“ซอฟต์เพาเวอร์” กับอาณานิคมวัฒนธรรมแบบไทยๆ | ยุกติ มุกดาวิจิตร

พูดถึงเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ (soft power อำนาจละมุน) ที่รัฐบาลไทยกำลังเห่ออยู่ขณะนี้

หลายคนมักพูดถึงด้าน soft (ละมุน) แต่ผมอยากชวนให้คิดด้าน power (อำนาจ) กันด้วย โดยไม่ได้มองว่าสองด้านนี้แยกจากกัน

ถ้าพูดอย่างเป็นวิชาการด้านการเมืองวัฒนธรรม ซอฟต์เพาเวอร์ก็คือการใช้อำนาจแบบ “ให้ความยินยอม” (consent) ของอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) นักปฏิวัติชาวอิตาลีในสมัยมุสโสลินีมีอำนาจ

กรัมชีแยกการครองอำนาจนำออกเป็น 2 แบบ

แบบหนึ่งคือการใช้อำนาจด้วยกำลัง เป็นอำนาจดิบ เช่น กำลังทหาร ตำรวจ หรือรวมทั้งศาลก็นับเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจกำลังนี้ด้วย

แต่อีกด้านคืออำนาจที่ได้มาจากการให้ความยินยอมจากผู้อยู่ใต้อำนาจ เป็นอำนาจที่อาศัยกระบวนการทางวัฒนธรรม ผ่านการปลูกฝังกล่อมเกลา หรือการสั่งสมบารมี

ซอฟต์เพาเวอร์เป็นอำนาจในลักษณะนี้

ในระดับนานาชาติ ซอฟต์เพาเวอร์จึงหมายถึงการที่ประเทศหนึ่งสร้างอิทธิพลต่อชาวโลก ผ่านการทำให้คนยอมรับด้วยความยินยอมพร้อมใจ ผ่านพลังทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าวัฒนธรรมหรือการแพร่กระจายความรู้ผ่านการศึกษา

เช่น การที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ขยายการศึกษาภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จีน ผ่านการให้ทุนและให้การศึกษาด้วยการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกยอมรับให้สถาบันขงจื่อไปจัดตั้งดำเนินการที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้น หรือการเผยแพร่ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อของคนอเมริกันผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด

ในแง่นี้ ผมจึงอยากเสนอว่า ซอฟต์เพาเวอร์ก็คือการสร้างอาณานิคมทางวัฒนธรรม (cultural colonization) อย่างหนึ่งนั่นเอง

ถ้าเป็นดังนี้แล้วซอฟต์เพาเวอร์ของไทยจะหมายถึงอะไร

 

ไทยสร้างอาณานิคมทางวัฒนธรรมมานานแล้ว แต่ไทยทำกับดินแดนภายในที่สยามนำโดยชนชั้นนำกรุงเทพฯ ไปยึด ไปผนวกรวมเอามาจากนครรัฐอื่นๆ แล้วแปลงให้กลายเป็นประเทศไทยอย่างทุกวันนี้

กระบวนการนี้ยังไม่สิ้นสุด ยังดำเนินไปอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับกระบวนการขยายอาณานิคมทางการเมืองการปกครอง กรุงเทพฯ ยังเป็นมหาอำนาจละมุนเหมือนกัน กรุงเทพฯ ใช้อำนาจละมุนกับประชาชนในประเทศของตนเองอย่างแข็งขันในดินแดนประเทศไทยเองนี่แหละ

เช่น การขยายอำนาจของภาษากรุงเทพฯ จนมีอำนาจเหนือภาษาถิ่นและภาษาอื่นๆ กระทั่งรุกล้ำเข้าไปในเพลงลูกทุ่งหรือแม้แต่เพลงหมอลำ ก็ต้องควบกล้ำ ร เรือ ล ลิง ชัดเจน แม้แต่ครูเพลงอีสานยังอมคำภาษาและสำเนียงกรุงเทพฯ มาวิจารณ์นักร้องลูกทุ่งให้ควบกล้ำแบบกรุงเทพฯ อย่างเคร่งครัด

หรือการขยายอำนาจของศาสนาพุทธเถรวาทแบบกรุงเทพฯ จนไม่ใช่แค่คำสอน การบวช และการสวดที่ต้องทำแบบกรุงเทพฯ กระทั่งทุกวันนี้แทบจะหาสิมอีสานไม่ได้แล้ว โบสถ์วิหารวัดที่สร้างใหม่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็สร้างแบบกรุงเทพฯ กันมากขึ้น

