ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Foundation of Joan Miró (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ผลงานอีกชิ้นของมิโรในพิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró ที่เรียบง่ายจนน่าตื่นตะลึงในความคิดของเรา (และอาจจะรวมถึงของผู้ชมอีกหลายคน)

คือผลงาน Landscape (1968) ภาพวาดบนผืนผ้าใบสีขาวกว้างใหญ่ ที่แทบจะไม่มีอะไรอยู่บนนั้นเลย นอกจากจุดสีน้ำเงินเล็กๆ เพียงจุดเดียว (แถมจุดยังออกจะเลือนๆ ด้วย)

Landscape (1968)
Landscape (1968) (รายละเอียด)

ดังคำกล่าวของมิโรที่ว่า “ความเงียบคือการปฏิเสธเสียง แต่แม้แต่เสียงที่เบาที่สุดท่ามกลางความเงียบ ก็กลายเป็นเสียงที่ดังกึกก้องได้”

ผืนผ้าใบกว้างใหญ่สีขาวว่างเปล่าทำให้เรามองเห็นจุดเล็กๆ สีน้ำเงินอันเลือนรางเพียงจุดเดียวได้อย่างเด่นชัดถนัดตาเพียงใด จุดเล็กๆ สีน้ำเงินอันเลือนรางที่ว่านี้ก็สะท้อนถึงพื้นที่รอบข้างอันว่างเปล่ากว้างใหญ่ และขับเน้นให้เห็นถึงรายละเอียดการทอ หรือแม้แต่คุณภาพของผืนผ้าใบให้เราเห็นเพียงนั้นเช่นกัน

Painting on white background for the cell of a recluse I,II, III (1968)

หรือผลงานที่เรียบง่ายจนน่าตื่นตะลึงไม่แพ้กันอย่าง Painting on white background for the cell of a recluse I,II, III (1968) ภาพวาดบนผืนผ้าใบกว้างใหญ่สีขาวสามภาพ ที่ไม่มีอะไรอยู่เลย นอกจากเส้นขีดสีดำเรียวเล็กที่ไม่ค่อยจะตรง

มิโรกล่าวถึงภาพนี้ว่า “สำหรับผม การได้มาซึ่งเสรีภาพคือการได้มาซึ่งความเรียบง่าย เมื่อถึงที่สุดแล้ว เส้นเพียงเส้นเดียวหรือสีเพียงสีเดียวก็สามารถวาดภาพได้”

สำหรับมิโร เส้นแค่เพียงเส้นเดียวก็สามารถสร้างรูปทรงที่เผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดของสรรพสิ่งได้

แถมพื้นที่จัดแสดงภาพวาดชุดนี้ ยังเป็นมุมที่สถาปนิกออกแบบให้ทั้งสามภาพมีบทสนทนาต่อเนื่องกันราวกับเป็นภาพวาดสามแผง (triptych) ได้อย่างเฉพาะเจาะจงอีกด้วย

The hope of a condemned man I,II, III (1974)

อีกมุมของห้องแสดงงานยังมีผลงานภาพวาดสามแผงอันโดดเด่นไม่แพ้กันอย่าง The hope of a condemned man I,II, III (1974) ที่มิโรวาดขึ้นจากความรู้สึกคับแค้นของประชาชนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองอันโหดเหี้ยมกดขี่ของจอมเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก

เรื่องบังเอิญที่น่าเศร้าก็คือ วันที่มิโรวาดภาพนี้เสร็จ นั้นเป็นวันเดียวกับที่ฟรังโกประหารชีวิตนักต่อสู้หนุ่มแห่งกองทัพปลดแอกชาวกาตาลัน ซัลบาดอร์ พุช อันติช (Salvador Puig Antich)

เช่นเดียวกับภาพร่างลายเส้นที่มิโรทำก่อนหน้า ผลงานชิ้นนี้ที่นำเสนอภาพการตรึงกางเขน, การจองจำ, ทัณฑ์ทรมาน และการหลบหนี ด้วยการใช้เส้นโค้งวิ่งไปรอบรอยเปื้อน ก่อนที่จะหยุดชะงักลงอย่างฉับพลัน แสดงให้เห็นถึงความคับแค้นและความหวังของผู้คนในการหลีกหนีจากเงื้อมเงาของเผด็จการ

The Gold of the Azure (1967)

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีผลงานชิ้นเอกของมิโรที่เราเคยเห็นแต่ในหนังสือจัดแสดงอยู่ให้เห็นเป็นบุญตา อย่างผลงาน The Gold of the Azure (1967) ภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากการที่เขาไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี 1966 และได้ซึมซับกับปรัชญาเซนและบทกวีไฮกุ ผลงานชิ้นนี้ของเขาแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะการเขียนพู่กันญี่ปุ่น และจังหวะจะโคนของบทกวีไฮกุ

