‘มาโนช พุฒตาล’ และ ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ณ ปี 2565

คนมองหนัง

‘มาโนช พุฒตาล’ และ ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ณ ปี 2565

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน “มาโนช พุฒตาล” และเพื่อนๆ วง “เดอะ แลมบ์” ของเขา ไปเปิดการแสดงหนล่าสุดที่ “เซิร์ชสตูดิโอ” รามคำแหง

จุดพิเศษของโชว์นี้ก็คือการนำผลงาน (แทบ) ทุกเพลงจากอัลบั้มชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” (2539) มาแสดงสดบนเวที

ถ้าถามว่านี่คือครั้งแรกสุดที่มีการนำเอาผลงานเพลง (เกือบ) ครบเซ็ตจากอัลบั้มชุดดังกล่าวมาขึ้นเวทีแสดงสด ดังที่มีการประชาสัมพันธ์ออกมา จริงหรือไม่?

จากความทรงจำส่วนตัว ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ เพราะจำได้ว่าตนเองเคยไปดูมาโนชและผองเพื่อนแสดงสดในโจทย์ทำนองนี้มาแล้วหนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน

ถ้าความจำผมไม่เลอะเลือนเกินไป น่าจะเป็นในงาน “คอนเสิร์ตจุดประกาย” เมื่อครั้งกระโน้น

คำถามอีกข้อที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ คราวนี้ มาโนชและเดอะ แลมบ์ เล่นทุกเพลงจากอัลบั้ม “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จริงหรือไม่?

คำตอบมีอยู่ว่าไม่เชิง เพราะหลังจากที่แสดงสด 5 เพลงแรก ตรงตามแทร็กในแผ่นซีดี (โลกสมมุติ, เฝ้าประตู, แสงไฟและสายควัน, อาบน้ำศพ และวาสิฏฐี)

3 แทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม (หมอผีครองเมือง, ลำธาร และไกลรำลึก) กลับถูกรวบ-ควบรวมเข้าเป็นเพลง “ไกล” จากอัลบั้มชุด “ไตรภาค” แทน

ดังที่แฟนเพลงรับทราบกันดีว่า เนื้อหาบางส่วนของ “หมอผีครองเมือง” และ “ลำธาร” นั้นเป็นบทตอนหนึ่งๆ ที่ถูกสอดแทรกอยู่ในบทเพลงขนาดยาวเพลงนี้ ขณะที่โดยสถานภาพแล้ว “ไกล” ก็น่าจะเป็นภาคก่อนและภาคที่ยาวกว่าของ “ไกลรำลึก”

ความจริงข้อหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธ คือ การแสดงสดบทเพลงจากผลงานชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” รอบนี้ ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่ากับเมื่อหลายปีก่อน

ช่วง 1-2 ทศวรรษที่แล้ว เวลาผมตามไปดูมาโนชและเพื่อนๆ เล่นเพลงจากอัลบั้มชุดดังกล่าวในโชว์ต่างๆ (บางครั้งก็เล่นไม่กี่เพลง บางหนก็เล่นหลายเพลง) ผมมักรู้สึกได้ว่าทุกคนบนเวที พยายามแสดงสดให้เนี้ยบที่สุด พยายามแกะเพลงตัวเองให้เหมือนในแผ่นมากที่สุด (ซึ่งผลงานบันทึกเสียงในแผ่นก็ดันเลือกเล่น “ท่ายาก” เสียเป็นส่วนใหญ่)

ต้องยอมรับว่าศักยภาพในการแสดงสดรอบล่าสุดนี้ มีความเป๊ะลดน้อยลง มีการปรับเปลี่ยนท่อนโซโล่ยากๆ ให้ฟังง่ายขึ้น และมีเล่น-ร้องหลุดกันบ้างเป็นระยะ (ในระดับที่มาโนชก็พูดยอมรับเองบนเวที)

จำได้ว่าครั้งแรกในชีวิตที่ผมมีโอกาสดูการแสดงสดเพลง “แสงไฟและสายควัน” นั้น มาโนชได้ดวลกีตาร์กับ “อรรถพร ชูโต” (อดีตสมาชิกวง “คาไลโดสโคป”) อย่างเมามัน (ส์) และคล้ายคลึงกับเพลงในแผ่นแบบสุดๆ แต่พอเล่นจบปุ๊บ ทั้งสองคนในวัยที่อ่อนกว่าปัจจุบันเกินสิบปีกลับแสดงอาการเหนื่อยล้าอย่างชัดเจน (ทั้งๆ ที่นั่นเป็น “เพลงสั้น” ของอัลบั้ม)

