที่มีความขัดแย้งในตัวเองค่อนข้างน้อย นั่นคือ คนที่หนุนเผด็จการก็ไม่มีวันย้ายไปพรรคก้าวไกลแน่ๆ หรือคนที่หวังว่าจะได้ประโยชน์จากการสังกัดพรรคก้าวไกลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ก็ไม่ฝากผีฝากไข้ไว้กับพรรคก้าวไกลแน่ๆ

จุดแข็งของก้าวไกลในการเลือกตั้งคือความเป็น “เลือดแท้” ของผู้รักประชาธิปไตยในอุดมคติ

เพราะฉะนั้น การย้ายพรรคก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแสดงจุดยืน เลือกข้างกันอีกครั้งของเหล่านักการเมือง และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคนไทยที่จะประกาศว่า เราต้องการนักการเมืองแบบไหน ต้องการพรรคการเมืองแบบไหนที่จะทำงานในฐานะตัวแทนของเรา

ที่สำคัญอย่ากลัวที่จะเลือกผิด เพราะการเลือกผิด ไม่ใช่จุดจบของประชาธิปไตย

แต่การเลือกเพียงครั้งเดียวแล้วทุกอย่างไม่เป็นไปดั่งใจแล้วหันไปสนับสนุนเผด็จการหรือปฏิเสธประชาธิปไตยเสียงข้างมากต่างหากคือต้นเหตุแห่งหายนะ และน่าหวั่นใจมากเพราะคนที่เรียกตัวเองว่า “หัวก้าวหน้า” จำนวนไม่น้อยที่คิดว่าตัวเองเป็นเลือดแท้ของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย มักจะผลิตซ้ำวาทกรรมนักการเมืองชั่ว ประชาชนโง่ออกมาอยู่เนืองๆ อีกทั้งการพร่ำบ่นก่นด่าทำไมมีแต่นักการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

ซึ่งฉันอยากจะบอกว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนไม่มีผลประโยชน์ของตัวเอง นักการเมืองทุกคนต้องเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ใครมาพูดว่า ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อประชาชน ขอให้รู้ว่าคนคนนั้นโกหก

ประชาชนอย่างเราแค่ดูว่านักการเมืองทำเพื่อตัวเองและทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชนเต็มที่หรือไม่ สุจริตแค่ไหน เราพอใจไหม ถ้าพอใจก็เลือกต่อ ไม่พอใจคราวหน้าก็ไม่เลือก

โจทย์ของประเทศที่ไม่เคยพ้นวาระการตั้งไข่ของประชาธิปไตย ขอผ่านจุดนี้กันให้ได้ก่อนเถอะ