10 ปี บีอาร์ไอในอุษาคเนย์ (2) การต่อต้านบีอาร์ไอในอินโดนีเซีย | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
A hi-speed train built in cooperation between Indonesia and China moves along its dedicated track, prior to a dynamic test, in Tegalluar on November 9, 2022, ahead of an inspection by Indonesia's President Joko Widodo and his Chinese counterpart Xi Jinping after the G20 Summit on November 16. (Photo by TIMUR MATAHARI / AFP)

ปี10 ปี บีอาร์ไอในอุษาคเนย์ (ตอนที่ 1)

ทางการจีนมักยกตัวอย่างความสำเร็จโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ว่าเป็นตัวอย่างอันแรกของความสำเร็จของบีอาร์ไอในอุษาคเนย์ ในความหมายว่า สร้างเสร็จเป็นโครงการแรก เปิดเดินรถแล้ว

แต่ยังไม่มีการศึกษาผลได้ทางเศรษฐกิจ ผลกระทบการย้ายถิ่นฐาน และปัญหาความขัดแย้งระหว่างแรงงานชาวจีนกับแรงงานลาว ฯ

ในเวลาเดียวกันก็พยายามยกตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงในอินโดนีเซีย ว่าเป็นความสำเร็จของโครงการในภาคพื้นสมุทร

แต่ก็ไม่ได้พูดถึงปัญหาความขัดแย้งภายในอินโดนีเซียที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ จีนมัวแต่เร่งส่งหัวรถจักรไปเท่านั้น

ความจริง โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงมีความตึงเครียดทางการเมืองในอินโดนีเซีย อันเป็นปัญหาสำคัญของโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสำคัญนี้

โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง (Jakarta-Bandung High Speed Rail Project-HSRP) ในอินโดนีเซียมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ความยาว 150 กิโลเมตร เสนอโดยรัฐบาลอินโดนีเซียปี 2015 ลงนามเมื่อประธานาธิบดีโจโกวี วิโดโด (Jokowi Widodo) เยือนปักกิ่งปี 2017 ก่อสร้างปี 2018 แผนการเดิมให้เสร็จปี 2019 เป็นโครงการหัวใจด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

เส้นทางนี้จะย่นระยะเวลาเดินทางจากจาการ์ตาถึงบันดุง 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาที1

โครงสร้างการเงินประกอบด้วย เงินกู้ 75% เงินทุน 25% เงินทุนมาจากบริษัทร่วมทุน อินโดนีเซีย-จีน (KCIC) รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเจ้าของ 60%

โครงการถูกคาดหวังการจ้างงานในท้องถิ่นใหม่ 39,000 งาน และจำกัดจำนวนแรงงานจีนลง

หลังประธานาธิบดีโจโกวีลงนามสัญญาก่อสร้างทางรถไฟ จีนยืนยันให้รัฐบาลอินโดนีเซียประกันการเช่าที่ดิน ทำให้มีการเลื่อนโครงการเพราะปัญหาการรวบรวมที่ดิน จีนหยุดปล่อยเงินกู้ชั่วคราว

(Photo by TIMUR MATAHARI / AFP)

แต่อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากคือ ปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้าง เพราะมีพวกฉวยโอกาสทางการเมืองและมีการเจรจาใหม่ รวมทั้งการเผชิญหน้าทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

ความจริงญี่ปุ่นเริ่มโครงการรถไฟจาการ์ตา-บันดุงนี้ตั้งแต่แรก มีการศึกษาความเป็นไปได้ HSR ปี 2009 หลังประธานาธิบดีโจโกวีชนะการเลือกตั้งปี 2015 ในที่สุด รัฐวิสาหกิจจีน China Railway Group Limited-CREC ได้งานนี้ด้วย 2 เหตุผล

1. ตามแผนงานของรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลอินโดนีเซียต้องค้ำประกันเงินกู้ ในขณะที่แผนงานของจีนไม่ได้เรียกร้องการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาล2

ประธานาธิบดีโจโกวีเห็นด้วยกับการทูตเชิงกระจาย (Diplomatic Diversify) อันหมายถึง ความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ แทนที่จะอิงอยู่กับเพียงไม่กี่ประเทศ และรัฐบาลของประธานาธิบดีโจโกวีต้องการออกจากการลงทุนของญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยเฉพาะภาคการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน นี่เพราะว่า การลงทุนและโครงการความช่วยเหลือของญี่ปุ่นมีความเข้มงวด และมีเงื่อนไขมาก โดยเฉพาะเรื่องการค้ำประกันของรัฐบาล (Sovereign Guarantee) และเวลาเสร็จสิ้นโครงการ

