“เอเปคฟอกเขียว” กุเลาหอมกลบเนื้อหา ภาพลักษณ์ ปชต.แบบปลอมๆ

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับงานการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ วันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ภายใต้การนำของ “พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่หมายมั่นปั้นมือกับงานนี้อย่างหนัก เพื่อหวังชูศักยภาพของตัวเองในการเป็นหัวเรือใหญ่จัดงานประชุมระดับนานาชาติ

การประชุมเอเปคในครั้งนี้มีผู้นำโลกที่ยืนยันอย่างแน่ชัดเข้าร่วมการประชุม อาทิ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน, “จัสติน ทรูโด” นายกรัฐมนตรีแคนาดา, “แอนโทนี อัลบาเนซี” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, “ลี เซียนลุง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, “โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และ “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

ด้าน “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีของรัสเซีย ที่ในตอนแรกให้ความสนใจว่าจะเข้าร่วม กลับส่ง “แอนเดรย์ เบโลซอฟ” รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง มาเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ขณะที่ผู้นำโลกคนสำคัญที่ประกาศชัดแต่แรก ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ อย่าง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีของสหรัฐ เลือกที่จะส่ง “กมลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีมาแทน ด้วยเหตุผลว่าช่วงการประชุมเอเปคต้องไปร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาวที่ทำเนียบขาว

แต่ในขณะเดียวกัน ไบเดนกลับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กัมพูชา และการประชุม G 20 ที่อินโดนีเซีย ที่มีกำหนดจัดการประชุมก่อนถึงคิวเอเปคที่ไทยทั้งสองงาน

หรือแม้แต่ “สมเด็จฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถมาเข้าร่วมการประชุมได้

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

แม้ว่าจะพลาดผู้นำโลกคนสำคัญๆ อันจะเป็นตัวสร้างเครดิตให้รัฐบาลชุดนี้ แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าเตรียมตัวอย่างขะมักเขม้น

เริ่มตั้งแต่การรื้อถอนเสาไฟฟ้าบริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมระยะทางกว่า 500 เมตร เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ รวมถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร การทาสีทางม้าลายใหม่ ยกพื้นถนน และปรับปรุงเรื่องแสงสว่าง โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกชิดลม เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีการปรับปรุงทางม้าลายให้เด่นชัดขึ้นด้วยการทาสีแดง

จนชาวเน็ตในโลกโซเชียลถึงกับต้องแซวว่า
ช่วงนี้รัฐบาลปลูกผักชีเก่งกว่าปกติ

นอกจากการปรับทัศนียภาพให้ดูสวยงาม อาหารการกินที่ทางรัฐบาลได้จัดเตรียมไว้ต้อนรับเหล่าผู้นำ ก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมาก มีการสร้างลิสต์เมนูอาหารถึง 21 รายการ ในคอนเซ็ปต์ “ความยั่งยืน Sustainable Thai Gastronomy” ไว้รอต้อนรับสุดยอดผู้นำในงานกาลาดินเนอร์ ค่ำคืนที่ 17 พฤศจิกายน โดยมี “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เป็นผู้รังสรรค์เมนู จากวัตถุดิบอย่างดีจากทุกภาคของประเทศไทย อาทิ เนื้อวากิว โคราช, กุ้งแม่น้ำอยุธยา, ไก่เบตง, ไข่ปลาคาเวียร์จากโครงการหลวง, ปลากุเลาตากใบ มารังสรรค์เมนูสุดพิเศษ

โดยเฉพาะเมนูปลากุเลาตากใบ หนึ่งในเมนูอาหารต้อนรับผู้นำโลกประชุมเอเปค ที่ทาง “น.ส.รัชดา ธนาดิเรก” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เผยว่า “ปลากุเลาตากใบ” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในเมนูพิเศษที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่เหล่าบรรดาผู้นำ

แต่ทว่า กลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาอย่างหนาหู เมื่อในตอนแรกมีกระแสว่าปลากุเลาตากใบไม่ได้มาจากพื้นที่จริงอย่าง อ.ตากใบ จนทางโฆษกรัฐบาลต้องโร่ออกมาชี้แจงยืนยันว่า สั่งมาจากร้านในพื้นที่จริงโดยสั่งผ่านตัวแทนออนไลน์ แต่เพราะการสื่อสารคลาดเคลื่อนในตอนแรกจึงทำให้เกิดข้อสงสัย

ส่งผลให้ปลากุเลาตากใบกลายเป็นออเดอร์ที่ขายดีที่สุดในตอนนี้

ใช่ว่าจะมีเพียงอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้ต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ซอฟต์เพาเวอร์ในด้านต่างๆ ของไทย ก็ถูกจัดขึ้นมาเพื่องานในครั้งนี้ด้วย อาทิ บริการนวดไทยและสปาเพื่อสุขภาพ รองรับสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศที่มาติดตามทำข่าวการประชุมเอเปค