ทว่าคราวนี้ ทั้งหมดเลือกวิธีการที่เซฟขึ้น โดยมาโนชยังโซโล่กีตาร์ ส่วนอรรถพรเลือกใช้คีย์บอร์ดแทน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ต้องยอมรับว่า “ไม่เร้าใจ” เท่าหนก่อน

ขณะเดียวกัน ในเพลงบรรเลงท่วงทำนองเศร้า-สวย เช่น “อาบน้ำศพ” แม้ตัวแกนหลักของเมโลดี้จะยังถูกธำรงรักษาไว้เป็นอย่างดีบนเวทีแสดงสดที่เซิร์ชสตูดิโอ แต่ท่อนโซโล่ที่ซับซ้อนดุดันกลับจางหายไป

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/searchstudio.live

ด้าน “กฤตยา จารุกลัส” ซึ่งเป็นเจ้าของเสียงร้องหลักในอัลบั้มชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” ก็ยังคงร้องเพลงได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเนื้อเสียงอันมีเสน่ห์เฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม กฤตยาจะเริ่มขึ้นเสียงสูงมากๆ ไม่ค่อยได้แล้วตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในบางท่อนเขาจึงต้องการผู้ช่วยอย่าง “ธีรภาพ ว่องเจริญ” (มือกีตาร์อีกคน) เข้ามาร้องเสริมเสียงสูงให้ ซึ่งธีรภาพก็ทำหน้าที่ได้ดีและน่าทึ่งทีเดียว

ในภาพรวม มาโนชและเดอะ แลมบ์ จึงมิได้ขึ้นเวทีเซิร์ชสตูดิโอ เพื่อมาโชว์เป๊ะ โชว์เนี้ยบ หรือสำแดงความเป็นนักสมบูรณ์แบบนิยมให้แฟนเพลงพันธุ์แท้ได้ประจักษ์

แต่พวกเขามารวมตัวเล่นดนตรีกันแบบเอามัน เอาสนุก คล้ายมารำลึกความหลังถึง “ผลงานที่ยิ่งใหญ่มาก” เมื่อครั้งอดีต ซึ่งยิ่งใหญ่เสียจนไม่สามารถนำมาเล่นซ้ำ-ทำซ้ำได้ดีเท่าเดิม ในบริบทปัจจุบัน

นี่คือเงื่อนไขที่เข้าใจได้ เมื่อคำนึงถึงอายุของนักร้อง-นักดนตรีรุ่นเก๋าบนเวที ไม่ว่าจะเป็นมาโนชที่มีอายุ 66 ปีแล้ว ส่วนกฤตยาก็อายุ 65 ปี และอรรถพรมีอายุ 63 ปี

กระทั่งสมาชิกที่เหลือของเดอะ แลมบ์ (ซึ่งมิได้มีสถานภาพเป็นสุดยอดนักดนตรีอาชีพเหมือนทีมสนับสนุนยุคแรกของมาโนช แต่มีสถานะเป็นเพื่อนๆ ที่ไว้วางใจกัน และทำงานเป็นทีมเวิร์กร่วมกันได้) คือ ธีรภาพ, “ชัยวัฒน์ มนูรังษี” (เคยออกงานเดี่ยวในนาม “พาราณสีออเคสตรา” และเคยเป็นสมาชิกวงดนตรีที่มีเพลงเพราะๆ เท่ๆ อย่าง “เดอะ วันเดอเรอร์ส”) และ “เกิดศิริ ปุรสาชิต”

ก็ไม่มีใครที่เป็นวัยรุ่น-วัยฉกรรจ์ หากเข้าสู่วัยกลางคนกันหมดแล้ว

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/searchstudio.live

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้ชมคนหนึ่ง ผมยังรู้สึกว่าการแสดงสดครั้งล่าสุดของมาโนชและเดอะ แลมบ์ มีจุดน่าประทับใจอยู่พอสมควร

