จดหมาย

• เสียงเรียกร้อง – ถึงรัฐสภาไทย

เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) โดยมีกษิต ภิรมย์ หนึ่งในคณะกรรมการของ APHR และชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation : PEF) เป็นตัวแทนแถลงชี้แจงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นภายในเมียนมา โดยนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

สถานการณ์ในเมียนมายังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง

เผด็จการทหารนำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ได้ทำสงครามกับประชาชนอย่างป่าเถื่อน และทำลายเศรษฐกิจของประเทศ กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 2,371 ราย

มีผู้พลัดถิ่นหลายแสนคน

จำคุกนักโทษการเมืองไม่ต่ำกว่า 15,000 คน และทำทารุณกรรมผู้ถูกจับกุมเหล่านั้นกลายเป็นกิจวัตร

รวมถึงการปราบปรามสื่ออิสระและประชาสังคมอย่างรุนแรง

แม้อาเซียนจะพยายามแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมา เช่น การออกฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

รวมทั้งการแต่งตั้งทูตพิเศษเกี่ยวกับกิจการของเมียนมา

ทว่า จากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการไต่สวนของรัฐสภาระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในเมียนมา (International Parliamentary Inquiry : IPI)

พบว่าการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมายังไม่มีความคืบหน้า

จัดได้ว่าประสบความล้มเหลว

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนานาชาติยังเข้าไม่ถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในเมียนมา

ยังจำกัดอยู่ในตัวเมืองบางเมืองที่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายทหาร

การช่วยเหลือยังไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ และมีจำนวนมากที่อพยพหนีตายมาอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือบทบาทหน้าที่ของทูตพิเศษมีความจำกัดและไม่ชัดเจน และเป็นตำแหน่งชั่วคราว และไม่มีความต่อเนื่องในการทำภารกิจ

ในการนี้จึงเห็นว่าฝ่ายอาเซียนควรแต่งตั้งบุคลากรเข้าร่วมในงานของทูตพิเศษเพิ่มเติม

รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรที่จะรองรับงานและขยายบทบาทได้มากยิ่งขึ้น และมีสถานะเป็นงานประจำ

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมาเราเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยยังคงเลือกยืนอยู่ข้างรัฐบาลทหารเมียนมา และเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชนเมียนมา

นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่เปิดให้มีการรับเข้ามาของผู้ลี้ภัยใหม่ และยังไม่เคยติดต่อพูดคุยกับฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านฝ่ายทหารเมียนมา

ในขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า บทบาทสมาชิกรัฐสภาไทยในเรื่องเมียนมานี้ยังมีความจำกัดอยู่

สมควรที่จะมีการทบทวนท่าที และดำเนินการบทบาทในเชิงรุก เพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา

สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบันควรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาชายแดน และการนำสันติภาพและประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน

(ASEAN Parliamentarians for Human Rights : APHR)

 

เสียงเรียกร้องให้รัฐสภาไทย

มีบทบาทต่อปัญหาเมียนมา

คงเหมือนโยนหินลงบ่อ

นั่นคือ…(หาย) ต๋อม

ยิ่งตอนนี้ใกล้ยุบสภา

หลายๆ คนในสภาคงไม่มีสมาธิให้เรื่องอื่น

นอกจากดิ้นรนเพื่อที่จะกลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง

• เสียงเรียกร้อง – จากไม่เอ็นจีโอถึงเอ็นจีโอ

คืออย่างนี้นะ “ไอ้ตือ”…

ไม่รู้ว่าอธิบายอย่างไรให้ “ไอ้ตือ” เข้าใจ การประชุมและการรวมกลุ่มระดับนานาชาติอย่าง APEC, RCEP และ CPTPP หรือแม้แต่ ASEAN นั้น ส่วนใหญ่ข้อตกลงหรือข้อผูกมัดทางด้านเศรษฐกิจมันไม่ได้จะเกิดขึ้นแบบปุบปับหลังการประชุม บางทีใช้เวลาคุยเป็นกว่า 10-15 ปี กว่าจะตกลงกันได้

ดังนั้น การมาประชุมแต่ละครั้ง ข้อดีของมันคือการได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และ “ผลักดัน” ให้สิ่งที่ไม่มีอยู่บนโต๊ะสามารถขึ้นมาอยู่บนโต๊ะได้

เช่นเดียวกัน หากเชื่อว่าเวที APEC นี้ไม่มีเสียงของประชาชนเล็ดรอดเข้าไปได้ สิ่งที่ NGO หรือคนแบบ “ไอ้ตือ” พึงกระทำ ไม่ใช่การออกมาต่อต้าน ขัดขวาง ดิสเครดิต หรือ “ด้อยค่า” (ในภาษาของสลิ่ม) APEC ไปเสียทีเดียว

แต่ควรไปเรียกร้องเอากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันประเด็นที่ต้องการให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะได้ ไม่ว่าจะกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือหากนึกอะไรไม่ออกก็ให้ไปคุยกับกระทรวงการต่างประเทศ (กระทรวงนี้เป็นมิตรและ “พร้อมคุย” กับประชาชนมากที่สุดแล้ว)

สำหรับวิธีที่สร้างสรรค์นั้นมีหลากหลาย

เช่น การยื่นหนังสือร้องเรียน นำงานวิจัยที่ “ไอ้ตือ” คิดว่าน่าสนใจ มาจัดเวทีเสวนาสาธารณะ ไปจนถึงการรวมกลุ่มกันกดดันผ่านกลไกรัฐสภา หรือพรรคการเมืองที่ตนเองไว้วางใจให้ไปเดินเรื่องต่อในรัฐสภา

ขอร้องอย่างเดียว อย่าพยายามไปปล่อยข่าวลือมั่วๆ แบบเมื่อตอน CPTPP แบบนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และรังแต่จะเสียโอกาส แถมยังสร้างความแตกตื่นต่อประชาชนโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

“ไอ้แก๊ป”

 

ว่าจะจบวิวาทะเรื่องเอเปค ระหว่าง

ปีกเอ็นจีโอ และปีกไม่เอ็นจีโอ แล้ว

แต่ข้อเสนอของไอ้แก๊ป ฝ่าย “ไม่” (เอา) เอ็นจีโอ

ที่เสนอต่อไอ้ตือ ฝ่ายเอ็นจีโอ

โดยให้ใช้วิธีสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อน

ซึ่งน่าสนใจ

น่าสนใจพอๆ กับเมื่อเสนอไปอย่างสร้างสรรค์แล้ว

คาดหวังว่าจะมีการตอบสนองกลับคืนด้วย

ไม่ใช่หายต๋อม!?! •