ยังรวมถึง ททท. ที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรม “วิจิตร เจ้าพระยา” ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ กทม. สร้างบรรยากาศและสีสันให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยแสงไฟและการแสดงทางวัฒนธรรมในค่ำคืนเพื่อต้อนรับผู้นำโลก

การเผยแพร่ข่าวการนำเสนอเมนูอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ ตลอดจนซอฟต์เพาเวอร์อื่นๆ ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอและโฟกัสมากกว่าเนื้อหาการประชุม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของไทยที่กำลังถดถอย

จึงทำให้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ประกาศเตรียมการเคลื่อนไหวคู่ขนานการประชุมเอเปค

พร้อมตั้งคำถามถึงนโยบาย BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่รัฐบาลใช้เป็นแกนหลักของการประชุมเอเปค เป็นการ “ฟอกเขียว” ให้ตัวเอง

เรื่องนี้มีหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นถึงการเตรียมงานของรัฐบาล ที่ไม่ได้โฟกัสหัวข้อการประชุมที่มุ่งเน้นประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น “นายนพดล ปัทมะ” อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า

“รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเผยแพร่เมนูรายการอาหารผู้นำที่มาร่วมประชุมเอเปค ออกประกาศจุดห้ามชุมนุมในบางจุด และเด็กนักเรียนต้องเสียสละหยุดเรียน 2 วัน ผมเชื่อว่าคนไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพที่ดี แต่อยากให้รัฐบาลบอกให้ชัด เป็นรูปธรรมว่าคนไทยจะได้อะไรบ้างในทางการค้า การลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า จะอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยคนไทยจำนวนมากมีความหวังว่าหลังการประชุมเอเปคจะได้มีโอกาสเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อเลือก ส.ส.และพรรคการเมืองนำไปสู่การเป็นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอย่างมีประสิทธิผลต่อไป”

“อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ถึงการประชุมเอเปค ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ใจความช่วงหนึ่งกล่าวว่า

“เมื่อ 19 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยรักไทย ใช้ APEC เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศไทยที่กำลังฟื้นฟูหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและโรคระบาดซาร์ส

เวที APEC ครั้งนั้น คือโอกาสสำคัญที่จะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด รัฐบาลตอนนั้นมีความตั้งใจจะสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก APEC หรือ 21 เขตเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างและความหลากหลายสูง

เพราะถ้าประเทศไทยเราทำข้อตกลงต่างๆ ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ก็จะเกิดการจ้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เกษตรกรมีรายได้ ผู้ส่งออกได้ส่งออกสินค้า มีเงินตราไหลเข้าประเทศ และพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง จึงคาดหวังค่ะว่าจะได้รับผลประโยชน์อะไรจากการประชุม APEC ครั้งนี้ เหมือนครั้งเมื่อ 19 ปีที่แล้วที่รัฐบาลยึดถือและมีหัวใจคือประชาชนเป็นสำคัญ

(Photo by TOSHIFUMI KITAMURA / AFP)

สิ่งสำคัญของการประชุม #APEC2022 ที่เราคาดหวัง จึงไม่ใช่แค่การแสดงศักยภาพว่าประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเชิญใครมาบ้าง จัดงานยิ่งใหญ่ตระการตาแค่ไหนอย่างไร แต่เป็นการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนั้น

ในยามประเทศเกิดวิกฤตทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาด ทุกงบประมาณ ทุกภาษีที่ประชาชนจ่าย ทุกสรรพกำลังของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้คนอีกจำนวนมากมหาศาลอยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้ เราควรทำให้ #APEC2022 เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

นั่นคือสิ่งที่เราในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งผู้เสียภาษีคาดหวังกับ #APEC2022 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่ะ”

ด้าน “นายปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความ ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ @ongpadipat ถึงการประชุมเอเปคด้วยเช่นกัน

“เราไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับเนื้อหาของ APEC เลย นอกจากรู้ว่าพวกเขากินอะไร ได้ดูโชว์อะไร ฟังเพลงของใคร และรู้ว่าปมด้อยคือทำยังไงก็ได้ให้ได้จัด #APEC”

ท้ายที่สุดการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคในครั้งนี้ จะสร้างผลงานให้รัฐบาลได้ดีในระดับไหน เทียบกับที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ความสวยหรูของซอฟต์เพาเวอร์ที่รัฐบาลตั้งใจนำเสนอเพื่อมัดใจเหล่าผู้นำโลก จะสามารถสร้างคะแนนให้รัฐบาลได้หรือไม่

และการประชุมจะช่วยผลักดันและสร้างประโยชน์อะไรให้ประเทศและประชาชน

คำตอบคงมีอยู่ในใจใครหลายคนอย่างแน่นอน