ด้วยความเข้มงวดของญี่ปุ่น แต่ความยืดหยุ่นที่ไม่มีเงื่อนไขของจีนด้านการเงินดึงดูดประธานาธิบดีโจโกวีมากกว่า

2. รัฐวิสาหกิจจีน CREC สัญญากับรัฐบาลโจโกวี ว่าจะเสร็จงานก่อสร้างก่อนประธานาธิบดีโจโกวีทำการเลือกตั้งใหม่ปี 2019 อันทำให้ประธานาธิบดีโจโกวีสามารถรักษาสัญญาทางการเมืองว่าจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และชนะใจผู้เลือกตั้ง และในที่สุดชนะการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของเขา

อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจจีน CREC ก็สร้างโครงการเส้นทางรถไฟสายนี้ไม่เสร็จตามกำหนด แต่ก็ไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโจโกวีชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

(Photo by TIMUR MATAHARI / AFP)

เหนืออื่นใด โครงการมีความยุ่งยาก ซึ่งเกิดจากความตึงเครียดทางการเมืองทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ในขณะที่พันธมิตรของประธานาธิบดีโจโกวีให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟแน่นอน แต่มีการต่อต้านมาจากกระทรวงคมนาคม ทหารและรัฐบาลท้องถิ่นบันดุงตะวันตก (West Bandung)

โครงการมีปัญหาความขัดแย้งภายในคณะรัฐมนตรี เช่น กระทรวงคมนาคมขัดแย้งกับกระทรวงกิจการสาธารณะและที่อยู่อาศัย

กระทรวงคมนาคมขัดแย้งกับกระทรวงขนส่ง (Ministry of Transportation) กระทรวงคมนาคมโจมตีว่า ไม่ได้รับการปรึกษาเพียงพอจากกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคมมีบทบาทเพียงเสริมเท่านั้น โดยมี Ministry of State ซึ่งบรรดาผู้ที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองของประธานาธิบดีโจโกวีได้เป็นแกนนำในโครงการก่อสร้าง และพวกเขามักอ้างถึงผลกระทบระยะยาว เช่น ความปลอดภัยและคุณภาพของโครงการมากกว่าประสิทธิภาพด้านต้นทุน

ประธานาธิบดีโจโกวีและพันธมิตรของเขาอ้างว่า อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมีความใกล้ชิดญี่ปุ่นและเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นอีกด้วย

การต่อต้านในส่วนกลางขยายตัวไปท้องถิ่นบันดุงตะวันตก มีการเรียกร้องสัมปทานเพิ่มจากบริษัทร่วมทุนอินโดนีเซีย-จีน (KCIC) รวมทั้งอุปกรณ์มากขึ้น ขยายถนนกว้างขึ้น สนามกีฬาใหม่ และที่ดินเพื่อเพาะปลูกของท้องถิ่น

ในขณะที่การทำโครงการคือความสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติ ทำให้รัฐบาลกลางกล่าวหารัฐบาลท้องถิ่นทำให้ต้องหยุดโครงการกลางคัน เพราะท้องถิ่นมีความล่าช้าในการส่งมอบใบอนุญาตบริษัทก่อสร้างท้องถิ่น

อีกการต่อต้านหนึ่งคือ มาจากทหารอินโดนีเซียที่มองว่าการลงทุนจีนกำลังวางตัวแทรกแซงกิจการภายในและนำไปสู่ความเสี่ยง เนื่องจากมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ มีการโจมตีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟของรัฐบาลจีนนี้ โดยใช้คำว่า “มีการขายประเทศให้จีน”

การมองเช่นนี้ มาจากความไม่ไว้วางใจยาวนานและหวาดระแวงต่อจีน ที่จีนมีบทบาทในอดีตสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียช่วงทศวรรษ 1950-19603

เหนืออื่นใด ทหารวิจารณ์ HSRP ที่มีการรุกเข้าไปเขตที่ดินทหาร คือ Halim Perdanakusuma air base ในจาการ์ตาตะวันออก ดังนั้น ผู้บัญชาการทหารอากาศเสนอย้ายที่ตั้งสถานี HSRP ไปอยู่อีกที่