รวมทั้งการสอนประวัติศาสตร์ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง จนผู้คนในถิ่นต่างๆ ไม่รู้จักความเป็นมาของตนเองกันไปหมด

 

ตามวิถีอำนาจวัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้เห็นได้ว่า เวลารัฐไทยสร้างอำนาจวัฒนธรรม รัฐไทยถนัดแต่จะยัดเยียดวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ไปยังพื้นถิ่นต่างๆ และมักยัดเยียดคุณค่าเชยๆ คร่ำครึ และเป็นคุณค่าที่คนอื่นเขาไม่ต้องการไปยังที่ต่างๆ อย่างเสื้อผ้าไหม ชุดไทยกรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์ที่ผลิตซ้ำศัตรูของชาติและเหยียดหยามดูถูกชนชาติพันธุ์อื่น ความหลงใหลอดีตอย่างงมงายว่าอดีตงดงาม

หรือกล่าวโดยรวม รัฐไทยมักยัดเยียดคุณค่าอะไรก็ตามที่มาจากชนชั้นบน เวลาคิดถึงการขยายอำนาจซอฟต์เพาเวอร์ไปยังต่างประเทศ รัฐไทยก็มักจะใช้วิธียัดเยียดความเป็นไทยกรุงเทพฯ สู่ชาวโลกเช่นกัน

ถ้าสังเกตดูสักหน่อยจะพบว่า รัฐไทยชอบคิดแต่เรื่อง ความจริงแท้ของความเป็นไทย ความเป็นไทยที่มีหนึ่งเดียว

อย่างอาหารจานที่นิยมกันข้ามชาติเช่นต้มยำ ที่ข้ามไปเป็นที่นิยมถึงมาเลเซีย เร็วๆ นี้ก็นิยมกันมากในเวียดนาม หรือผัดไทยและแกงเขียวหวาน ที่นิยมกันข้ามชาติมานานแล้ว

อาหารเหล่านี้พอเดินทางไปนอกไทยแล้วก็ล้วนถูกปรับเปลี่ยนปรุงแต่งไปตามลิ้นคนถิ่นต่างๆ

แต่รัฐไทยและคนไทยจำพวกที่คิดตามรัฐไทยก็ไม่ยอม อยากให้มันจริงแท้ ไม่สนใจรสนิยมของแต่ละที่ที่เขารับไปพัฒนาต่อ

 

อีกกรอบที่รัฐไทยมีและชอบยัดเยียดคือกรอบศีลธรรม อย่างเรื่องเหล้า เบียร์ เรายอมไม่ได้ แต่ยอมให้ทุนผูกขาด ทุนอุปถัมภ์ ผลิตเหล้าเบียร์ได้ ถึงที่สุดมันคือกรอบของความมือถือสากปากถือศีล เป็นศีลธรรมจอมปลอม

หรือเรามักยัดเยียดความงามแบบชนชั้นสูงของกรุงเทพฯ เราชอบสร้างศาลาไทยในงานแสดงศิลปะนานาชาติ หรือไปลงทุนสร้างศาลาไทยในสวนสาธารณะทั่วโลก กลายเป็นสิ่งผิดที่ผิดทาง เป็นความเป็นไทยที่ก็แทบไม่ได้เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้วในประเทศไทยเอง

ทั้งหมดนี้คือซอฟต์เพาเวอร์แบบ “เอาบางกอกเป็นศูนย์กลาง” หรือการสร้างอาณานิคมทางวัฒนธรรมด้วยการยัดเยียดวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ไปทั่วโลก

ที่จริงไทยเราก็พอจะมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมข้ามประเทศนอกอำนาจการส่งเสริมของรัฐอยู่ไม่น้อย เช่น ภาพยนตร์ (เช่น รักแห่งสยาม ซักซี้ดห่วยขั้นเทพ) นักร้องเพลงป๊อป (เช่น มิลลิ ลิซ่า) รวมทั้งนวนิยาย (โดยเฉพาะนิยายวายหรือชายรักชาย) และกระทั่งละครทีวีที่ควรเรียกอีกแบบได้ว่าซีรีส์ไทย ที่เป็นที่นิยมมากในเวียดนาม กัมพูชา ลาว จีน

คำถามคือ คุณค่าอะไรที่อยู่ในวัฒนธรรม “ไทยป๊อป” ที่ไม่น้อยหน้าเจป๊อป เคป๊อปเหล่านี้ อะไรคือพลังทางวัฒนธรรมสามัญที่ทำให้คนในประเทศเพื่อนบ้านนิยมบริโภคกัน

 

