‘ก้าวไกล’ สู่การทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หลังจากเปิดตัวนโยบายพรรคโดยพูดเรื่องการสร้างประชาธิปไตยจนพรรคการเมืองคู่แข่งโจมตีว่าไม่สนใจปัญหาปากท้องประชาชน ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็เปิดตัวนโยบายสวัสดิการที่ดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายอย่างไม่เคยมีพรรคไหนทำมาก่อน เช่นเดียวกับยังไม่มีพรรคไหนพูดว่าจะทำ

นโยบายสวัสดิการก้าวไกลมีทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน

ที่ไม่ใช่ตัวเงินก็ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็ก, ให้พ่อแม่มีสิทธิลาคลอด 180 วัน, น้ำประปาดื่มได้ทุกที่, เพิ่มขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนหรือพรรคการเมืองใดทำเลย

สำหรับเรื่องที่เป็นตัวเงิน ก้าวไกลพูดถึงการให้เงินช่วยเลี้ยงเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท, ขึ้นค่าแรงทุกปี เริ่มต้นที่ 450 บาท, แจกผ้าอนามัยฟรีตามโรงเรียน, ให้เบี้ยเลี้ยงผู้พิการและผู้สูงวัยวันละ 100 บาท หรือเดือนละสามพันบาท, เด็กเรียนฟรี-อาหารฟรี-รถรับส่งฟรี ฯลฯ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีรัฐบาลไหนทำเช่นกัน

แนวคิดสวัสดิการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ทุกกรณี บางเรื่องใหม่ในไทยแต่เก่าจากที่อื่น บางเรื่องต่อยอดจากรัฐบาลปัจจุบันทำ บางเรื่องรื้อฟื้นสิ่งที่รัฐบาลในอดีตทำแต่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิก บางเรื่องคณะก้าวหน้าทำสำเร็จ

หรือพูดง่ายๆ คือก้าวไกลมัดรวบแนวคิดสวัสดิการหลายแหล่งเป็นนโยบาย

สิทธิลาคลอดมาจากการผลักดันของกลุ่มผู้หญิง, ค่าแรงเป็นประเด็นคนงานที่ก้าวไกลเป็นพรรคแรกและพรรคเดียวซึ่งมีกรรมกรเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 3 ขณะที่พรรคอื่นเป็นเจ้าสัว, น้ำประปาดื่มได้เป็นผลงานคณะก้าวหน้า, ผ้าอนามัยฟรีมาจากอินเดีย ฯลฯ จนไม่มีเรื่องไหนเกิดในสุญญากาศเลย

เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นที่เริ่มหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ด้วยเรื่องปราบคนเห็นต่าง, จับภัยคุกคามสถาบัน, เลือกความสงบจบที่ลุงตู่, การทำมาหากิน, โอกาสตั้งรัฐบาล ฯลฯ

การที่พรรคก้าวไกลเลือกแถลงนโยบายสวัสดิการเป็นเรื่องแรกคือการปักธงทางความคิดในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างชัดเจน

นอกจากการแถลงนโยบายสวัสดิการเป็นพรรคแรก พรรคก้าวไกลได้นำเสนอที่มาของงบประมาณว่ามาจากการลดงบทหาร, ลดงบกลาง, ดึงธุรกิจทหารเป็นของรัฐผ่านกระทรวงการคลัง, เพิ่มภาษีหุ้น, เพิ่มงบสวัสดิการในส่วนที่มีอยู่แล้ว ฯลฯ ซึ่งเป็นการวางมาตรฐานการนำเสนอนโยบายไว้เช่นกัน

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ทั้งที่พรรคการเมืองทุกพรรคมักหาเสียงว่าจะทำนโยบายสวัสดิการสังคม และทั้งที่นโยบายก้าวไกลหลายเรื่องมาจากสิ่งที่ประชาชนในสังคมเรียกร้องมาก่อน ทันทีที่พรรคก้าวไกลประกาศนโยบายเหล่านี้กลับถูกกลุ่มการเมืองขั้วเดียวกันและตรงข้ามโจมตีว่าเป็นไปไม่ได้แม้แต่นิดเดียว

แน่นอนว่าการวิจารณ์นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องธรรมดา แต่การวิจารณ์นโยบายสวัสดิการสังคมว่าทำไม่ได้คือการทำให้สังคมเข้าใจผิดจนประชาชนเสียประโยชน์ โดยเฉพาะจากการวิจารณ์ประเภทเงินไม่พอ ทำแล้วเจ๊ง ฯลฯ หากคนวิจารณ์ไม่มีหลักฐานยืนยันมากกว่าการแก่งแย่งชิงดีทางการเมือง