การต่อรองโดยหน่วยปกครองบันดุงตะวันตกและการต่อต้านของทหาร ทำให้เกิดปัญหาการได้มาของที่ดินสำหรับโครงการ และทอดยาวออกไป อันเป็นผลจากการกระจายอำนาจ

โดยสรุป หน่วยปกครองท้องถิ่นและทหารคัดค้านการควบคุมที่ดินของระบบราชการ เพื่อต่อรองรัฐบาลส่วนกลาง

การต่อต้านของทหารถูกนำมาใช้รณรงค์ชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี จากผู้นำฝ่ายค้าน พล.อ.โปรโบโว (Probowo) อดีตพลเอกหน่วยทหารพิเศษ ผู้มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองและการทหารอินโดนีเซีย นายพลท่านนี้เคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการใช้ความรุนแรงกับผู้นำทางการเมือง มีส่วนในการกวาดล้างและเข่นฆ่าผู้คนในติมอร์ ตะวันออก ที่ทหารอินโดนีเซียไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกเป็นเอกราช

พล.อ.โปรโบโว (Probowo) อ้างว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง HSRP ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เขาให้สัญญาเรื่องการทบทวน การเจรจาใหม่หรือทำให้โครงการเป็นโมฆะ หากเขาชนะเลือกตั้ง

แต่ท่านนายพลก็แพ้การเลือกตั้งชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี

 

อาจกล่าวได้ว่า ความต้องการทั้งหมดมาจากรัฐบาลกลาง การแข่งขันทางการเมืองรอบๆ โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงที่สะท้อนถึงตัวแทนฝ่ายต่างๆ และความตึงเครียดระหว่างตัวแทนผลประโยชน์ฝ่ายต่างๆ ในระบบการเมืองอินโดนีเซีย

ในขณะที่องค์กรท้องถิ่นมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาเนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้พวกเขาต่อรองกับหน่วยงานระดับชาติเพื่อประโยชน์ที่ดีกว่าของท้องถิ่น ทำให้รัฐบาลกลางต้องคิดใหม่ด้านการจัดการโครงการ

น่าสนใจมาก มีสิ่งชี้ชัดว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือบีอาร์ไอ ของจีนในกรณีอินโดนีเซียคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง มีแนวโน้มที่เป็นตัวแทนของการเมืองภายในทั้งในคณะรัฐมนตรี รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น นักการเมืองกับทหาร และการเล่นเกมอำนาจในประเทศเจ้าภาพผู้รับความช่วยเหลือโครงการบีอาร์ไอ อันมีผลต่อการดำเนินการโครงการและผลการปฏิบัติงาน

เป็นที่ทราบกันดีว่า มีหลายฝ่ายชอบกระแนะกระแหนว่า อินโดนีเซียกำลังจะเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ก่อนที่โครงการที่คล้ายคลึงกันในประเทศไทยจะเริ่มต้นเสียอีก ทางการจีนมักกล่าวอ้างความสำเร็จของยุทธศาสตร์บีอาร์ไอในลาวที่เปิดวิ่งแล้ว แต่ไม่มีรายงานผลที่ได้ทางเศรษฐกิจ พร้อมด้วยการฉลองโครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซียนี้ว่า เป็นอีกหนึ่งของความสำเร็จของบีอาร์ไอของจีน

เอาเข้าจริงๆ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่เข้มข้นในอินโดนีเซียก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คล้ายกับที่บีอาร์ไอมีปัญหาในหลายๆ ประเทศนะครับ

การต่อต้านบีอาร์ไอไม่ใช่มีแค่ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดิน การต่อต้านนี้กระจุกตัวอยู่ในแกนกลางของชนชั้นนำอินโดนีเซียด้วย

 


1 Siwage Dharma Negara and Leo Suryadinata, “Jakarta-Bandung High Speed Rail Project : Little Progress, Many Challenge” ISEAS Perspective 4 January 2018, : 2.

2 Wilma Salim and Siwage Dharma Negara, “Why is the high-Speed Rail Project si Important to Indonesia”, ISEAS, Perspective No. 16 2016.

3 Siwage Dharma Negara and Leo Suryadinata, “Jakarta-Bandung High Speed Rail Project : Little Progress, Many Challenges” ISEAS Perspective 4 January 2018, : 7.