คุณค่าหนึ่งของสื่อเหล่านี้ที่ผู้บริโภคในต่างประเทศต้องการส่วนหนึ่งเป็นการที่สังคมไทยมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง เราเปิดกว้างต่อคนรุ่นต่างๆ เราเปิดต่อความหลากหลายทางเพศ ท้องถิ่น และศาสนาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างเช่น อาหารไทย จะว่าไปคุณค่าหลักมันอยู่ที่ความหลากหลายและความเปิดกว้าง อาหารไทยเปิดรับรสชาติและการปรุงที่หลากหลาย ไม่ใช่ความจริงแท้หรือตำรับที่ตายตัว อาหารไทยจึงมีพัฒนาการและเปิดกว้างต่อการกินแบบต่างๆ เสมอ

นี่คือสิ่งที่ทำให้อาหารในประเทศนี้ขายไปได้ทั่วโลกและทำให้สตรีตฟู้ดหรืออาหารริมถนนไทยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

คุณค่าอีกชุดหนึ่งที่เป็นที่สนใจของคนต่างชาติคือ ความสามารถในการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ดนตรีใหม่ๆ การแสดงใหม่ๆ เครื่องดื่มใหม่ๆ ภาพยนตร์ใหม่ๆ งานศิลปะใหม่ๆ ของไทยดังไปทั่วโลก

ไม่แต่เท่านั้น ปัจจุบันเพลงหมอลำเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มนักฟังเพลงนอกประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

คนต่างชาติเขาสนใจเสียงใหม่ๆ เขาอยากฟังดนตรีที่เขาไม่คุ้นเคย ทำนองเพลงที่มาจากท้องถิ่นที่ต่างออกไป ไม่ใช่แต่เฉพาะดนตรีไทยของชนชั้นสูงกรุงเทพฯ เท่านั้น

 

แต่การขยายอาณานิคมวัฒนนธรรมไทยเหล่านี้เป็นไปโดยที่รัฐไม่ส่งเสริม สินค้าวัฒนธรรมเหล่านี้มีอะไร เพลงเหล่านี้มีอะไรที่คนในประเทศอื่นเขาไม่มีแล้วเขาต้องการ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าที่รัฐไทยควรศึกษา มากกว่ามุ่งจะไปยัดเยียดวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ชั้นบนให้ชาวโลก

ที่แย่คือ รัฐไทยไม่เพียงไม่ส่งเสริม แต่ยังปิดกั้น ตัดตอน นักร้องนักแสดงที่มีความสามารถสูง พอเขามาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็จะถูกตัดตอน ถูกปิดปาก แค่เขาวิจารณ์นายกรัฐมนตรีก็เดือดร้อนจะเป็นจะตาย หาเรื่องดำเนินคดีเขา

เครื่องดื่มที่กำลังขยายตัวโดยนักลงทุนขนาดเล็กอย่างคราฟต์เบียร์ไทย รัฐไทยก็ปิดกั้น จนนักลงทุนเหล่านี้ต้องดิ้นรนด้วยตนเองไปผลิตนอกประเทศ จนคราฟต์เบียร์ไทยสร้างผลงานไปได้รับรางวัลในการประกวดนานาชาติมามากมาย แต่พวกเขาต้องประกาศว่าเป็นเบียร์เวียดนาม เบียร์กัมพูชา เบียร์ออสเตรเลีย เพราะจำเป็นต้องไปผลิตในประเทศเหล่านั้นซึ่งให้โอกาสสำหรับธุรกิจแอลกอฮอล์ขนาดเล็กมากกว่าประเทศไทย

ความสร้างสรรค์ที่เป็นทั้งคุณค่าสากลและคุณค่าที่คนไทยรุ่นใหม่มีเหล่านี้ เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ช่างขัดแย้งกับอำนาจกระด้างซึ่งผู้นำของสังคมไทยใช้เสมอมา

ทุกวันนี้รัฐไทยเก่งใช้แต่อำนาจดิบเถื่อน จับคนคิดต่างติดคุก จับคนคิดใหม่ๆ ดำเนินคดี

ดังนั้น คำถามที่เราต้องถามก่อนอื่นใดเป็นคำถามแรกคือ ในประเทศที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังคงเชิดชูอำนาจนิยม ยังยอมเปิดทางให้อำนาจดิบได้เข้ามาบริหารปกครองประเทศ ยังนิยมใช้กำลังในการแก้ปัญหาประเทศ ถนัดแต่ใช้อำนาจแข็งกร้าวกับประชาชนตนเอง

ประเทศแบบนี้น่ะหรือที่จะสร้างอำนาจละมุนไปมีอิทธิพลเหนือชาวโลกได้