สวัสดิการสังคมคือนโยบายสาธารณะที่ “รัฐ” จัดสรรเงินจากคนซึ่งมีมากไปสู่ทุกคนในสังคม แต่ไม่มีคนมีเงินหน้าไหนและสถาบันใดยกเงินให้คนอื่นอย่างเป็นระบบโดยดี ต่อให้บางคนอาจจะบริจาค ช่วย “คนจน” และ “คนที่ลำบาก” แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการกันเงินให้สังคมอย่างเป็นระบบจริงๆ

เพราะเหตุดังนี้ นโยบายสวัสดิการสังคมจึงมักปรากฏในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ประชาธิปไตยแข็งแกร่งจนรัฐยอมออกกฎหมายเพื่อจัดสรรเงินเป็นงบประมาณสำหรับทุกคน และขณะเดียวกัน นโยบายสวัสดิการสังคมจึงแทบไม่ปรากฏเลยในสังคมเผด็จการหรือสังคมที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

สําหรับประชาชนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่ยึดมั่นเพื่อให้พรรคที่ตัวเองชอบได้เป็นรัฐบาล เมื่อใดที่เห็นนักการเมืองค้านนโยบายสวัสดิการสังคม เมื่อนั้นก็ควรเห็นว่านักการเมืองนั้นหรือพรรคนั้นเป็นตัวถ่วงความเจริญที่ขัดขวางผลประโยชน์ของประชาชนอย่างน่าอับอาย

อาจมีผู้โต้แย้งว่าระบอบเผด็จการทั้งที่เป็นทหาร, เป็นพลเรือน, เป็นพรรค และเป็นคณะบุคคลก็สามารถมีงบประมาณ “ช่วยเหลือ” คนจนและคนด้อยโอกาสในสังคม แต่วิธีช่วยเหลือแบบนี้เป็นเรื่องการกุศลตามความพอใจของผู้นำเผด็จการ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ซึ่งผู้นำต้องทำต่อประชาชน

เมื่อใดที่ใครสักคนพูดถึงสวัสดิการสังคม เมื่อนั้นคนผู้นั้นกำลังพูดถึงการทำให้ประชาธิปไตยทางการเมืองเป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างชีวิตที่ดี หรือพูดง่ายๆ คือทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา, สาธารณสุข, ความเป็นอยู่ ฯลฯ

คนจำนวนมากเข้าใจไปเองว่านโยบายสวัสดิการเกิดขึ้นแต่ในประเทศรัฐสวัสดิการ (Welfare State) จึงแสดงความเห็นผิดๆ ว่าสวัสดิการสังคมเกิดยาก ใช้เงินเยอะ ทำแล้วเศรษฐกิจพัง รวมทั้งอาจล่มสลายแบบประเทศคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ครั้งสุดท้ายที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายจะเป็นทศวรรษ 1990 ก็ตาม

ถ้าคิดถึงสวัสดิการสังคมในแง่นโยบาย ไม่ว่ารูปแบบของรัฐจะเป็นรัฐสวัสดิการหรือรัฐเสรีนิยมก็สามารถเกิดนโยบายสวัสดิการสังคมแบบใดแบบหนึ่งได้ทั้งนั้น เพราะนโยบายเป็นผลผลิตของการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร

รัฐที่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการจึงทำนโยบายสวัสดิการได้ตลอดเวลา

AFP PHOTO / Christophe ARCHAMBAULT

ด้วยความเข้าใจผิดว่านโยบายสวัสดิการจะพบได้แต่ในรัฐสวัสดิการ ความพยายามผลักดันนโยบายสวัสดิการในสังคมไทยจึงถูกต่อต้านด้วยข้ออ้างซ้ำซากเรื่องความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการเสมอ ไม่ว่าจะโดยความเชื่อด้วยความสุจริตใจจริงๆ หรือการด่ามั่วเพราะต้องการโจมตีคู่แข่งทางการเมือง

ในสมัยพรรคไทยรักไทยเริ่มทำบัตรทอง หนึ่งในข้ออ้างที่พรรคประชาธิปัตย์และหมอบางกลุ่มโจมตีนโยบายนี้มากที่สุดคือเป็นไปไม่ได้, ทำแล้วระบบการเงินการคลังจะล่มสลาย, ไปรักษาแล้วตายทุกโรค, ได้แต่ยาห่วย ฯลฯ ทั้งที่ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปีก็แทบไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นเลย

