ไทม์ไลน์ ‘เอเปค’ เลือด ถล่มเดือดม็อบราษฎร กระสุนยางซัดตาบอด จี้ ‘ประยุทธ์’ รับผิดชอบ

กลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างรุนแรง ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อ “ราษฎรหยุด APEC2022” ที่ประกาศจุดยืนคัดค้านการหารือ และเตรียมเคลื่อนขบวนยื่นหนังสือถึงผู้นำโลก

แต่แทนที่จะรับมือด้วยความเป็นอารยะ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเลือกใช้วิธีสลายม็อบอย่างรุนแรง มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระหน่ำใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่ยั้ง

จนมีผู้บาดเจ็บมากมายหลายคน รุนแรงที่สุดคือตาเกือบบอด

และไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมเท่านั้น ยังมีสื่อมวลชนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ที่บาดเจ็บ และถูกจับกุมจากการกระทำครั้งนี้

กลายเป็นคำถามถึงรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะรับผิดชอบกับความสูญเสียที่ถูกมองว่าเป็นการกระทำความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุครั้งนี้อย่างไร

หรือจะเชิดหน้าปล่อยผ่าน ไม่เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย และน่ากังวลว่าความรุนแรงเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ปะทะเดือด

ไทม์ไลน์สลายเอเปคเลือด

เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งใช้ชื่อ ราษฎรหยุด APEC 2022 ที่ปักหลักชุมนุมค้างคืนที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. ในกิจกรรมเวทีคู่ขนานการประชุมเอเปค 2022 เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

รวมทั้งจะเดินขบวนไปยื่นหนังสือต่อผู้นำเอเปค เพื่อเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าว และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุติบทบาทการเป็นประธานการประชุม และให้ยุบสภาเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ในช่วงเช้าเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนออกจากลานคนเมืองเพื่อมุ่งหน้าไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กลับถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนบริเวณถนนดินสอ ก่อนจะถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ไทม์ไลน์การเริ่มเคลื่อนขบวน เริ่มตั้งแต่เวลา 08.32 น. เมื่อหัวขบวนผู้ชุมนุมตั้งแถวจากเสาชิงช้า ขณะที่ พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ประกาศห้ามเคลื่อนขบวนหรือเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ คฝ.พร้อมโล่ ได้ตั้งแนวสกัดไว้ที่ถนนดินสอ และมีรถตำรวจปิดเส้นทางการจราจรไว้

ต่อมา 09.13 น. ผู้ชุมนุมเข้าประชิดแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รื้อแนวรั้วเหล็กเดินเท้าต่อมาถึงจุดแนวสกัดที่ 2 ใกล้จุดตัดถนนดินสอและถนนราชดำเนิน จุดนี้มีการปะทะคารมกันโดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดทางให้ เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ยืนยันเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ พร้อมเรียกร้องให้ยุติการข่มขู่คุกคามประชาชน

เวลา 09.29 น. เจ้าหน้าที่ คฝ.เคลื่อนตัวเข้าใกล้แนวเครื่องเสียงของกลุ่มราษฎร และเตรียมรถจับกุมผู้ต้องหามาจอดไว้ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมา 09.32 น. นางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า ฝ่าแนวกั้นเจ้าหน้าที่ออกไป จนถูกจับกุม ถือเป็นผู้ชุมนุมรายแรกที่ถูกจับ ท่ามกลางเสียงตะโกนให้ “ปล่อยป้าเป้า”

ต่อมาเวลา 09.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประชิดแนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการปะทะกัน ตำรวจ คฝ.ใช้กระบอง และโล่ฟาดเข้าใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมใช้ขวดน้ำขว้างปากลับ เกิดเป็นความชุลมุนอยู่สักพัก ก่อนจะแยกออกจากกัน อีกสักพักเวลา 10.09 น. เกิดปะทะกันอีกรอบ คราวนี้มีผู้ชุมนุมถูกจับไปอย่างน้อย 2 ราย ขณะที่กลุ่มราษฎรใช้การสาดสีตอบโต้กระบองและโล่ของตำรวจ คฝ.

จนกระทั่งเวลา 10.12 น. กระสุนยางนัดแรกก็ดังขึ้น แถมเล็งมาทางสื่อมวลชน มีการยิงใส่ประชาชนจน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตะโกนถามว่ามายิงประชาชนมือเปล่าทำไม จากนั้นเวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่หยุดยิง ให้เวลาม็อบ 30 นาทีกลับไปที่ลานคนเมือง แต่ผู้ชุมนุมยืนยันปักหลักที่ดังกล่าว

ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปิดกั้นถนนโดยรอบแล้วใช้ไวนิลรูปวัดวาอารามปิดทับ เพื่อความสวยงาม

ก่อนที่การปะทะจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเวลา 12.45 น. คราวนี้มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระหน่ำยิงอย่างรุนแรงจนผู้ชุมนุมกระเจิดกระเจิง ก่อนจับผู้ชุมนุม 25 รายไปไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง

