ความโกลาหลฝ่ายอำนาจ สร้างจังหวะรุกให้เพื่อไทย จัดวางทัพสู่สมรภูมิเลือกตั้ง ‘ก้าวไกล’ ชูนโยบาย ‘ก้าวหน้า’

อยู่ในช่วงฝุ่นตลบสำหรับสถานการณ์การเมืองฝั่งรัฐบาล

เมื่อเริ่มมีการส่งสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงอนาคตทางการเมือง ที่เตรียมผละจากพรรคพลังประชารัฐไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ

ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะอ่อนกำลังลง รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ที่ประสบปัญหาเดียวกับพรรคแกนหลักคือ การมีลูกพรรคบางส่วนโดยเฉพาะในภาคใต้ และ กทม. เตรียมอพยพย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่ขั้วอำนาจใหม่ พรรครวมไทยสร้างชาติ

รวมถึง 2 รัฐมนตรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ตามด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความวุ่นวายโกลาหลที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลทางลบต่อพรรคการเมืองซีกฝั่งรัฐบาลเอง ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้คงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ขณะเดียวกันจะส่งผลอย่างไรต่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยนำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในช่วงการเมืองปรับตัวเข้าสู่โหมดเลือกตั้งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

แม้ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่จนครบวาระหรือไม่ และจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นช่วงเวลาใดของปีหน้า หลังจากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้รับการตีตราประทับรับรองจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อย

พรรคเพื่อไทยมีความคมชัดมากขึ้นเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะมาอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อมีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เข้ามาเป็น 1 ในผู้ได้รับการเสนอชื่อ

ประกบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

กระแสข่าวเกี่ยวกับนายเศรษฐา ว่าจะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ชัดเจน เมื่อเจ้าตัวเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ แล้วมีคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า “ถ้าท่านมาอยู่เพื่อไทย ผมเลือกเพื่อไทยครับ” ซึ่งนายเศรษฐาตอบกลับด้วยประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความ “ผมอยู่เพื่อไทยครับ”

การมาของนายเศรษฐา ด้วยประสบการณ์ทางธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ยอมรับ บวกกับทัศนคติทางการเมืองที่พร้อมเคียงข้างฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อกันว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันพรรคเพื่อไทย ไปสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์

“การแสดงออกเช่นนี้ถือเป็นเจตนารมณ์ของนายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยยินดีต้อนรับ”

“ส่วนจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาของพรรค และคงได้หารือกันในช่วงเวลาที่เหมาะสม” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ

ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าจัดทัพวางตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พร้อมทยอยจัดกิจกรรมเปิดตัว เน้นกลุ่มคนเจนเอ็กซ์เจนวายเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน และเป็นตัวเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภา

รวมถึงการได้แกนนำคนเสื้อแดงนายก่อแก้ว พิกุลทอง และ “โด่ง” อรรถชัย อนันตเมฆ เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค

การกลับมาของนายก่อแก้ว และโด่ง อรรถชัย เป็นการกลับมาผนึกกำลังกับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช.คนเสื้อแดง ที่ปัจจุบันมารับหน้าที่เป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ทำงานร่วมกับอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร

การได้ทั้งเต้น-ณัฐวุฒิ ก่อแก้ว และโด่ง-อรรถชัย มาร่วมงาน ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงคนเสื้อแดง กลับมาเป็นฐานเสียงมวลชนขนาดใหญ่ให้พรรคเพื่อไทย

อย่างเช่นที่เคยได้ผลมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะถล่มทลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ภายในเวลาเพียง 49 วัน

รอบนี้คนเสื้อแดง จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญมุ่งสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์

(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

เพื่อไทยยังเตรียมปรับโครงสร้างพรรคใหม่อีกครั้ง ในการประชุมใหญ่สามัญวันที่ 6 ธันวาคมนี้

วาระสำคัญคือการคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มาแทนกรรมการบริหารพรรคบางส่วนที่เป็น ส.ส.เขต แล้วทยอยลาออก เพราะต่อจากนี้ต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่หาเสียง พบปะประชาชนในพื้นที่ เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยมีความกังวล เนื่องจากการควบ 2 ตำแหน่ง กรรมการบริหารพรรค กับ ส.ส.แบบเขต ที่ต้องลงพื้นที่หาเสียง เกรงว่าอาจถูกการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลั่นแกล้ง ร้องเรียนจนเป็นเหตุให้กระทบมาถึงพรรคได้

ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการปรับทัพเอา ส.ส.กลุ่มนี้ออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค

อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งสำคัญอย่างหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรค จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด ยังคงวางใจให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ทำหน้าที่ตามเดิม

พร้อมดึงแกนนำพรรครุ่นก่อนๆ กลับมาช่วยงานอีกครั้ง ไม่ว่านายภูมิธรรม เวชยชัย และนายชูศักดิ์ ศิรินิล โดยทั้งสองคนจะเข้ามานั่งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ผสมผสานกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ทำงานเข้าตาพรรค ก็จะเข้ามาเสริมทัพในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

นพ.ชลน่านกล่าวถึงประเด็นหลักในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยว่า เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ทดแทนผู้ที่ลาออก เนื่องจากใกล้เลือกตั้งและมีกรรมการบริหารพรรคหลายคนที่เป็น ส.ส.เขต ลงไปหาเสียง

จึงมีความกังวลว่าจะกระทบและอาจถูกกลั่นแกล้งจนเป็นเหตุให้กระทบมาถึงพรรคได้

ความเคลื่อนไหวจากอีกพรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกล เริ่มเปิดนโยบายสำคัญออกมาให้ได้เห็น

นโยบายสำคัญนี้เป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันมาโดยตลอด คือนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” เป็นชุดนโยบายที่ 3 ต่อจาก “การเมืองไทยก้าวหน้า” และ “สวัสดิการไทยก้าวหน้า”

เป็นการผลักดันร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

หัวใจหลักของนโยบายนี้เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หวังให้ประเทศเกิดการขับเคลื่อน 2 ทางควบคู่กัน

เริ่มด้วยการขับเคลื่อนจาก “ล่างขึ้นบน” ผ่านการสร้างผู้บริหารท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าท้องถิ่นพร้อมบริหารและพร้อมพัฒนาเมืองของตัวเอง จากการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และการขับเคลื่อนจาก “บนลงล่าง” ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อก ข้อจำกัดในการทำงานของท้องถิ่น

ซึ่งเป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่น ที่มีประชาชนทั่วประเทศร่วมลงชื่อกว่า 76,591 คน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ผลักดันหลัก จนเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่าน แต่จะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าว ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งการขับเคลื่อนทั้ง 2 ทางจะมาบรรจบกันที่เส้นชัยคือ การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้า

นโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ที่พรรคก้าวไกลผลักดันจะเป็นการพลิกประเทศทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำใน 100 วันแรกคือ การยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช.ทั้งหมด ที่ “ล็อกคอ” และ “ล้วงลูก” ท้องถิ่น

จากนั้นใน 1 ปี จะทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้ง “นายกจังหวัด” ทุกจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยรับประกันว่าไม่มีใครตกงานหรือเสียประโยชน์

กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะและพัฒนาพื้นที่ โดยภายใน 4 ปีท้องถิ่นทั่วประเทศจะได้งบเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นการเพิ่มงบ อบจ.ละ 250 ล้านบาท เมืองละ 100 ล้านบาท ตำบลละ 50 ล้านบาทต่อปีโดยเฉลี่ย

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่านโยบายและการทำการเมืองในสไตล์พรรคก้าวไกล โดนใจคนรุ่นใหม่และคนเมือง

เห็นได้จากผลสำรวจนิด้าโพล หัวข้อ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม.”

โดยบุคคลที่คนกรุงเทพฯ จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 20.40 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหตุผล เพราะเป็นคนมีความมุ่งมั่น มีความรู้ความสามารถ เป็นคนรุ่นใหม่ และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล

อันดับ 2 ร้อยละ 15.20 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนมีความซื่อสัตย์และทำให้บ้านเมืองสงบ อันดับ 3 ร้อยละ 14.10 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพราะมีความรู้ความสามารถ และต้องการให้คนรุ่นใหม่มาบริหาร

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวจากพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทยและก้าวไกล ในจังหวะที่พรรคฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล อยู่ในช่วงระหองระแหง หวาดระแวงกันเอง

อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงปลายรัฐบาล ใกล้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทุกพรรคต่างต้องการเร่งสร้างผลงาน ให้ทันเอาไปใช้หาเสียง ขณะที่พรรคตั้งใหม่ก็ใช้วิธี “ตกปลาในบ่อเพื่อน” โดยไม่สนใจว่าเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร

ความโกลาหลของพรรคฝ่ายอำนาจ เป็นจังหวะอันดีต่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง ภายใต้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 100

ที่เหลือแค่รอเวลาให้ประชาชนออกเสียงตัดสินเท่านั้น