ดราม่าที่น่างงงวย จากการประกาศให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ของชาติ | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

หลายวันที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งที่กลายเป็นข่าวใหญ่ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

นั่นคือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน จากการเสนอของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565

โดยระบุอย่างชัดเจนว่า “เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ด้าน Soft Power ที่สามารถต่อยอดและขับเคลื่อนเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

ในรายละเอียดของข่าว สปน.กล่าวว่า ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ 29 มีนาคม 2564 โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ กรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอให้ครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน ต่อมา 9 พฤษภาคม 2565 ก็ได้เห็นชอบในหลักการ

โดยกล่าวว่า “เรื่องของนาคมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต และดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายศตวรรษ เป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนอย่างแนบแน่น สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ แม้แต่ 3 สถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ล้วนมีเรื่องราวของนาคเกี่ยวข้อง เรื่องของนาคปรากฏอยู่ในทุกภูมิภาคของไทย”

รวมทั้งกล่าวอีกว่า

“และมอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาค รวมทั้งมอบหมายกระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการใช้นาคเป็น Soft Power เพื่อวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป”

นับเป็นเรื่องดีที่น่าชื่นชม เมื่อภาครัฐเป็น “ตัวเปิด” ด้วยการนำวัฒนธรรมความเชื่อมาสร้างสรรค์ต่อยอดให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

เพราะที่ผ่านมา สังคมไทยดูจะเป็นสังคมอนุรักษนิยมที่ยึดถือจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัดตายตัว

ทำให้เมื่อมีคนหยิบยกมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ใหม่ก็จะถูกรุมประณามได้โดยง่าย

ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นมากมาย เช่น กรณีชุดโขนจากรามเกียรติ์ใน “MV เที่ยวไทยมีเฮ” ของ ททท. ซึ่งขับร้องโดยเก่ง ธชย ในปี 2559

ถึงแม้ว่าหลังๆ มานี้จะมีบรรยากาศที่เปิดกว้างขึ้น เช่น การนำกุมภกรรณมาทำเป็นมาสคอตในงานวิ่งของโรงพยาบาลพระพุทธบาท

แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้านำนาคที่บันไดวัดพระพุทธบาท สระบุรี มาทำด้วยจะเกิดดราม่าหรือไม่

ฉะนั้น การที่ภาครัฐริเริ่มนำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างใหม่อย่างเป็นทางการจึงนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้ประชาชนกล้า “เล่น” กับวัฒนธรรม

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลังข่าวนี้ปรากฏก็บังเกิดข้อถกเถียงอย่างหนักในโลกโซเชียลเต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งดังกล่าวก็เห็นว่าเป็นความเข้าใจผิด และหากอ่านข่าว สปน.หรือเนื้อข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ ให้จบก็จะไม่มีความเห็นเช่นนี้แน่ เนื่องจากคำอธิบายได้อยู่ในรายละเอียดข่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอให้ไล่ดูประเด็นดราม่าทีละข้อ ดังนี้

1) นาคไม่ควรเป็นสัตว์ประจำชาติ เพราะนาคไม่มีอยู่จริง ควรเป็นช้างมากกว่า

ซึ่งในประกาศจาก สปน.ก็แถลงชัดแล้วว่า “สัตว์ในตำนาน” ซึ่งหมายความว่ามีอยู่ตามความเชื่อ ไม่ได้มีตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า

“ปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติ ประเภทตำนาน เทพนิยาย และความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่างๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก ส่วนสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็น แต่คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ

สำหรับสัตว์ในตำนานประจำชาติจะมีการประกาศในประเทศต่างๆ อาทิ 1.จีน หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ และมังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน 2.อินโดนีเซีย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ และครุฑเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน 3.กรีซ ปลาโลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ และนกฟีนิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ทั้งนี้ สัตว์ในตำนานเหล่านั้น มักจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นตราแผ่นดิน โล่และอาร์ม หรือปรากฏในธงต่างๆ และมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่”

นอกเหนือจากนี้ยังมีประเทศอื่นอีกมากที่มี “สัตว์ในตำนาน” เป็นเอกลักษณ์ชาติ ซึ่งคนไทยต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี

เช่น เมอร์ไลอ้อนของสิงคโปร์ (ตัวเป็นปลา หัวเป็นสิงห์) ยูนิคอร์นของสกอตแลนด์ (ม้ามีเขา) ชอลลิมา (Chollima) ของเกาหลีเหนือ ลักษณะเป็นม้ามีปีก คล้ายเปกาซัสในวัฒนธรรมตะวันตก อินทรีสองหัวของรัสเซีย และทูรุล (Turul) เหยี่ยวพิทักษ์ดวงวิญญาณของฮังการี

จะเห็นได้ว่าข้อแย้งนี้ต้องตกไปตั้งแต่แรก หรือไม่ผุดขึ้นมาในใจเลย หากอ่านเนื้อข่าวจนจบ

คือช้างเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอยู่แล้ว แต่เป็นประเภทสัตว์ตามธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์ในตำนาน

และสัตว์ในตำนานเป็นสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ ดังนั้น นาคจึงไม่ใช่ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้

2) นาคไม่ใช่ของไทย แต่เป็นของอินเดีย จึงไม่สามารถนำนาคมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้