Figure in front of the sun (1968)

หรือผลงาน Figure in front of the sun (1968) ภาพวาดที่ผสมผสานกระบวนการแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตไร้สำนึกแบบเซอร์เรียลลิสม์ เข้ากับศิลปะการเขียนพู่กันญี่ปุ่น และสุนทรียะในเชิงกวีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ด้วยการใช้เส้นสายอันเรียบง่ายและแม่สีพื้นฐาน ในการสร้างโลกแห่งความฝันอันไร้ตรรกะเหตุผลบนผืนผ้าใบ

ที่เจ้าตัวกล่าวว่าเป็นภาพของ “สุนัขกับดวงอาทิตย์” แต่อย่าเพิ่งสงสัยว่ามันดูเหมือนสุนัขตรงไหน เพราะความคลุมเครือและการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมตีความอย่างอิสระเสรีโดยไม่บังคับหรือชี้นำนั้นเป็นจุดเด่นในผลงานของมิโรนั่นเอง

Tapestry of the Fundació  (1979)

อีกผลงานที่อลังการตระการตาที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ Tapestry of the Fundació (1979) ผลงานศิลปะในรูปผ้าทอคล้ายพรมแขวนผนังขนาดใหญ่ ความสูง 5 เมตร ที่มิโรร่วมทำขึ้นกับ โจเซพ โรโย (Josep Royo) ศิลปินสิ่งทอชาวกาตาลัน เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดยเฉพาะ

โดยในช่วงปี 1970 มิโรเริ่มทำงานในลักษณะที่เรียกว่า Sobreteixim หรืองานลูกผสมระหว่างจิตรกรรม, งานคอลลาจ และสิ่งทอ ด้วยความช่วยเหลือของโรโย

Sobreteixim with eight umbrellas (1973)

มิโรเป็นศิลปินที่มักจะทดลองกับวัสดุแปลกๆ เพื่อท้าทายและทำลายกรอบและขีดจำกัดของการทำงานศิลปะแบบเดิมๆ ดังเช่นผลงานจิตรกรรมสิ่งทอของเขาอีกชิ้นในพิพิธภัณฑ์อย่าง Sobreteixim with eight umbrellas (1973) ผลงานสิ่งทอความยาวเกือบ 6 เมตร ที่มิโรหยิบเอาวัตถุที่หาได้รอบตัวทั่วไปอย่างร่ม, กระดาษแข็ง, ผ้านุ่ง และถุงมือเย็บติดลงไปในผืนพรม หรือแม้แต่สาดสีลงไปบนผลงานตรงๆ ก็ยังมี

ผลงานประติมากรรมสำริดของมิโร
ผลงานประติมากรรมสำริดของมิโร
ผลงานประติมากรรมสำริดของมิโร

นอกจากผลงานจิตรกรรมที่จัดแสดงบนผนัง ในห้องแสดงงานและดาดฟ้าของพิพิธภัณฑ์ยังมีผลงานประติมากรรมสำริดหน้าตาประหลาดปนน่ารัก หรือแม้แต่ทะลึ่งตึงตัง ที่หล่อขึ้นจากวัตถุธรรมดาสามัญที่เราพบได้รอบตัวทั่วไปหรือเครื่องมือเครื่องใช้ประจำวันอย่างก๊อกน้ำ, ไม้แขวนเสื้อ, กระบุง, กระดองเต่า

ผลงานประติมากรรมของมิโร
ผลงานประติมากรรมของมิโร
ผลงานประติมากรรมของมิโร

หรือแม้แต่มือเท้าของศิลปินและคนใกล้ชิด ฯลฯ จัดแสดงอยู่โดยทั่ว

 

นอกจากจะจัดแสดงผลงานของมิโรแล้ว ในพิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró ยังมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินอื่นๆ ทั้งศิลปินร่วมสมัย ที่ทางพิพิธภัณฑ์เปิดพื้นที่ศิลปะทางเลือกในชื่อ Espai 13 (Space 13) เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินและภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ๆ (หรือศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว) จัดแสดงผลงานศิลปะเชิงทดลองต่างๆ

นิทรรศการ 1 possession Drift โดย มาร์เรีย แพรตส์
นิทรรศการ 1 possession Drift โดย มาร์เรีย แพรตส์

โดยในช่วงที่เราไปชมนั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการ 1 possession Drift โดย มาร์เรีย แพรตส์ (Marria Pratts) ศิลปินชาวกาตาลัน และภัณฑารักษ์ เปเร ลูเปรา (Pere Llobera) กับผลงานจิตรกรรมและศิลปะจัดวางเชิงทดลองบรรยากาศแปลกล้ำ ที่เรารู้สึกว่าสร้างบทสนทนากับผลงานศิลปะของมิโรอย่างน่าสนใจ

