“หัว” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนชาติสยาม กับ “ลางร้าย” ในวรรณคดีไทย

ญาดา อารัมภีร
“พลายแก้ว(ขุนแผน) กับพระยาเชียงทองรบเชียงใหม่” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

คนไทยให้ความสำคัญแก่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะหัวหรือศีรษะถือว่าเป็นของสูง ผู้ที่เราเคารพนับถือ หรือสิ่งที่เป็นมงคลของชีวิต จะมีคำว่า ‘หัว’ หรือ ‘ศีรษะ’ ไปเกี่ยวข้อง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย” ว่า

“ศัพท์หนึ่งที่คนไทยเรียกพระมหากษัตริย์ก็คือ พระเจ้าอยู่หัว คำนี้ในสมัยอยุธยาใช้ว่า พระพุทธเจ้าอยู่หัว แต่จะใช้อย่างไรก็ตามศัพท์นี้มีความหมายในทางที่องค์พระมหากษัตริย์พระผู้เป็นเจ้าเป็นที่เคารพสูงสุดเสมือนกับว่าประทับอยู่บนหัวของคนทุกคน”

ความเชื่อเกี่ยวกับศีรษะมิได้จำกัดอยู่ในหมู่คนไทย ยังเป็นที่ตระหนักแก่ชาวต่างชาติ หนังสือ “ราชอาณาจักรสยาม” ของ พระสยามธุรานุรักษ์ (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) พ.ศ.2411 มีข้อความว่า

“ศีรษะ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งของชนชาติสยาม ไม่มีใครเลยแม้แต่พวกทาส ที่จะทนให้คนอื่นแตะต้องส่วนดังกล่าวของร่างกายได้ ยิ่งกว่านั้น ความเคารพในหัว มีมากเสียจนพวกเขาไม่ยอมอยู่ในบ้านที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ชั้นบน” (น.ส.อมตา นวะมะรัตน – ผู้แปล)

 

เนื่องจากศีรษะสำคัญและสัมพันธ์กับความเคารพนับถือ หนึ่งในการไว้ทุกข์ของคนไทยคือโกนศีรษะแสดงความโศกเศร้า ไม่ว่าจะเป็นศพชนสามัญหรือพระศพเจ้านายระดับสูงก็ตาม ดังที่ นิโกลาส์ แชรแวส บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์) ฉบับ สันต์ ท.โกมลบุตร แปล ดังนี้

“บิดามารดาและมิตรสหายของผู้ตายนุ่งขาวห่มขาว ภรรยาและญาติที่ใกล้ชิดก็นุ่งขาวห่มขาวและโกนศีรษะเกลี้ยง… ฯลฯ… สตรีทั่วราชอาณาจักรโกนศีรษะและแต่งเครื่องไว้ทุกข์ พระภิกษุสงฆ์จากทุกทิศเดินทางมาบำเพ็ญศาสนกิจถวายต่อพระศพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ…”

ความเชื่อเกี่ยวกับศีรษะเป็นของสูงและสำคัญยิ่งน่าจะมีส่วนมาจากตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นจุดสูงสุดของร่างกาย เมื่อใดที่เกิดอะไรขึ้นกับหัวหรือศีรษะ จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ไทยเรามีสำนวนว่า ‘ไม่มีเงาหัว’ หรือ ‘เงาหัวไม่มี’

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย”

“ไม่มีเงาหัว เป็นสำนวนหมายความว่าจะประสบเคราะห์ร้าย มูลของสำนวนมาจากการถือลาง มองเห็นเป็นหัวขาด คือ เห็นแต่ตัว ไม่เห็นหัวหรือศีรษะ ลางดังกล่าวนี้เรียกว่า ‘ไม่มีเงาหัว’ เอามาใช้เป็นสำนวนพูด เช่น พูดว่า ‘ไม่มีเงาหัวเสียแล้ว’ ก็หมายความว่า เคราะห์จะร้ายเสียแล้ว”

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ให้ความหมายสำนวนนี้ว่า “เป็นลางว่าจะตายร้าย”

ตายร้าย คือ ไม่ได้ตายตามธรรมชาติ เช่น แก่ตาย ป่วยตาย แต่ตายเพราะถูกฆ่า หรือเพราะอุบัติเหตุที่เรียกว่า ตายโหง

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” กรณีไม่มีเงาหัว มีทั้งคนอื่นเห็นและตัวเองเห็น ตอนที่ขุนเพชรอินทราเตรียมพร้อมออกจากบ้านไปตามจับตัวขุนแผน เมียเห็นภาพไม่คาดคิด