และ 3) นาคเป็นความเชื่อร่วมกันในหลายประเทศ หากประกาศให้นาคเป็นเอกลักษณ์ของชาติก็จะทำให้ประเทศอื่นไม่พอใจ

ข่าว สปน.ก็ระบุเอาไว้ว่า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในวัฒนธรรมไทยมีสัตว์ในจินตนาการ ตำนาน และความเชื่อมากมาย เช่น ครุฑ นาค หงส์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณ กินรี ปรากฏอยู่ในสิ่งต่างๆ สำหรับเรื่องนาคในไทยนั้น สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องของงูใหญ่ที่ปรากฏในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก แม้ว่าไทยจะรับวัฒนธรรมและคติความเชื่อเรื่องนาคมาจากประเทศอินเดีย แต่ไทยก็ได้นำมาปรับ สร้างสรรค์ ต่อยอด จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก”

จะเห็นว่าทางคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้อธิบายเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว

ข้อแย้งต่อมาคือ 4) การประกาศให้นาคเป็นเอกลักษณ์ของชาติคือการสนับสนุนความเชื่องมงาย

5) เอกลักษณ์ของชาติต้องเป็นไปเอง ไม่ใช่ให้รัฐบาลหรือราชการเป็นผู้กำหนด

และ 6) การประกาศให้นาคเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่เป็น

ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าวัตถุประสงค์ของเรื่องนี้คืออะไร ในเมื่อ สปน.ก็แสดงความมุ่งหมายอย่างชัดแจ้งว่าต้องการทำ “Soft Power เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

ดังนั้น การยกความเชื่อทางวัฒนธรรมจึงถูกฝาถูกตัวตามจุดประสงค์แล้ว ไม่เกี่ยวว่างมงายหรือไม่ เพราะไม่ต้องการมุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงในโลกธรรมชาติ

สำหรับข้อแย้งที่ว่าเอกลักษณ์ต้องเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ราชการกำหนด ในที่นี้ราชการก็ไม่ได้กำหนด แต่ตามน้ำหรือฉวยใช้วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเองนั่นล่ะมาใช้ต่อยอดเชิงเศรษฐกิจ

สุดท้ายคือ 7) การเสียดสีว่าไม่มีอะไรจะทำหรืออย่างไร ก็เป็นความรู้สึกประชดประชันที่ได้ตัดสินข่าวนี้ไปตั้งแต่แรกแล้ว โดยอาจไม่ได้อ่านเนื้อข่าวเลยก็ได้ เมื่อเห็นเพียงพาดหัวแค่ประโยคเดียว จึงง่ายที่จะเข้าใจไปเอง

ท้ายที่สุดแล้ว ดราม่าในเรื่องนี้บอกอะไรได้บ้าง ก็อาจพอสรุปได้ดังนี้

ประการแรก คือสะท้อนให้เห็นภาพรวมของยุคสมัยนี้ที่ผู้คนเสพข่าวต่างๆ อย่างผิวเผิน แต่กลับมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรงและรีบร้อน อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารทะลักท่วมอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนน้อยคนจะลงลึกกับประเด็นต่างๆ อย่างจริงจังก่อนแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ

สอง ความขัดแย้งในระดับชาติทั้งทางการเมืองและสังคมส่งผลให้ผู้คนแยกออกเป็นฝักฝ่าย แต่ละฝ่ายล้วนมีอคติต่อกัน ทำให้เกิดการตัดสินฝ่ายที่ตนไม่ชอบโดยไม่ต้องไตร่ตรองมาก สภาพการณ์นี้ยิ่งทวีความเด่นชัดขึ้น เมื่อผู้คนเลือกรับสารหรือเสพสื่อเฉพาะจากฝ่ายที่ตนพึงพอใจเท่านั้น นานเข้าจึงขาดวิจารณญาณที่เป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นไปตามกระแสที่ฝ่ายของตัวเองเฮโลกันไปเสียมากกว่า

ประการที่สาม คือตามแนวคิดของ Joseph Nye เจ้าของทฤษฎี Soft Power ซึ่งอธิบายซอฟต์เพาเวอร์ว่า “เป็นพลังอำนาจที่ดึงดูดใจและชักจูงใจ” (Power of Attraction and Seduction) อันทำให้ใครคนหนึ่งสามารถพิชิตหรือได้รับสิ่งที่ต้องการจากผู้อื่นโดยง่าย เนื่องจากกลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพลจากซอฟต์เพาเวอร์เกิดความลุ่มหลง คลั่งไคล้ ชื่นชม หรือโน้มเอียงในทางบวกต่อผู้ที่ส่งมา และทำให้ผู้ส่งมี “อำนาจ” ต่อผู้รับอย่างแท้จริง

แล้วกรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็มที่หรือไม่ หากมองผ่านแนวคิด Soft Power เหตุใดจึงมีผู้คนเห็นต่างมากมายทั้งที่นโยบายนี้ดูเหมือนมาถูกทางแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ขณะที่หน่วยงานหนึ่งกำลังทำงานส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์อยู่ แต่รัฐบาลหรือรัฐราชการโดยรวมอาจไม่ได้เดินหน้าทำงานตามทิศทางอำนาจแบบซอฟต์เพาเวอร์ด้วยก็ได้