Mercury fountain (1937) โดย อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์

หรือผลงานของศิลปินอเมริกัน อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ (Alexander Calder) (ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีจากประติมากรรมโมบาย ที่เล่นกับความสมดุลของวัตถุทั้งหลายของเขา) อย่าง Mercury fountain (1937) ประติมากรรมจัดวางรูปโมบายผสมน้ำตกจำลอง

แต่สิ่งที่ไหลอยู่ภายในน้ำตกจำลองที่ว่านั้นไม่ใช่น้ำ หากแต่เป็นปรอทเหลว งานชิ้นนี้จึงจำเป็นต้องจัดแสดงอยู่ในห้องกระจกปิดมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ไอพิษของปรอทสัมผัสผู้ชม

ผลงานชิ้นนี้มีที่มาจากการที่คาลเดอร์เป็นศิลปินต่างชาติคนเดียวที่ได้รับการว่าจ้างให้สร้างผลงานจัดแสดงใน Spanish Republic’s Pavilion ที่นิทรรศการนานาชาติที่ปารีสในปี 1937

(ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ปิกัสโซแสดงผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง Guernica (1937) อีกด้วย ถ้าสังเกตป้ายแขวนด้านหลังผลงาน จะเห็นคาลเดอร์โพสท่าถ่ายภาพคู่กับผลงานชิ้นนี้ที่แสดงอยู่ด้านหน้าภาพ Guernica อีกด้วย)

4 wings (1972) โดย อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์

คาลเดอร์สร้างผลงานประติมากรรมจัดวางชิ้นนี้เพื่อขับเน้นถึงสภาวะเศรษฐกิจในช่วงสงครามกลางเมืองของสเปน ระหว่างปี 1936-1939 ในช่วงเวลานั้น เหมืองปรอทที่เมือง Almad?n ซึ่งผลิตปรอทส่งออกนับเป็น 60% ของอุตสาหกรรมปรอทของโลก ถูกกองทัพรัฐบาลขวาจัดของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก โจมตีอย่างหนัก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมตกต่ำจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ (เพราะปรอทเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก)

ตัวประติมากรรมนี้จะถ่ายเทปรอทให้ไหลขึ้นลงไปมาอย่างไม่รู้จบ ถ้าสังเกตด้านบนประติมากรรมจะมีคำว่า Almad?n ทำจากลวดทองแดงดัดแขวนห้อยอยู่ด้วย ผลงานศิลปะที่สวยงามแต่เปี่ยมด้วยอันตรายชิ้นนี้ ถือเป็นหนึ่งในงานศิลปะชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเลยก็ว่าได้

คาลเดอร์มอบผลงานชิ้นนี้เป็นของขวัญให้พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró ที่บาร์เซโลนาด้วยตัวเอง

อันที่จริงคาลเดอร์กับมิโรนั้นมีความสนิทสนมกันมาก หลักฐานก็คือผลงานอีกชิ้นที่เขามอบให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่าง 4 wings (1972) ประติมากรรมโลหะขนาดใหญ่หน้าตาคล้ายกลีบดอกไม้สีแดงสดที่ตั้งอยู่บนสนามหญ้าหน้าอาคาร ที่เราเล่าให้ฟังไปในตอนต้นนั่นแหละ

พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Mir? ตั้งอยู่บนเนินเขามองต์คูอิก เมืองบาร์เซโลนา เปิดทำการวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. ปิดวันจันทร์, สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ราคา 13 ยูโร, นักเรียนนักศึกษาอายุ 15-30 ปี และผู้สูงอายุกว่า 65 ปี ราคา 7 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าชมฟรี, หอศิลป์ Espai 13 เข้าชมฟรี, ดูรายละเอียดและจองตั๋วเข้าชมได้ที่ https://www.fmirobcn.org/

ข้อมูล หนังสือ Catalog Miró . His Most Intimate Legacy, หนังสือ HIS LIFT’S WORK Joan Miró

พิเศษ! MIC WALKING TRIP #08 เที่ยววัดชมศิลปะระดับโลก

เมื่อ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ชื่อดังในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้เล่าเรื่องศิลปะได้น่าฟังที่สุดในปัจจุบัน

และ ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัดและโบราณสถาน จับมือพากันไปเที่ยวในวัดสำคัญย่านบางกอก พร้อมชมงานศิลปะระดับโลก

ทำความเข้าใจประวัติวัดและความสำคัญจากอดีตจนถึงปัจจุบันของ 2 วัดดังในย่านบางกอก-ธนบุรี และอาคารประวัติศาสตร์มิวเซียมสยาม

พร้อมฟังที่มาที่ไปของผลงานศิลปินระดับโลก ที่นำผลงานมาจัดแสดงใน BAB 2022

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 -17.00 น.

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์