“เมียยกมือไหว้แลไปดู ไม่เห็นหัวผัวอยู่แต่เพียงบ่า

ตกใจวิ่งไปแล้วโศกา พ่อฟังเมียว่าอย่าเพ่อไป

เดินมาเมื่อตะกี้ไม่มีหัว ตัวเมียนี้เห็นเป็นข้อใหญ่

สมกับความฝันที่พรั่นใจ เข้ากอดตีนผัวไว้ที่กลางเรือน”

ต่อมาเมื่อได้ข่าวผัวตาย นางรำพันว่า

“เห็นศีรษะหายไปเมียได้บอก ได้ห้ามว่าอย่าออกเป็นทัพใหญ่

พ่อไม่เชื่อเนื้อกรรมที่ทำไว้ ขืนไปจนพ่อมรณา”

ท้าวกรุงกาฬก่อนทำศึกก็มองเห็น ‘นิมิต’ หรือ ‘ลางร้าย’

“ภาวนาตาเขม้นเห็นนิมิต วิปริตเป็นรูปคนหัวหาย

จะยกต่อคอแขนไม่ติดกาย เป็นลางร้ายวิปริตก็ผิดใจ”

ก่อนเดินทาง ลางร้ายที่สื่อว่าเถนขวาดชะตาขาดมาเป็นชุด ตั้งแต่จิ้งจกตกลงมาตายต่อหน้า นกแสกบินเฉียดหัว ทำเจ้าตัวตกตะลึงรีบนั่งลงทำสมาธิร่ายคาถาแก้ลาง ทันทีที่ลุกขึ้นหันหน้าไปทางทิศเหนือ พอก้าวลงชั้นล่าง พลันเห็นงูเห่าชูหัวแผ่พังพานเลื้อยขวางหน้า เถนขวาดจึงยกเมฆดูนิมิต

‘ยกเมฆ’ เป็นการดูเมฆในท้องฟ้าว่ามีรูปร่างอย่างไร เป็นนิมิตดีหรือร้าย อาจารย์ศุภร บุนนาค มีมุมมองน่าสนใจในหนังสือเรื่อง “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน”

“เวทมนตร์คาถาอิทธิปาฏิหาริย์เป็นเรื่องเล่นกับอำนาจจิตของคนโบราณ เหมือนกับสมัยนี้ที่เราเล่นกับอำนาจของพลังงานและวัตถุ คนโบราณพบด้วยความสังเกตที่สืบต่อกันมาว่า ภาวะอันหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า ‘จิต’ นั้น แม้เป็นของที่เห็นและจับต้องไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่เป็นหน่วยพลังงานที่อำนาจรุนแรงและรวดเร็วยิ่งนัก ถ้าได้ฝึกฝนและศึกษาให้รู้เท่าทันแจ่มแจ้งน่าจะใช้เป็นประโยชน์ได้มาก”

“ยกเมฆ คือ การสงบใจตามวิธีสมาธิซึ่งคนเคยแล้วจะทำได้คล่อง เมื่อใจเป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว จะเกิดเป็นอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตตามลำดับ ปฏิภาคนิมิต คือ นิมิตซึ่งขยายขนาดเปลี่ยนแปลงตามใจผู้ทำ เมื่อยกนิมิตได้เช่นนี้ก็มักจะเพ่งให้นิมิตนั้นเป็นรูปของตัวเองยกขึ้นไปฉายติดกับท้องฟ้าหรือก้อนเมฆเอาไว้ดูเหตุร้ายดี”

กรณีของเถนขวาดปรากฏให้เห็นเป็นรูปคนไร้หัว ต่ออย่างไรก็ไม่ติด รู้ตัวดีว่าโอกาสรอดเป็นศูนย์

“กอดอกยกเมฆดูนิมิต ก็วิปริตเป็นรูปคนหัวหาย

จะยกต่อคอแขนไม่ติดกาย เถรสำคัญมั่นหมายไม่คืนมา”

ฉากสุดท้ายของเถนขวาดหลังพ่ายแพ้พลายชุมพล จึงจบลงที่ตะแลงแกง

“ปักหลักมัดเถนนั่นเอนเอียง ชุมพลเหวี่ยงดาบฉาดคอขาดไป”

‘หัว’ นั้นสำคัญนัก ทั้ง ‘หัว’ ในนิมิตและชีวิตจริง

‘หาย’ ละเป็นเรื่อง •