หนึ่ง แม้โชว์รวมๆ จะไม่เข้าขั้นสมบูรณ์แบบ แต่เท่าที่ประเมินดู ผู้ชมจำนวนสองร้อยกว่าคน (เต็มสถานที่จัดแสดง) ก็ล้วนมีความพึงพอใจและมีความสุข ไม่ต่างจากนักดนตรีบนเวที

เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีการนำเอาบทเพลงในความทรงจำ (เฉพาะกลุ่ม) ที่หาฟังสดได้ยากมากๆ มาเล่นบรรเลงกันอีกหน

สอง ระหว่างการแสดง มาโนชอำเรื่องการเล่นดนตรีผิดพลาดของตัวเอง โดยพาดพิงไปถึง “ภูษิต ไล้ทอง” หรือ “แต๋ง วงเฉลียง” ที่เคยพูดถึงเขาแบบทีเล่นประมาณว่า “ไอ้ซันน่ะเล่นดนตรีไม่เท่าไหร่หรอก แต่มันพูดเก่ง”

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/searchstudio.live

จนถึงบัดนี้ ทักษะการพูดจาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของมาโนชก็ยังเป็นเลิศจริงๆ

อย่างที่แฟนเพลงรู้กันว่า เวลาเล่นเพลง “โลกสมมุติ” จะต้องมีช่วงที่มาโนชมาเล่าอะไรยาวๆ ซึ่งเรื่องราวก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย

ในปลายปี 2565 สิ่งที่มาโนชหยิบยกมาวิจารณ์ก็คือ “ยุคข่าวสาร” แม้ประเด็นหลักของเขาที่ว่า สารสนเทศสมัยใหม่ทำให้ผู้คน-ครอบครัวแยกขาดจากกัน และ “ข้าวสาร” สำคัญกว่า “ข่าวสาร” (ซึ่งแสดงว่าเขายังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดประเภท “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”) จะฟังดูเชยอยู่บ้าง

แต่ต้องยอมรับว่ามาโนชมีลีลา-เทคนิควิธีในการถ่ายทอดสาร (ที่อาจไม่ทันสมัย) ของตนเองได้อย่างทรงพลัง

นอกจากนี้ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ “ข่าวสาร” เป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุค “แอนตี้ภัยคอมมิวนิสต์” ก็ส่งผลให้สารของเขามีมิติที่สลับซับซ้อนขึ้น และน่าจะจับใจคนวงกว้างได้มากขึ้น

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/searchstudio.live

อีกช่วงที่น่าประทับใจ (และเป็นประเด็นที่เคยค้างคาใจผมตลอดหลายปีหลัง) ก็คือ ก่อนเริ่มต้นเล่นเพลง “ไกล” มาโนชได้กล่าวถึงหญิงสาววัยรุ่นรายหนึ่งที่ตัดสินใจปิดฉากชีวิตของตนเองลงเมื่อสองปีก่อน

โดยเธอได้ระบายถึงความอึดอัดใจในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงโควิดเริ่มแพร่ระบาด, แสดงความไม่พอใจต่อการเยียวยา-แก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งได้บรรยายความในใจของตนเองผ่านเนื้อหาบางส่วนจากเพลง “ไกล” ของมาโนช ที่ว่า

“เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายไปไม่ถึง เซื่องซึมและสิ้นหวัง ฉันเห็นโลกแปลกหน้า ยาพิษในอาหาร สุสานบนถนน คนบ้าถือกงล้อ เด็กน้อยถือปืนผา อาสาสู้ศึกร้าย เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายก็หลงทาง ได้แต่หวังเพียงกลับบ้าน”

ก่อนจะลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรม

มาโนชยอมรับเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เขาแปลกใจที่เด็กรุ่นหลังรู้จักและได้รับอิทธิพลทางแนวคิดจากบทเพลงของตนเอง

แม้ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเพลง “ไกล” มีสัดส่วนมากน้อยไหนต่อการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของสตรีผู้นั้น แต่ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเพลงเพลงนี้คงเป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุปัจจัย ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจอันน่าเศร้าสลดของเธอ

มาโนชจึงขออุทิศเพลง “ไกล” ที่เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันเล่นสดในช่วงปลายปี 2565 ให้แก่น้องผู้หญิงคนนั้น

ดูเหมือนจะเป็นหนแรกสุด ที่ “มาโนช พุฒตาล” เอ่ยถึงกรณีนี้อย่างจริงจังและจริงใจ •

 

| คนมองหนัง