คนฉลาดของประเทศนี้ มักตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ…เชื่อผมสิ | ประกิต กอบกิจวัฒนา

ประกิต กอบกิจวัฒนา

หลักโฆษณาชวนเชื่อเป็นอมตะ
ชาติไหน ฝ่ายไหน สมัยไหน ก็ยังใช้อยู่

เวลาพูดถึง “โฆษณาชวนเชื่อ” คุณนึกถึงอะไร

“มีความจริงอยู่บ้าง” ?

“เน้นเรื่องส่วนตัวที่เสียๆ หายๆ” ?

“มีประโยคที่ได้ยินบ่อยจนจำได้” ?

“ตีตรา เหมารวมคนไม่เห็นด้วยว่าเป็นฝ่ายมารดำ” ?

“เชิดชูตัวบุคคลมากกว่าผลงาน” ?

“ตั้งฉายาให้จำง่าย” ?

“สร้างคำขวัญที่มีเนื้อหายกย่องคุณธรรม ความดี” ?

ถ้าคุณตอบได้ทั้ง 7 ข้อนี้ แสดงว่าคุณเป็นคนไทยที่อายุเกินห้าสิบแน่เลย (ผมรู้คุณกำลังยิ้มแบบ “รู้กัน” เมื่ออ่านมาถึงประโยคนี้)

ทั้ง 7 ข้อที่ผมยกมานั้น คือหลัก 7 ประการของการโฆษณาชวนเชื่อ ผมไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่มาจากโยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อในสมัยที่ฮิตเลอร์ได้เป็นรัฐบาล เกิบเบิลส์คนนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะด้านการผลิตสื่อที่มีเนื้อหาชวนเชื่อ เพราะเขาทำให้ฮิตเลอร์ชนะเลือกตั้ง และเป็นคนที่ฮิตเลอร์ไว้ใจมากที่สุด

“หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ” คือวลีเด็ดของเกิบเบิลส์ เป็นหนึ่งในหลักการ 7 ข้อของการทำให้คนในสังคมหลงเชื่อด้วยตรรกะที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน

เราเรียนรู้กันมาแล้วจากประวัติศาสตร์ว่าการโฆษณาชวนเชื่อน่ากลัวกว่าการโฆษณาสินค้า เพราะสามารถทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ เกิดฆาตกรรมหมู่กลางเมืองหลวงโดยมีคนยืนดูหัวเราะ ปรบมืออย่างสนุกสนานได้

แต่ในยุคที่โซเชียลมีเดียคือปัจจัยที่ขาดไม่ได้อีกแล้วของมนุษยชาติ กลับไม่ช่วยให้เราหยุดการโฆษณาชวนเชื่อได้เลย แม้แต่คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดก็สามารถถูกชักจูงให้พลาดได้ง่าย ด้วยความเร็วของโซเชียลมีเดีย

Joseph Goebbels

โซเชียลมีเดีย ทำให้โฆษณาชวนเชื่อโตไว
โดยเฉพาะในสังคม (ไทย) หูเบา ขี้นินทา

ถ้าเกิบเบิลส์ยังมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้แทนที่จะชิงฆ่าตัวตายตามฮิตเลอร์ไป เขาต้องสนุกสนานกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อส่งสารทางการเมืองตามทฤษฎี “โกหกคำโต” ที่เขาเป็นคนคิดขึ้นมา (อาจมีฟอลโลเวอร์เกินหน้าลิซ่า แบล็กพิงค์) เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์อำนวยความสะดวกให้กับการสื่อสารทางการเมืองอย่างมากโดยเฉพาะความสามารถในการส่งต่อข้อความ รูปภาพประเภทที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง จนนำไปสู่การไล่ล่า

เกิบเบิลส์ในฐานะนักจิตวิทยา เชี่ยวชาญด้านการปั่นข่าวสารที่ต้องการสื่อให้กลายเป็นกระแสผ่านภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ซึ่งเป็นสื่อที่มีในยุคที่เขามีชีวิตอยู่ ย่อมต้องตาโตปรบมือรัวๆ ที่สามารถ “ทวีต” ข้อความที่จงใจสื่อให้ผิดเพี้ยนไปยังฟอลโลเวอร์ของเขาได้ภายในไม่กี่นาที

ทำไมโซเซียลมีเดียถึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะอย่างมากในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะในสังคมไทย

เพราะมันเข้ากับความเป็นไทยที่ “หูเบา ชอบนินทา”