ในสมัยที่รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ผลักดันกฎหมายประกันสังคม หนึ่งในข้ออ้างที่วุฒิสภาและกองทัพยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โจมตีกฎหมายนี้มากที่สุดคือทำแล้วเศรษฐกิจพัง, นักลงทุนหนีไปที่อื่น, ประเทศไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์, คนงานจะแกล้งป่วยทุกวัน ฯลฯ ทั้งที่ผ่านปี 2533 มาแล้ว 32 ปีก็ไม่มีปัญหานี้เลย

ในสมัยที่คุณชวน หลีกภัย อนุมัติให้เด็กเรียนฟรี และผู้หญิงมีสิทธิลาคลอด 90 วัน หนึ่งในประเด็นที่นายจ้างโจมตีรัฐบาลที่สุดคือทำแล้วเศรษฐกิจพัง, นายจ้างรับต้นทุนไม่ไหว, ไม่มีใครจ้างแรงงานหญิง, คนงานจะพากันท้องทั้งประเทศ ฯลฯ แต่ผ่านปี 2536 มาแล้ว 29 ปีก็ไม่มีปัญหานี้เช่นกัน

ในสมัยที่พลังประชารัฐเริ่มทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หนึ่งในข้อโจมตีนโยบายนี้มากที่สุดคือเดี๋ยวรัฐบาลถังแตก, งบประมาณไม่พอ, ทำให้คนจนขี้เกียจ, เป็นการตีตราความจน ฯลฯ

แต่ในที่สุดก็เป็นไปได้ว่าจะไม่มีพรรคการเมืองไหนหรือรัฐบาลใดยกเลิกนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ถ้ามองประวัติศาสตร์ของการสร้างนโยบายสวัสดิการในประเทศแบบระยะยาว ความเป็นจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือประเทศไทยเดินหน้าสู่การผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคมด้านใดด้านหนึ่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่การเมืองเปิดกว้างจนรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน

ในแง่นี้ สวัสดิการสังคมไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้เพราะจะทำให้ประเทศเจ๊งแบบที่มักพูดกันเวลาทำบัตรทอง, ทำกฎหมายประกันสังคม, ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอด 90 วัน รวมทั้งบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย แต่สวัสดิการสังคมคือเรื่องจริงที่เป็นไปได้ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องเวลาประเทศมีประชาธิปไตย

หากย้อนอดีตของการสร้างนโยบายสวัสดิการโดยรัฐบาลต่างๆ บทเรียนที่เห็นชัดคือไม่มีรัฐบาลใดเริ่มนโยบายสวัสดิการจากศูนย์ ตัวอย่างเช่น ไทยรักไทยทำบัตรทอง 30 บาท โดยเพิ่มงบประมาณใหม่ใส่งบสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว หรือพลังประชารัฐทำบัตรสวัสดิการโดยปรับจากงบสังคมสงเคราะห์เดิม

สำหรับคนที่โจมตีว่านโยบายสวัสดิการทำไม่ได้เพราะเดี๋ยวเศรษฐกิจพัง ความจริงคือประเทศไทยมีฐานของงบสวัสดิการอยู่แล้ว การปรับงบประมาณเดิมแล้วเพิ่มงบแระมาณใหม่จึงเป็นเคล็ดลับของรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้แทบทุกชุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยรักไทย, รัฐบาลประชาธิปัตย์ หรือรัฐบาลพลังประชารัฐเองก็ตาม

นโยบายสวัสดิการสังคมคือเส้นแบ่งของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ กับรัฐบาลที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือให้ตัวเองเป็นรัฐบาล อนาคตประเทศอยู่ที่การทำให้ประชาธิปไตยกินได้และทำงานได้เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่อยู่แค่การไปเลือกตั้งรัฐบาล

ภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจและวิกฤตสังคม นโยบายสวัสดิการจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนเรียกร้องในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองไหนชัดเจนเรื่องนี้มีสิทธิชนะเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองไหนที่พูดซ้ำซากว่าเรื่องนี้ทำไม่ได้ ทำแล้วเจ๊ง ก็เตรียมตัวเสียคะแนนในการเลือกตั้งได้เลย