เป็น “เอเปคเลือด” ในทันที

ซัดตาบอด

เจ็บระนาว-หนักสุดถึงตาบอด

ทั้งนี้ หลังจากการจับกุม 25 ผู้ชุมนุมแล้ว พบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บกว่า 30 ราย ที่รุนแรงที่สุดก็คือ นายพายุ บุญโสภณ กองเลขานุการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ที่ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ใบหน้าเข้าเบ้าตาขวาในระยะกระชั้นชิด ซึ่งพบว่าการมองเห็นศูนย์ หรือตาบอด

โดยแพทย์ระบุว่า ลูกตาทั้งลูกแตกละเอียด วุ้นตา เลนส์ตา จอตาเสียหายทั้งหมด ต้องผ่าตัดเย็บดวงตาให้เป็นลูกตากลมเหมือนเดิม แต่โอกาสกลับมาใช้งานได้ปกติต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อและเฝ้าระวังอาการติดเชื้อ หากมีอาการติดเชื้อต้องกลับมาพิจารณาการควักลูกตาออก เพื่อป้องกันติดเชื้อที่อาจจะลามไปสมอง

ขณะที่หมอศัลยกรรมในส่วนของแผลภายนอกแจ้งว่า กล้ามเนื้อหนังตาขาดและเสียหายมาก มีผลต่อการลืมตา กระดูกจมูกแตก ทางหมอศัลยกรรมกำลังผ่าตัดตกแต่งหนังตาที่ฉีกขาด และกระดูกจมูกแตก

นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชน 3 สำนักที่เป็นเหยื่อความรุนแรงครั้งนี้ ประกอบด้วย นายวรัญญู คงสถิตย์ธรรม หรือบุ๊ค นักข่าวพลเมืองในโครงการ Journalism that Builds Bridges ของเดอะอีสาน เรคคอร์ด ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมขณะรายงานสดทางเฟซบุ๊ก โดยบาดเจ็บจากการถูกกระทืบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. และเป็น 1 ใน 25 คนที่ถูกจับ ก่อนจะได้ประกันตัวออกมาเมื่อช่วงดึกของวันที่ 18 พฤศจิกายน

น.ส.ชาลินี ถิระศุภะ หรือเจน ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกขวดกระแทกเข้าที่ศีรษะ ขณะบันทึกภาพอยู่แนวหน้าการชุมนุมระหว่างตำรวจ คฝ. และผู้ชุมนุม ทั้งนี้พบคลิปวิดีโอ มีการปาขวดออกมาจากหลังแนวโล่ของตำรวจ คฝ.กระเด็นเข้าใส่ช่างภาพคนดังกล่าว

แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าใครเป็นคนที่ปาเข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีกรณีนักข่าวของ The MATTER ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายด้วยการใช้กระบองฟาด เมื่อล้มลงยังถูกเตะเข้าที่ศีรษะ ทั้งที่ใส่ปลอกแขน และพูดยืนยันตัวว่าเป็นสื่อมวลชนหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวได้พูดว่า “พวกกูเนี่ยของจริง มึงจำไว้” โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลา 12.45 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งมีคลิปเหตุการณ์ขณะไลฟ์สดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. แถลงสรุปการสลายม็อบเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ว่า ตำรวจบาดเจ็บ 15 นาย โดยมี 1 นายอาการสาหัสแอดมิดอยู่โรงพยาบาล ส่วนที่เหลือรับยากลับบ้าน

ส่วนที่ต้องสลายการชุมนุม เป็นเพราะมีการเคลื่อนออกนอกพื้นที่ชุมนุม เกรงจะไม่ปลอดภัยและเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของประเทศช่วงที่ผู้นำเดินทางมา

สำหรับสื่อที่บาดเจ็บก็ต้องระวังตัวเองด้วย ต้องระมัดระวัง เพราะยากที่จะควบคุม

เป็นคำชี้แจงจากผู้นำองค์กรตำรวจ

จับป้าเป้า

แจ้งเอาผิด-ร้องศาลไต่สวน

สําหรับการเคลื่อนไหวภายหลังการเกิดเหตุ วันที่ 19 พฤศจิกายน นายอานนท์ นำภา ทนายความได้ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด พ.ต.อ.ทศพล อำไพพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ในฐานะตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิด และ/หรือเจ้าหน้าที่พนักงานตำรวจ หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้งหมด ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 295 มาตรา 297 และในความผิดอื่นทุกฐานความผิดพลาดทางอาญาที่เกี่ยวข้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC2022’

วันที่ 22 พฤศจิกายน ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลเรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไต่สวนกรณีตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บร้ายแรงจำนวนหลายราย

โดยอ้างถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ให้ตำรวจใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ และสื่อมวลชนภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คฝ.ยังคงใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล

ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จัดกิจกรรม “รวมพลศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดวงตาของพายุ” ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ หลายจังหวัด อาทิ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ตาก และกรุงเทพมหานคร ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลาออกจากตำแหน่ง

และเปิดทางให้ตั้งกรรมการสอบสวนการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน และเอาผิดเจ้าหน้าที่ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยรัฐที่ขัดต่อหลักสากล

เป็นการแสดงออกของฝ่ายประชาชน ซึ่งต้องจับตาบทสรุปว่าจะเป็นอย่างไร!!!