คนไทยไม่ชอบการเผชิญหน้าตรงๆ เก็บความไม่พอใจไว้ ไม่พูดต่อหน้าคู่กรณี กลับนั่งพิมพ์ด่าส่งทางกรุ๊ปไลน์ ตั้งสเตตัสลอยๆ ไม่จงใจเอ่ยชื่อคู่กรณี แต่ใครเป็นเพื่อน อ่านปุ๊บ รู้ปั๊บ แล้วก็พากัน “เอ๊ะ” “อ๋อ” พร้อมกระโจนเข้าไป “แจม” กับผู้ตั้งสเตตัสในฐานะ “เพื่อนที่มีร่วมกัน” จนบางครั้งเลยเถิดถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันก็บ่อย

แต่เมื่อเป็นเรื่องทัศนะหรือจุดยืนทางการเมือง การไม่เผชิญหน้ากันตรงๆ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความสนุกสนาน เมามันกับการขุดคุ้ยแล้วมาขยายต่อ เพราะการเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ และผู้ที่กุมอำนาจคือผู้เห็นประโยชน์ของการปั่นหัวผู้คนด้วยโซเชียลมีเดีย จึงได้เกิดกองทัพ IO ขึ้นมาอย่างที่เราได้เห็น ได้อ่านกันประจำทุกวัน

ผลกระทบจากการเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ปั่นโดยจงใจ เพื่อต้องการให้เกลียดชังคนที่เห็นต่างก็คือความแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย ที่ร้ายที่สุด ครอบครัวที่ต้องมาแตกแยกเพราะจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน บางคนถึงกับต้องหย่าร้าง หรือลูกถูกไล่ออกจากบ้านเพราะไม่รักคนที่พ่อรัก

 

โฆษณาชวนเชื่อเติบโตไว (แท้)
เลยไปได้ดีกับการเมืองไทยแบบเก่า

ในยุค VUCA World หรือ โลกผกผัน ซึ่งกำลังสร้างผลกระทบต่อทุกซอกทุกมุมในชีวิตของผู้คนให้ต้องฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วมาก

คนกำลังเรียนรู้ว่าสามารถเลือกหาสินค้าที่ “ดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่า มีคุณภาพกว่า” ได้ในเวลารวดเร็ว

แม้เมื่อได้มาแล้ว อาจจะไม่ได้ดีกว่าหรือมีคุณภาพกว่าของเดิมก็ตาม แต่ทุกคนพร้อมลอง เพราะถูกยั่วยวนด้วยภาพสินค้าจากอัลกอริธึ่มที่สามารถรู้ใจว่าเรากำลังมองหาหรือเพียงแค่บ่นว่าอยากได้อะไร

ในส่วนของการเมืองไทย ที่คิดว่าโฆษณาชวนเชื่อยังใช้ได้ผล

วันนี้ ยังย่ำวนอยู่ในความคิดความเชื่อเดิมๆ แม้บางครั้งทำได้แนบเนียนขึ้น แต่ก็ยังเลือกใช้ 7 หลักของเกิบเบิลส์มาสร้าง “ความเป็นพวกเดียวกัน” ผ่านสื่อออนไลน์ อาศัยความจงรักภักดีจากสมาชิก สร้างกิจกรรมตอกลิ่มให้โกรธเกลียดความคิดคู่ตรงข้าม ทั้งในแง่สถานการณ์และตัวบุคคลที่หยิบยกขึ้นเป็นสัญญะ ซึ่งยังไม่เห็นมิติใหม่ที่สร้างสรรค์เป็นรูปธรรมจับต้องได้เลย! สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกิจกรรมสร้างกระแส-เลี้ยงกระแสให้ตัวเองได้ล้านไลก์ คู่ไปกับการปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามที่ไปหากันมาเอง!

วันนี้การเมืองไทย ยังจมอยู่กับการจุดกระแสเติมเชื้อตอกลิ่มความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา พยายามสร้างความทรงจำแบบที่การเมืองบางพรรคมโนขึ้นฝังหัวเด็กเยาวชน ที่มุ่งเอาแต่ความป๊อปปูลาร์ใส่ตัวและพรรค ไม่คำนึงถึงความสงบสุขใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือความเคลื่อนไหวที่ไม่อาจก้าวข้ามอดีต เป็นการเมืองเก่าครึ ที่ไม่มีอะไรใหม่ มุ่งแต่สร้างอุปสรรค์ทำลายความก้าวหน้าของประเทศ!

คุณล่ะ เคยตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อไหม?

เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ ขอบคุณครับ